ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 3 โมเดล “สินค้าเพื่อโลกที่ดีกว่า” สไตล์ พานาฯ-แปลนทอยส์-เอสซีจี

3 โมเดล “สินค้าเพื่อโลกที่ดีกว่า” สไตล์ พานาฯ-แปลนทอยส์-เอสซีจี

22 กันยายน 2011


บรรยากาศบนเวทีเสวนาเรื่อง "สินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ดีกว่า
บรรยากาศบนเวทีเสวนาเรื่อง "สินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ดีกว่า (ที่มาของภาพ: เอสซีจี)

ปัจจุบันโลกกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเนื่องจากภาวะโลกร้อน ในฐานะตัวการที่สร้างปัญหาแก่โลก มนุษย์จึงมีความรับผิดชอบโดยตรงที่ต้องลงมือทำเพื่อโลก ซึ่งเท่ากับทำเพื่อตัวเองและคนรุ่นหลัง

โลกที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้มนุษย์ต้องหันมาปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิต รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรเพื่อเบียดเบียนโลกให้น้อยที่สุด นี่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัว ทั้งเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ความคาดหวังของผู้บริโภค และในฐานะพลเมืองของโลก

หลายบริษัทจึงหันมาเดินตามแนวทางธุรกิจยั่งยืนมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้า และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Products) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

ประเด็น “สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ดีกว่า” ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันบนเวทีเสวนาย่อยในงาน Thailand Sustainable Development Symposium 2011 ที่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) เป็นเจ้าภาพจัดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายวิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายสุพัฒน์ ธนาเมธ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท พานาโซนิค เอ. พี. เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ประธานกรรมการ บริษัท แปลน ครีเอชั่น จำกัด นายธนศักดิ์ สาคริกานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด ในเครือเอสซีจี ดำเนินรายการโดย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง คอนซัลแตนท์ จำกัด

ดร.ศิริกุลเปิดประเด็นว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้โลกร้อน คือ ปัญหาจากการบริโภค ทั้งจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอย่างไม่รับผิดชอบ และการบริโภคที่ไม่รับผิดชอบของผู้บริโภค แต่ปัญหาราว 70% ของโลกร้อนมาจากตัวสินค้า ดังนั้นการมีส่วนช่วยดูแลโลกจึงต้องเริ่มใส่ใจตั้งแต่การออกแบบสินค้าไม่ให้เป็นปัญหาต่อโลก

สำหรับแนวคิดเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Eco Products “วิรัตน์” อธิบายว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง ระหว่างการผลิต การใช้งาน แม้แต่เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว ในฐานะนักอุตสาหกรรมเราสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้นำกลับมาใช้ใหม่ ใช้วัสดุที่เป็นมิตร และลดของเสียที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

Eco Products ไม่ใช่แค่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตด้วย ตามหลัก 3R (reduce-reuse-recycle) ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้วัตถุดิบ ทรัพยากร และพลังงาน ยกตัวอย่างการออกแบบการตัดเย็บเสื้อผ้าให้ดี ก็จะเหลือเศษผ้าน้อย หากนำเศษผ้าไปทำพรมเช็ดเท้า ขยะจะน้อยลง และเมื่อใช้พลังงานน้อยก็กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย การออกแบบในอนาคตจะไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือผลิตซ้ำได้ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศมีมาตรการบังคับในเรื่องนี้ ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้มากขึ้น หากผู้ผลิตไม่เดินตามแนวทางนี้ก็มีโอกาสทางธุรกิจน้อยลง

Eco ideas สไตล์ “พานาโซนิค”

สุพัฒน์ ธนาเมธ กางพิมพ์เขียว Eco สไตล์พานาโซนิค
สุพัฒน์ ธนาเมธ กางพิมพ์เขียว Eco สไตล์พานาโซนิค (ที่มาของภาพ: เอสซีจี)

“สุพัฒน์” กางพิมพ์เขียวนวัตกรรมเพื่อโลกในแบบพานาโซนิคที่จะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2561 โดยเรื่องนี้บรรจุอยู่ในปรัชญาพื้นฐานการดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งปรัชญา 1 ใน 7 ข้อ คือ การมีส่วนช่วยเหลือสังคมที่นำไปสู่แนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มมีแผนงานที่เรียกว่า Environmental Voluntary Plan ตั้งแต่ปี 2536 และเริ่มใช้แนวคิด Eco ideas ในปี 2550

