ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชาวบ้านร้องตลิ่งพัง – แม่น้ำป่าสักแออัด เรือขนาด 1,500-3,500 ตัน เกือบ 300 ลำ/สัปดาห์

ชาวบ้านร้องตลิ่งพัง – แม่น้ำป่าสักแออัด เรือขนาด 1,500-3,500 ตัน เกือบ 300 ลำ/สัปดาห์

1 สิงหาคม 2014


แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งยังกำหนดให้เป็นโครงการเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2557-2558 ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วยแผนพัฒนา 5 แผนงาน โดยในแผนงานที่ 4 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำเพื่อเพิ่มการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้น 20% วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท หนึ่งในนั้นมีโครงการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก โดยการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันตลิ่งและพัฒนาร่องน้ำทางเดินเรือ

แม่น้ำป่าสักถือเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของพื้นที่ต้นทางและปลายทางของสินค้าในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง(การขนทราย) ภาคเกษตรกรรมหลายชนิด และปัจจุบันมีการขนถ่านหินมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเส้นทางการเดินเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าในปัจจุบันจะอยู่ช่วงบริเวณอำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าทางน้ำในแม่น้ำป่าสักมีปัญหาและอุปสรรคที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข อาทิ ความหนาแน่นของท่าเทียบเรือ ความหนาแน่นของการจราจรทางน้ำ ปัญหาความตื้นเขินของร่องน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาตลิ่งพังของชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก

ความแออัดของเรือขนถ่ายสินค้าในแม่น้ำป่าสัก อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ความแออัดของเรือขนถ่ายสินค้าในแม่น้ำป่าสัก อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นสู่ท่าและคลังสินค้า
การขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นสู่ท่าและคลังสินค้า

ความแออัดจำนวนท่าเรือนครหลวง

นายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม ประธานชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง กล่าวว่า ท่าเรือในอำเภอนครหลวงมีทั้งหมด 36 ท่าเรือ เป็นสมาชิกของชมรมท่าเรือฯ 26 บริษัท โดยมีผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีท่าเรืออยู่ 4 บริษัท มีการขนส่งสินค้าทั้งหมด 17 ประเภท อาทิ ถ่านหิน มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด ปูนซีเมนต์ ปุ๋ยเคมี โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 28 ล้านตันต่อปี ซึ่งถ้าคำนวณตาม 12 เดือนจริงๆ แล้วต้องกล่าวว่ามีปริมาณการขนส่งแสนกว่าล้านบาท

“ลุ่มน้ำป่าสักที่อำเภอนครหลวง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะต่อการขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำและทางบก หรือเปรียบเหมือนสะดือของประเทศ เพราะสามารถกระจายตัวได้ทั่วภูมิภาค และสอดคล้องการตอบรับในหลายจังหวัด อาทิ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง สามารถข้ามฝั่งโดยไม่ต้องวิ่งรถอ้อม แล้วการขนได้ปริมาณมากไม่ต้องรอเวลาแล้ว อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ก็มาจัดตั้งท่าเรือที่นี่เพื่อจะขนส่งข้าวลงภาคใต้”

นายอธิษฐ์กล่าวว่า ประเด็นความเดือดร้อนในวันนี้ก็จะเป็นเรื่องของฝุ่นถ่านหิน ซึ่งถือเป็นสินค้าใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น 5-6 ปีในอำเภอนครหลวง เพราะจากปัญหาน้ำมันที่เกิดขึ้นในปี 2551 ทำให้มีการลงทุนเปลี่ยนการใช้พลังงาน ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการถ่านหินมากขึ้น โดยส่วนมากอยู่ใน จ.สระบุรี ช่วงแรกมีปริมาณการขนส่งถ่านหิน 2 ล้านตันต่อปี แล้วก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันประมาณ 9 ล้านตันต่อปี เนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการถ่านหินที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบันมี 16 บริษัท

“ถ่านหินส่วนมากนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ขนส่งมาทางเรือใหญ่ทางทะเล เพื่อนำมาถ่ายลงสู่เรือลากจูงหรือเรือโป๊ะที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี แล้วมาสิ้นสุดที่อำเภอนครหลวง ซึ่งในการขนสินค้าแต่ละพวงเรือจะใช้เรือ 3-4 ลำในการขน สินค้าแต่ละพวงเรือปริมาณประมาณ 4,500-6,000 ตัน จากนั้นมีการถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ โดยใช้รถบรรทุกประมาณ 40-60 คันรถต่อ 1 เรือโป๊ะ”

นายอธิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาในเรื่องการขนส่งทางน้ำ ทางชมรมฯ มีการดำเนินการนำเอาประเด็นปัญหาที่ภาคประชาชนได้รับความเดือดร้อนทางน้ำ อาทิ การจอดเรือซ้อนลำเนื่องจากสถานที่กับท่าเรือไม่เพียงพอ และปัญหาการใช้เรือเกิน 500 ตันกรอส ซึ่งการขออนุญาตใช้เรือส่วนใหญ่จะไม่เกิน 500 ตันกรอส คือความยาวหน้าเรือไม่เกิน 100 เมตร หรือถ้าเกิน 1,000 ตารางเมตร จะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือEIA ซึ่งในกฎหมายของการบรรทุกหรือการลากจูงจะมีความยาวไม่เกิน 50 เมตร จึงเป็นประเด็นว่าปริมาณท่าเรือส่วนใหญ่ที่นี่อาจจะเต็มที่แล้วกับปริมาณเรือที่ทำงาน ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะในพื้นที่ค่อนข้างสูง โดยที่่ผ่านมาก็พยายามหาวิธีให้รัฐมีส่วนร่วมในการแก้ไขแบบบูรณาการ

“ผมมองว่าการเติบโตของท่าเทียบเรือในวันนี้มันเกินอิ่ม และมีผู้ประกอบการที่จะพัฒนาระบบการขนถ่ายสินค้าไปสู่ระบบปิด เพียงแต่ว่าจำนวนสมาชิกชมรมเรามองในด้านของการทำธุรกิจ อีกด้านเรื่องของการแข่งขัน ด้านราคา คุณภาพ ก็จะเป็นตัวปัจจัยไปสู่กระบวนการที่รองผู้ว่าราชการฯวางไว้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีถูกลู่ทางในการแก้ไข ก็คือเอากฎหมายเป็นการควบคุม คนที่ทำดี คนที่ลงทุน ก็ต้องถูกยกมือให้ แต่ในส่วนคนที่เป็นผู้รับเหมาหรือเป็นแค่ผู้มาเช่าช่วง เพราะอย่างผมมีท่าเรือ อาจจะเซ็นสัญญากับ นาย ก. ให้มาเช่า เพราะฉะนั้นเจ้าของต้องรับผิดชอบมากขึ้น เพราะการทำธุรกิจ ใบอนุญาตอาจจะเป็นอีกชื่อหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของความละเอียดซับซ้อนของข้อผูกพันทางด้านกฎหมายด้วย” นายอธิษฐ์กล่าว

เรือจอดรอขนถ่ายสินค้าเฉลี่ย 214-285 ลำ/6-8 วัน

ปํญหาของท่าเรือในแม่น้ำป่าสัก อ.นครหลวง

ความคับคั่งการจราจรทางน้ำ แม่น้ำป่าสัก

จากรายงานของกรมเจ้าท่าเรื่องการศึกษาปัญหาการเดินเรือในแม่น้ำป่าสักในปี 2547-2555 พบว่า ปัญหาการเดินเรือในแม่น้ำป่าสักมีปัญหา 1) การจราจรคับคั่งโดยเฉพาะบริเวณที่มีท่าเรือ 2) ปัญหาเรือขาดที่จอดระหว่างรอขนถ่ายสินค้า 3) ปัญหาความกว้าง-ความลึกร่องน้ำบางบริเวณที่ทำให้เรือติดตื้นในฤดูแล้ง 4) ปัญหาเรือติดความสูงช่องลอดในฤดูน้ำหลาก 5) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสังคมกรณีการขนส่งทางน้ำกับชุมชนที่อาศัยริมน้ำ

จากการสำรวจการจราจรทางน้ำพบว่า บริเวณท่าเรือของอำเภอนครหลวง มีความหนาแน่นมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยปริมาณการจราจร 35 ลำต่อวัน และวันที่จราจรหนาแน่นมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 65 ลำต่อวันหรือคิดเป็นขบวนเรือลำเลียงประมาณ 16-20 ขบวนต่อวัน(เรือหนึ่งขบวนมีเรือลำเลียงประมาณ 3-4 ลำ) เมื่อเปรียบเทียบกับการจราจรที่อำเภอท่าเรือ ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 16 ลำต่อวัน มีโอกาสเพิ่มเป็น 38 ลำต่อวัน คิดเป็นขบวนเรือลำเลียงประมาณ 10-13 ขบวนต่อวัน โดยบริเวณท่าเรือที่อำเภอท่าเรือ มีแนวโน้มการจราจรคงที่หรือเพิ่มขึ้นถึงลดลงอย่างช้าๆ เนื่องจากพื้นที่ต้นทาง-ปลายทาง ของสินค้าที่ขนส่งในแม่น้ำป่าสักอยู่เหนืออำเภอท่าเรือเกือบทั้งหมด คือช่วงบริเวณท่าเรืออำเภอนครหลวง จึงทำให้เกิดปัญหาความหนาแน่นและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

การจอดเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าส่วนใหญ่ท่าเรือโรงงานจะมีเครื่องมือขนถ่าย ซึ่งการจอดเรือเทียยบท่าจะสามารถจอดได้ครั้งละ 1 ลำ จึงมีเรือลำเลียงอีก 1-3 ลำต้องจอดรอขนถ่ายในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ระยะเวลขนถ่ายสินค้า จากปริมาณสินค้า 1,000-2,000 ตันต่อลำ อัตราการขนถ่าย 20-50 ตันต่อชั่วโมง ดังนั้นการขนถ่ายสินค้าแต่ละลำจึงใช้เวลา 40-50 ชั่วโมง (ระยะเวลา 1-2 วัน) หรือประมาณ 6-8 วันต่อขบวน

จากการวิเคราะห์การจราจรทางเรือในอำเภอนครหลวง 35 ลำต่อวัน (ประมาณ 9-12 ขบวนต่อวัน) ระยะที่เรือแต่ละลำต้องรอขนถ่ายสินค้าคือ 6-8 วัน ดังนั้นเรือลำเลียงที่จอดรอขนถ่ายหรือจอดรอเรือในขบวนขนถ่ายในบริเวณแม่น้ำป่าสัก จะมีจำนวนเรือประมาณ 214-285 ลำ ซึ่งจำนวนเรือมากขนาดนี้ทำให้ไม่สามารถจัดให้จอดเรืออย่างเป็นระเบียบได้เป็นเหตุให้การเดินเรือเกิดความคับคั่ง

โดยขนาดเรือที่ใช้งานในแม่น้ำป่าสักส่วนมากเป็นเรือลำเลียงที่ผู้ประกอบการใช้ขนส่งสินค้าในอำเภอนครหลวง มีค่าเฉลี่ย 1,128 ตันในปี 2547 และในปี 2555 มีค่าเฉลี่ย 1,533 ตัน ส่วนขนาดเรือใหญ่สุดพบว่า เพิ่มจาก 1,858 ตัน เป็น 3,500 ตัน ซึ่งข้อมูลจากผู้ประกอบการอู่เรือระบุว่า ขนาดเรือลำเลียงใหญ่สุดที่เคยต่อคือขนาด 3,400 ตัน ส่วนขนาดเรือที่ผู้ประกอบการนิยมต่อมากที่สุดในปัจจุบัน (พ.ศ.2557) คือ 2,500 ตัน ซึ่งจากการศึกษาของกรมเจ้าท่าสรุปได้ว่า ควรแบ่งทางเดินเรือในแม่น้ำป่าสักเป็น 2 ช่วงหรือมากกว่านั้น เนื่องจากขนาดทางเดินเรือช่วงอำเภอนครหลวง สามารถรองรับเรือขนาด 3,500 ตันได้ ทั้งนี้จากการสำรวจท่าเทียบเรือในแม่น้ำป่าสัก พบว่ามีท่าเรือ 51 ท่าเรือ โดยในอำเภอนครหลวง เป็นบริเวณที่มีท่าเรือหนาแน่นมากที่สุด เฉลี่ย 1 แห่งทุกระยะ 247 เมตร มีท่าเรือเกือบตลอดความยาวแม่น้ำทั้งสองฝั่ง

กรมเจ้าท่าเสนอ”สร้างเขื่อน”ทางออกของท่าเรือนครหลวง

ดร.จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า
ดร.จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า

ดร.จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปัจจุบันแม่น้ำป่าสักบริเวณอำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา คือพื้นที่ที่มีการขนถ่ายสินค้าที่คึกคักที่สุด เพราะแต่เดิมมีท่าเทียบเรือแค่ 20 ท่าเดี๋ยวนี้มีมากถึง 40 ท่า และยังเป็นท่าเรือที่ขนส่งถ่านหินมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากความต้องการของบริษัทที่นำไปใช้ทำเชื้อเพลิงเผาปูนซีเมนต์อยู่บริเวณนั้นจำนวนมาก ปัจจุบันปริมาณท่าเทียบเรือยังถือว่าลุ่มน้ำป่าสักยังรับไหวอยู่ เพราะในแง่ของการขนส่งจะมีเป็นช่วงฤดูกาล ถ้าช่วงที่ราคาดีก็จะมีการเก็บตุนสินค้าไว้ ดังนั้นมันจึงมีบางช่วงที่การขนส่งทางน้ำบางเบาลง

“ผมทราบปัญหานี้มาตั้งแต่ตอนยังไม่ได้เป็นกรมเจ้าท่าแล้ว ผมอยากจะทำให้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางตัวอย่างที่ดี เพราะว่าถ้าสามารถจัดการการขนส่งทางน้ำในพื้นที่นครหลวงได้ดี หรือว่าการจัดการการขนถ่ายถ่านหินให้ดี มันสามารถที่จะเป็นต้นแบบให้ในพื้นที่อื่นด้วยเหมือนกัน ถ้าสามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจว่าระบบการขนถ่ายไม่กระทบกับเขาจริงๆ มันจะช่วยได้มาก”

ดร.จุฬากล่าวถึงปัญหาการไม่ทำตามข้อกำหนดท้ายใบอนุญาตของกรมเจ้าท่าว่า ผมต้องไปดูก่อนว่าเขาฝ่าฝืนเรื่องอะไร เพราะทั้ง 40 ท่ามีใบอนุญาตและข้อกำหนดที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเงื่อนไขหลักๆ ที่กำหนดไว้จะอยู่ในท่าเทียบเรือขนาดมากกว่า 500 ตันกรอส แต่ขนาด 500 ตันกรอส อาจจะมีข้อกำหนดที่ไม่ได้เข้มงวดเต็มรูปแบบมาก ซึ่งภายในเดือนสิงหาคมนี้ ผมจะต้องไปดู เพราะต่อไปอาจจะเป็นปัญหาที่จริงจัง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการยอมรับของประชาชนด้วย ทั้งยังมีประเด็นว่าท่าเทียบเรือบางท่าจะขอทำท่าเรือให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรับเรือขนาดใหญ่กว่านี้

“ปัญหาเรือจอดซ้อนลำ จะต้องทราบก่อนว่าเป็นจุดจอดเรือหรือเปล่า เพราะกรมเจ้าท่าจะมีจุดให้จอดเรือซึ่งไม่ได้หมายความจะจอดซ้อนกันไม่ได้ถ้าอยู่ในเขตพื้นที่ที่ประกาศให้จอดเรือ หรือกรณีเรือจอดซ้อนลำ เพราะเรือบางลำติดตื้นอยู่ทำให้เรือลำอื่นเข้าไม่ได้ก็เลยต้องซ้อนลำกันไป ส่วนปัญหาตลิ่งพังของชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ ต้องทราบก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะส่วนมากจะเข้าใจว่าเกิดจากเรือวิ่งเยอะ แต่ลักษณะของเรือน้ำหนักขนาดนั้นไม่สามารถวิ่งเร็วได้อยู่แล้ว จึงไม่น่าใช่ปัญหา ถ้าไม่ได้เกิดจากเรือหรือเรื่องที่กรมเจ้าท่ารับผิดชอบ ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปช่วยยังไง ”

ดร.จุฬากล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาความหนาแน่นของเรือและตลิ่งพังที่ดีที่สุดคือการทำเขื่อน ถ้าทำเขื่อนให้ดีแล้วขุดลอกให้สามารถวิ่งได้ไกลขึ้นประมาณ 10 กิโลเมตรไปจนถึงอำเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยา โดยตอนนี้รองบประมาณปี 2558 อยู่ ถ้าได้งบมาก็จะเริ่มทยอยทำไปเรื่อยๆ เนื่องจากแม่น้ำป่าสักตรงช่วงนครหลวงนั้นถ้าเรือสามารถไปได้อีกไกล จะสามารถลดปริมาณเรือได้มาก และยังช่วยลดปัญหาการจราจรบนถนนด้วย เพราะท่าเรือส่วนมากจะอยู่ใกล้โรงงาน

ตลิ่งพังปัญหาใหญ่ลุ่มน้ำป่าสัก- ใช้เรือข้ามฟากไม่ได้แล้ว

นางจินตนา ประดับนิล ชาวบ้านตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา กล่าวถึงปัญหาบ้านทรุดตัวจากตลิ่งพังว่า บ้านที่ตนอยู่นี้สร้างมาตั้งแต่รุ่นทวดของทวด โดยเริ่มทรุดเมื่อประมาณปี 2538 อาการเตือนว่าจะทรุดคือตัวบ้านจะมีเสียงลั่นเปรี๊ยะๆ เมื่อดังหลายๆ ปีบ้านก็เริ่มทรุดลงไป ซึ่งสาเหตุที่บ้านทรุดเกิดจากพื้นดินทรุด จากไม้เกิดการบิดตัว เพราะ 1) ท่าเรือฝั่งตรงข้าม เจ้าของโรงสีคนเก่าเขากลัวว่าที่เขาจะทรุดเลยเอาหินมาทิ้งไว้ครึ่งแม่น้ำ มันก็ช่วยทั้งเราและเขาเพราะทำให้มันไม่สไลด์ ต่อมาเมื่อเขาขายท่าต่อให้บริษัทแพนด์สนครหลวง จำกัด ทางบริษัทแพนด์สนครหลวง ก็สร้างเขื่อนออกมาแล้วเอานำหินออกไปหมด เมื่อฝั่งนั้นมันต่ำฝั่งเราก็สไลด์ลงไป 2) เรือที่สัญจรไปมาแล่นมาทางฝั่งนี้ ก็จะพัดเอาหน้าดินไปด้วย เพราะเรือขนสินค้าส่วนมากลึกและน้ำหนักเยอะ แล้วทางนั้นเขาทำเขื่อน ทำให้กระแสน้ำมันเปลี่ยน พอน้ำปะทะเขื่อนของโรงงาน ก็จะกระแทกกลับมาทางบ้านเราแทน ส่วนกรณีเรือจอดซ้อนลำก็มีส่วนทำให้เกิดตลิ่งพัง ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางและยิ่งทำให้แรงกว่าปกติ

“เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ลงไปเล่นน้ำริมท่าได้สนุกสนานเพราะที่มันลาด แต่เดี๋ยวนี้ลงไปแล้วจะเป็นลักษณะเป็นหลุมลงไป วูบลงไปเลยเหมือนเป็นเหว แล้วตอก็โผล่ขึ้นมาเยอะมากเพราะดินมันหายไปหมด แต่ก่อนชาวบ้านจะใช้เรือเป็นพาหนะในการข้ามฟาก เพราะบ้านฝั่งนี้จะไม่มีรถประจำทาง ทุกบ้านจะมีเรือหมดเพื่อเอาไว้ข้ามฟากไปขึ้นรถประจำทางอีกฝั่ง โดยชาวบ้านเริ่มสัญจรทางน้ำไม่ได้ตั้งแต่ปี 2550 จอดเรือไว้ริมน้ำไม่ได้แล้ว เพราะเรือขนส่งขนาดใหญ่มาฟาดพังหมดเลย”

