ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์เปิดเดินทางทั่วไปบรูไน–นิวซีแลนด์ 1 ก.ย. นี้ ลดระยะกักตัว 4 ประเทศเหลือ 7 วัน

ASEAN Roundup สิงคโปร์เปิดเดินทางทั่วไปบรูไน–นิวซีแลนด์ 1 ก.ย. นี้ ลดระยะกักตัว 4 ประเทศเหลือ 7 วัน

23 สิงหาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 16-22 สิงหาคม 2563

  • สิงคโปร์เปิดเดินทางทั่วไปบรูไน–นิวซีแลนด์ 1 ก.ย. นี้
  • อินโดนีเซียเปิด Travel Corridor กับ จีน–เกาหลีใต้-ยูเออี
  • อินโดนีเซียซื้อวัคซีน 50 ล้านโดสจาก Sinovac
  • กัมพูชาและญี่ปุ่นจะกลับมาทำการบินระหว่างกัน
  • กัมพูชา–เวียดนามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหนุนการค้าชายแดน
  • เมียนมาอนุญาตส่งออกทองคำผ่าน L/C
  • สิงคโปร์เปิดเดินทางทั่วไปบรูไน–นิวซีแลนด์ 1 ก.ย. นี้

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/health/singapore-to-allow-general-travel-to-brunei-new-zealand-travellers-to-take-heed-of

    สิงคโปร์อนุญาตให้มีการเดินทางแบบทั่วไปไปยังบรูไน นิวซีแลนด์ รวมทั้งนักเรียนที่ศึกษาในต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน แต่ผู้เดินทางต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมตามพรมแดนในทั้ง 3 ประเทศนี้

    อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิดเตือนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมว่า ผู้ที่ตั้งใจจะไปเยือนบรูไนและนิวซีแลนด์ ควรตรวจสอบข้อกำหนดในการเข้าประเทศของทั้งสองประเทศและใช้มาตรการป้องกันที่จำเป็น

    นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นักเรียนที่เรียนในต่างประเทศในสถาบันหรือโรงรียนที่ไม่ได้เปิดสอนทางไกลให้เป็นทางเลือกก็จะได้รับอนุญาตให้เดินทางได้ด้วย

    สิงคโปร์ยังผ่อนปรนการควบคุมพรมแดนเพื่อให้นักท่องเที่ยวจากบรูไนหรือนิวซีแลนด์ ที่อยู่ในประเทศของตัวเองและอยู่ทั้ง 14 วันติดต่อกันก่อนที่จะเดินทางมาเยือนสิงคโปร์ จะไม่มีการแจ้งให้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านเมื่อเดินทางถึงสิงคโปร์ แต่จะต้องเข้ารับการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงสนามบิน และจะได้รับอนุญาตให้ไปทำกิจกรรมในสิงคโปร์หลังจากมีผลทดสอบเป็นลบเท่านั้น

    นายหว่อง ซึ่งเป็นประธานร่วมของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด ได้ให้ข้อมูลล่าสุดนี้ในงานแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ โดยกล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังคงระบาดต่อเนื่อง และสิงคโปร์จะปรับปรุงมาตรการควบคุมชายแดนผ่านการประเมินข้อมูล

    นายหว่องกล่าวว่า “เราทราบดีว่าบางแห่งสามารถควบคุมการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการเดินทางประเทศต่ำ จากการประเมินของเราเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีข้อกำหนดให้ต้องกักกันตัวสำหรับผู้ที่เดินทางจากสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำเหล่านี้และการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก็เพียงพอแล้ว “สิงคโปร์กำลังเริ่มต้นอย่างระมัดระวัง โดยมีคนเดินทางจากสองประเทศW

    ผู้ที่เดินทางจากบรูไนและนิวซีแลนด์จะต้องสมัครยื่นขอ Air Travel Pass ซึ่งจะเริ่มต้นเปิดให้ยื่นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนและขอล่วงหน้า 7-30 วันก่อนวันที่ต้องการเดินทางมาถึงสิงคโปร์ และต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเอง หากต้องการที่จะรักษาโควิด-19 ขณะที่อยู่ในสิงคโปร์

    นายหว่องกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีประเทศและภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ำอื่นๆ และผู้เดินทางจากพื้นที่เหล่านั้นอาจไม่จำเป็นต้องกักตัวอยู่กับบ้าน “แต่โดยที่ยังต้องระมัดระวังอย่างมาก เราจะยังคงใช้ข้อกำหนดนี้ไปอีก”

