ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > เอสซีจี ผลักดันเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ 300,000 ตัน ภายในปี 2565

เอสซีจี ผลักดันเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ 300,000 ตัน ภายในปี 2565

16 กันยายน 2020


นายสยามรัฐ สุทธานุกูล Chief Marketing Officer – Marketing and Branding ธุรกิจ Cement and Construction Solution บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดนวัตกรรมปูนซีเมนต์สูตรไฮบริด ใช้ส่วนผสมช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประเทศไทยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการวางเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ 300,000 ตันภายในปี 2575 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการวางเป้าหมายเพื่อลดโลกร้อน (Global Warming)

แม้ปัญหาภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission) ในประเทศไทยเกินกว่าครึ่งมาจากการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งมีต้นตอจากงานก่อสร้างของภาครัฐ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความร่วมมือของภาคเอกชนก็เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

เอสซีจี ในฐานะภาคีเครือข่ายลดการปล่อยก๊าซ ทั้งยังเป็นภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศจึงขับเคลื่อนผ่าน “ปูนซีเมนต์”

นายสยามรัฐ สุทธานุกูล Chief Marketing Officer – Marketing and Branding ธุรกิจ Cement and Construction Solution บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า ในปี 2563 ประเทศไทยได้มีการปรับทิศทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยคาดว่าปีในปี 2565 ประเทศไทยจะสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 300,000 ตัน

“ดีมานด์การก่อสร้างส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ ทั้งสะพาน รถไฟ งานเมกะโปรเจคต่างๆ ส่วนเอสซีจีเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่สุดในประเทศไทย เราผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ ‘ปูนซีเมนต์’ ยังไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม จนกระทั่งเราผลักดันให้เกิดขึ้นได้ในปี 2556”   นายสยามรัฐกล่าว

เนื่องจากการใช้ปูนซีเมนต์ในอุตสาหกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการหาส่วนผสม ทั้งเรื่องเชื้อเพลิง ตลอดจนถึงกระบวนการผลิตล้วนแต่มีการสร้าง CO2 แทบทุกขั้นตอน ทำให้เอสซีจีคิดค้นปูนซีเมนต์สูตรไฮบริด โดยใช้กระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซให้ได้มากที่สุด

นายสยามรัฐกล่าวอีกว่า สินค้า “ปูนซีเมนต์งานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด” เป็นผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตด้วยพลังงานทดแทน (Alternative Fuel) การใช้พลังงานชีวมวล และ Waste Heat Generator (WHG) นำลมร้อนที่ได้จากกระบวนการผลิตมาปั่นไฟฟ้า และ Solar ทดแทนการใช้พลังงานจากไฟฟ้า ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายสยามรัฐ เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ปูนซีเมนต์สูตรไฮบริดมีคุณสมบัติที่ดีกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (ปูนซีเมนต์แบบเดิมที่ใช้กันทั่วไป) โดยปูนไฮบริด 1 ตัน สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ 0.05 ตัน ตัวอย่างเช่น เมื่อซื้อปูนไฮบริด 20 ถุง จะมีการปล่อย CO2 19 ถุง ขณะที่ปูนแบบเดิมจะปล่อย 20 ถุง

ในปี 2562 เอสซีจีทำยอดขายปูนไฮบริดได้กว่า 2 ล้านตัน เท่ากับว่าในปีที่ผ่านมาเอสซีจีมีส่วนช่วยลดการปล่อย CO2 ไปทั้งสิ้น 1 แสนตัน

“เราไม่ได้มองว่าแค่เปลี่ยนสูตรแล้วจะลดได้ เปลี่ยนสูตรก็ลดได้แค่ระดับหนึ่ง แต่เรามองทั้ง supply chain ว่าจะช่วยให้ปล่อยคาร์บอนลดลงได้อย่างไร ตั้งแต่ของที่เข้าโรงงาน ผลิตในโรงงานและตอนส่งของ เราทำทุกขั้นตอนที่จะลดคาร์บอนฯ” นายสยามรัฐกล่าว

เริ่มจากก่อนการผลิต เปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเป็นชีวมวล (Biomass) ทดแทนการใช้ถ่านหินได้ 18% ของความร้อน ส่วนกระบวนการผลิตในโรงงานได้ใช้ลมร้อนทำให้เราลดพลังงานลงได้ 38% ประกอบกับส่วนผสมลับที่ใช้ในการทำปูนไฮบริด ซึ่งเป็นส่วนผสมที่นายสยามรัฐบอกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งในอนาคตยังมีแผนจะใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ (Energy Planet) ที่มาจากเศษฟาง เศษอ้อยเพื่อความยั่งยืน

นายสยามรัฐอธิบายว่า ลูกค้าธุรกิจซีเมนต์ของเอสซีจีแบ่งออกเป็น 3 เซกเมนต์ ได้แก่ ภาครัฐ เอกชนและชาวบ้าน โดยภาครัฐและชาวบ้านมีสัดส่วนถึง 85% และเอกชนอีก 15% ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือการทำตลาดปูนซีเมนต์ไฮบริดให้กับภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐยังไม่ค่อยนิยมนัก

“เวลาลูกค้าถามว่าสูตรไฮบริดใช้ได้เหมือนที่เคยใช้หรือเปล่า เขาถามเพื่อสร้างความมั่นใจ เราบอกว่าเผลอๆ ดีกว่าด้วยซ้ำ ความแข็งแรงในการเซ็ทตัวของไฮบริดดีกว่า 5% ทนทานต่อการขัดสีมากกว่า 15% เรื่องลดการแตกร้าวสูญเสียน้ำก็ดีกว่า 20% ผมบอกว่า พอเอาไปใช้แล้วคุณ (ลูกค้า) ได้ช่วยโลกด้วยนะ และเขาจะภูมิใจว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย” นายสยามรัฐกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปูนซีเมนต์สูตรไฮบริดยังได้รับการรับรอง Green Label, Carbon Reduction Label, Carbon Footprint Reduction, Carbon Footprint Product และ SCG Green Choice

“ความฝันของผมคือ ผมอยากเอาสูตรไฮบริด แทนปูนปอร์ตแลนด์เดิมให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันต้องค่อยๆ ไป ถ้าเราทดแทนได้สักครึ่งหนึ่ง ถ้าหน่วยงานภาครัฐเปลี่ยนสเปคจากปูนปอร์ตแลนด์ธรรมดาเป็นสูตรไฮบริดหมด ผมเปลี่ยนการผลิตเป็นสูตรไฮบริดหมดเลยก็ได้” นายสยามรัฐกล่าว

นายสยามรัฐกล่าวย้ำว่า หากผลิตปูนซีเมนต์ไฮบริดจำนวน 20 ล้านตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปี ดังนั้นเป้าหมายที่ต้องการบรรลุตามเจตจำนงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 300,000 ตันภายในปี พ.ศ. 2565 จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว