ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “อาเซียนสปริง” จากแดนดินถิ่นลุ่มเจ้าพระยาสู่ทะเลสาบกัมพูชา

“อาเซียนสปริง” จากแดนดินถิ่นลุ่มเจ้าพระยาสู่ทะเลสาบกัมพูชา

29 ธันวาคม 2013


รายงานโดย…อิสรนันท์

นิตยสารไทมส์และเว็บไซต์ Huffing post หรือ HuffPost เว็บไซต์ข่าวยอดนิยมในสหรัฐฯ และคานาดา เกิดใจตรงกันจัดให้ปี 2556 เป็นปีแห่งการลุกฮือประท้วงของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่เอเชีย ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และยุโรป ประท้วงตั้งแต่ต้นปี กลางปีจวบจนถึงปลายปี โดยเฉพาะใน 3 ประเทศในทวีปผิวเหลืองเอเชียที่การประท้วงขับไล่รัฐบาลเกิดยืดเยื้อนานหลายเดือน ทำให้ผู้ประท้วงประกาศจะชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลต่อหลังฉลองวันขึ้นศักราชใหม่แล้ว จนผู้สันทัดกรณีหลายคนต่างลุ้นกันว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “เอเชียสปริง” ขึ้นหรือไม่ ตามหลัง “อาหรับสปริง” เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

เป็นเรื่องประหลาดที่ “เอเชียสปริง”หรือพลังขับเคลื่อนของภาคประชาชนเพื่อจะขับไล่รัฐบาลที่ทุจริตฉ้อฉลหรือรัฐบาลทรราชเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ทั้งๆ ที่มิได้นัดหมายกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นที่บังกลาเทศ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านได้เดินขบวนประท้วงหมายจะกดดันให้ชีค ฮาซินา นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อเปิดทางให้ตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ที่เป็นกลางขึ้นมากำกับดูแลการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดมีขึ้นในวันที่ 5 มกราคม แต่ชีค ฮาซินา ก็ดื้อด้านดึงดันไม่ยอมลาออก แม้จะถูกพรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรและต่างประเทศประกาศไม่ส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งส่อเค้าว่าอาจจะมีการโกงเลือกตั้งและอาจเกิดการนองเลือดขึ้น หลังจากมีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยรายนับตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นมา

จาก “เอเชียสปริง” อาจจะแตกย่อยเป็น “อาเซียนสปริง”เมื่อมีการลุกฮือประท้วงของประชาชนครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ในแดนดินถิ่นเจ้าพระยาจนถึงโตนเลสาบหรือทะเลสาบในกัมพูชา ซึ่งทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างทำตามเป็นแฝดน้อง ลอกเลียนแบบท่าทีและจุดยืนของแฝดพี่แห่งเวทีราชดำเนินแทบจะไม่ผิดเพี้ยน เพราะไล่เลี่ยกับที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “กำนันสุเทพ” นำมวลชนจากทั่วทุกสารทิศร่วมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย นายสม รังสี หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) พรรคฝ่ายค้านใหญ่ของกัมพูชาก็นำมวลชนเคลื่อนขบวนอย่างสงบสันติและอหิงสาไปตามถนนสายต่างๆ ในกรุงพนมเปญเป็นประจำทุกวัน พร้อมกับโบกธงชาติไปมานอกเหนือจากตะโกนว่า”ฮุน เซน ออกไปๆ ๆ ๆ” แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลา 3 เดือนหรือภายในต้นปี 2557

การประท้วงของประชาชนกัมพูชาในกรุงพนมเปญ ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian
การประท้วงของประชาชนกัมพูชาในกรุงพนมเปญ ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian

ตอนแรกจำนวนผู้ประท้วงมีไม่มากนัก ระดับแค่พันเศษๆ หรือสูงสุดแค่หมื่นต้นๆ แต่ผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ จำนวนก็มากขึ้นตามลำดับเมื่อบรรดาแรงงานจากภาคสิ่งทอได้เข้ามาร่วม ทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมการประท้วงเพิ่มจากไม่กี่พันคน เป็นหลายหมื่นคน จนถึงกว่าแสนคน ซึ่งถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ของประเทศนี้