แนวคิด Eco idea แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.Eco ideas for product สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดพลังงานและทรัพยากร 2.Eco ideas for manufacturing กระบวนการผลิตที่รักษาสิ่งแวดล้อม และ 3.Eco ideas for everybody, everywhere เป็นการสื่อสารความรู้เรื่องนี้ให้กับสาธารณชนผ่านทุกๆ กิจกรรม

ในส่วนของสินค้า Eco Products ของบริษัทแบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.ประหยัดพลังงาน 2.ผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องซักผ้า 3.สามารถใช้งานได้ยาวนาน เช่น แบตเตอรี่ 4.สารเคมีที่ใช้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม 5.โหมดสแตนด์บายของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟน้อย

พานาโซนิคตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสีเขียว ทั้งในแง่ของไลฟ์สไตล์และธุรกิจแบบ eco นอกจากนี้บริษัทกำลังเข้าสู่แผนฉบับใหม่ “Green Plan 2018” ซึ่งเน้นลดคาร์บอนไดออกไซด์ การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เลือกใช้สารเคมีที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และการคำนึงถึงผลกระทบทางชีวภาพ

หนึ่งในแผนที่จะก้าวสู่การเป็นกรีนคอมปะนีเบอร์ 1 บริษัทมีเป้าหมายที่จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (CO2 Zero) โดยพานาฯ จะพัฒนาสินค้าที่เน้นประหยัดพลังงาน (save energy) สร้างพลังงาน (create energy) เก็บพลังงาน (store energy) และบริหารจัดการพลังงาน (manage energy) นอกจากนี้ การผนวกรวม “ซันโย” ที่เป็นผู้นำเรื่องพลังงานสะอาดทำให้พานาฯ มีอาวุธครบมือที่จะผลักดันไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัจจุบันสินค้าของพานาฯ เป็น Eco Products อยู่แล้ว เพราะคำนึงถึงการใช้วัสดุที่ไม่เป็นพิษ กระบวนการผลิตที่ลดใช้สารตะกั่ว แต่การเป็น Eco Products โดยสมบูรณ์แบบ เช่น ประโยชน์เรื่องการลดค่าไฟฟ้าอย่างชัดเจน น่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 30%

“แปลนทอยส์” ของเล่นที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

"วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์" ถอดประสบการณ์ของเล่นที่ไม่ล้อเล่นกับโลก
"วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์" ถอดประสบการณ์ของเล่นที่ไม่ล้อเล่นกับโลก (ที่มาของภาพ: เอสซีจี)

แม้อายุอานามของ “แปลนทอยส์” จะอยู่ในวัย 30 ยังแจ๋ว แต่บริษัทของเล่นแห่งนี้ก็เติบโตมาไม่ห่างจากจุดเริ่มต้นที่เอาใจใส่โลก ดังจะเห็นได้จากสโลแกนที่ว่า “เล่นและเรียนรู้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ” (Play and Learn in Harmony with Nature) ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นขององค์กรในการผลิตสินค้าเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างสมวัย

“วิฑูรย์” เล่าว่า บริษัทมีแนวคิดที่จะให้เด็กได้มีพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม เพื่อให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ การผลิตของเล่นที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติต้องใช้วัสดุประเภทไม้ แทนที่จะใช้พลาสติก แต่มีความขัดแย้งตรงที่ต้องตัดต้นไม้มากขึ้น จึงเกิดไอเดียที่จะใช้ประโยชน์จากไม้ยางพาราเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ในอดีตไม้ยางพาราถูกปลูกเพื่อกรีดน้ำยางไปใช้ เมื่อหมดอายุผลิตน้ำยางก็ถูกโค่นเพื่อปลูกใหม่ การนำไม้ยางพารามาใช้จึงไม่กระทบเรื่องทรัพยากรเท่ากับการตัดต้นไม้ชนิดอื่น

Eco Products เป็นเรื่องทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ท่ามกลางโลกยุคทุนนิยมที่ต้องการสินค้าราคาถูก ทำให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากสุด ขณะที่ผู้บริโภคมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งราคาสินค้า Eco ที่ยอมรับได้จะมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไปไม่เกิน 15% ดังนั้น คำว่า Eco จึงต้องทั้ง Economy (ประหยัด) และ Ecology (ใส่ใจสิ่งแวดล้อม) บริษัทจึงต้องคิดมากขึ้นเพื่อทำให้ Eco มีความหมายทั้งสองประการข้างต้น

กระบวนการดีไซน์เป็นเหมือนคอขวดที่สำคัญในการผลิต Eco Products หากใช้การออกแบบที่ดีจะได้สินค้าที่ดี กระบวนการออกแบบที่เรียกว่า Eco Design จึงมีความสำคัญ เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุให้น้อยที่สุด และไม่เกิดผลเสียต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการขนส่งที่ไม่ใช้พลังงาน และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก อีกทั้งควรออกแบบให้สามารถซ่อมแซม หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้

เมื่อโจทย์เริ่มเปลี่ยนไป ทำให้ Eco Products มีราคาจับต้องได้ และยังคงใส่ใจสิ่งแวดล้อม ประกอบกับต้นยางพารากลายเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีราคา ไม่ใช่ของทิ้งขว้างเหมือนเมื่อก่อน ทำให้แปลนทอยส์ต้องหาโมเดลใหม่เพื่อก้าวข้ามจากการใช้ไม้ยางพาราแบบเดิมๆ แม้จะเป็นบริษัทแรกของโลกที่ใช้ไม้ชนิดนี้มาผลิตของเล่น โดยบริษัทได้คิดหาวิธีที่จะใช้เศษไม้ยางมาใช้ประโยชน์แทน

นั่นคือการใช้รากและตอไม้ยางที่ต้องถูกเผาทิ้งหลังโค่นลำต้นไปขาย โดยนำเศษไม้ที่อยู่ในดินมาบดสำหรับผลิตของเล่นผ่านระบบการปั๊มที่ทำให้การผลิตรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องใช้การตัด ขัด เจาะ ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำในการล้างฝุ่นละออง ขณะที่เศษไม้ที่เหลือก็นำไปเผาเพื่อให้ได้แก๊สมาปั่นไฟฟ้าไว้ใช้ กระบวนการผลิตแบบนี้จึงเท่ากับไม่มีของเสียเลย

การที่องค์กรจะลุกขึ้นมาผลิต Eco Products สิ่งสำคัญคือ บริษัทต้องมีนโยบายเรื่องนี้ ขณะเดียวกันผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญ ประกอบกับพนักงานมี Eco Mind (จิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อม) เพราะทั้งความคิด ชีวิต และการงาน ต้องสอดคล้องกัน บริษัทที่บอกว่าตัวเอง Eco ก็ต้องตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ทั้งตรวจสอบด้วยตัวเองและบุคคลอื่น กรณีของแปลนทอยส์ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับความยั่งยืนเป็นเหมือนใบเสร็จในแต่ละปี เพื่อดูว่าทำอะไรไปแล้ว และมีอะไรที่ต้องทำอีก

“เอสซีจี” กับวัฒนธรรมรักษ์โลก

"ธนศักดิ์ สาคริกานนท์" บอกเล่าความพยายามเพื่อโลกในแบบของเอสซีจี
"ธนศักดิ์ สาคริกานนท์" บอกเล่าความพยายามเพื่อโลกในแบบของเอสซีจี
(ที่มาของภาพ: เอสซีจี)

ในฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีธุรกิจมากมาย ไม่ว่าปูนซิเมนต์ กระดาษ เคมีคัล วัสดุก่อสร้าง แม้ด้านหนึ่งอาจถูกตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ แต่อีกด้านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอสซีจีเป็นบริษัทที่ยืนอยู่แถวหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจโลก

“ธนศักดิ์” กล่าวว่า เอสซีจีได้สร้างสรรค์ SCG Eco Value นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรฐานในการรับรองตัวเอง เพิ่มเติมจากการรับรองจากหน่วยงานอื่น เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้คน จึงให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ทางเลือก

เอสซีจีเห็นสอดคล้องกับสมการ Eco = Ecology+Economy ที่ไม่เพียงใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ต้องราคาประหยัดด้วย เพราะเราผลิตสินค้าให้คนส่วนใหญ่ใช้ ราคาจึงต้องไม่แพง คน 70 % ของโลก เป็นคนชั้นกลางและคนจน มีเพียง 30 % เท่านั้นเป็นคนรวย Eco Value จึงต้องมีคุณค่าสำหรับทั้งลูกค้า ผู้เกี่ยวข้อง สังคม และโลก

SCG Eco Value แบ่งเป็น 2 หัวข้อใหญ่ๆ คือ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ดีไซน์จนถึงการผลิต และนำไปใช้แล้วเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างของสินค้าภายใต้คอนเซ็ปต์นี้ คือ ปูนซิเมนต์ ซึ่งใช้ลมร้อนที่เหลือจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้อีก ทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก ซึ่งเทคโนโลยีนี้ต้องลงทุนเพิ่ม 2,500 ล้านบาท แต่บริษัทก็มองเห็นความสำคัญที่จะดำเนินการ

