ทุกโครงสร้างอำนาจ ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-กองทัพ องค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปอย่างทั่วด้าน ที่เห็นต่างมีเพียงเรื่องระยะเวลา ก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เท่านั้น
หากนับเฉพาะประเด็น “ปฏิรูป” ถือว่ากลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในนามของเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เคลื่อนไหวสำเร็จทั้งการมีส่วนทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องเรื่องการปฏิรูป และเกิดผลทางการเมืองทำให้ฝ่ายเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง
หากจะนับผลงานของฝ่าย กปปส. ในรอบ 70 วัน มีไม่น้อยกว่า 5 ประเด็นหลัก อาทิ 1. ทำให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องยุบสภา 2. ทำให้รัฐบาล-พรรคเพื่อไทยถอนกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 3. ทำให้ฝ่ายเพื่อไทยถอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม-กฎหมายปรองดอง รวม 5 ฉบับ พ้นจากระเบียบวาระที่รอบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 4. รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในบทบัญญัติที่ว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา แม้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระแล้ว แต่ต้องกราบทูลฯ ขอพระราชทานคืนจากการทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไทย 5. ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ เพราะการร้องเรียนของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์
ไม่นับรวม “ผลทางอ้อม” ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดย กปปส. ที่ขับเคลื่อนคู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้รัฐบาลเพื่อไทย ต้องกลับบ้านมือเปล่า อาทิ 1. ไม่สามารถผลักดันกฎหมายการกู้เงิน 2 ล้านล้านให้มีผลบังคับใช้ได้ 2. ไม่สามารถผลักดันกฎหมายการกู้เงินเพื่อลงทุนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง 3.5 แสนล้านได้ 3. ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามที่หาเสียงไว้
เบื้องหลังการเดินทาง 70 กว่าวันของ “ม็อบสุเทพ” มีการบัญชาการและการร่วมจัดการหลายฝ่าย
ฝ่ายแรก คือ กองกำลัง-กองเงิน ในฝ่ายนี้ มีทั้งกลุ่มฐานเสียงที่ขนเงินมาบริจาคบนเวทีราชดำเนิน และกลุ่มนักธุรกิจขาใหญ่ในเมืองไทย นักธุรกิจรายย่อย ที่เปิดหน้าจ่ายต้นทุนเป็นเงินสด บางรายจ่ายเป็นงวด บางรายจ่ายแบบกระแสรายวัน บางรายจ่ายผ่านนอมินีหน้าเวที
แต่การร่วมจ่ายต้นทุนจากทุกฝ่ายก็ไม่เพียงพอต่อการจัดการการเคลื่อนไหวที่ครบเครื่องครบสูตรทั้งการตลาด-การเมืองด้วยตัวเลขที่ต้องจ่ายวันละ 5-10 ล้านบาท ดังนั้น ฝ่ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องควักทุนของตระกูลมาร่วมจ่าย จึงมีโฉนดที่ดินของนายสุเทพแปลงหนึ่งในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ถูกนำมายั่วน้ำลายเศรษฐีใหญ่ย่านสีลมให้ช่วยซื้อ ข่าววงนอกบอกเจ้าสัวรายนั้นปฏิเสธไม่กล้ารับซื้อที่ดินร้อน แต่ข่าววงในบอกเจ้าสัวแบ่งรับ-แบ่งสู้
ฝ่ายที่สอง กองกำลังปัญญาชน ในกลุ่มนี้มีนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ที่เปิดหน้าขึ้นเวที เช่น ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ, ดร.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ และเครือข่าย กลุ่มที่ไม่เปิดหน้า แต่ช่วยค้นหาข้อเสนอและแกะปมเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ,ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และในช่วงที่นายสุเทพอยู่ระหว่างการรับข้อเสนอปัญญาชนเพื่อจัดทำ “สภาประชาชน” ในห้องประชุมที่สนามม้านางเลิ้ง ก็มี ศ.ธีรยุทธ บุญมี ปรากฏตัวอยู่ด้วย
ในกลุ่มนี้ มีบุคคลระดับ “ทนายเทวดา” อย่างนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ปรากฏตัวร่วมเป็นกำลังใจเกือบทุกค่ำคืน และร่วมคิดค้นประเด็น ข้อกฎหมาย ในการเปิดเกมรุกเรื่องกฎหมาย ทั้งการเปิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ควบคู่มาตรา 7 และการอ้างถึงมาตรา 113 ที่จะเป็นเครื่องมือในการทะลุไปถึงการแต่งตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ-ฝ่ายบริหาร ของสภาประชาชน
ที่สำคัญ ยังมีกลุ่มนักกฎหมายมหาชนระดับ “พญาครุฑ” ที่ไม่เปิดหน้า แต่เปิดตำรากฎหมาย ให้คำปรึกษาผ่านเว็บไซต์ส่วนตัว และเตรียมการอย่างเงียบๆ ตั้งรับและรุกในเหตุการณ์ทีเด็ด ทีขาด ที่ต้องการตัวช่วยทางกฎหมาย
ฝ่ายที่สาม กองกำลังตัวช่วยวีไอพี มีทั้งนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ผู้ซึ่งเป็นทั้ง “พี่เมีย” นายสุเทพ และผู้ที่เคยร่วมปฏิบัติการพิเศษ-สัญญาณพิเศษในการ “ตั้งผบ.ตร.” ยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จนนายนิพนธ์ต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อสังเวยการไม่ตอบรับ “สัญญาณพิเศษ” แต่การณ์ครั้งนี้นายนิพนธ์ต้องรับบทหนักกว่าคราวก่อน เพราะนายสุเทพมีพันธมิตรระดับที่ “เข้าถึง” ร่วมวงอยู่ด้วยหลายคน ดังนั้น สัญญาณพิเศษจึงมีหลายระดับ
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้กลยุทธ์ตั้งรับ และใช้ยุทธวิธีชิงพื้นที่ข่าวแบบวันต่อวัน และบางเหตุการณ์ใช้ปฏิบัติการตอบโต้แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง ภายใต้กองกำลังสนับสนุน ดังนี้
กองกำลังแรก เป็นฝ่ายทีมตึกไทยคู่ฟ้า ที่ร่วมปฏิบัติการตอบโต้ กปปส. ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการ “ถอนตัว” และการ “เปลี่ยนตัว” โดยทุกตัวเล่นเป็นการเลือกจาก “คนที่สูงที่สุดในหมู่คนเตี้ย” เลือกจากทีมรองนายกรัฐมนตรี เช่น ครั้งแรกจะใช้บริการ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวหลักใน ศอ.รส. แต่ พล.ต.อ.ประชาขอถอนตัวอย่างไม่เป็นทางการ เพราะกลัวถูกม็อบไปล้อมบ้านพักตัวเอง
จากนั้นมีการเสนอชื่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี แต่ทีมตึกไทยคู่ฟ้าประเมินแล้วว่า ท่าทีของนายพงษ์เทพเหมือนไม่ค่อยอยากร่วมสู้ในศึกที่โหดร้าย ตาต่อตา ฟันต่อฟัน จึงข้ามชื่อนี้ไป
ชื่อต่อมาคือนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี แต่ชื่อนี้ไม่ผ่านการประเมินรอบแรก เพราะท่าทีที่ชอบพูดตอบโต้รุนแรง ชอบเปิดสงครามกับทุกฝ่าย ทำให้เสียแผนการ จึงไม่ถูกหยิบขึ้นมาใช้งานในภาวะฉุกเฉิน
จึงมีการเลือกนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาแทน เพราะคุณสมบัติที่ “รับฟัง-พร้อมรับใช้-ให้บริการ” จากทั้งนายกรัฐมนตรีในเมืองไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กองกำลังที่สอง เป็นกองกำลังฝ่ายกฎหมาย ที่มอบหมายให้นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นหมายเลขหนึ่ง อย่างเป็นทางการ โดยมีกองกำลังหนุนจากฝ่ายกฎหมายที่พรรคเพื่อไทย คือ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส่วนมือกฎหมายที่เคยมีบทบาทในฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างนายโภคิน พลกุล ถูกเก็บไว้ในกรุชั่วคราว
กองกำลังที่สาม เป็นทีมเฉพาะกิจ ที่มีการเซ็ตขึ้นเพื่อต่อสู้ในโลกโซเชียลมีเดียอย่างเป็นระบบ เพื่อปฏิบัติการ 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่ง ตอบโต้ แก้ไข ให้ข้อมูล กรณีข้อกล่าวหาว่า “ไม่จงรักภักดี” ด้านที่สองยืนยันว่าฝ่ายเพื่อไทยต่อสู้ภายใต้ระบบประชาธิปไตย
ทีมงานชุดนี้ เตรียมออกแคมเปญ “รัฐบาลแห่งการปฏิรูป” และ “เลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป” ในเร็วๆ นี้
กองกำลังที่สี่ เป็นกองกำลังซูเปอร์คอนเนกชัน ในกลุ่มนี้ จะปฏิบัติการเชื่อมความสัมพันธ์กับ “คนที่เข้าถึง” ผู้มีบารมีตัวจริงในเมืองไทย ในกรณีที่ต้องออกกฎหมาย หรือตราพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ทั้งการเลือกตั้ง และเตรียมการสำหรับการรองรับอุบัติเหตุทางการเมืองทุกรูปแบบ
ในฝ่ายนี้ มีบางชื่อ บางคน ที่ติดต่อกับฝ่ายนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ในภาวะฉุกเฉิน
ปฏิบัติการนี้ แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยอ้างถึงชื่อนายวัฒนา เมืองสุข ที่เคยรับงานเคลื่อนไหวเรื่อง “ปรองดอง” และการ “ปฏิรูป” โดยใช้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคง (คมช.) เป็นผู้เสนอกฎหมายให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาแล้ว
ข้อวิเคราะห์ปมปัญหาการเมือง ที่ทีมนอกตึกไทยคู่ฟ้ารวบรวมส่งถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 7 ข้อ คือ 1. มีการใช้เสียงข้างมากตามอำเภอใจ และประธานสภาผู้แทนคุมเกมการเมืองไม่ได้ 2. นโยบายรับจำนำข้าว ไม่เฉพาะเรื่องปัญหาการระบายสต็อก แต่มีปัญหาชาวนาไม่ได้รับเงิน ทำให้รัฐบาลเสื่อมความนิยม 3. มีการจัดการพรรคด้วยคนในตระกูล “ชินวัตร” เท่านั้น ไม่มีการกระจายอำนาจ 4. เครือข่ายในพรรค มีการแต่งตั้งข้าราชการ แล้วอ้างว่าเป็นคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ 5. ไม่มีการแก้ข้อกล่าวหาเรื่องคุกคามสถาบัน 6. การให้กรรมการบริหารพรรคตั้งโต๊ะแถลงข่าวไม่ยอมรับอำนาจศาล เป็นก้าวที่พลาดที่สุด ที่ไปโจมตีกรรมการตัดสินคดีการเมือง เพราะแม้โจมตีอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้พลิกคดีกลับมาได้ 7. กลุ่มคนเสื้อแดงในพรรคเพื่อไทยขาดเอกภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ในการนี้ ได้แนบข้อเสนอ-ทางออกไปด้วย 3 ข้อ คือ 1. ให้ปรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคใหม่ เพื่อกระจายอำนาจในพรรค 2. แต่งตั้งคนการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกพรรค เพื่อเป็นทีมเจรจา-ประนีประนอมบางปัญหา เช่น เจรจากับคนในกองทัพ ผู้มีบารมีนอกกองทัพ 3. หากถึงเวลาที่ถูกกดดันเรียกร้องจนถึงที่สุด ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้คนในตระกูล “ชินวัตร” รับความเสี่ยงทางการเมือง ควรมอบอำนาจให้ผู้อาวุโสทางการเมืองที่เป็นเครื่อข่ายของอดีตพรรคร่วมรัฐบาลไปทำการแทน
ทั้งทีมกุนซือฝ่ายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่างเดินทางมาถึงจุดที่อันตราย ล่อแหลม ต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่มีใครคาดคิดได้ ว่าหากฝ่ายนายสุเทพชนะ การจัดการโครงสร้างอำนาจทั้งหมดจะเป็นอย่างไร และหากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณชนะ การกำหนดเกมระยะต่อไปจะเป็นเช่นไร
ฝ่ายของนายสุเทพมีคำตอบไม่ยาวนัก แต่มีนัยคือ จะมีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีชั่วคราว ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ 8-15 เดือน
ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ ร่วมกันให้คำตอบผ่านกุนซือ คือ จะเป็นรัฐบาลแห่งการปฏิรูป ไม่มีการพิจารณาโครงการลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น และจะพยายามทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาตั้ง “สภาประชาชน” ตามข้อเสนอของ 19 องค์กร เพื่อสรุปแนวทางการปฏิรูปประเทศภายใน 12 เดือน
โดย 19 องค์กรดังล่าวประกอบด้วย 1. ตัวแทน 7 องค์กรภาคเอกชน 2. สมัชชาปฏิรูป 3. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 4. คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 5. มูลนิธิการส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย 6. สถาบันพระปกเกล้า 7. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล 8. มวลมหาประชาคุย 9. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 10. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 11. ขบวนองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป 12. มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค 13. มูลนิธิชีววิถี 14. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม 15. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 16. เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง 17. สสส. และ 18. Center for Humanitarian Dialogue 19. กลุ่ม 2 เอา 2 ไม่เอา
วันที่ 13 มกราคม 2557 เป็นต้นไป “คำตอบ” จากทั้ง 2 ขั้วการเมืองจะชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เมื่อ “คำถาม” จากทุกขั้วการเมือง ทุกฝ่ายที่ไม่สังกัดกลุ่มอำนาจการเมือง ดังขึ้น สว่างขึ้น ชัดเจนขึ้น จากทั่วทุกสารทิศ