ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรุงเทพฯ เมืองสร้างขยะมากสุด 9,900 ตัน/วัน หนึ่งคนผลิต1.53 กก./วัน ใช้คนเก็บขน 10,221 คน

กรุงเทพฯ เมืองสร้างขยะมากสุด 9,900 ตัน/วัน หนึ่งคนผลิต1.53 กก./วัน ใช้คนเก็บขน 10,221 คน

28 พฤศจิกายน 2014


ประชากรกรุงเทพฯมีจำนวน 8.9 ล้านคน เป็นเมืองที่มีประชากรมากอันดับ 1 ในของประเทศ และผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงพฤษภาคม 2557 รวม 2,356,421.51 ตัน คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลฝอยทั่วประเทศ เฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ ผลิตขยะมูลฝอย 1.53 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน มีปริมาณขยะเฉลี่ย 9,900 ตันต่อวัน ใช้บุคลากรในการเก็บขนทั้งสิ้น 10,221 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถ 2,577 คน และพนักงานเก็บขนมูลฝอย 7,644 คน มีหน้าที่จัดการขยะของกรุงเทพฯ ทั้งหมด ตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวมจากถังขยะในที่สาธารณะและจากครัวเรือนทั้ง 50 เขต(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การจัดเก็บขยะของกทม.

หลังจากนั้นก็จะรวบรวมขยะทั้งหมดไปยังสถานีขนถ่ายมูลฝอยซึ่งมีอยู่ 3 แห่ง คือ สถานีขนถ่ายมูลฝอยสายไหม สถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม และสถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช และว่าจ้างบริษัทเอกชนมารับมูลฝอยเหล่านี้ไปจำกัดต่อ โดยพื้นที่ปลายทางในการกำจัดของกรุงเทพฯ คือจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ทำให้ฉะเชิงเทรากลายเป็นเป็นจังหวัดที่เกิดวิกฤติขยะ และมีปัญหาเรื่องการลักลอบทิ้งขยะอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมูลฝอยจากครัวเรือนมีค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยครัวเรือนละ 20 บาทต่อเดือน ซึ่งปี 2556 มีจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพฯ ประมาณ 2.1 ล้านหลัง แต่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียงร้อยละ 89 คิดเป็นเงิน 455 ล้านบาท

โดยมูลฝอยทั่วไปจากสถานีขนถ่ายมูลฝอยสายไหมและสถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม จะนำไปฝังกลบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยบริษัทกลุ่ม 79 จำกัด ส่วนมูลฝอยทั่วไปที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช จะนำไปฝังกลบที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยบริษัท ไพโรจน์สมพงษ์ จำกัด

สำหรับขยะมูลฝอยอินทรีย์ส่วนหนึ่ง สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุชจะนำไปหมักทำปุ๋ยที่โรงงานหมักทำปุ๋ยอ่อนนุช ส่วนมูลฝอยอันตรายทั้งหมด บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) จะรับไปกำจัดในเตาเผามูลฝอยอันตราย ที่จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนขยะติดเชื้อ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะดำเนินการเก็บขนและกำจัดด้วยการเผาในเตาเผาที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชซึ่งรองรับขยะติดเชื้อได้ 30 ตันต่อวัน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2557 กรุงเทพฯ มีมูลฝอยเฉลี่ย 9,900 ตันต่อวัน ทางกรุงเทพมหานครนำไปใช้ประโยชน์โดยการทำปุ๋ยหมักจำนวน 1,200 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 13 ของมูลฝอยทั้งหมด ในขณะที่มูลฝอยที่เหลืออีกร้อยละ 87 ต้องนำไปฝังกลบทั้งสิ้น โดยที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุชมีปริมาณมูลฝอยเฉลี่ย 3,100 ตันต่อวัน สถานีขนถ่ายมูลฝอยสายไหมมีปริมาณมูลฝอยเฉลี่ย 2,000 ตันต่อวัน และสถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขมมีปริมาณมูลฝอยเฉลี่ย 3,600 ตันต่อวัน

สำหรับค่าใช้จ่ายในการกำจัดมูลฝอย คิดราคาตามประเภทมูลฝอย คือ มูลฝอยทั่วไปมีค่ากำจัดประมาณ 600 บาทต่อตัน มูลฝอยติดเชื้อมีค่ากำจัดประมาณ 9,700 บาทต่อตัน และมูลฝอยอันตรายมีค่ากำจัดประมาณ 7,000 บาทต่อตัน(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

วิธีการจัดการขยะของกทม.

