ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาล“ประยุทธ์” ขึ้นราคาแก๊ส-ลดราคาน้ำมัน สู่โหมดปฏิรูปพลังงานรองรับ AEC รื้อโครงสร้างบิดเบี้ยว รัฐบาลใครอุ้มแบบไหน

รัฐบาล“ประยุทธ์” ขึ้นราคาแก๊ส-ลดราคาน้ำมัน สู่โหมดปฏิรูปพลังงานรองรับ AEC รื้อโครงสร้างบิดเบี้ยว รัฐบาลใครอุ้มแบบไหน

9 ธันวาคม 2014


ปัญหา“โครงสร้างราคาพลังงานบิดเบี้ยว”คนใช้เบนซินจ่ายเงินอุดหนุนคนใช้แก๊ส ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี (LPG) ของไทยมี 5 ราคา โดยราคาขายภาคปิโตรเคมีกิโลกรัมละ 17.30 บาท ราคาขายภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกิโลกรัมละ 18.13 บาท ราคาขายภาคครัวเรือนทั่วไปกิโลกรัมละ 23.13 บาท ราคาภาคขนส่งกิโลกรัมละ 23.13 บาท และราคาขายภาคอุตสาหกรรมกิโลกรัมละ 24.16 บาท จากโครงสร้างราคาพลังงานดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย อาทิ ผู้ประกอบการลักลอบขายแก๊สผิดประเภท (ขายข้ามภาค) และส่งออก LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

รถยนต์ตามประเภทเชื้อเพลิง

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โครงสร้างราคาพลังงานไทยเป็นปัญหาสั่งสมมานานกว่า 30 ปี มาจากนโยบายแทรกแซงราคาพลังงานของรัฐบาล โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงผิดวัตถุประสงค์ นอกจากรักษาเสถียรภาพด้านราคาแล้ว ยังใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือในการทำประชานิยม กำหนดราคาขายปลีก LPG ที่ใช้ในภาคครัวเรือนและขนส่งให้มีราคาถูก โดยให้กองทุนน้ำมันฯ เรียกเก็บเงินจากคนที่ใช้เบนซินลิตรละ 10 บาท มาจ่ายคนใช้ LPG กิโลกรัมละ 5.59 บาท คนใช้เบนซินกลุ่มหนึ่งทนแบกรับภาระค่าน้ำมันไม่ไหว จึงนำรถยนต์ไปติดแก๊สกันเป็นจำนวนมาก ข้อมูลกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 ระบุว่า มีรถยนต์ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น 1,625,270 คัน แบ่งเป็นแก๊ส LPG จำนวน 1,215,701 คัน และ NGV จำนวน 409,569 คัน

ที่มาของปัญหาโครงสร้างราคาพลังงงานบิดเบี้ยว เริ่มต้นขึ้นในปี 2522 เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน กลุ่มโอเปกประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 ครั้ง จนเกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลนไปทั่วโลก วันที่ 22 มีนาคม 2522 รัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงมีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมา เพื่อใช้เป็นกลไกในการควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันและ LPG ภายในประเทศให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ลำดับเหตุการปรับราคาพลังงาน
ต่อมาปี 2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เริ่มมองเห็นปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานบิดเบือน จึงประกาศลอยตัวราคาน้ำมันทุกชนิด แต่ยังใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการรักษาระดับราคา LPG อยู่

ปี 2542 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เห็นชอบแนวทางและขั้นตอนการปรับราคา LPG ให้ลอยตัวตามกลไกตลาด แต่ยังไม่ได้ทันลงมือ ก็ประกาศยุบสภาก่อน

ปี 2544 รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ใช้ระบบกึ่งลอยตัวด้วยการไปควบคุมราคา LPG ที่หน้าโรงกลั่นน้ำมัน และปล่อยลอยตัวค่าการตลาด

ปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ประกาศควบคุมราคา LPG ที่หน้าโรงกลั่นเอาไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

ปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกประกาศควบคุมราคา LPG ที่หน้าโรงกลั่น โดยกำหนดสัดส่วน LPG ที่โรงกลั่นผลิตได้ 24% ของปริมาณการผลิต ต้องขายที่ราคาตันละ 333 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับส่วนต่างของราคาควบคุมเปรียบเทียบกับราคา LPG ในตลาดโลก รัฐบาลอภิสิทธิ์ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเงินไปจ่ายชดเชย ส่วนปริมาณการผลิต LPG ที่เหลืออีก 76% กำหนดให้โรงกลั่นขายในราคาตลาดโลก ปี 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ปรับขึ้นราคา LPG ที่ขายให้กับภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสละ 3 บาท/กิโลกรัม เริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2554