    อย่างไรก็ตาม ระยะเวลากักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางจากออสเตรเลีย (ไม่รวมรัฐวิกตอเรีย) มาเก๊า จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน เวียดนาม และมาเลเซีย จะสั้นลงจาก 14 วันเหลือ 7 วันในปัจจุบัน แต่ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในกลุ่มนี้จะต้องรับการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 ก่อนที่ระยะเวลากักตัวกับบ้านจะสิ้นสุดลง

    นายหว่องกล่าวว่า กรอบการผ่อนปรนมาตรการพรมแดนของสิงคโปร์มีด้วยกัน 3 ด้าน คือ 1) ผู้ที่เดินทางเข้าที่ไม่ต้องกักตัว 2) ผู้ที่เดินทางเข้าสามารถกักตัวในเวลาที่สั้นลงตามสถานที่ที่พำนักของตัวเอง และ 3) ผู้เดินทางเข้าต้องกักตัวในระยะเวลา 14 วันในสถานที่รัฐกำหนดเฉพาะ

    “แน่นอนว่าประเทศในกลุ่มต่างๆ จะยังคงได้รับการอัปเดตข้อมูลเป็นระยะๆ ดังนั้นมาตรการนี้จึงไม่ใช่มาตรการที่ใช้ตลอดไป เรายังคงประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง และเราจะอัปเดตรายชื่อประเทศเมื่อผ่านไปอีกระยะหนึ่ง” เขากล่าว

    สำหรับการอนุญาตให้นักเรียนเดินทางไปต่างประเทศ นายหว่องกล่าวว่า “สถาบันการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งกำลังจะเปิดเทอมใหม่ในเร็วๆ นี้ และเราทราบดีว่ามีนักเรียนสิงคโปร์ซึ่งเป็นนักเรียนเต็มเวลา และต้องกลับไปเรียนที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษา

    นายหว่องกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนคำแนะนำการเดินทางล่าสุด ซึ่งอนุญาตให้มีการเดินทางทั่วไปไปยังบรูไนและนิวซีแลนด์ และการศึกษาในต่างประเทศ หมายความว่า ผู้ที่เดินทางเหล่านี้จะมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและความคุ้มครองจากประกันสำหรับการรักษาในสิงคโปร์หากติดเชื้อโควิด-19

    ส่วนการเดินทางที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ การเดินทางเพื่อทางการและการทำงานจะยังคงได้รับอนุญาต ภายใต้การเตรียมการระหว่างกัน เช่น ภายใต้แผนการที่สิงคโปร์มีร่วมกับมาเลเซียและจีน แต่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิดยังไม่แนะนำการเดินทางในรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมด

    เมื่ออยู่ต่างประเทศ ผู้ที่เดินทางควรใช้มาตรการป้องกันที่จำเป็นทั้งหมด และปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศนั้นๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานในพื้นที่” คณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิดระบุ

    อินโดนีเซียเปิด Corridor Travel กับ จีน–เกาหลีใต้–ยูเออี

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/06/16/indonesia-eyes-travel-bubble-for-four-countries-in-asia-pacific.html

    อินโดนีเซียเปิดข้อตกลง Travel Corridor กับ 3 ประเทศ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ลงนามอย่างเป็นทางการในข้อตกลงกับจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่ออนุญาตให้มีการเดินทางแบบ Travel Corridor ซึ่งจะส่งผลให้มีการเดินทางทางอากาศที่ชะงักมานาน แต่มีข้อจำกัดด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

    การเดินทางแบบ Travel Corridor กับจีนจัดทำขึ้นในเย็นวันที่ 20 สิงหาคม ตามหลังข้อตกลงกับเกาหลีใต้และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีขึ้นในวันที่ 17 สิงหาคมและ 29 กรกฎาคม 2563

    “Travel corridor ที่ลงนามกับจีนในวันนี้จะเริ่มทันที” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางเรตโน มาร์ซูดี กล่าวในการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์

    การเดินทางทางอากาศจะช่วยให้ผู้ที่เดินทางเพื่อการจัดการทางธุรกิจที่จำเป็นมีทางออก นอกจากนี้ ในการประชุมกับจีนยังมีนายเอริก โทฮีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ และประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของอินโดนีเซียและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ (KPCPEN) พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน นายหวัง อี้

    ขณะเดียวกัน Travel Corridors กับเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนักการทูตและธุรกิจในภาคส่วนสำคัญมีความสะดวกมากขึ้น

    รัฐบาลชาวอินโดนีเซียยังพยายามที่จะเปิดการเดินทาง Travel Corridors เพื่อธุรกิจกับประเทศในอาเซียน

