ThaiPublica > คอลัมน์ > To Singapore, with Love ด้วยรักและขายชาติ!

To Singapore, with Love ด้วยรักและขายชาติ!

30 พฤษภาคม 2017


1721955

“สิ่งที่ตลกมากสำหรับหนังเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวสิงคโปร์คือ เดี๋ยวนี้ตัวหนังเองก็ต้องลี้ภัยออกไปจากบ้านเกิดด้วยเช่นกัน นี่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันหวังเอาไว้เลย ฉันหวังแค่ว่าหนังเรื่องนี้จะเปิดใจผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ให้อนุญาตเราได้ทำความเข้าใจตัวเราเอง ในฐานะที่เป็นชนชาติหนึ่งให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้…ฉันผิดหวังที่หนังโดนแบน ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นไม่ให้เราได้ถกเถียงกันเกี่ยวกับอดีตของตัวเราเอง ถึงเวลาแล้วและสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่สิงคโปร์กำลังจะครบรอบวันเกิด 50 ปี เราต้องการได้รับความไว้วางใจจากรัฐในการที่เราจะค้นหาคำตอบเกี่ยวกับตัวเราเองได้ และเพื่อตัวเราเองได้” นี่คือสเตตัสบนเฟซบุ๊ก ทัน ปิน ปิน ผู้กำกับหญิงชาวสิงคโปร์ซึ่งโพสต์ในช่วงที่สารคดีของเธอ To Singapore, with Love (2013) ถูกสั่งห้ามฉายในประเทศตัวเอง ส่วนแฟนหนังที่อยากดูก็ต้องถ่อข้ามไปยังฝั่งมาเลเซีย เพราะหนังถูกวางโปรแกรมฉายเป็นพิเศษในโรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นโลเคชันถ่ายทำหนังเรื่องนี้

“วิธีทำจะต่างไปจากของสิงคโปร์นิดหน่อยนะ” โฮ จวน ไท่ หัวเราะบอกกับกล้องขณะกำลังทำก๋วยเตี๋ยวกุ้งผัดฉ่า ตัวเขาลี้ภัยมาอยู่ลอนดอนด้วยข้อหาปลุกระดมมวลชนให้ก่อความรุนแรงในสมัยที่เขายังเป็นผู้นำขบวนการนักศึกษา และเขาอยู่อังกฤษมานานกว่า 35 ปีแล้ว โดยไม่สามารถหวนกลับสู่สิงคโปร์ได้อีกเลย นี่คือฉากเปิดเรื่องแสนจะธรรมดา แต่เหตุการณ์พื้นๆ แบบนี้แหละ กลับสั่นคลอนรัฐบาลสิงคโปร์ให้หวาดกลัวขนหัวลุกจนถึงขนาดตั้งข้อหาร้ายแรงต่อหนังเรื่องนี้ว่า “เป็นหนังบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ!”

นอกจากผัดก๋วยเตี๋ยวแล้ว ยังมีกิจกรรมเบสิกอีกหลายอย่าง เช่น อ่านบทกวี, สาธิตการทำบะหมี่ไข่, อวดกระเป๋าใบเก่าซอมซ่อ, พลิกรูปถ่ายสมัยหนุ่มๆ ให้หลานดู หรือไม่ก็สไกป์ข้ามประเทศคุยกับญาติ หนังสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 9 ราย ถ่ายทำในประเทศไทย มาเลเซีย และอังกฤษ ซึ่งทุกคนล้วนหลบหนีหัวซุกหัวซุนมาในช่วงยุค 60-70 ด้วยข้อหาซ่องสุมสมคบคิดกับพวกคอมมิวนิสต์