นับเป็นครั้งแรกที่บัลลังก์การเมืองของนายฮุน เซน ที่เกาะแน่นมานานถึง 28 ปีเกิดสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างชนิดที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถึงขนาดที่สื่อกัมพูชาและสื่อตะวันตกพร้อมใจกันพาดหัวว่าเป็น “สึนามิการเมือง” มองเผินๆ การเดินขบวนประท้วงของพรรคฝ่ายค้านก็เพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่เชื่อว่ามีโกงเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของนายฮุน เซน จะชนะเลือกตั้ง แต่ที่นั่งก็ลดลงฮาบฮาบเหลือแค่ 68 ที่นั่งจาก 123 ที่นั่ง ส่วนพรรคกู้ชาติของนายสม รังสี ซึ่งเพิ่งได้รับอภัยโทษเมื่อกลางปีที่แล้วและรีบเดินทางกลับมาสมัครรับเลือกตั้ง ได้ที่นั่งพุ่งพรวดถึง 55 ที่นั่ง แต่นายสม รังสี กลับประท้วงผลการเลือกตั้งและคว่ำบาตรการประชุมสภาฯ

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญการเมืองในภูมิภาคนี้หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องของ “กฎแห่งกรรม” ซึ่งกฎแห่งกรรมที่ว่าไม่มีระบอบการปกครองของผู้นำที่ทุจริตฉ้อฉลและเหิมเกริมในอำนาจล้นฟ้าจะอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองของอดีตเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ ที่เกาะเก้าอี้แน่นแค่ 21 ปีก็ถูกนางสิงห์เหลืองคอรี่ อะคีโน นำพลังมวลชนลุกฮือปฏิวัติยึดทำเนียบมาลากันยังกลับคืนมาเป็นของประชาชนได้สำเร็จ

หรือระบอบของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย ที่ใช้กำปั้นเหล็กปกครองประเทศและเปิดทางให้ญาติและคนสนิททุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบนาน 32 ปี ท้ายสุดก็ถูกประชาชนขับไล่ออกจากตำแหน่ง

ระบอบการปกครองอดีตประธานาธิบดีซีนหรือไซเน อัล อาบิดีน เบน อาลุแห่ตูนิเซีย เหยื่อรายแรกของ “อาหรับสปริง” อยู่ในตำแหน่ง 23 ปี ระบอบของอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก แห่งอิยิปต์ เรืองอำนาจได้ 36 ปี และระบอบประธานาธิบดีโมอัมมาร์ กัดดาฟี ก็ปกครองลิเบียนานถึง 42 ปี ก่อนจะถูกประชาชนลุกฮือ ท้ายสุด ถูกสังหารอย่างน่าอนาถกลางถนนสายหนึ่งในจังหวัดบ้านเกิด

สำหรับนายฮุน เซน หรือ จอมพล สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน หนึ่งใน “สามสมเด็จแห่งกัมพูชา” ที่ได้รับการสถาปนาจากผลงานการร่วมมือกันกวาดล้างระบอบเขมรแดงควบคู่กับจอมพลสมเด็จอัครมหาพญาจักรีเฮง สัมริน อดีตประธานาธิบดีคนแรกของกัมพูชาหลังจากดึงทหารเวียดนามมาช่วยขับไล่รัฐบาลเขมรแดง และจอมพล สมเด็จอัครมหาธรรมพิศาลเจีย ซิม ได้ค่อยๆ สถาปนา “ระบอบฮุน เซน” ขึ้นนับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2528 และเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดคือแค่ 33 ปี แต่ได้เกาะเก้าอี้เหนียวแน่นมานานถึง 28 ปี ถือเป็นผู้นำที่ครองอำนาจนานที่สุดในเอเชีย ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถส่งต่ออำนาจล้นฟ้านี้ให้ลูกหลานสืบต่อไป นายฮุน เซน จึงประกาศว่าพร้อมจะสวมหัวโขนนี้ต่อไปจนกว่าจะมีอายุ 74 ปี ลดลงจากเดิมที่ประกาศอย่างอหังการ์ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงอายุ 90 ปี

นายสม รังสี ผู้นำการประท้วง ที่มาภาพ : http://www.abc.net.au/news
นายสม รังสี ผู้นำการประท้วง ที่มาภาพ : http://www.abc.net.au/news

แต่ “ลิขิตสวรรค์ยากฝ่าฝืน” ใครเลยจะรู้ว่า “ฟ้าให้ฮุน เซน เกิดมาแล้ว ยังให้สม รังสี มาเกิดด้วย” สม รังสี ผู้ไม่มีอะไรจะสู้นายฮุน เซน ได้สักอย่าง ยกเว้นชีวิตส่วนตัวที่เกิดในครอบครัวนักการเมืองผู้เคยเรืองอำนาจในยุคที่เจ้าสีหนุยังทรงหนุ่มแน่นก่อนที่ชะตาจะผกผันจนท้ายที่สุด สม รังสี ต้องไปเติบใหญ่ที่ฝรั่งเศส ขณะที่ชีวิตการเมืองก็เป็นผู้แพ้มาตลอด ถูกฟ้อง ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ต้องหนีภัยการเมืองไปลี้ภัยในต่างประเทศหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเพิ่งจะได้รับอภัยโทษแล้วรีบเดินทางกลับมาสมัครรับเลือกตั้ง กระทั่งสามารถนำพรรคกู้ชาติขึ้นมาเป็นพรรคใหญ่อันดับสองได้สำเร็จเหนือความคาดหมาย แล้วท้ายสุดได้เป็นแกนนำในการท้าทายอำนาจของนายฮุน เซน

ลารา เวิร์กน้อด ผู้สื่อข่าวของเวบไซต์ Blouin News World รายงานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2556 ว่าการประท้วงในกัมพูชาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงที่ไทย โดยเฉพาะการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2556 ซึ่งนายสม รังสี ถือเป็นเป็นแบบอย่างเรียกร้องให้นายฮุน เซน ทำตามอย่างบ้าง แต่เมื่อนายฮุน เซน ดึงดันไม่ยอมทำตาม นายสม รังสีก็ประกาศจะประท้วงต่อไปหลังจากนำการประท้วงยืดเยื้อมานาน 3 เดือนแล้ว

อย่างไรก็ดี ลารา เวิร์กน้อด มองว่าการประท้วงที่เวทีราชดำเนินกับที่กรุงพนมเปญก็มีหลายอย่างที่ต่างกัน ที่เวทีราชดำเนินนั้นได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลาง ยังมีกองทัพและระบบตุลาการเข้ามามีอิทธิพลในระดับหนึ่ง แต่ฝ่านค้านกัมพูชาต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง โดยฐานสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นพวกรากหญ้า ซึ่งถูกรัฐบาลฮุน เซน กดขี่หนักหน่วงขึ้น กระนั้น การประท้วงของฝ่ายค้านก็ใช่ว่าจะไร้อนาคตหรือไร้ความหวังใดๆ ในเมื่อนับวันนาย ฮุน เซน เองก็เผยจุดอ่อนให้เห็นมากขึ้น จนเสียที่นั่งในสภาผู้แทนฯ จำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะฐานเสียงในหมู่รากหญ้าในชนบทห่างไกล ที่เริ่มแปรพักตร์เช่นเดียวกับฐานเสียงภายในพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งเริ่มแข็งข้อและการแปรพักตร์มากขึ้น ขณะที่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจก็หันไปสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านมากขึ้น

นายฮุน เซน เองก็พยายามแก้เกมด้วยการเอาผลประโยชน์ของประเทศมาล่อต่างชาติ อาทิ สหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนภายใต้หน้ากากว่าโครงการปฏิรูปมากขึ้น ทำให้สหรัฐฯเริ่มลังเลว่าจะสนับสนุนผลการเลือกตั้งเมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่ ซึ่งเท่ากับสนับสนุนรัฐบาลฮุน เซน โดยปริยาย หรือจะสนับสนุนขบวนการประท้วงซึ่งแม้ข้อเรียกร้องจะชอบธรรม แต่เนื่องจากยังอ่อนแออยู่ จึงไม่อาจจะดึงความสนใจจากสหรัฐฯ ได้เท่ากับผลประโยชน์ที่นายฮุน เซน เอามาล่อตรงหน้า

ด้านนายสม รังสี เองก็มี 2 ทางเลือก คือยอมรับผลการเลือกตั้งแต่โดยดี ซึ่งเสี่ยงต่อการที่พรรคฝ่ายค้านจะถูกลดความน่าเชื่อถือ หรือจะสู้ต่อไปจนกว่าจะชนะ ถ้าหากนายสม รังสี เลือกจะสู้ต่อก็เสี่ยงต่อการที่จะถูกนายฮุน เซน ปราบปราม เชื่อได้ว่าเสือร้ายอย่างนายฮุน เซน ย่อมไม่ใช้กำลังเข้าปราบปรามให้เสียชื่อเสียงอย่างที่หลายคนคิด แต่อาจจะใช้วิธีคือกอดกฎหมายรัฐธรรมนูญไว้แน่น ด้วยการย้ำว่า “ไม่ลาอออก ไม่เลือกตั้งใหม่ เพราะตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด” เหนืออื่นใดก็คือได้รับเลือกตั้งถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากจะถอดหัวโขนทิ้งก็ควรเป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญ นายฮุน เซน อ้างด้วยว่าไม่มีกฎหมายข้อใดให้จัดการเลือกตั้งก่อนครบวาระ เพราะตามมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า จะไม่สามารถยุบสภาก่อนครบวาระ 5 ปีได้ เว้นแต่รัฐบาลจะถูกลงมติไม่ไว้วางใจ 2 ครั้งภายในเวลา 1 ปี

“ดังนั้น ในกัมพูชา ไม่ว่ากษัตริย์ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐสภา ต่างไม่มีสิทธิที่จะยุบสภา” นายฮุน เซน ย้ำ ก่อนจะเสริมว่า “รัฐบาลจะดำเนินการด้วยความอดทนอดกลั้น และเคารพต่อสิทธิของประชาชนในการจัดการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ แต่รัฐบาลจะไม่สนับสนุนกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ผิดกฎหมายที่นำไปสู่ความไม่มั่นคงของประเทศและประชาชน ”

ที่มาภาพ :http://www.brecorder.com/images
ที่มาภาพ :http://www.brecorder.com/images
ขณะเดียวกัน ก็มีการโจมตีพรรคฝ่ายค้านว่าเป็นกบฏ จากความพยายามที่จะทำรัฐประหารหมายยึดอำนาจจากรัฐบาลนายฮุน เซน

อาจจะเพราะความลำพองใจและเชื่อมั่นว่าไม่มีใครมีบารมีมากพอที่จะทำให้ตัวเองออกจากตำแหน่งได้ และนายฮุน เซน ไม่ศึกษาบทเรียนการล่มสลายของระบอบมาร์กอส ระบอบซูฮาร์โต ระบอบมูบารักหรือระบอบกัดดาฟี ว่าระบอบเหล่านี้ล่มสลายอันเนื่องจาก “สนิมเกิดแก่เนื้อในตน” สนิมของระบอบชั่วร้ายเหล่านี้ก็คือการทุจริตคอร์รัปชันอย่างบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามรายงานดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันที่จัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศประจำปี 2556 ระบุว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน โดยรั้งอันดับ 160 จากทั้งหมด 177 ประเทศ ทั้งๆ ที่รัฐสภาได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2553 หลังจากรอคอยมานานกว่า 15 ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยช่องโหว่มากมาย หรือเป็นเสือกระดาษ ดีไม่ดีอาจจะกลายเป็นตาข่ายเหล็กคอยคุ้มครองการทุจริตของข้าราชการและนักการเมืองด้วยซ้ำไป

นักการทูตอเมริกันผู้หนึ่งเผยว่า แต่ละปี กัมพูชาต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันนถึง 500 ล้านดอลลาร์หรือราว 15,000 ล้านบาท

นอกเหนือจากการทุจริตคอร์รัปชันที่มีแต่บ่อนเซาะทำลายประเทศชาติ บรรดารากหญ้ายังต้องเผชิญกับระบบเล่นพรรคเล่นพวก การละเมิดสิทธิมนุษยชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติผิดพลาด โดยเฉพาะการใช้อำนาจเถื่อนเข้าไปยึดครองผืนนาของชาวนาแล้วนำไปทำรีสอร์ทหรู และยึดที่ทำกินของชาวบ้านแปลงเป็นที่ปลูกยางพาราหรือปลูกอ้อยของนายทุนเวียดนามหรือนายทุนจากแดนมังกรจีน จนทำให้ชาวกัมพูชาต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยนับแสนๆ คน คนกลุ่มนี้ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงของนายฮุน เซนมาก่อนจึงหันไปสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านใต้การนำของสม รังสี แทน

แต่พลังสำคัญที่ทำให้การประท้วงของฝ่ายค้านจุดติดตั้งแต่ต้น ก็คือพลังของแรงงานสิ่งทอกัมพูชานับแสนๆ คนที่สนับสนุนให้ขับไล่นายฮุน เซน หลังจากผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ากรณีรัฐบาลเอาใจนายทุนต่างชาติให้กดค่าแรงขั้นต่ำมานานหลายปี ทั้งๆ ที่รายงานของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งประกอบด้วยโรงงานราว 500 แห่ง และแรงงานอีกประมาณ 510,600 คน มีสัดส่วนในการส่งออกถึง 85% และถือเป็นสินค้าส่งออกที่นำเงินตราเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศมากที่สุดราว 5,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

แต่โรงงานต่างๆ มักจะโอดครวญว่าขาดทุนหลายล้านดอลลาร์และยังกดขี่แรงงานโดยไม่ชอบธรรมอีกต่อไป ทำให้คนงานต่างต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ ถูกเอารัดเอาเปรียบกรณีนายทุนแอบปิดโรงงานแล้วหนีไปโดยไม่ยอมจ่ายค่าแรงล่วงหน้าตามกฎหมาย นอกจากนี้ คนงานยังผละงานประท้วงเพื่อขอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

กล่าวได้ว่าปี 2556 ถือเป็นปีแห่งจลาจลวุ่นวายในภาคสิ่งทอในกัมพูชา โดยตลอดช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาไม่นับรวมการผละงานประท้วงในเดือน ธ.ค.2556 กัมพูชามีการประท้วงแล้ว 131 ครั้ง ถือว่ามากครั้งที่สุดนับตั้งแต่แรกมีการประท้วงเมื่อปี 2546 เพิ่มจากปี 2554 รวม 34 ครั้ง ระหว่างการประท้วงในปีนี้ ส่วนใหญ่มักจะจบลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง โดยตำรวจปราบจลาจลใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนจริง ระหว่างการประท้วงเมื่อเดือน พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา แรงงานหญิงรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บหลายคน นอกจากนี้ แรงงานหญิง 2 คนเกิดแท้งลูกระหว่างปะทะกับตำรวจ ขณะที่สมาชิกสหภาพแรงงาน 19 คนถูกจับกุมเป็นเวลาหลายเดือน

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อกลางปี ทั้งพรรคประชาชนกัมพูชาและพรรคกู้ชาติต่างพยายามดึงแรงงานในภาคสิ่งทอมาเป็นฐานเสียงใหญ่ ฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้ทางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 เท่าเป็น 4,800 บาทตั้งแต่ปี 2557 นี้ ขณะที่รัฐบาลพยายามเตะถ่วงให้นานที่สุด ตอนแรกสัญญาจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 420 บาทจากเดิมที่เคยรับปากจะเพิ่มขึ้น 360 บาท ก่อนที่นายฮุน เซน จะเข้ามาแทรกแซง ด้วยการให้สัญญาจะขึ้นค่าแรงเป็น 2,250 บาทโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.

แต่เมื่อไม่อาจทานกระแสกดดันได้ ทางการก็ประกาศจะปรับค่าแรงขั้นต่ำจากเดือนละเกือบ 2,500 บาท เป็นราว 2,950 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีหน้า ขณะที่แรงงานสิ่งทอเรียกร้องให้ปรับเพิ่มทันทีเป็นเดือนละ 4,960 บาท ท้ายสุดรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานประกาศแผนปรับค่าแรงแบบขั้นบันได โดยรัฐบาลจะเพิ่มค่าแรงขึ้นอีก 450 บาท ในปี 2558 ปรับขึ้น 480 บาทในปี 2559 และเพิ่มอีก 30 บาทในปี 2560 และปี 2561 ดังนั้น แรงงานสิ่งทอจะได้เงินเดือนขึ้นต่ำ 4,800 บาทตั้งแต่ปี 2561 อย่างไรก็ดี คนงานสิ่งทอก็ยังไม่ยอมยุติการประท้วงเพื่อกดดันนายจ้างให้ขึ้นค่าแรงทันที

นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า พรรคฝ่ายค้านกำลังเดินเกมเล่นกับไฟที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งในการปลุกกระแสความไม่พอใจของแรงงาน เพราะแม้การขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นเรื่องเหมาะสม แต่การโหมกระพือให้กระแสประท้วงลุกลามในเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม และอาจทำให้บ้านเมืองวุ่นวายได้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า หากการหยุดงานประท้วงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกสิ่งทอและตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายฮุน เซน ที่มาภาพ : http://previous.presstv.ir/photo
นายฮุน เซน ที่มาภาพ : http://previous.presstv.ir/photo

ด้านผู้สันทัดกรณีหลายคนให้ความเห็นว่าบ้านเมืองยังไม่ถึงทางตัน เพราะยังพอมีทางออกอื่น อาทิ ถ้าหากรัฐบาลยอมจัดทำประชามติทั่วประเทศ โดยรัฐสภาสยังคงทำหน้าที่ตามปรกติ และกฎหมายก็ไฟเขียวให้มีการเลือกตั้งใหม่หากมีการยุบสภา

แต่ดูเหมือนว่า ทั้งนายฮุน เซน และนายสม รังสี ต่างยืนกรานจะเดินจนสุดซอย ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะสุดซอยนั้นมีอะไรรออยู่ ที่แน่ๆ ก็คือคงมีการพนันกันว่ากำนันสุเทพและนายสม รังสี ใครจะอึดกว่ากัน