ThaiPublica > เกาะกระแส > กพท.- สพฉ. จับมืออียู พัฒนาแผนบริการ โครงการ “หมออากาศ” การแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ ช่วยผู้ป่วยวิกฤตในไทย

กพท.- สพฉ. จับมืออียู พัฒนาแผนบริการ โครงการ “หมออากาศ” การแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ ช่วยผู้ป่วยวิกฤตในไทย

14 พฤษภาคม 2018


บริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ HEMS (Helicopter Emergency Medical Services) กำลังเติบโตไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่กำลังเร่งผลักดันบริการด้านนี้เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ช่วยพัฒนาธุรกิจการบินและเฮลิคอปเตอร์ ทั้งยังช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศในประเทศไทยให้มีทักษะสูงขึ้น

ทั้งนี้ การดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยขั้นวิกฤต เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และผู้ประสบอุบัติเหตุรุนแรง ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาที่ถูกต้องในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก เนื่องจากเป็นที่ยอมรับว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อย่างมาก ดังนั้น เฮลิคอปเตอร์จะมีบทบาทสำคัญในการให้ทีมแพทย์เดินทางอย่างเร่งด่วนไปสู่สถานที่เกิดเหตุหรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่เหมาะสมได้ภายในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมง

ที่ผ่านมา การปฏิบัติการด้านการดูแลรักษาในประเทศไทยส่วนใหญ่คือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลและระหว่างโรงพยาบาล มีปฏิบัติการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยานภายใต้โครงการ “หมออากาศ”  (Thai Sky Doctor) แต่ก็ไม่บ่อยครั้งนัก ดังนั้นเฮลิคอปเตอร์จะสามารถนำมาใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่ต้องรับการดูแลรักษาหรือสถานที่เกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการนำส่งทีมแพทย์ที่ทรงคุณวุฒิมารักษาหรือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาล

ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(ขวา), นายเฮนริค โฮโลลีย์ ปลัดกระทรวงคมนาคมและขนส่งสหภาพยุโรป(กลาง), เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(ซ้าย) แถลงข่าวร่วมมือพัฒนางานบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงข่าวร่วมมือกันผลักดันงานพัฒนาบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU)

ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายการดำเนินการในอนาคตไว้สองช่วง โดยช่วงแรกจะทำให้เกิดการช่วยชีวิตโดยเฮลิคอปเตอร์จะสามารถบินระหว่างจุดขึ้นลงที่ กพท.อนุญาตไว้ล่วงหน้าให้ใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินทางทางการแพทย์ หลังจากนั้นจะทบทวนเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบหรือกฎหมายให้เฮลิคอปเตอร์ประเภทนี้สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้มากขึ้น

ทั้งนี้ จะอนุญาตให้โรงพยาบาลใช้เฮลิคอปเตอร์ในการให้บริการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินได้มากขึ้น เคลื่อนย้ายการบินขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นในเส้นทางการบินมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการทางการแพทย์นี้ได้เพียงที่โรงพยาบาลกรุงเทพเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ในย่านเมือง

“การขนส่งแบบเป็นทางการของอียู ได้เสนอให้ผู้รับผิดชอบในประเทศไทยแก้ไขกฎระเบียบกฎหมายในด้านนี้ รวมทั้งสนับสนุนระบบ HEMS มากขึ้น เนื่องจากเป็นการปฏิบัติการที่สามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บบนท้องถนนที่อยู่ห่างไกลจากย่านเมืองได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ทำโครงการนำร่องได้ภายในปีหน้า มอบให้เป็นของขวัญปีใหม่กับประชาชน”

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า บริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นและเข้าถึงได้ยากซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย โครงการนี้จะช่วยให้เรามุ่งสู่วิสัยทัศน์การสร้างมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วยการมอบการดูแลรักษาที่ทุกคนเข้าถึงได้ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

นายแพทย์อัจฉริยะกล่าวว่า ที่ผ่านมาปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องใช้เวลาในการได้รับอนุญาตให้ใช้ถึง 7 วัน แต่ปัจจุบันทาง สพฉ. ได้เจรจาต่อรองขอเป็นหนึ่งวัน และทุกวันนี้เหลือเพียง 1ชั่วโมง และ 30 นาที ในการอนุมัติแต่ละครั้ง ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ไปที่จุดเกิดเหตุและสามารถบินกลับไปส่งให้โรงพยาบาลได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการนี้ใช้สำหรับผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเท่านั้น โดยจะมีแพทย์เป็นผู้กำหนด

นายเฮนริค โฮโลลีย์ (Henrik Hololei) ปลัดกระทรวงคมนาคมและขนส่งสหภาพยุโรป กล่าวว่า ภูมิภาคยุโรปมีความมุ่งมั่นกับการเป็นพันธมิตรกับประเทศไทย และด้วยการทำงานขององค์การกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ยินดีที่ได้สนับสนุนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่กำลังดำเนินการตามแผนงานด้านกฎระเบียบบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ที่มีความปลอดภัย

เขายังกล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนค่อนข้างมาก ดังนั้นสิ่งที่ต้องช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ คือการเข้าถึงผู้ประสบอุบัติเหตุให้ได้ภายในชั่วโมงแรก เพื่อนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นการช่วยชีวิต นอกจากนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญจากอียูมาช่วยแนะนำเรื่องการเขียนระเบียบข้อบังคับใหม่ให้กับระบบการบินของไทย