ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “โฆษกแจง ‘ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว’ ไม่ได้หมายถึงเรื่องกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ” และ “สหรัฐฯ ห้ามหน่วยงานรัฐทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีจีน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “โฆษกแจง ‘ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว’ ไม่ได้หมายถึงเรื่องกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ” และ “สหรัฐฯ ห้ามหน่วยงานรัฐทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีจีน”

10 สิงหาคม 2019


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 ส.ค. 2562

  • โฆษกแจง ถ้อยคำนายกฯ “ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ไม่ได้หมายถึงเรื่องกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ
  • ศักดิ์สยามแจง ยังไม่อนุมัติขึ้นค่าแท็กซี่ แค่รับไว้พิจารณา คาดทราบผลในหนึ่งเดือน
  • สุเทพยัน ไม่เกี่ยวโรงพักไม่เสร็จ
  • บอร์ดค่าจ้างเร่งเคาะตัวเลขปรับค่าจ้างขั้นต่ำภายใน 2 เดือน
  • สหรัฐฯ ห้ามหน่วยงานรัฐทำธุรกิจกับหลายบริษัทเทคโนโลยีในจีน
  • โฆษกรัฐบาลแจง ถ้อยคำนายกฯ “ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ไม่ได้หมายถึงเรื่องกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ

    ที่มาวิดีโอ: ยูทูบ ThaiPBS

    จากกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท (เข้าเฝ้าฯ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทำการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ (ถวายสัตย์) แต่ พล.อ. ประยุทธ์ กลับกล่าวถ้อยคำที่ใช้ในการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน กล่าวคือ

    ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 มาตรา 61 ได้กำหนดไว้ว่า “ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรี ‘ต้อง’ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

    “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

    แต่ในการเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ฯ พล.อ. ประยุทธ์ กลับกล่าวถวายสัตย์ฯ ถึงเพียงวรรคที่ว่า “เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน” โดยไม่ได้กล่าวถ้อยคำในวรรคสุดท้ายที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” แต่อย่างใด

    กรณีดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายออกมาออกมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และบางกรณีก็มีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการวินิฉัย เช่น กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญให่้ตรวจสอบในกรณีดังกล่าว บ้างก็เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง ไปจนถึงกระทั่งเสนอให้ขอพระราชทานอภัยโทษ

    ขณะที่ทางฝั่งของรัฐบาลนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรกติแล้วสามารถให้คำตอบแค่ข้อกังขาต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายที่เชื่อมโยงไปถึงความเหมาะสมได้ทุกประเด็น เมื่อได้รับคำถามในประเด็นนี้หนักเข้าก็ยังไม่ขอตอบเรื่องนี้ ทั้งยังทิ้งท้ายว่า “แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมไม่ควรพูด”

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงที่มาภาพ: วันที่ 8 สิงหาคม 2562 https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/3404

    ท่ามกลางเสียงกดดันจากทุกฝ่าย วันที่ 8 ส.ค. 2562 พล.อ. ประยุทธ์ ที่เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูง ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ก็ได้กล่าวในช่วงหนึ่งว่า

    “เรื่องแรกที่เป็นประเด็นสำคัญ ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวเรื่องประเด็นรัฐธรรมนูญ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียวว่าทำอย่างไรจะทำงานได้ ก็ขอให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป เพราะอย่างไรก็ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญดูว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร แต่ยังคงมีรัฐบาลอยู่”

    ถ้อยคำดังกล่าว ทำให้เกิดการตีความกันไปว่า นายกฯ กล่าวถึงเรื่องการกล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน และคาดเดาไปต่างๆ นานาว่า “ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ที่ว่านั้นหมายถึงนายกฯ จะทำอะไร

    อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกัน ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงถ้อยคำดังกล่าวของนายกฯ ว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้หมายถึงประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ พร้อมทั้งยืนยันว่านายกฯ จะไม่ลาออก

    ศักดิ์สยามแจง ยังไม่อนุมัติขึ้นค่าแท็กซี่ แค่รับไว้พิจารณา คาดทราบผลในหนึ่งเดือน

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (ขวา) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ(ซ้าย)

    จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้หารือกับกลุ่มแท็กซี่แล้วได้ข้อสรุปเป็นการอนุมัติให้ขึ้นค่าโดยสารทุกระยะในอัตราต่างๆ ดังนี้

    มิเตอร์จะเริ่มต้นที่ 35 บาทเท่าเดิม

  • ระยะทาง 1 กม.แรก-10 กม.เดิม 5.50 บาท/กม. ปรับเป็น 6.50 บาท/กม. (เพิ่มขึ้น 1 บาท)
  • ระยะทาง 10 กม.-20 กม. ดิม 6.50 บาท/กม. ปรับเป็น 7 บาท/กม. (เพิ่มขึ้น 50 สตางค์)
  • ระยะทาง 20-40 กม.เดิม 7.50 บาท/กม. ปรับเป็น 8 บาท/กม. (เพิ่มขึ้น 50 สตางค์)
  • ระยะทาง 40-60 กม. เดิม 8 บาท/กม. ปรับเป็น 8.50 บาท/กม. (เพิ่มขึ้น 50 สตางค์)
  • ระยะทาง 60-80 กม. ยังคงราคาเดิมที่ 9 บาท/กม.
  • ระยะทางจาก 80 กม. เป็นต้นไป คงคิดอัตราค่าโดยสารเดิมที่ 10.50 บาท/กม.
  • ค่าบริการในเวลารถติด (รถวิ่งได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 6 กม./ชม.) ปรับเพิ่มจากนาทีละ 2 บาท เป็น 3 บาท
  • นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ออกมาปฏิเสธในเวลาต่อมาว่า ขณะนี้ยังไม่ได้อนุมัติให้แท็กซี่ปรับขึ้นราคา เป็นการรับข้อเสนอของแท็กซี่มาพิจารณาเท่านั้น โดยมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปพิจารณาความเหมาะสมรายละเอียดข้อเสนอว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งคาดว่าภายใน 1 เดือนจะทราบผลว่าจะอนุมัติมให้ปรับขึ้นราคาตามข้อเสนอหรือไม่

    สุเทพยัน ไม่เกี่ยวโรงพักไม่เสร็จ

    ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/suthep.fb/photos/

    วันที่ 8 ส.ค. 2562 เว็บไซต์เนชั่นรายงานว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณี ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แถลงมีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดนายสุเทพ กรณีอนุมัติโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือโรงพักทดแทน 396 แห่งว่า หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งข้อกล่าวหาแล้วได้ไปชี้แจงหลายครั้งหลายหนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในที่สุด ป.ป.ช.ก็ได้สรุปและมีมติชี้มูล ทำให้ได้มีโอกาสไปพิสูจน์ความจริงในศาล เรื่องราวจะได้จบ เพราะว่าเสียหายและเสียชื่อเสียงมาเยอะแล้ว ในฐานะคนที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เรื่องที่เกิดขึ้นขอเรียนกับประชาชนว่า กรณีไม่มีความซับซ้อนอะไรเลย แต่เดิม ป.ป.ช.พยายามกล่าวหาว่าตนกระทำผิดมติ ครม. แต่ในที่สุดก็ไม่มีความผิด เพราะว่ามติ ครม.เกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีอยู่จริง

    “เพราะฉะนั้นฟังจากการแถลงของ ป.ป.ช.เมื่อวานนี้ กลายเป็นว่าผมเสนอเรื่องขออนุมัติ ครม. (คณะรัฐมนตรี) เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดซื้อจัดจ้างใหม่ กลับไม่เสนอขอมติที่ประชุม ครม.อีกครั้ง คล้ายกับว่าผมใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีดังกล่าว จะทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเห็นว่าอาจจะผิดจากข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงคือว่า ครม.มีมติครั้งเดียวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ให้สร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ในวงเงิน 6,000 ล้านบาท

    โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ แล้วก็ผูกพันงบประมาณเป็นเวลา 5 ปี ซึ่ง ครม.อนุมัติเพียงครั้งเดียว เรียกว่า ครม.อนุมัติโดยหลักการ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่อำนาจของ ครม.ในการอนุมัติ ไม่มีการอนุมัติในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใด ที่จะต้องไปขออนุมัติจากมติ ครม. เพราะมีกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างว่าด้วยระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่แล้วว่าเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงาน คืออธิบดี หรือถ้าเกินอำนาจของอธิบดี ก็เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงนั้น”