นางจินตนากล่าวต่อว่า “เคยแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าแล้วมีเจ้าหน้าที่มาดูที่บ้าน แต่พอดูเสร็จแล้วกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่โดนหัวหน้าตำหนิว่ามีสิทธิอะไรใครสั่งคุณไปดู แต่ตอนนี้หัวหน้าคนนี้ได้ย้ายไปแล้ว ซึ่งพวกเราต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องการทำตลิ่ง ว่าจะมีวิธีการป้องกันจัดการยังไง เพราะกลัวว่าจะพังเข้ามาถึงบ้านอีกและไม่มีที่จะขยับหนีแล้ว ทั้งนี้ เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วทางจังหวัดมีการประชุมเรื่องการทำเขื่อน ให้ทำประชาคมกันว่าต้องการหรือไม่ต้องการ ในตอนแรกเขาบอกว่าจะทำกันน้ำท่วมแต่ชาวบ้านต้องการให้ทำกันตลิ่งพัง เพราะน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาชาวบ้านเขาอยู่กันได้ แต่จะอยู่กันไม่ได้เพราะบ้านทรุดมากกว่า ตอนหลังเขาถึงบอกว่าจะทำกันตลิ่งพัง แล้วมีชาวบ้านลุกขึ้นถามว่า “แปลนที่ออกแบบมาทำซะสูงระดับเดียวกับตอนน้ำท่วม แล้วเวลาชาวบ้านจะลงท่าน้ำจะปีนขึ้นลงยังไง ที่คิดจะทำเขื่อนเพราะเพื่อช่วยผู้ประกอบการใช่ไหม”

ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าลงสำรวจพื้นที่เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2557 ชาวบ้านได้พาดูบริเวณที่ตลิ่งพัง ทำให้บ้านทรุด จนต้องทุบบ้านทิ้ง
ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าลงสำรวจพื้นที่เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2557 ชาวบ้านได้พาดูบริเวณที่ตลิ่งพัง ทำให้บ้านทรุด จนต้องทุบบ้านทิ้ง

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลปัญหาตลิ่งพังของแม่น้ำป่าสักในช่วงที่ผ่านมาพบว่า เป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะลุกลามเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 ชาวบ้าน ตำบลท่าช้างและตำบลพระนอน อำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา ได้รับผลกระทบจากปัญหาแนวตลิ่งของแม่น้ำสักทรุดตัวลึกลงไปกว่า 5 เมตร เป็นแนวยาวขนานไปกับแม่น้ำเป็นระยะทางยาวกว่า 300 เมตร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านกว่า 15 หลัง โดยบริเวณแนวตลิ่งช่วงบริเวณใกล้กับเชิงสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก ช่วงตำบลพระนอน แนวตลิ่งได้พังทลายอย่างรวดเร็วลุกลามกว่า 20 เมตร จนเข้ามาถึงตัวบ้าน ชาวบ้านละแวกนั้นต้องรื้อบ้านที่เป็นบ้านสองชั้นออกให้เหลือชั้นเดียว และทำการรื้อหลังคาที่เป็นกระเบื้องและมุงหลังคาสังกะสีแทน เพื่อลดน้ำหนักชะลอไม่ให้ตัวบ้านพัง พร้อมทั้งเตรียมหาที่อยู่ใหม่

ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 เกิดปัญหาตลิ่งริมแม่น้ำป่าสักทรุดตัวลง บริเวณอำเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยา โดยตลิ่งทรุดพังลงเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร กว้างประมาณ 3 เมตร ลึก 2 เมตร ส่งผลให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ริมน้ำหักโค่นลงจำนวนหลายต้น โดยบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 6 หลัง

และล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ที่ดินริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักได้พังทลายลงมาเป็นทางยาวและลึกหลายเมตร ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 5 หลัง ซึ่งดินพังทลายลงมาจนถึงบ้าน ทำให้ไม่สามารถเข้าอยู่ได้เนื่องจากความไม่ปลอดภัย ล่าสุดทาง จ.ลพบุรี ได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ โดยได้มีการสั่งรื้อถอนบ้านที่อยู่ติดริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักที่มีความเสี่ยงบ้านจะพังออกไปก่อน จากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่โยธาพบว่า มีตาน้ำอยู่บริเวณใต้ดินใต้พื้นบ้าน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดินสไลด์ตัวพังลงมาอย่างรวดเร็วเพราะอุ้มน้ำอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ทางอำเภอได้รวบรวมข้อมูลส่งเพื่อส่งไปยังกรมเจ้าท่าที่รับผิดชอบในการดูแลตลิ่งเพื่อให้ลงมาแก้ไขและให้การช่วยเหลือชาวบ้านให้เร็วที่สุด