ปี 2555 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำหนดเพดานราคาขายปลีก LPG ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมไม่เกิน 30.14 บาท/กิโลกรัม และให้ภาคปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กิโลกรัมละ 1 บาท และจากการรัฐบาลไปตรึงราคา LPG ให้มีราคาถูกกว่าตลาดโลก ทำให้เกิดปัญหาลักลอบส่งออก LPG ไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในประเทศก็มีผู้ประกอบการบางรายนำก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคครัวเรือนไปขายให้ภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง และเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 วันที่ 15 มกราคม 2555 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ทยอยปรับขึ้นราคา LPG ภาคขนส่งเดือนละ 0.75 บาท/กิโลกรัม และปรับราคา NGV กิโลกรัมละ 0.50 บาท ราคาขายปลีกก๊าซ LPG และ NGV ถูกปรับขึ้นไปได้แค่ 4 ครั้ง ปรากฏว่าถูก “ม็อบขนส่ง” ต่อต้านอย่างหนัก จนในที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องยอมถอย โดยยกเลิกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติวันที่ 30 กันยายน 2554 ตรึงราคาขายปลีก NGV ไว้ที่ราคา 10.50 บาท/กิโลกรัม แต่ให้เก็บเงิน LPG ภาคขนส่ง เข้าเป็นรายได้กองทุนน้ำมันฯ กิโลกรัมละ 3.0374 บาท รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปรับขึ้นราคา LPG ภาคขนส่งไม่สำเร็จ จึงเบนเข็มมาขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือน เดือนละ 0.50 บาท/กิโลกรัม เริ่มวันที่ 1 กันยายน 2556 ปรับขึ้นไปได้ครั้งเดียว ก็ประกาศยุบสภากลายเป็นรัฐบาลรักษาการ

ต่อมา รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากที่จัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย เดินหน้าแผนการปฏิรูปราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดแรกวันที่ 30 กันยายน 2557 การประชุมครั้งนี้มีมติปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่งกิโลกรัมละ 0.62 บาท เดิมราคา 21.38 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 22 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ครั้งที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ปรับราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่งเพิ่มอีก 0.63 บาท/กิโลกรัม ครั้งที่ 3 ปรับขึ้นราคา LPG ทั้งภาคครัวเรือนและภาคขนส่งอีก 0.50 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ทำให้ราคาขายปลีก LPG ทั้งภาคขนส่งและภาคครัวเรือนใช้ราคาเดียวกันคือ 23.13 บาท/กิโลกรัม

และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 กบง. มีมติยกเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีทั้งภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ซึ่งปัจจุบันใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.03 บาท สรุป ในช่วงที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศเพียง 3 เดือน มีการปรับขึ้นราคา LPG ไป 4 ครั้ง ราคา LPG ถูกปรับขึ้นไปทั้งสิ้น 2.78 บาท/กิโลกรัม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลดการอุดหนุนก๊าซแอลพีจีครั้งนี้ ทำให้ราคาขายปลีกแอลพีจีทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม มีราคาเท่ากัน คือ 24.16 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนก๊าซ NGV ที่ประชุม กบง. มีมติปรับขึ้นราคาขายปลีก NGV ที่ใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคลขึ้นไปอีกกิโลกรัมละ 1 บาท ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นจากราคา 11.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 12.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน NGV ที่ใช้ในรถยนต์โดยสารสาธารณะ ให้ปรับราคาจาก 8.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 9.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งหมดให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป

ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

สำหรับการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้กับรถโดยสารสาธารณะขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 9.50 บาท ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนขับรถรับจ้างดังนี้

1. บัตรเครดิตพลังงาน NGV สำหรับกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้ร่วม ขสมก. ในเขต กทม. และปริมณฑล จำนวน 166,216 ราย (ณ วันที่ 31 ต.ค. 2557)
2. บัตรส่วนลดราคาฯ NGV ได้แก่ กลุ่มรถโดยสาร มินิบัส สองแถวร่วม ขสมก. และรถโดยสาร รถตู้ร่วม บขส. จำนวน 19,075 ราย (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 2557) สำหรับราคา LPG ทุกภาคสะท้อนต้นทุนราคาจัดหาเฉลี่ยที่แท้จริงแล้ว

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า “การปฏิรูปราคาพลังงานครั้งนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุดต่อผู้ใช้พลังงานทุกกลุ่มในประเทศ โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ต้องสะท้อนต้นทุนตามกลไกตลาด นอกจากจะช่วยลดผลกระทบการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง (cross subsidy) ข้ามประเภทที่เป็นปัญหามาช้านานแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการลักลอบส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ราคาก๊าซ LPG ทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม มีราคาเท่ากันที่ 24.16 บาทต่อกิโลกรัมด้วย”