    นายสุเทพกล่าวต่อว่า ดังนั้นที่กล่าวหาว่าเสนอ ครม.ครั้งหนึ่งแล้ว แต่พอจะเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างกลับไม่เสนอขอมติ ครม.นั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปพิสูจน์ให้ศาลได้เห็น และขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจ เพราะทั้งหมดนี้ที่ ป.ป.ช.กล่าวหาตนเอง ไม่เกี่ยวกับการทุจริตเลย เป็นเพียงประเด็นว่าใช้อำนาจหน้าที่ชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น เรื่องการทุจริตนั้นเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.แจ้งมติชี้มูล ตำรวจ ข้าราชการ หรือพ่อค้าคนอื่นในวันเดียวกัน ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าไปสมคบทุจริตกับเขาด้วย ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่อยากจะชี้ให้ประชาชนได้เห็นก็คือว่า กรณีนี้มีการประมูลกันโดยวิธีอี-อ็อกชั่น (e-Auction) ก็มีผู้เข้าประมูลหลายรายและแข่งขันกัน 70 กว่าครั้งในการประกวดราคา ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดนั้น ได้เสนอต่ำกว่าราคากลางประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริง

    “การก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จ ไม่ได้เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งการของผม เกี่ยวกับการบริหารสัญญาคือการกำกับควบคุมดูแลการก่อสร้าง น่าสังเกตว่าระหว่างการก่อสร้างกว่าจะทำสัญญาได้ก็นาน และเวลาก่อสร้างมีการขยายสัญญาให้หลายครั้ง โดยผู้บัญชาการตำรวจหลายคน ซึ่งผมจะไม่พูดว่าใครถูกใครผิดอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องไปพิสูจน์ความจริงกันในศาล ด้วยพยานหลักฐานที่มี” นายสุเทพชี้แจง

    บอร์ดค่าจ้างเร่งเคาะตัวเลขปรับค่าจ้างขั้นต่ำภายใน 2 เดือน

    เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน วันที่ 9 ส.ค. 2562 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวหลังประชุมบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้ดูสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน ในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีข้อมูลจากทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายตัวแทนรัฐจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน ที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ส่วนจะปรับขึ้น หรือไม่ปรับ จะปรับแค่ไหน ได้มีการตกลงเป็นมติว่าจะต้องทำอย่างรอบคอบที่สุด ต้องมีตัวเลขที่เหมาะสม และไม่กระทบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยจะใช้สูตรการคำนวณที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัดในเชิงคุณภาพ

    “จะมีการพิจารณาทั้งจากตัวเลขเดิมที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลข 2-10 บาท ส่วนตัวเลขที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล เคยเสนอไว้ที่ 425 บาท ก็มีการนำมาคุยกัน แต่ทุกอย่างขึ้นกับบอร์ดไตรภาคี จะมีการประชุมทุกเดือน และจะให้มีมติออกมาเร็วที่สุดไม่ให้ยืดยาวออกไปอีก คาดว่าภายใน 1-2 เดือน น่าจะมีการนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาเพื่อเคาะตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำได้ โดยจะให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด” นายสุทธิกล่าว

    สหรัฐฯ ห้ามหน่วยงานรัฐทำธุรกิจกับหลายบริษัทเทคโนโลยีในจีน

    เว็บไซต์เนชั่นรายงานว่า สำนักงบประมาณและการจัดการของทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามหน่วยงานของรัฐ ทำธุรกิจกับหัวเหว่ยและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ของจีน โดยอ้างความวิตกด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

    บริษัทเทคโนโลยีที่ตกเป็นเป้าหมายของสำนักงบประมาณและการจัดการของทำเนียบขาว นอกจากหัวเหว่ยแล้ว ยังมี ZTE, ไฮเทรา, ฮิควิชั่น และต้าหัว โดยอ้างความวิตกว่า บริษัทเหล่านี้ อาจเอาความลับทางการค้าและข้อมูลอื่นๆ ไปเผยต่อรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นการขานรับประกาศของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันพุธ (7 ส.ค. 2562) ที่ห้ามหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ซื้อเครื่องมือโทรคมนาคมสื่อสาร กล้องวงจรปิด ผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีอื่นๆ และบริการจากบริษัทจีน เช่น หัวเหว่ย เทคโนโลยีส์ กับคู่แข่งคือ ZTE,  ผู้ให้บริการระบบวิทยุสื่อสาร ไฮเทรา, ผู้ผลิตกล้อง หังโจว ฮิควิชั่น ดิจิตัล เทคโนโลยี และผู้ผลิตกล้องบันทึกวิดีโอวงจรปิด ต้าหัว เทคโนโลยี  การประกาศนี้เป็นไปตามกฎหมายที่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสส์ โดยจะมีผลบังคับในวันที่ 13 สิงหาคม กฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดเส้นตายในเดือนสิงหาคม ปี 2563 ให้ผู้รับช่วงสัญญาของรัฐบาลกลาง ทำธุรกิจกับหัวเหว่ยด้วย