    อินโดนีเซียซื้อวัคซีน 50 ล้านโดสจาก Sinovac

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/154770/bio-farma-to-receive-50-million-covid-19-vaccine-concentrate-doses

    บริษัทพีที ไบโอ ฟาร์มา ผู้ผลิตวัคซีนของอินโดนีเซีย ตั้งเป้าว่าจะได้รับสารสกัดพร้อมเติม (RTF) 50 ล้านโดสจากซีโนวัก ซึ่งเป็นบริษัทยาของจีน (Sinovac Biotech Ltd.) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมีนาคม 2564 เพื่อการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนมาก

    ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อการซื้อและจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนมากในไห่หนาน ประเทศจีนในวันที่ 20 สิงหาคม

    ภายใต้ข้อตกลงนี้ ไบโอฟาร์มาจะไม่เพียงแต่ดำเนินการผลิตและแจกจ่ายวัคซีน ต้านโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนจากซีโนวักด้วย นายเอริก โทฮีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของอินโดนีเซียและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ (KPCPEN) กล่าว

    “ในระหว่างการพบปะครั้งนี้ เราต้องการสร้างความมั่นใจให้กับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของเรา ความร่วมมือระหว่างไบโอฟาร์มาและซีโนวัก ถือเป็นความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เราได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับการถ่ายโอนความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากซีโนวัก” นายโทฮีร์กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม

    ขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนางเรตโน มาร์ซูดี ยืนยันว่าทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงสองฉบับในวันที่ 20 สิงหาคม ซึ่งภายใต้ข้อตกลงฉบับแรกอินโดนีเซียจะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนมากเพิ่มขึ้น จนถึงเดือนมีนาคม 2564 โดยจะคงอยู่จนถึงช่วง สิ้นปี 2564

    ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการจัดหาวัคซีนจำนวนมากถึง 50 ล้านโดสระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมีนาคม 2564 นางเรตโน มาร์ซูดี กล่าว

    ข้อตกลงฉบับที่สองเกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างซีโนวักและไบโอฟาร์มา ด้านการผลิตวัคซีนจำนวนมากในปี 2564 ซึ่งซีโนวักจะให้ความสำคัญกับไบโอฟาร์มาเป็นลำดับต้นในการจัดหาวัคซีนจำนวนมากจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นความร่วมมือระยะยาวระหว่างซีโนวักและไบโอฟาร์มา

    นายฮอเนสติ บาซีร์ ประธานอำนวยการไบโอฟาร์มา กล่าวว่า บริษัทกำลังรอการจัดส่งวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 10 ล้านโดสแรกในเดือนพฤศจิกายน 2563 และอีก 10 ล้านโดสในเดือนธันวาคม 2563

    ส่วนวัคซีนอีก 10 ล้านโดสจะจัดส่งใน 3 เดือนแรกของปี 2564 โดยรวมแล้วไบโอฟาร์มาจะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 50 ล้านโดสจนถึงเดือนมีนาคม 2564

    นายบาซีร์กล่าวว่า ไบโอฟาร์มาจะไม่ผลิตวัคซีนจากสาร RTF จำนวนมากในทันทีที่ได้รับในเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่จะทำการทดสอบหลายชุดที่ห้องปฏิบัติการไบโอฟาร์มาและขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานควบคุมยาและอาหารก่อน หลังจากนั้นเนินการบรรจุและบรรจุหีบห่อเพื่อเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ซึ่งจะมีส่วนผสมในประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านการบรรจุ/การผลิตจำนวนมาก

    กัมพูชาและญี่ปุ่นจะกลับมาทำการบินระหว่างกัน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50755953/cambodia-and-japan-to-resume-flights/

    กัมพูชาและญี่ปุ่นจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินตรงในไม่กี่เดือนหลังจากที่ระงับไปเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

    การร้องขอดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการพบปะอย่างเป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น นายโมเทกิ โทชิมิตสึ เพื่อให้กิจกรรมทางธุรกิจระหว่างสองประเทศกลับมาดำเนินการ

    นายโมเทกิ โทชิมิตสึ กล่าวในการพบปะว่า ขอแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ดำเนินการอย่างดีที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกัมพูชา และว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมเงินมากขึ้นเพื่อสนับสนุนกัมพูชาในการต่อสู้กับโรคระบาด

    ขณะที่การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ นายโมเทกิได้ร้องขอให้เปิดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอีกครั้ง เช่น การขนส่งทางอากาศเพื่อกระตุ้นการค้าเศรษฐกิจและธุรกิจ

    นายกรัฐมนตรีฮุนเซนเตอบสนองต่อคำร้อง โดยได้แสดงการสนับสนุนเกี่ยวกับการเปิดภาคธุรกิจการค้าและอื่นๆ ระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น ในการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอีกครั้ง นายโมเทกิได้เสนอให้มีการเริ่มต้นเที่ยวบินใหม่โดยอร์นิปปอนแอร์ไลน์ (ANA) ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างสองประเทศเป็นไปอย่างปกติ

    กัมพูชา–เวียดนามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหนุนการค้าชายแดน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50755887/cambodia-and-vietnam-to-develop-infrastructure-to-facilitate-border-trade/
    กัมพูชาและเวียดนามจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าชายแดน

    นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ประกาศแผนการดำเนินเพื่อที่จะทำบันทึกความเข้าใจ(Memorandum of Understanding:MoU)ว่าด้วยการพัฒนาและการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดนระหว่างเวียดนามและกัมพูชา

    แนวทางการดำเนินการเริ่มต้นในวันที่ 19 สิงหาคมและจะมีผลจนถึงเดือนตุลาคม 2565 หากมีการขยาย MoU แผนดังกล่าวจะดำเนินการต่อไปอีกสามปี

    ตามแผนนี้ กระทรวง ภาคธุรกิจต่างๆ และท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง จะต้องจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักในเนื้อหาของบันทึกความเข้าใจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดนเวียดนาม–กัมพูชา ส่งเสริมการค้ากับกัมพูชา และแบ่งปันข้อมูลและจัดหลักสูตรการฝึกอบรม

    ในช่วงปี 2564 และ 2565 จะทำการสำรวจเพื่อสร้างตลาดชายแดนอย่างน้อยที่สุด 1 แห่ง ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักธุรกิจเวียดนามและกัมพูชาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดน เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนบริษัทในการแนะนำและกระจายสินค้าที่ตลาดชายแดนศูนย์การค้าและงานแสดงสินค้า

    เวียดนามและกัมพูชามีพรมแดนทางบกเชื่อมกันยาวเกือบ 1,137 กิโลเมตรผ่าน 10 จังหวัดของเวียดนาม ได้แก่ กอนตูม, ซา ลาย, ดั๊ก ลัก, ดั๊ก โนง, บิ่ญเฟือก, เต็ย นิญ, ลอง อัน, ด่ง ท้าป, อาน ซาง, เกียนซาง และผ่านจังหวัดรัตนคีรี, มนฑลคีรี, กระแจะ, ตโบงฆมุม, สวายเรียง, เปรยเวง, กันดาล, ตาแก้ว และกัมปอต ของกัมพูชา

    เมียนมาอนุญาตส่งออกทองคำผ่าน L/C

    ที่มาภาพ: https://mmbiztoday.com/ministry-allows-jewelry-and-artworks-export-with-l-c/
    กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศว่าจะอนุญาตให้ส่งออกทองคำเครื่องประดับและงานศิลปะและงานหัตถกรรมที่ทำจากทองคำ ผ่านเลตเตอร์ออฟเครดิต(letter of credit: L/C)

    เนื่องจากเมียนมาอยู่ในรายชื่อสีเทาของคณะผู้ประเมินของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ที่กำหนดให้ควบคุมการส่งออก/นำเข้าของเก่าเครื่องประดับและงานศิลปะและงานฝีมือที่ทำจากทองคำเพื่อป้องกันการฟอกเงินผ่านการส่งออกและนำเข้าดังกล่าว

    นอกจากนี้การประชุมของกลุ่มเอเชีย/แปซิฟิกว่าด้วยการฟอกเงินที่จัดขึ้นที่ปักกิ่งประเทศจีนในปีนี้ได้กำหนดข้อเสนอแนะ 14 ประการสำหรับเมียนมาในการดำเนินมาตรการเพื่อต่อต้านการฟอกเงินและการจัดหาเงินทุนเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย

    เมียนมาเพิ่งถูกถอดจากบัญชีดำของ FATF ที่มีสมาชิก 200 ประเทศในปี 2559

    ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซื้อทองคำและเครื่องประดับจากเมียนมาเป็นหลัก ส่วนผู้ซื้อรายอื่นเป็นชาวต่างชาติที่มาเยือนประเทศ

    เมียนมาอนุญาตให้ส่งออก/นำเข้าทองคำครั้งแรกอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2561