ทัน ปิน ปิน เริ่มสนใจประเด็นการถูกเนรเทศทางการเมืองในสิงคโปร์หลังจากได้อ่านหนังสือ Escape from Lion’s Paw ที่รวบรวมบทความจากหลากหลายผู้คน เช่น นักศึกษาแกนนำการเคลื่อนไหว, สหภาพการค้า, คริสเตียนหัวก้าวหน้า และคอมมิวนิสต์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการถูกจับกุมคุมขังตามมาตรากฎหมายความมั่นคงภายในของสิงคโปร์ ภายหลังจากปฏิบัติการ Operation Coldstore ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 1963 ซึ่งมีการกวาดล้าง ปราบปราม และจับกุมบรรดาสมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยมและแนวร่วมฝ่ายซ้ายกว่า 111 คน ที่มีแนวคิดต่างจากอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู โดยสาเหตุเกิดจากการขับเคี่ยวกันในช่วงการเลือกตั้งระหว่างพรรคกิจประชาชน (PAP – พรรครัฐบาลหนึ่งเดียวของสิงคโปร์ที่ชนะการเลือกตั้งทุกสมัย นับตั้งแต่สิงคโปร์มีเอกราชและเริ่มปกครองตนเองในปี1959) กับขบวนการใต้ดินคอมมิวนิสต์มลายัน และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม (Barisan Sosialis)

แม้หนังเรื่องนี้จะตามไปถ่ายสัมภาษณ์บรรดาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองถึงถิ่นที่อยู่ในปัจจุบัน แต่ท่าทีของสารคดีเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำตัวเป็นหนังประวัติศาสตร์แต่อย่างใด เป็นเพียงการถ่ายทอดภาพชีวิตส่วนตัวของพวกเขา แต่กระนั้นหนังก็ยังถูกแบนในประเทศตัวเอง หลังจากสำนักพัฒนาสื่อสิงคโปร์ (MDA) ไม่สามารถจัดเรทติ้งให้กับหนังเรื่องนี้ได้ ทำให้ถูกตีตรา NAR ทันที ซึ่งหมายความว่าหนังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดเรต ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าฉายหรือจัดจำหน่ายในประเทศได้เลย ยกเว้นจะเป็นการดูส่วนตัว หรือดูเพื่อการเรียนรู้ภายในสถานศึกษา ซึ่งต้องขออนุญาตเป็นรายๆ ไป และมีขั้นตอนตรวจสอบยุ่งยากมาก

โดยวันที่ 10 กันยายน 2014 MDA ได้ให้เหตุผลว่า “ที่หนังเรื่องนี้เป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ เพราะมีการบิดเบือนบทบาทและภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของสิงคโปร์ และสร้างภาพให้บรรดาผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นเหยื่อถูกกระทำผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสา” แล้วแม้จะมีการลงนามเข้าชื่อกว่าหนึ่งพันรายเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดเรทติ้งใหม่อีกรอบ กับต่อมา ทัน ปิน ปิน ได้ขอยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภาพยนตร์ (FAC) แต่สุดท้ายกลับถูกคณะรัฐมนตรีกล่าวหาว่าหนังเป็นอันตรายในระดับเดียวกับการก่อการร้ายหัวรุนแรง ขณะที่ ทัน ปิน ปิน ได้แต่โต้กลับอย่างถ่อมสุภาพว่า “ท่าทีของรัฐบาลน่าสนใจกว่าหนังของฉันเสียอีก”

อันที่จริงเนื้อหาไม่ได้มีส่วนใดเป็นการปลุกระดมเลย ส่วนหนึ่งคือการแสดงความเสียใจ ความคิดถึง และเรียกร้องการฟื้นฟูเปลี่ยนแปลง หนำซ้ำพวกเขาก็ไม่ใช่ผู้ร้ายขายชาติชั่วช้าอย่างที่รัฐบาลตีตรา เช่น อัง สวี่ ไฉ ศัลยแพทย์ผู้ลี้ภัยไปอยู่ลอนดอน ปัจจุบันเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อุปถัมภ์องค์กรด้านการแพทย์ให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ เธอเป็นภรรยาม่ายของนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ฟรานซิส กู่ ที่ลี้ภัยมาด้วยกัน สิ่งที่เธอกล่าวคือคำโอดครวญถึงอดีตที่ว่า “ตอนนั้นฉันไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ว่าคุณจะเคยเป็นใครมาก่อน แต่เมื่อคุณไปอยู่อังกฤษ คุณจะเป็นได้แค่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย”

