ThaiPublica > เกาะกระแส > สสส. แจงการตรวจสอบของ คตร. ข้อมูลคลาดเคลื่อน ยันใช้เงิน “ไม่บิดเบี้ยว” ปัดเป็นแหล่งทุน NGO เคลื่อนไหวการเมือง

สสส. แจงการตรวจสอบของ คตร. ข้อมูลคลาดเคลื่อน ยันใช้เงิน “ไม่บิดเบี้ยว” ปัดเป็นแหล่งทุน NGO เคลื่อนไหวการเมือง

12 ตุลาคม 2015


หลังจาก พล.อ. ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่ามีการเบิกจ่ายงบประมาณบางโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน สสส. ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 จน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข เข้ามากำกับการเบิกจ่าย หากโครงการใดไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของ สสส. ก็ให้หยุดไว้ก่อน

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. พร้อมด้วย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เปิดแถลงข่าวชี้แจงถึงกระแสข่าวดังกล่าว

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส.
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส.

สสส. เผยมีกลไกตรวจสอบใช้งบให้ตรงวัตถุประสงค์ มีปัญหาน้อยมาก แค่ 5 โครงการ/ปี

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า ได้รับหนังสือจาก คตร. จริง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่ข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อมวลชนบางอย่างยังคลาดเคลื่อน จึงอยากขอโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

  1. ที่ปรากฏข่าวว่าการใช้งบของ สสส. บางโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขอยืนยันว่าเราทำตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง สสส. ทุกอย่าง ทั้งที่ปรากฏในกฎหมาย ซึ่งมีอยู่ 6 ประการ และตามกรอบขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ตามกฎบัตรออตตาวา ที่มีอยู่ 5 ประการ ที่ให้นิยามการเสริมสร้างสุขภาพไม่ได้หมายความแค่เรื่องเหล้าและบุหรี่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างสุขภาพทุกมิติ ทั้งการทำงานวิจัย การส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ (Non-Governmental Organization: NGO) การเสริมสร้างผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กีฬา ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เรายึดถือในการปฏิบัติที่บอกว่า สสส. ใช้งบไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ อาจเป็นการตีความไม่เหมือนกัน คตร. อาจจะมองในมุมผู้ตรวจสอบบัญชี เช่น โครงการสวดมนต์ข้ามปีที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่าง คตร. อาจจะมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ แต่ สสส. มีข้อมูลชัดเจนว่าโครงการนี้ทำให้คนที่เคยไปฉลองปีใหม่ด้วยการกินเหล้า หันมาสวดมนต์ข้ามปีแทน ถือเป็นการลดอุบัติเหตุไปในตัว หรือการส่งนักวิชาการไปดูงานต่างประเทศในบางโครงการ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ ตนจึงคิดว่าเป็นเรื่องของการตีความ
  1. การอนุมัติโครงการต่างๆ ของ สสส. จะมีขั้นตอนปฏิบัติอยู่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายกว่า 1,200 คน ที่จะคอยคัดกรองว่าโครงการที่เสนอมาตรงตามวัตถุประสงค์ของ สสส. หรือไม่ โครงการขนาดเล็กอาจพิจารณากันแค่ 2-3 คน โครงการขนาดใหญ่ขึ้นมาอาจพิจารณากันถึง 7 คน โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเข้าสู่คณะกรรมการบริหารแผน และโครงการที่มีมูลค่ามากกว่านั้น อาจต้องเข้าสู่คณะกรรมการกองทุนโดยตรง ที่บอกว่า สสส. เบิกจ่ายงบให้กับบุคคล/กลุ่มบุคคล/องค์กรที่ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีนั้น ส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียด ในหนังสือที่ คตร. ส่งมาก็ไม่ระบุรายละเอียดว่าเป็นโครงการใด ทั้งนี้ นับแต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คตร. เข้ามาตรวจสอบการใช้งบของ สสส. เมื่อ 2 เดือนก่อน ก็ไม่เคยเปิดโอกาสให้ สสส. ได้ชี้แจงเลย ทำให้มีสิทธิที่จะมีข้อมูลที่ผิดพลาด จึงอยากขอโอกาสชี้แจงเพื่อแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง
  1. ที่มีหนังสือพิมพ์บางฉบับบอกว่า การใช้งบของ สสส. อาจมีปัญหาเรื่องการทุจริตด้วยนั้น ในหนังสือที่ คตร. ส่งมาไม่มีการระบุถึงเรื่องนี้ ที่ก่อนหน้านี้ สตง. เคยเข้ามาสุ่มตรวจแล้วพบว่ามี 2 โครงการ จากทั้งหมด 11 โครงการที่ถูกสุ่มตรวจ ผู้รับทุนนำเงินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ สสส. ก็ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีก่อนที่ สตง. จะเข้ามาตรวจสอบเสียอีกแต่ละปี สสส. ให้งบสนับสนุนโครงการต่างๆ มากกว่า 4,000 โครงการ อาจจะมีผู้รับทุนบางรายใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่ง สสส. ก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทั้งเรียกเงินคืนและฟ้องร้องดำเนินคดี ทว่าในแต่ละปีจะมีการใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เฉลี่ยไม่เกิน 5 โครงการเท่านั้น

เมื่อถามว่าการให้เงินทำวิจัยเรื่องการเมืองไทยเกี่ยวกับสีเสื้อต่างๆ เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร ทพ.กฤษดา กล่าวว่า โครงการนี้อยู่ในส่วนที่เรียกว่านโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะมี 12 นโยบายย่อย โดยอยู่ในนโยบายสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศไทย ซึ่งแยกลงไปได้อีกเป็น 14 หัวข้อย่อ โดยมีหัวข้อหนึ่งที่กล่าวถึงผลกระทบทางการเมืองต่อปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การทำวิจัยเกี่ยวกับการเมืองเป็นการใช้งบที่น้อยมากๆ ไม่ถึง 1% ของงบ สสส. ทั้งหมด

เมื่อถามว่าที่นายกฯ สั่งให้หยุดจ่ายเงินบางโครงการ สสส. จะทำอย่างไรต่อไป และฝ่ายบริหารมีอำนาจสั่งไม่ให้ สสส. เบิกจ่ายเงินหรือไม่ ทพ.กฤษดา กล่าวว่า หนังสือที่ คตร. ส่งมาเป็นเพียงข้อแนะนำ ซึ่งตนจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนในวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ถ้าในอนาคตมีโอกาสได้สอบถามหรือพูดคุยกับ คตร. โดยตรง เชื่อว่าจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบของปีงบประมาณ 2559 ยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้ถูกเบรกตามที่เป็นข่าว

รายได้สสส.

ไม่เชื่อ คสช. จ้องยุบ – ปฏิเสธให้เงินแค่พวกพ้อง

เมื่อถามว่า สสส. มีข้อครหาเรื่องการให้งบเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น จะชี้แจงอย่างไร ทพ.กฤษดา กล่าวว่า ในหนังสือของ คตร. ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ตนอยากให้มีกระบวนการพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหา ทราบมาว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเข้ามาร่วมพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

เมื่อถามว่ามีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนบางแห่งว่า คตร. ติงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการอนุมัติโครงการของผู้บริหาร สสส. บางราย ทพ.กฤษดา กล่าวว่า “เรื่องนี้ผมไม่สามารถเปิดเผยได้ ขอชี้แจงเฉพาะประเด็นที่เป็นข่าวเท่านั้น เช่น การใช้งบผิดวัตถุประสงค์ของโครงการสวดมนต์ข้ามปี เพราะถ้าไปตอบเรื่องอื่นล่วงหน้า อาจเป็นการเปิดเผยข้อมูลในเอกสารที่เป็นความลับของทางราชการ แต่ยืนยันได้ว่า การใช้เงินของ สสส. ไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแน่นอน”

เมื่อถามว่าจริงหรือไม่ที่การพิจารณาโครงการของ สสส. จะดูที่ความสนิทสนมเป็นหลัก ทพ.กฤษดา กล่าวว่า ไม่มี เพราะการเบิกจ่ายงบประมาณจะต้องกำหนดแผนการก่อนว่าอยากได้อะไร แล้วค่อยนำไปสู่การพิจารณาคำขอรายโครงการ ด้วยกลไกนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจ่ายให้คนซ้ำๆ ยกเว้นบางกรณีที่อาจต้องทำงานต่อเนื่อง เช่น โครงการลดอุบัติเหตุทางถนน ก็จะต้องให้ตำรวจดำเนินการ ฉะนั้น การให้งบของ สสส. จึงมุ่งที่ภารกิจมากกว่าตัวบุคคล

เมื่อถามว่านับแต่ คสช. เข้ามาควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ ในปี 2557 สสส. ก็ถูกตั้งคำถามมากมาย กระทั่งมีแนวคิดว่าจะยุบ สสส. คิดว่านี่คือสาเหตุที่ถูกตรวจสอบครั้งนี้หรือไม่ และอะไรน่าจะอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สสส. เป็นภาครัฐ แต่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ จึงเป็นธรรมดาที่จะมีคำถาม มีข้อสงสัย แต่ทาง สสส. ก็ยินดีที่จะตอบทุกคำถาม และพร้อมให้ตรวจสอบ

“ผมไม่เคยคิดว่ารัฐบาลจ้องจะยุบเรานะ เพราะ สสส. ก็ยังทำงานสนองรัฐบาลอยู่ มีรองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร สสส. ถ้ามีอะไรจึงน่าจะคุยกันได้”

ปัดเป็นแหล่งทุน NGO เคลื่อนไหวการเมือง

เมื่อถามว่าแต่ละปี สสส. ให้เงินสนับสนุนเอ็นจีโอจำนวนมาก และเอ็นจีโอเหล่านั้นก็คัดค้านการทำงานของรัฐบาล อาจเป็นสาเหตุทำให้ถูกตรวจสอบครั้งนี้หรือไม่ ทพ.กฤษดา กล่าวว่า การให้เงินสนับสนุนของ สสส. จะดูที่ตัวโครงการเป็นหลัก และเมื่ออนุมัติไปแล้วก็จะเข้าไปดูว่าใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ขอมาหรือไม่ ถ้าเอ็นจีโอนั้นๆ ได้ทุนจากแหล่งอื่นแล้วไปเคลื่อนไหวทางการเมือง สสส. ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะถ้าไปบอกว่าจะไม่ให้เงินสนับสนุนกับเอ็นจีโอนั้นนี้ ก็จะถูกมองว่าเลือกข้างไป แต่หลักการของ สสส. ก็คือจะไม่สนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง เช่น นำคนมาประท้วง

เมื่อถามว่ามีเสียงวิจารณ์ว่า สสส. เป็นแหล่งทุนให้เอ็นจีโอเคลื่อนไหวทางการเมือง ทพ.กฤษดา กล่าวว่า งบส่วนใหญ่ของ สสส. ให้ไปกับภาครัฐ ไม่ใช่เอ็นจีโอ เอ็นจีโอมาเป็นอันดับสอง

เมื่อถามว่า สสส. ให้เงินกับเอ็นจีโอมาต่อเนื่องหลายปี รวมถึงการให้งบซื้อโฆษณาในสื่อมวลชน จนมีเครือข่ายกว้างขวาง อาจทำให้ภาครัฐรู้สึกว่า สสส. มีอำนาจมาก จนต้องเข้ามาตรวจสอบหรือเปล่า ทพ.กฤษดา กล่าวว่า “เราทำงานด้านสุขภาพเป็นหลัก คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยมีสุขภาพดี เราไม่เคยคิดว่าตัวเองมี power หรือจะใช้ power ไปในทางใด”

เมื่อถามว่าเคยประเมินไหมว่าโครงการที่ สสส. สนับสนุน มีประสิทธิภาพเพียงใด ทพ.กฤษดา กล่าวว่า เคยมีตัวแทน WHO มาพิจารณาการทำงานของ สสส. และเห็นว่ามีประสิทธิภาพ จนหลายๆ ประเทศในอุษาคเนย์คิดจะจัดตั้งองค์กรอย่าง สสส. ขึ้นมา และถ้า สสส. ทำงานไม่ได้ผล ก็คงไม่ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ และคงไม่ทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับสุราและยาสูบได้รับความเดือดร้อนขนาดนี้

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าบริษัทเหล่านั้นอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของภาครัฐให้เข้ามาตรวจสอบ สสส. อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทพ.กฤษดา กล่าวว่า ในต่างประเทศบริษัทเอกชนมีพลังพอที่จะทำให้ภาครัฐเข้ามากดดันการทำงานขององค์กรอย่าง สสส. แต่ในประเทศไทยตนคงไม่สามารถตอบได้ว่าเพราะอะไร(คลิกภาพเพื่อขยาย)

รายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ระหว่างปี 2545-2557 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่จะเห็นได้ว่ามีอยู่ 2 ปีที่เก็บภาษีได้ลดลง คือ ในปี 2549 ที่มีการเพิ่มอัตราภาษียาสูบ ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายยาสูบ และในปี 2552 ที่มีการขึ้นภาษีเบียร์จาก 55% เป็น 60% ทำให้การบริโภคเบียร์ลดลงเกือบ 4,000 ล้านบาท
รายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ระหว่างปี 2545-2557 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่จะเห็นได้ว่ามีอยู่ 2 ปีที่เก็บภาษีได้ลดลง คือ ในปี 2549 ที่มีการเพิ่มอัตราภาษียาสูบ ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายยาสูบ และในปี 2552 ที่มีการขึ้นภาษีเบียร์จาก 55% เป็น 60% ทำให้การบริโภคเบียร์ลดลงเกือบ 4,000 ล้านบาท

ยันทำงานได้ผล ได้งบเพิ่มเพราะรัฐขึ้นภาษี “บุหรี่-เหล้า”

ด้าน นพ.บัณฑิต กล่าวชี้แจงว่า ที่นักวิชาการบางคนออกมาพูดว่า หาก สสส. ทำงานประสบความสำเร็จแล้วทำไมรายได้ของ สสส. ถึงเพิ่มขึ้นในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมา จาก 1,526 ล้านบาท ในปี 2545 มาเป็น 4,064 ล้านบาท ในปี 2557 ขอชี้แจงว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง สสส. มาในปี 2544 มีการขั้นภาษีบุหรี่ถึง 5 ครั้ง ขึ้นภาษีเหล้าอีก 7 ครั้ง ทำให้ภาษีที่ได้จากเหล้าและบุหรี่ เพิ่มขึ้นสวนทางกับอัตราการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าที่ลดลง โดยเมื่อสิบปีก่อน คนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ถึง 25% ตอนนี้เหลือแค่ 19% ถ้าไม่มี สสส. ปัจจุบันน่าจะมีคนไทยสูบบุหรี่มากขึ้นถึง 7 ล้านคน ถามว่าตัวเลข 19% ถือว่าดีไหม ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ที่ 14% และออสเตรเลียที่ 13% ก็ยังต้องทำงานต่อไป ขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุราก็ลดลงจากสิบปีก่อนถึง 1.7 หมื่นล้านบาท