ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิด”พื้นที่สีขาว” แนวร่วม 22 บริษัทที่มีระบบป้องกันการทุจริต ไร้สินบน โปร่งใส – “คนทุจริตต้องไม่มีที่ยืนในสังคม”

เปิด”พื้นที่สีขาว” แนวร่วม 22 บริษัทที่มีระบบป้องกันการทุจริต ไร้สินบน โปร่งใส – “คนทุจริตต้องไม่มีที่ยืนในสังคม”

10 ตุลาคม 2013


ภาพหมู่ผู้ที่ผ่านการรับรองว่าเป็นบริษัทที่มีระบบป้องกันการทุจริตโดยคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต
ผู้ที่ผ่านการรับรองว่าเป็นบริษัทที่มีระบบป้องกันการทุจริตโดยคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยเรื่องแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s 4th National Conference on Collective Action Against Corruption) ในหัวข้อ “Working Models for Governance in Corporate Operations and Infrastructure Projects”

เปิดรายชื่อ 22 บริษัทที่มีระบบป้องกันการทุจริต

ดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต กล่าวเปิดการประชุมระดับชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริตครั้งที่ 4 เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ “โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” หรือ CAC ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2553 โดยองค์กรร่วมภาคเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้การดำเนินโครงการได้รับความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก Center for International Private Enterprise (CIPE), UK Prosperity Fund และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ปัจจุบันโครงการแนวร่วมปฎิบัติฯ มีบริษัทแสดงเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมแล้วทั้งสิ้น 248 บริษัท และในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองเป็นสมาชิกของแนวร่วมปฏิบัติฯ 22 บริษัท โดยบริษัทเหล่านี้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมฯ ว่าเป็นบริษัทที่มีระบบป้องกันการทุจริต” ดร.พนัสกล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 มีการประกาศรองรับบริษัทที่มีระบบป้องกันการทุจริตครั้งแรกมี 7 บริษัท และในครั้งนี้ประกาศเพิ่มอีก 15 บริษัท รวมปัจจุบันมี 22 บริษัท

บริษัท 22 แห่งฯ

“การมอบใบประกาศรับรองให้แก่บริษัทที่สามารถวางระบบป้องกันการทุจริตภายในองค์กร ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการสร้างพื้นที่สีขาวในภาคธุรกิจและเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.พนัสกล่าว

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ดร.พนัสกล่าวว่า มุ่งเน้นการริเริ่มและผลักดันให้ภาคเอกชนเห็นถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตและร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตในวงกว้าง โดยบริษัทที่มาร่วมในโครงการประกาศความตั้งใจที่จะเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชน โดยแนวร่วมนี้จะร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่ใสสะอาด

จับตาความโปร่งใสโครงการลงทุนภาครัฐ

โดยในปีนี้จะเน้นถึงความสำคัญของระบบบริหารกิจการที่ดีและความโปร่งใสในกระบวนการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อันเป็นเรื่องที่สาธารณะชนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างให้ความสนใจ เนื่องจากโครงการก่อสร้างเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ฉะนั้นการป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณไปกับการทุจริตคอร์รัปชัน จึงเป็นภาระหน้าที่สำคัญที่ทั้งผู้นำในภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันแก้ไขป้องกันปัญหา

สำหรับในภาคเอกชนบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทจึงมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะต้องกำกับดูแลธุรกิจให้อยู่บนความถูกต้อง ซื่อสัตย์ โปร่งใส ไร้สินบน และการหาทางสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งโดยไม่สุจริต

เนื่องจากกรรมการบริษัทเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมายโดยมีความระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการบริษัทจึงมีหน้าที่ตามกฏหมายและหน้าที่ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท การดำเนินธุรกรรมใดๆอันจะส่งผลไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน ย่อมเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

คอร์รัปชันรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “หลักธรรมาภิบาลต้านคอร์รัปชันสร้างชาติโปร่งใส” ว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานในส่วนของประเทศไทย และมีแนวโน้มที่อาจทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

โดยจากผลการสำรวจขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติเกี่ยวกับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ที่พบว่าในปี 2554 ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใส 3.4 คะแนน จาก 10 คะแนน จัดอยู่ในลำดับที่ 80 จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาค

และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ได้จัดทำและประกาศผลคะแนนค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยได้คะแนนค่า CPI เท่ากับ 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยเป็นอันดับที่ 88 ของโลก มีคะแนนเท่ากับประเทศมาลาวี โมร็อกโก ซูรินาเม สวาซิแลนด์ และแซมเบีย แต่เป็นอันดับที่ 13 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงคโปร์ (87 คะแนน) บรูไน (55 คะแนน) และมาเลเซีย (49 คะแนน)

“ค่านิยม-วัฒนธรรมไทย” อุปสรรคแก้ปัญหาทุจริต

นายปานเทพกล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง ที่มีลักษณะผูกขาดอำนาจอยู่ในคนกลุ่มน้อยที่มีความรู้ ทุน และอำนาจการเมือง

นอกจากนี้สังคมไทยยังมีวัฒนธรรมและค่านิยมที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการต่อต้านการทุจริต ผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี บกพร่องในการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และมีการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม ภาคเอกชน และองค์กรธุรกิจบางแห่งยังขาดจริยธรรมและไม่ปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาล (Corporate Governance)

ขณะที่ ประชาชนและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตบางส่วนยังขาดจิตสำนึก และไม่มีความตระหนักในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งขาดการส่งเสริมและสนับสนุนหรือยกย่องเชิดชูคนดีให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ขาดการปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริตอย่างจริงจัง

“จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทำให้สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงผลกระทบและความรุนแรงที่เกิดขึ้น จึงมีการนำเสนอแนวคิดในการสร้างคุณค่าและจิตสำนึกที่ดีแก่สังคม โดยการสร้างค่านิยมความมีจริยธรรมและจรรยาบรรณควบคู่กับการส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลให้เป็นที่ยอมรับในสังคม” นายปานเทพกล่าว

ยุทธศาสตร์ป.ป.ช. ระยะแรกเน้นป้องกัน-ปราบปรามทุจริต-โปรงใส

ป.ป.ช. ได้เปิดมิติใหม่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 1 พ.ศ.2551-2555 ในลักษณะการป้องกันควบคู่กับปราบปรามการทุจริต หรือเน้นการรักษาคู่ขนานไปกับการสร้างภูมิต้านทานให้กับสังคมไทย เพื่อให้เป็นสังคมที่มีคุณธรรม จริยธรรม สังคมที่ให้คุณค่ากับความดี คนประพฤติดี ประพฤติถูกต้อง มากกว่าคนถูกใจ ประพฤติถูกใจ

ขณะเดียวกันก็ต้องร่วมกันขจัดคนทุจริตไม่ให้มีที่ยืนในสังคม เนื่องจากการคอร์รัปชันมีความรุนแรงและรุกลามไปสู่ระบบต่างๆ มากขึ้น จึงจำเป็นต้องระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของ “ความโปร่งใส” เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดความสนับสนุน ศรัทธา ความไว้วางใจของประชาชนที่จะมีให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ เป็นเสมือนสิ่งที่ช่วยให้เกิดความร่วมมือ เพื่อที่จะนำมาสู่การพัฒนาร่วมกัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศ

ความโปร่งใสปรากฎอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้น การสร้างความโปร่งใสในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการเชิงนโยบาย ต้องให้ประชาชนรับทราบกระบวนการก่อนดำเนินการ เพราะการทำโครงการในเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณมากๆ อาจมีการเอื้อประโยชน์ จึงต้องให้ประชาชนได้รับทราบทุกขั้นตอน

“โดยเฉพาะโครงการเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ต้องเปิดเผยข้อกำหนดขอบเขตงาน การจัดทำข้อมูลรายละเอียด ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางและรายละเอียดในการคำนวณราคากลางลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบดูได้ เพื่อป้องกันการสมยอม”นายปานเทพกล่าว

สำนักงาน ป.ป.ช. ตระหนักและให้ความสำคัญ โดยระบุไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ และกำหนดให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่แสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต่อกรมสรรพากร ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีผลบังคับใช้แล้ว

“แต่จะไม่สามารถบังคับใช้ได้เต็มที่และไม่เกิดประโยชน์ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคการเมือง รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ที่ทำให้เกิดความโปร่งใสในระบบราชการขึ้น” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว

ยุทธศาสตร์ป.ป.ช.ระยะที่2 เน้นสร้างจิตสำนึก-เจตจำนงทางการเมือง

นายปานเทพกล่าวว่า แม้ว่าการต่อต้านการทุจริตยังไม่บรรลุผลครบถ้วนตามที่คาดหวัง แต่ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมหลายด้าน สังคมเริ่มตระหนักถึงผลเสียหายของปัญหาคอร์รัปชันที่มีความรุนแรง และเริ่มมีความห่วงใยว่าสังคมไทยไม่อาจอยู่รอดได้หากทุกคนยังเพิกเฉย รวมถึงมีความพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตมากขึ้น

ดังนั้นหากทุกภาคส่วนแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ในการร่วมกันต่อต้านการทุจริตต่อไป ในทุกระดับและในทุกบริบทให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนควบคู่กับการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 พ.ศ.2556 – 2560 โดยมีแนวทางหลัก อาทิ

1) รัฐบาลให้ความสำคัญโดยเสนอเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้การสนับสนุนทรัพยากรพอเพียง และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

2) ภาคีทุกภาคส่วนขยายฐานการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางขึ้น มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน เน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ สร้างพลังกดดันทางสังคมไม่ยอมรับคนโกง

3) มุ่งขยายขอบข่ายความร่วมมือต่อต้านการทุจริตในระดับสากลให้เกิดความเชื่อมั่น และการยอมรับ นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และให้ความสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งมีกลไกในการติดตามที่รัดกุม และให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงใจ

คอร์รัปชัน “มะเร็ง” ระยะสุดท้าย

นายปานเทพกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามดำเนินการหลายเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต เพื่อให้ดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้น เช่น เป็นรัฐภาคีในอนุสัญญารัฐป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.จัดงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการป้องกันการทุจริต แต่ดัชนีชี้วัดความโปร่งใสก็ยังไม่ดีขึ้น ต้องยอมรับว่าการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยยังไม่ได้ลดลง

“แต่พวกเราคงมิอาจปล่อยให้ประเทศชาติตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้ คงทนดูประเทศชาติของเราเข้าสู่กาลหายนะเหมือนกับสภาพของคนไข้ที่เป็นมะเร็งก็คงอยู่ในขั้นสุดท้ายที่ไม่มีโอกาสต่อสู้ ผมคิดว่าทุกท่านมิอาจนิ่งดูดาย ธุระไม่ใช่ คิดว่างบประมาณไม่ใช่เงินของเรา โกงไปไม่ว่า ขอให้เราได้ประโยชน์บ้างก็แล้วกัน โอกาสที่เราจะเห็นความหายนะหรือความล่มสลายของประเทศในชั่วชีวิตของเรานี้คงเป็นไปได้” นายปานเทพกล่าว

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ภาคส่วนที่สำคัญสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1.ภาครัฐ ต้องบริหารงานและบุคลากรภาครัฐเพื่อสร้างสังคมที่โปร่งใส ซื่อตรง เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและสมรรถนะสูงในการนำบริการของรัฐที่มีคุณภาพไปสู่ประชาชน โดยเน้นการเปลี่ยนทัศนคติค่านิยมและวิธีทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นจุดมุ่งหมายในการทำงาน และสามารถร่วมทำงานกับประชาชนและภาคเอกชนได้อย่างราบรื่น

2.ภาคธุรกิจเอกชน ต้องสนับสนุนให้หน่วยงานของเอกชนและองค์การเอกชนต่างๆ มีกติกาการทำงานที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ซื่อตรงเป็นธรรมต่อลูกค้า มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานการให้บริการเข้าร่วมทำงานกับภาครัฐและประชาชนอย่างราบรื่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน

3.ภาคประชาชน ต้องสร้างความตระหนักตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลถึงระดับกลุ่มประชาสังคม ในเรื่องสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อเป็นพลังของประเทศที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการของการสร้างกลไกการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี

“ปัญหาการทุจริต ณ วันนี้อาจยังไม่หายไปจากสังคมไทยของเรา แต่ก็มีสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นความสำเร็จที่ปลายอุโมงค์ที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดย ป.ป.ช. คงจะดำเนินงานในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพียงผู้เดียวไม่ได้ หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนในการร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม” ประธานกรรมการ ป.ป.ช.กล่าว