กทม. สร้างประโยชน์จากขยะด้วยการหมักทำปุ๋ย

มูลฝอยของกรุงเทพฯ แบ่งเป็นมูลฝอยอินทรีย์ร้อยละ 50 มูลฝอยที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (รีไซเคิล) ร้อยละ 30 มูลฝอยทั่วไปร้อยละ 17 และมูลฝอยอันตรายร้อยละ 3 โดยมูลฝอยที่สร้างประโยชน์ให้ กทม. ได้ในปัจจุบันคือมูลฝอยอินทรีย์และมูลฝอยรีไซเคิล ส่วนมูลฝอยที่เหลือจะถูกกำจัดโดยการเผาหรือการฝังกลบ

สำหรับมูลฝอยอินทรีย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของมูลฝอยในกรุงเทพฯ ได้แก่ เศษอาหาร ไม้ และใบไม้ รวมถึงมูลฝอยอื่นๆ ที่ย่อยสลายได้ ทาง กทม. จะนำมูลฝอยบางส่วนนี้ี้ไปทำปุ๋ยหมัก โดยจะมีโรงงานหมักปุ๋ยอยู่ที่อ่อนนุช

ส่วนมูลฝอยรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก โฟม แก้ว โลหะ ฯลฯ เป็นมูลฝอยที่มีมูลค่า สามารถขายร้านรับซื้อของเก่าได้ ดังนั้นจึงมักถูกแยกออกจากถังขยะไปก่อนที่เจ้าหน้าที่เก็บขนขยะของ กทม. จะไปเก็บขน แต่หากมีขยะเหล่านี้ปนอยู่ในถังขยะเข้ามา ทาง กทม. ก็จะคัดแยกออกเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นรายได้เสริมของพนักงานเก็บขนขยะ

ด้านมูลฝอยอันตราย ได้แก่ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ เครื่องสำอางหมดอายุ ยาที่หมดอายุ ภาชนะบรรจุน้ำยาทำความสะอาดเครื่องสุขภัณฑ์และสารเคมีต่างๆ รวมถึงซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาโดยบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกับมูลฝอยติดเชื้อที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นำไปเผาที่อ่อนนุช

ส่วนมูลฝอยที่เหลือประมาณร้อยละ 38 จะนำไปฝังกลบทั้งหมด ซึ่งมูลฝอยกองนี้ประกอบด้วย เศษหนัง เศษยาง ผ้าหรือสิ่งทอต่างๆ หิน เซรามิก กระดูก เปลือกหอย รวมถึงกระดาษและพลาสติกที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เนื่องจากการไม่คัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถังทำให้มูลฝอยอินทรีย์ปนเปื้อนกับมูลฝอยรีไซเคิลจนเปียก ยุ่ย และเสื่อมคุณสมบัติในการรีไซเคิล

กรุงเทพฯ สร้างขยะมากที่สุดในประเทศไทย

กรุงเทพฯ ผลิตขยะมูลฝอยมากที่สุดในประเทศไทยถึงร้อยละ 20 ของมูลฝอยทั้งหมด และมีอัตราสร้างขยะเฉลี่ยต่อคนสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ของไทย โดยในปีงบประมาณ 2557 ประมาณ 2.3 ล้านตัน ซึ่งมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ทั้งนี้หากดูปริมาณมูลฝอยเฉลี่ยต่อวันจากรายปีงบประมาณ พบว่า ปี 2554 มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ย 8,943.1 ตัน ปี 2555 มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ย 9,747.74 ตัน ปี 2556 มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ย 9,963.27 ตัน และปี 2557 มีปริมาณมูลฝอยเฉลี่ย 9,697.21 ตัน ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JBIC) คาดการณ์ไว้ว่ากรุงเทพฯ จะผลิตมูลฝอย 13,425 ตันต่อวัน

จากพื้นที่ทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ เขตที่มีปริมาณมูลฝอยมากที่สุด 3 อันดับแรกของปีงบประมาณ 2557 (เดือนตุลาคม 2556 – พฤษภาคม 2557) คือ จตุจักร 86,683.43 ตัน คลองเตย 81,402.97 ตัน และบางกะปิ 78,773.54 ตัน ในขณะที่เขตที่มีปริมาณมูลฝอยน้อยที่สุด 3 อันดับ คือ สัมพันธวงศ์ 13,534.65 ตัน บางกอกใหญ่ 19,282.07 ตัน และป้อมปราบศัตรูพ่าย 20,094.46 ตัน

สำหรับปริมาณมูลฝอยก้อนใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ คือ ขยะส่วนกลางของกรุงเทพมหานคร ที่รวบรวมมาจากสำนักงานและหน่วยงานราชการต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีปริมาณรวม 136,006.24 ตัน หรือประมาณร้อยละ 5.8

แต่หากเปรียบเทียบปริมาณมูลฝอยเฉลี่ยต่อวันรายเขตระหว่างปีงบประมาณ 2556 และ 2557 พบว่า ในปีงบประมาณ 2557 เกือบทุกเขตมีปริมาณขยะลดลง โดยเขตบางกอกใหญ่มีมูลฝอยลดลงเป็นอันดับ 1 คือร้อยละ 8.99 รองลงมาคือเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ลดมูลฝอยได้ร้อยละ 8.55 และเขตภาษีเจริญ ลดมูลฝอยได้ร้อยละ 7.96

ยกเว้น 8 เขตที่มีมูลฝอยเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้น ได้แก่ มีนบุรี บางนา ห้วยขวาง สวนหลวง ประเวศ สาธร สะพานสูง หนองจอก และอื่นๆ โดยเขตหนองจอกมีปริมาณมูลฝอยเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 2.83 รองลงมาคือสะพานสูงร้อยละ 2.77 และสาธรร้อยละ 2.35 ตามลำดับ

ด้านมูลฝอยอันตรายในกรุงเทพฯ มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยในปี 2556 จัดเก็บได้ปริมาณ 1.66 ตันต่อวัน ในขณะที่ขยะติดเชื้อที่จัดเก็บจากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิก และสถานบริการสาธารณสุข มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน โดยปี 2556 จัดเก็บได้ 10,571 ตัน

แยกขยะ-รีไซเคิล-ผลิต แนวทางเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานมีประโยชน์

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ เคยกล่าวถึงปัญหาขยะของไทยและธุรกิจขยะว่า เกิดจากการที่ประชาชนไม่คัดแยกขยะ ปล่อยให้เป็นภารกิจของบ้านเมืองที่จะต้องจัดการ ขยะจึงกลายเป็นปัญหาเพราะว่าบ้านเมืองรับผิดชอบไม่ไหว ดังนั้นต้องสอนประชาชนให้คัดแยกขยะและรู้จักศูนย์รีไซเคิล รู้ราคาของขยะรีไซเคิล รู้ว่าขยะเป็นทอง เนื่องจากขยะกว่า 40,000 ชนิดสามารถรีไซเคิลได้ ขยะบางส่วนสามารถทำเชื้อเพลิงทดแทนให้แก่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า

ทั้งนี้ ตัวอย่างการสร้างมูลค่าจากขยะก็มีให้เห็นมากมายจากต่างประเทศ เช่น ก๊าซชีวภาพ แท่งเชื้อเพลิง RDF และการเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศจะนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติขยะในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่วางรากฐานประชาชนให้มีจิตสำนึกที่ดีและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางผ่านนโยบายและกำหนดเป็นกฎหมายของประเทศ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีกำจัดที่เหมาะสมกับขยะและลักษณะภูมิอากาศของประเทศ ที่สำคัญคือเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการผลิตบำบัดควันหรือกากของเสียสุดท้ายก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม