ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แกะรอย 10 ปีงบประมาณ “อปท.”เจอแต่เงินฝากกินดอกเบี้ยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี (1)

แกะรอย 10 ปีงบประมาณ “อปท.”เจอแต่เงินฝากกินดอกเบี้ยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี (1)

29 สิงหาคม 2011


จากการกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปี 2544 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐบาลต้องจัดสรรภาษี งบอุดหนุนและรายได้อื่นๆ ไม่น้อยกว่า 20 % และกำหนดว่าในปี 2549 ต้องเพิ่มไม่น้อยกว่า 35 % ของรายได้รัฐแต่ละปี

ทั้งนี้ตามกฎหมายอปท. จะมีรายได้อยู่ 3 ทางหลักๆ คือ 1. รายได้รัฐบาลกลางจัดเก็บให้และจัดสรรไปให้อปท. 2. งบอุดหนุนจากรัฐบาลกลางและ 3. รายได้ที่อปท. เป็นผู้จัดเก็บเองและการกู้เงิน

โดยข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 รัฐบาลได้จัดสรรงบฯ อุดหนุนให้อปท. จำนวน73,266.3 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2554 มีการจัดสรรเงินให้อปท. 431,255 ล้านบาท ซึ่งวงเงินเพิ่มขึ้นทุกปี

จากการตรวจสอบกลไกหรือเส้นทางการใช้จ่ายเงินของอปท. ทั้งที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลกลางและในส่วนที่อปท.จัดเก็บเอง จากรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รวบรวมเงินฝากซึ่งเปิดในชื่ออปท. เป็นเจ้าของบัญชีกระจายอยู่ตามบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งเงินที่อปท. สะสมไว้กับกองทุนของกระทรวงมหาดไทย 2 กองทุน ณ เวลาใดเวลาหนึ่งมาประกอบการวิเคราะห์ปริมาณสภาพคล่องทางการเงินของอปท.

ปรากฏว่า บัญชีเงินฝากที่เปิดโดยใช้ชื่อของอปท. ประกอบไปด้วย เทศบาลอบจ. อบต. กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และอปท. และกองทุนเงินสะสมอีก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล และกองทุนเงินสะสมองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งธปท. นำมาเผยแพร่โดยใช้ชื่อว่า “รัฐบาลท้องถิ่น” (Local Governmemt ) ได้แก่เงินรับฝากของท้องถิ่น คือ เงินรับฝากทุกประเภทที่ท้องถิ่น ฝากไว้ที่สถาบันรับฝากเงิน โดยในข้อมูลเผยแพร่ของธปท. ใช้ว่า “เงินฝากของรัฐบาลท้องถิ่น”

ส่วนหนี้สินของท้องถิ่น คือ สินทรัพย์ทางการเงินที่สถาบันการเงินรับฝากเงินมีกับท้องถิ่น โดยในข้อมูลเผยแพร่ของธปท. ใช้ว่า “สิทธิเรียกร้องจากรัฐบาลท้องถิ่น”

ดังนั้น เงินฝากสุทธิของท้องถิ่นจึงหมายถึงส่วนต่างระหว่าง “หนี้สินของท้องถิ่น” กับ “เงินรับฝากของท้องถิ่น” ซึ่งในข้อมูลของธปท. ระบุว่าท้องถิ่นมีเงินฝากมากกว่าหนี้สิน

จากข้อมูลเงินฝากของท้องถิ่นย้อนหลังไป 10 ปี ปรากฏในภาพดังต่อไปนี้

เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้อปท. และยอดเงินฝากของอปทในช่วงปี 2544-2553
เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้อปท. และยอดเงินฝากของอปท. ในช่วงปี2544-2553

10 ปีเงินฝากอปท. กระฉูด 2 แสนล้านบาท

จากการเปรียบเทียบยอดเงินฝากสุทธิของท้องถิ่นเป็นรายเดือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2544–2553) จะพบว่าในปีงบประมาณ 2544 เงินฝากสุทธิท้องถิ่นในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก พอปีงบประมาณ 2545 เริ่มเห็นอย่างชัดเจน ยอดเงินฝากสุทธิขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 84,0000 ล้านบาท จากนั้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546-2550 เงินฝากสุทธิเพิ่มขึ้นในระดับ 100,000-200,000 ล้านบาท และปี 2551 เป็นต้นมา สังเกตเห็นได้ชัดว่าเงินฝากสุทธิในแต่ละปีเริ่มมีแนวโน้มคงที่ โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 200,000 ล้านบาท

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารของอปท. กรณีที่มีเงินฝากเหลือจำนวนมาก จากการสอบถามนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กู้เงินให้กับรัฐบาลนำไปใช้ในการจัดทำงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศได้เปิดเผยว่าปัจจุบันรัฐบาลมีต้นทุนในการกู้เงินและการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในพอร์ตเฉลี่ยอยู่ที่ 3 % ขณะที่อปท. และกองทุนหมุนเวียนอีกหลายแห่งมีเงินเหลือไปเปิดบัญชีฝากเงินอยู่กับธนาคารได้รับดอกเบี้ยแค่ 1 % แต่รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 3 %

คลังเตรียมเรียกเงินฝากอปท. คืน

ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังพยายามหาทางนำเงินนอกงบประมาณเหล่านี้กลับเข้ามาอยู่ในงบประมาณภายใต้การกำกับดูแลของกรมบัญชีกลาง เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ต้องการใช้จ่ายเงินก็จะต้องเรื่องมาขอเบิกเงินจากออกไปกรมบัญชีกลาง ไม่ใช้ให้ต่างคนต่างไปฝากกินดอกเบี้ย 1 %

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้ กล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากที่เงินนอกงบประมาณเหล่านี้ถูกดึงเข้ามาอยู่ในงบประมาณ จะทำให้ระดับเงินคงคลังเพิ่มสูงขึ้น ทางสบน. ก็จะทำการปรับลดวงเงินในการออกพันธบัตรกู้เงิน โดยรักษาสัดส่วนหรือระดับเงินคงคลังไว้ให้พอดีกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อลดต้นทุนเงินกู้ลง อย่างกรณีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2554 ที่ผ่านมาสบน. ออกประกาศยกเลิกการจำหน่ายตั๋วเงินคลังอายุ 3 ปีวงเงิน 80,000 ล้านบาทไป เพื่อลดต้นทุนให้กับรัฐบาล เนื่องจากระดับเงินคงคลังตอนนั้นเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีเกินเป้าหมายเป็นจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงินเข้ามาให้เป็นภาระ

นอกจากนี้ทางกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สบน. ไปเจรจากับธปท. ในเรื่องการบริหารเงินคงคลังให้เกิดประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันไปฝากอยู่กับธปท. ไม่ได้ดอกเบี้ยให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม

“แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการดึงเงินนอกงบประมาณเข้ามาอยู่ในงบประมาณไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีกระทรวงและหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดเป็นจำนวนมาก คงจะต้องอาศัยความกล้าหาญในการตัดสินใจของรัฐบาล ยกร่างแก้ไขกฎหมายอปท. ให้สภาพิจารณา” นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว