ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตรวจการบ้าน ป.ป.ช. “ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย” 9 ปี 13 กรรมการ ไต่สวน 3.4 หมื่นคดี เสร็จแค่หนึ่งในสี่

ตรวจการบ้าน ป.ป.ช. “ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย” 9 ปี 13 กรรมการ ไต่สวน 3.4 หมื่นคดี เสร็จแค่หนึ่งในสี่

19 กันยายน 2015


ปปช03
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน (คลิกเพื่อขยาย)

เหลืออีกไม่ถึงสัปดาห์ ก็จะครบ 9 ปี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยอำนาจพิเศษของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 และเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 21 กันยายน 2558

9 ปี ถ้าเทียบกับเด็กที่เกิดในวันที่กรรมการ ป.ป.ช. ได้รับแต่งตั้ง ถึงวันนี้ก็น่าจะขึ้น ป.4

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้มีอำนาจมากที่สุดในประเทศเวลานี้ ขณะนั้น ยังมียศแค่ พล.ต. เป็นเพียงรองแม่ทัพภาคที่ 1

ผ่านรัฐบาลทั้งทหาร-พลเรือน ถึง 6 ชุด ผ่านการชุมนุมใหญ่ 4 ครั้ง และผ่านการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง

ที่ผ่านมา ป.ป.ช. รับฝากความคาดหวังจากคนในสังคม ว่าจะเป็นองค์กรหลักในปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาที่หยั่งรากฝังลึกและบั่นทอนศักยภาพในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด

ในโอกาสที่ กรรมการ ป.ป.ช. 5 คนสุดท้าย ที่ได้รับแต่งตั้งโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คปค. จะพ้นตำแหน่ง

ก็ถึงเวลาที่จะมาตรวจการบ้านกันแล้วว่า การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใต้สโลแกน “ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน” ในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน

13 กรรมการ ป.ป.ช. – 3 หมื่นคดีทุจริต – 3 ภารกิจสำคัญ

จากปี 2549 ถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ ป.ป.ช. รวม 13 คน

– นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – ปัจจุบัน)

– นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – 18 กันยายน 2556 พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี)

– นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – 14 มีนาคม 2557 พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี)

– นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – ปัจจุบัน)

– นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – ปัจจุบัน)

– นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – 10 สิงหาคม 2555 พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี)

– นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – ปัจจุบัน)

– นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – ปัจจุบัน)

– นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. (22 กันยายน 2549 – 13 พฤษภาคม 2553 พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี)

– นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. (29 กันยายน 2553 – ปัจจุบัน)

– พล.ต.อ. สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. (7 พฤศจิกายน 2555 – ปัจจุบัน)

– นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. (29 พฤศจิกายน 2556 – ปัจจุบัน)

– นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. (9 กันยายน 2557 – ปัจจุบัน)

โดยในวันที่ 21 กันยายน 2558 นี้ จะมีกรรมการ ป.ป.ช. อีก 5 คนต้องพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ นายปานเทพ นายประสาท นายภักดี นายวิชา และนายวิชัย ซึ่งต้องมีการสรรหาผู้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน โดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2558

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้โดยสรุป 3 ประการ คือ ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่ภารกิจที่ผู้คนมักพุ่งความสนใจ คือการ “ปราบคอร์รัปชัน-ตรวจบัญชีทรัพย์สิน” เพราะเป็นงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรม-จับต้องได้ ใครทำผิดก็จะมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล

จากการรวบรวมข้อมูลที่ปรากฏใน “รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่” ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องจัดทำเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นประจำทุกปี โดยล่าสุด ก็เพิ่งมีการนำเสนอรายงานประจำปีของปี 2556 เสนอต่อ ครม. ไปเมื่อเดือนเมษายน 2558 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา

จะพบว่า ระหว่างปี 2549-2556 มีคดีที่ ป.ป.ช. รับมาไต่สวนทั้งสิ้น 34,178 คดี และมีบัญชีทรัพย์สินที่รับมาตรวจสอบทั้งสิ้น 191,060 บัญชี(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ผลงานปปช01
ผลการไต่สวนคดีทุจริตและการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. ระหว่างปี 2549-2556

ทำ “คดีทุจริต-ตรวจบัญชีทรัพย์สิน” เสร็จปีละแค่หนึ่งในสี่

ที่น่าสนใจคือ ประสิทธิภาพในการทำงานของ ป.ป.ช. สำหรับคดีจะไต่สวนแล้วเสร็จในอัตราเฉลี่ยราว 25.6% ต่อปี (สูงสุด 63.9% และต่ำสุด 6.2%) ส่วนบัญชีทรัพย์สินจะตรวจสอบเสร็จในอัตราเฉลี่ยราว 27.2% ต่อปี (สูงสุด 66.0% ต่ำสุด 8.7%)

– ผลงานด้านการปราบปรามการทุจริต

ปี 2549 ป.ป.ช. มีคดีค้างและคดีที่รับใหม่รวม 12,364 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 776 คดี คิดเป็น 6.2%

ปี 2550 ป.ป.ช. มีคดีค้างและคดีที่รับใหม่รวม 14,314 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 9,148 คดี คิดเป็น 63.9%

ปี 2551 ป.ป.ช. มีคดีค้างและคดีที่รับใหม่รวม 8,273 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,226 คดี คิดเป็น 26.9%

ปี 2552 ป.ป.ช. มีคดีค้างและคดีที่รับใหม่รวม 8,834 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,061 คดี คิดเป็น 23.3%

ปี 2553 ป.ป.ช. มีคดีค้างและคดีที่รับใหม่รวม 9,840 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,458 คดี คิดเป็น 14.8%

ปี 2554 ป.ป.ช. มีคดีค้างและคดีที่รับใหม่รวม 10,988 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,822 คดี คิดเป็น 16.5%

ปี 2555 ป.ป.ช. มีคดีค้างและคดีที่รับใหม่รวม 11,603 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 3,787 คดี คิดเป็น 32.6%

ปี 2556 ป.ป.ช. มีคดีค้างและคดีที่รับใหม่รวม 10,692 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,208 คดี คิดเป็น 20.6%

แต่ต้องหมายเหตุไว้ด้วย สาเหตุที่ในปี 2549 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนคดีแล้วเสร็จได้เพียง 6.2% เนื่องจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 22 กันยายน 2549 และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2549 โดยก่อนหน้านั้น ระหว่างปี 2547-2549 เกิด “สุญญากาศการทำงาน” เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขณะนั้นต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่จากคดีขึ้นเงินเดือนตัวเอง ทำให้มีคดีคงค้างจำนวนมาก

ขณะที่ในปี 2550 เหตุที่มีคดีดำเนินการแล้วเสร็จจำนวนมากถึง 63.9% ส่วนใหญ่จะเป็นการโอนคดีไปให้กับหน่วยงานอื่นดำเนินการต่อถึง 5,876 คดี โดยเฉพาะการโอนคดีไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อไต่สวนคดีทุจริตที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ระดับตั้งแต่ซี 8 ลงไป เพื่อลดปัญหาคดีคงค้างใน ป.ป.ช.

– ผลงานด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

ปี 2549 ป.ป.ช. มีบัญชีทรัพย์สินคงค้างและรับใหม่รวม 41,341 บัญชี ตรวจสอบแล้วเสร็จ 3,757 บัญชี คิดเป็น 9.0%

ปี 2550 ป.ป.ช. มีบัญชีทรัพย์สินคงค้างและรับใหม่รวม 47,873 บัญชี ตรวจสอบแล้วเสร็จ 20,479 บัญชี คิดเป็น 42.7%

ปี 2551 ป.ป.ช. มีบัญชีทรัพย์สินคงค้างและรับใหม่รวม 44,111 บัญชี ตรวจสอบแล้วเสร็จ 4,988 บัญชี คิดเป็น 11.3%

ปี 2552 ป.ป.ช. มีบัญชีทรัพย์สินคงค้างและรับใหม่รวม 51,986 บัญชี ตรวจสอบแล้วเสร็จ 4,569 บัญชี คิดเป็น 8.7%

ปี 2553 ป.ป.ช. มีบัญชีทรัพย์สินคงค้างและรับใหม่รวม 57,414 บัญชี ตรวจสอบแล้วเสร็จ 8,321 บัญชี คิดเป็น 14.4%

ปี 2554 ป.ป.ช. มีบัญชีทรัพย์สินคงค้างและรับใหม่รวม 58,981 บัญชี ตรวจสอบแล้วเสร็จ 12,148 บัญชี คิดเป็น 20.5%

ปี 2555 ป.ป.ช. มีบัญชีทรัพย์สินคงค้างและรับใหม่รวม 72,757 บัญชี ตรวจสอบแล้วเสร็จ 48,051 บัญชี คิดเป็น 66.0%

ปี 2556 ป.ป.ช. มีบัญชีทรัพย์สินคงค้างและรับใหม่รวม 88,747 บัญชี ตรวจสอบแล้วเสร็จ 40,009 บัญชี คิดเป็น 45.0%

นี่คือภาพรวมการทำงาน 2 ภารกิจของ ป.ป.ช. ในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ที่แม้จะได้รับงบประมาณเพิ่มจาก 787.70 ล้านบาท ในปี 2549 มาเป็น 1,228.16 ล้านบาท ในปี 2556 และมีบุคลากรเพิ่มขึ้นจาก 520 คน ในปี 2550 เป็น 1,354 คนในปี 2556 แต่ผลการทำงานก็ยังไม่สะท้อนประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นตาม “งบ-คน” ที่ได้รับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

กรรมการ ป.ป.ช. รายหนึ่งเคยกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำงานของ ป.ป.ช. ในช่วงเวลาที่ผ่านมาล่าช้า โดยเฉพาะการไต่สวนคดีทุจริต มาจากการที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้มีสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัด ทำให้ต้องกระจายมือทำงานระดับซี 8 ไปเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดทั่วประเทศ จนขาดบุคลากรที่จะมาช่วยทำงานในส่วนกลาง

“ปานเทพ” พอใจผลงาน หวังดัชนี CPI ขึ้นเกิน 40

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า พอใจผลการทำงานในเวลาที่ผ่านมา ที่ทำได้ตามเป้าหมายระดับหนึ่ง แม้การไต่สวนคดีจะทำได้สำเร็จเพียง 20-30% ของคดีที่มีอยู่ในมือเท่านั้น แต่ก็เป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการภายใน ซึ่งปัจจุบันได้มีการแก้ไขแล้ว ที่สำคัญ คดีที่คงค้างทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนของการแสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ในขั้นตอนการไต่สวน ซึ่งได้กระจายไปให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่จะทำให้การทำงานหลังจากนี้ของ ป.ป.ช. เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น

“ป.ป.ช. ได้วางยุทธศาสตร์ว่าจะทำให้ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) มากกว่า 50 คะแนน ให้ได้ภายในปี 2560 จากปีที่แล้วซึ่งประเทศไทยได้ CPI อยู่ที่ 36 คะแนน ส่วนปีนี้จะมีการประกาศ CPI ราวเดือนธันวาคม หากได้ CPI เพิ่มเป็น 40 คะแนน ก็ถือว่าผลการทำงานของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น”

นายปานเทพกล่าวว่า สำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตกลงกันว่าจะเร่งเคลียร์คดีสำคัญให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะ 3 คดี ทั้งคดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง และคดีสั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ก่อนที่กรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงราวเดือนพฤศจิกายน 2558

ทั้งนี้ จะมีการจัดงานแถลงข่าวผลการทำงานตลอด 9 ปีที่ผ่านมาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในเดือนกันยายน 2558 นี้