หรืออย่าง โฮ จวน ไท่ ซึ่งในหนังมีฉากที่เมียและลูกสองคนของเขากลับไปยังสิงคโปร์ในงานฉลองครบรอบวันเกิด 95 ปีของแม่โฮ ขณะที่ตัวโฮอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองโจโฮ บาห์รู ประเทศมาเลเซีย เพื่อคอยเฝ้ามองภาพถ่ายทอดสดงานวันเกิดแม่ตัวเองผ่านทางสไกปต์ ซึ่งจู่ๆ แขกคนหนึ่งในงานเกิดหงุดหงิดขอให้ ทัน ปิน ปิน เลิกถ่ายทำเสียที ทันจึงหันกล้องหนีไปทางหน้าต่างโรงแรม ที่มีหยดน้ำหลังฝนเกาะกระจกอยู่ แล้วเบื้องล่างเป็นท้องถนน พร้อมกับเสียงของใครคนนั้นตะโกนดุขึ้นมาว่า “อย่าถ่ายพวกเรา!” ส่วนโฮได้แต่ตอบกลับคนในครอบครัวทางไกลว่า “อย่ากังวลไปเลย ไม่เป็นไรหรอก”

รวมถึงอดีตพรรคแนวร่วมสังคมนิยม ชาน ซัน วิง ที่ปัจจุบันพำนักอยู่ในประเทศไทย มานั่งอ่านบทกวีชื่อว่า ‘ห้วงคำนึงของคนเปลี่ยนสัญชาติ’ เพราะเขาเพิ่งได้รับสัญชาติไทยเมื่อไม่นานนี้ ส่วน ตัน หวา เปียว อดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยเรียกร้องค่าแรงให้ชนชั้นกรรมาชีพ แต่กลับถูกใส่ร้ายว่าก่อจลาจลในช่วงยุค 70 ก็ทำการคุ้ยกระเป๋าใบเก่าซอมซ่อสองใบออกมาอวด แล้วกล่าวว่า “ตอนผมมาที่นี่ ผมรีบคว้าทุกอย่างเท่าที่จะคว้าได้ ยัดทั้งหมดใส่กระเป๋าใบแค่นี้ มันคือตัวแทนทุกสิ่งที่เรามีตอนมาถึงอังกฤษ ที่ที่ตอนนี้จะกลายเป็นเรือนตายของเราด้วย”

จริงๆ แล้วทัน ปิน ปิน เคยเป็นอดีตลูกรักที่เชิดหน้าชูตาของรัฐบาลสิงคโปร์ เพราะหนังสารคดี Singapore GaGa (2005) ของเธอถูกโหวตให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหนังสือพิมพ์ The Straits Times เป็นที่ภาคภูมิใจถึงขนาดถูกเลือกเอาไว้ในลิสต์ฉายบนสายการบินแห่งชาติ เคยคว้ารางวัลมากมายจากทั้งในและนอกประเทศ ซ้ำยังได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับหนังเรื่องต่อมาของเธอ Invisible City (2007) ด้วย ขณะที่ To Singapore, with Love นอกจากจะได้เงินลงทุนจากกองทุนภาพยนตร์เอเชียในเทศกาลหนังปูซาน ประเทศเกาหลีใต้แล้ว หนังยังคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังดูไบ และเคยฉายในเทศกาลใหญ่อย่างเบอร์ลินมาแล้วด้วย

ทัน ปิน ปิน โพสต์เฟซบุ๊กทิ้งท้ายว่า “หนังเรื่องนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่จริงๆ มันเป็นเพียงการแสดงความรู้สึกนึกคิดของผู้ลี้ภัยเท่านั้นเอง ที่ต้องเหินห่างจากบ้านเกิดเมืองนอนมาช้านาน และให้เห็นว่าพวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไรในปัจจุบัน พวกเขาแค่แสดงออกอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง ขณะที่ฉันเพียงต้องการใคร่รู้ว่าเรามาถึงจุดที่เราเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร จุดที่เมื่อมีใครคิดต่างก็ขับไล่ไสส่งพวกเขาออกไป เรายอมให้อคติเหล่านี้มาหล่อหลอมตัวตนของเราได้อย่างไร”