นอกจากนี้ยังมีสินค้ากลุ่มอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้ากลุ่มเคมีคัลก็ลดการใช้น้ำลง ขณะที่กระดาษใช้อีโคไฟเบอร์ (เยื่อกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) ในการผลิต อีกผลิตภัณฑ์ คือ ฉนวนใยแก้วที่ใช้เศษแก้วในการผลิต 100 % แทนที่ใช้ทรายแก้วเหมือนที่ผ่านมา กระเบื้องที่ใช้เศษเซรามิกกลับมาผลิตใหม่ นอกจากนี้ ยังมีก๊อกและสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ระบบระบายความร้อนที่เรียกว่าหลังคาเย็น

เอสซีจีให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลูกฝังแนวคิดประหยัดพลังงานให้พนักงาน คนของเอสซีจีจะปิดน้ำ-ไฟจนติดเป็นนิสัย

ปลุกกระแสบริโภคเพื่อโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผู้บริโภค” มีบทบาทอย่างมากต่อตลาด Eco Products เพราะแม้ว่า “ผู้ผลิต” จะร่วมเทรนด์ดูแลสิ่งแวดล้อม แต่หากผู้บริโภคไม่เอาด้วย ก็ไม่มีประโยชน์

ในมุมของพานาโซนิค มองว่า สิ่งสำคัญคือผู้ผลิตต้องสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่าพวกเขาได้รับประโยชน์อะไรจากการใช้ผลิตภัณฑ์ Eco Products หรือทำให้เห็นชัดๆ ว่าช่วยลดรายจ่ายไปเท่าไร ซึ่งต้องใช้เวลาที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมๆ ของผู้บริโภค อย่างกรณีของเครื่องปรับอากาศ Inverter ที่ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะบริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดไปเน้นเรื่องค่าไฟที่ลดลงเปรียบเทียบกับรุ่นธรรมดา

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องทำการตลาดให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ (user-friendly) เริ่มจากผู้ขายที่ต้องรู้จักคอนเซ็ปต์ของตัวสินค้า สามารถสื่อให้ผู้รับไปขายและผู้บริโภคเข้าใจผลิตภัณฑ์ว่ามีประโยชน์อย่างไร

สำหรับแปลนทอยส์กำลังจะปรับมาขายในประเทศมากขึ้น หลังก่อนหน้านี้เน้นส่งออกเป็นหลัก กุญแจสำคัญในการขายของเล่นที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรกับโลก คือ พ่อแม่ต้องเข้าใจ Eco Products ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องบอกประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับแบบจับต้องได้ พ่อแม่บางคนซื้อเพราะของเล่นไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่ได้ซื้อเพราะของเล่นนี้ไม่มีส่วนในการทำลายป่า

ขณะที่เอสซีจีเริ่มต้นจากการทำให้คนในองค์กรเข้าใจว่า Eco ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคเท่านั้น บริษัทต้องทำให้พนักงาน ผู้ขาย และนักการตลาด เข้าใจผลิตภัณฑ์ตรงกันก่อนจะสื่อไปยังคนภายนอก

โดยเอสซีจีใช้การตลาดแบบ Human Value Marketing หรือการตลาดที่ล้วงลึกความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์เหมือนในอดีต ยกตัวอย่างหากเราใช้ก๊อกน้ำแบบธรรมดาที่ไม่ได้ช่วยประหยัดน้ำ ก็อาจจะกระทบต่อลูกหลานในอนาคต

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

แปลนทอยส์มีสูตรสู่ความสำเร็จ 3 ประการ ได้แก่ green materials เช่น การใช้กระดาษรีไซเคิล หมึกถั่วเหลือง green manufacturing กระบวนการผลิตที่ดีต่อโลก และสอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ และ green mind มีใจที่จะคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจทั้งหมด แต่หากจะให้ยั่งยืน บริษัทจะต้องยึดหลัก 1.ทำกำไรอย่างสมเหตุสมผล และ 2.บริษัทต้องมีส่วนเกื้อกูลสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการไม่เบียดเบียน

เอสซีจีก็เน้น 3 เรื่องเช่นกัน ได้แก่ 1.green manufacturing 2.green procurement และ 3.green products

ด้านพานาโซนิคพึ่งคาถา 1.ความมุ่งมั่น 2.ซื่อสัตย์ 3.ความต่อเนื่อง ไม่ว่ายอดขายจะเป็นอย่างไรบริษัทต้องยึดมั่นเรื่อง Eco Products ต่อไป และ 4.ปลูกฝังคนรุ่นใหม่ เพราะผลกระทบจะเกิดกับคนรุ่นเราในระดับหนึ่ง แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ คือ คนรุ่นต่อๆ ไป