ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 4 ปีมอนทารา และข้อเท็จจริงในสื่อต่างประเทศ

4 ปีมอนทารา และข้อเท็จจริงในสื่อต่างประเทศ

16 กันยายน 2013


หลายๆ คนคงลืม เหตุการณ์น้ำมันรั่วนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลียที่มอนทารา ไปแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งจะครบรอบ 4 ปี ไปเมื่อไม่นานมานี้ นายธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) ได้กล่าวในงานเวทีสาธารณะ “คำถามที่ ปตท. ต้องตอบก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน” นายธาราได้นำเสนอเรื่องราวและข้อเท็จจริงที่เป็นผลงานระดับโลกของบริษัท ปตท.สผ. ออสตราเลเซีย (PTTEPAA) บริษัทลูกของ ปตท.สผ ในประเทศออสเตรเลีย โดยดูเหมือนทุกวันนี้เรื่องราวจะเงียบหายไปนานแล้ว และข้อเท็จจริงทั้งหมดกลับปรากฏในสื่อน้อยไทยน้อยมาก

น้ำมันรั่ว มอนทารา

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 เกิดเหตุการณ์การระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันมอนทารา นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือประเทศออสเตรเลียออกไป 250 กม. ในเขตน่านน้ำของเครือจักรภพออสเตรเลีย โดยเจ้าของแท่นขุดเจาะดังกล่าวเป็นของบริษัท ปตท.สผ. ออสตราเลเซีย (PTTEPAA) บริษัทลูกของ ปตท.สผ. ที่ไปดำเนินงานในต่างประเทศ เป็นเหตุให้มีน้ำมันดิบและก๊าซรั่วไหลออกมาในทะเลเป็นจำนวนมาก โดยร้อยละ 70 ของการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท (Condensate) ของประเทศออสเตรเลียมาจากเขตมหาสมุทรแถบนี้ทั้งหมดซึ่งยังเป็นเขตทะเลที่ยังอุดมสมบูรณ์

มอนทารา-1

มอนทารา

บริษัท PTTEPAA ได้ส่งผ่านบทบาทการทำความสะอาดคราบน้ำมันให้หน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลีย (the Australian Maritime Safety Authority: AMSA) จัดการตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ ด้วยวิธีการล้อมคราบน้ำมันและดูดกลับรวมถึงฉีดสารเคมี (ยกเว้นการเผาที่ไม่ได้ทำ) โดยใช้เวลาในการระงับเหตุทั้งหมด 74 วัน มีน้ำมันดิบรั่วไหลออกมาเฉลี่ยวันละประมาณ 400 บาร์เรลต่อวัน รวมแล้วประมาณ 4 ล้านลิตร คราบน้ำมันที่แพร่กระจายไปในทะเลกินพื้นที่ถึง 90,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของอ่าวไทย นับว่าเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งที่เลวร้ายที่สุดของประเทศออสเตรเลีย

ภาพ13ภาพ14

รายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง (The Montara Inquiry Commission’s Report) ได้นำเสนอต่อสาธารณะในเดือนพฤศจิกายน 2553 ซึ่งในรายงานระบุว่า “การที่บริษัท PTTEP ติดตั้งแนวกั้นในบ่อน้ำมันเพื่อป้องกันการรั่วไหลเพิ่มเติมนั้นดำเนินการอย่างไม่เพียงพอ และยังไม่ได้ติดตั้งแนวกั้นอันที่สองที่จำเป็นต้องทำอีกด้วย” นอกจากนี้รัฐมนตรีคนหนึ่งของออสเตรเลียที่เกี่ยวข้องยังออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “หาก PTTEP ซึ่งดำเนินการแทนขุดเจาะมอนทาราและรัฐบาลท้องถิ่นนอร์ทเทอร์นเทอริทอรี (Northern Territory) ทำงานของตนอย่างเหมาะสม การระเบิดและรั่วไหลของน้ำมันออกสู่ทะเลติมอร์อย่างมหาศาลนี้จะไม่เกิดขึ้น”

สำหรับค่าเสียหายที่ PTTEP ต้องรับผิดชอบนั้น จนถึงตอนนี้บริษัทได้มีการชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วกว่า 9.7 พันล้านบาท (ไม่รวมที่สามารถเคลมประกันได้) ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงรายละเอียดของกฎหมายว่าด้วยการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เนื่องจากอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายอันเกิดจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1969 (CLC) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1971 จะชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากน้ำมันรั่วจากเรือบรรทุกน้ำมันเท่านั้น ไม่รวมถึงการรั่วไหลจากแท่นขุดเจาะ ซึ่งกรณีดังกล่าว AMSA ที่ได้เข้ามาจัดการกับคราบน้ำมันไม่สามารถเบิกจ่ายค่าเสียหายจากกองทุนอนุสัญญาระหว่างประเทศได้ แต่อย่างไรก็ดี PTTEP ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระนี้อยู่ดี

กรณีประเทศอินโดนีเซียและติมอร์ตะวันออกที่อาจจะได้รับผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อยนั้น ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับ PTTEP ได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากประเทศทั้งสองไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจะเอาผิดได้ ประกอบกับแผนที่กระแสน้ำทางทะเลที่ PTTEP นำมาใช้อ้างอิงถึงทิศทางของกระแสน้ำในเขตมหาสมุทรบริเวณนั้นที่ไม่พัดเข้าไปในเขตน่านน้ำของทั้งสองประเทศ จนเมื่อเหตุการณ์ผ่านมา 4 ปีแล้วก็ดูเหมือนเรื่องนี้จะลอยนวลไปอย่างเงียบๆ

ภาพที่23

โดยนับตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์ที่มอนทารา PTTEP ก็ยังคงได้รับการอนุญาตและมีบทบาทในการลงทุนทำธุรกิจดำเนินการสำรวจและขุดเจาะก๊าซและน้ำมันต่อไป รวมถึงการเจาะหลุมใหม่เพิ่มในทะเลติมอร์คือแหล่ง Cash and Maple gas fields สำหรับโครงการ LNG มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโกของบริษัท BP ในปี 2553 ซึ่งมีขนาดของความเสียหายมากกว่าเหตุการณ์ที่มอนทารามาก นำไปสู่ข้อถกเถียงในระดับโลก เนื่องจากกิจการปิโตรเลียมเป็นอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงควรมีโครงสร้างการกำกับดูแลในทางสากล แม้ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ดีและโครงสร้างระดับชาติเกี่ยวกับการเดินเรือสากลและการประมงโลกจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่มีข้อตกลงสากลที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมเลย แม้จะมีหน่วยงานของสหประชาชาติที่ดูจะใกล้เคียงในการจัดการกับเรื่องนี้ที่สุดคือ the International Maritime Organization (IMO) แต่ข้อกำหนดของหน่วยงานดังกล่าวก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งอยู่ดี ถ้าจะย้อนกลับไปในปี 1977 the Comite Maritime International (CMI) ได้ริเริ่มให้มีการร่างอนุสัญญา อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้ทำการเจรจาหว่านล้อมเพื่อต่อต้านการร่างอนุสัญญาและการทำงานเพื่อร่างอนุสัญญาก็สิ้นสุดลง

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นคงจะเป็นอุทาหรณ์ให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างกลไกความร่วมมือในการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้และสามารถเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้ โดยเพียงไม่กี่ปีหลักจากเกิดเหตุที่มอนทารา บริษัท PTTGC ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือของ ปตท. อีกแห่งหนึ่งก็ได้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีกในประเทศไทยเพียงแต่ไม่รุนแรงเท่า แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนกันคือความผิดพลาดที่มาจากความประมาทและอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงกฎหมายข้อบังคับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่ดูเหมือนจะไม่สามารถเอาผิดบริษัทน้ำมันได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

อ่านเพิ่มเติม