ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สรรพากรถกเครียด วางระบบสกัดใบเสร็จรับเงินบริจาคปลอม เตรียมบี้มูลนิธิ-สมาคมกว่า 14,000 ราย หนีภาษี

สรรพากรถกเครียด วางระบบสกัดใบเสร็จรับเงินบริจาคปลอม เตรียมบี้มูลนิธิ-สมาคมกว่า 14,000 ราย หนีภาษี

12 มีนาคม 2013


ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดเคยเก็บสถิติว่า แต่ละปีมีคนไทยบริจาคเงินทำบุญทำกุศลกันปีละกี่แสนล้านบาท ซึ่งในตอนที่แล้ว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากรมาวิเคราะห์ พบว่า ในปี 2551 มีผู้เสียภาษีนำใบเสร็จรับเงิน-ใบอนุโมทนาบัตรมาหักลดหย่อนภาษีกับกรมสรรพากร คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ส่วนการทำบุญโดยจิตศรัทธา ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ แต่ละปีมีมูลค่าเท่าไหร่ ก็ยังคงไว้เป็นปริศนาต่อไป เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจ

การใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี1

หากมองแบบผิวเผิน รัฐบาลยอมสูญเสียรายได้ 9,712 ล้านบาท แต่สามารถกระตุ้นให้คนไทยบริจาคเงินเพื่อการกุศลเป็นวงเงินกว่า 5.5 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก แต่เมื่อมีการขยายผลการทำข่าวเจาะลึกลงไป พบว่าในทางปฏิบัติมีปัญหามากมาย และที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ กรมสรรพกรไม่มีฐานข้อมูลที่จะในการตรวจสอบยันกลับไปยังมูลนิธิ สมาคม วัด องค์กรการกุศล โรงเรียน สถานพยาบาล ที่ทำหน้าที่ออกใบเสร็จรับเงิน

ใบเสร็จรับเงิน-ใบอนุโมทนาบัตรมูลค่า 5.5 ล้านบาท จริงๆ แล้วมีใบเสร็จปลอมปะปนอยู่เท่าไหร่ ยอดเงินที่ปรากฏบนใบเสร็จตรงกับยอดเงินที่รับบริจาคจริงหรือไม่ และองค์กรการกุศลนำเงินบริจาคไปใช้จ่ายในกิจกรรมการกุศลเป็นวงเงินเท่าไหร่กันแน่ กรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ หากไม่ดำเนินการแก้ไขและอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น เกรงว่าอาจจะมีผลกระทบต่อความยั่งยืนในจัดเก็บภาษีในระยะยาว

นางจิตรมณี สุวรรณพูล ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ที่มา : http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/rdchannel/Activity/47557.html
นางจิตรมณี สุวรรณพูล ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี
ที่มา: http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/rdchannel/Activity/47557.html

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 กรมสรรพากรได้จัดให้มีการประชุม “คณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางมาตรฐานในการกำกับดูแลการเสียภาษีกลุ่มมูลนิธิ สมาคม และองค์กรสาธารณกุศล” ซึ่งมี นางจิตรมณี สุวรรณพูล ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี เป็นประธานคณะทำงานชุดนี้ ทำหน้าที่กำหนดแนวทางการกำกับดูแลการเสียภาษีกลุ่มมูลนิธิ สมาคม และองค์กรสาธารณกุศลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การประชุมครั้งนี้เน้นไปที่กลุ่มของมูลนิธิและสมาคมเป็นกลุ่มแรก เพราะอยู่ภายใต้ขอบเขตของประมวลรัษฎากร

จำนวนมูลนิธิ1

จากข้อมูลของสมาคมสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.ม.ท.) ระบุว่า ทั่วประเทศมีมูลนิธิและสมาคมทั้งหมด 25,863 ราย กรมสรรพากรจำแนกประเภทมูลนิธิและสมาคมออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มมูลนิธิและสมาคมทั่วไป จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย มีจำนวน 25,048 ราย กลุ่มนี้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ยื่น ภ.ง.ด. 55) เหมือนบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลทั่วไป

2. กลุ่มมูลนิธิและสมาคมที่ได้ยกเว้นภาษี ตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับที่ 2 มีจำนวน 815 ราย กลุ่มนี้ไม่ต้องยื่นภาษี แต่มีหน้าที่ต้องจัดส่งรายงานการประชุมใหญ่ งบดุล บัญชีรายรับ-รายจ่าย และรายงานผลการดำเนินงานให้กรมสรรพากรตรวจสอบภายใน 150 วัน

หากนำข้อมูลสมาคมสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทยมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากร พบว่า กลุ่มมูลนิธิ สมาคมทั่วไปทั้งหมด 25,048 ราย เสียภาษีกับกรมสรรพากรแล้วมีจำนวน 10,261 ราย ส่วนที่เหลืออีก 14,787 ราย ไม่ยื่นภาษี คิดเป็นสัดส่วน 57.17% กลุ่มนี้กรมสรรพากรต้องออกจดหมายเชิญให้มายื่นแบบแสดงรายการภาษี

การเสียภาษีมูลนิธิ1

จากการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษี กลุ่มมูลนิธิและสมาคมทั่วไปที่เสียภาษีกับกรมสรรพากรแล้ว โดยดูย้อนหลัง 3 ปี (2552-2554) พบว่ากลุ่มนี้ยังชำระภาษีไม่ถูกต้อง เช่น ในปี 2554 มูลนิธิและสมาคมทั่วไปจำนวน 10,261 ราย มีรายได้รวม 14,313 ล้านบาท ต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร 487.5 ล้านบาท แต่มาชำระภาษีแค่ 193.1 ล้านบาท ยังค้างภาษีประมาณ 294.4 ล้านบาท

ที่ผ่านมา กรมสรรพากรพยายามเร่งรัดให้กลุ่มนี้เข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยการออกจดหมายเชิญรายที่ยังเสียภาษีไม่ครบเข้ามายื่นภาษีเพิ่มเติม ปี 2554 มีมูลนิธิและสมาคมเข้าเสียภาษีเพิ่มเติมจำนวน 636 ราย สามารถจัดเก็บภาษีได้ 1.3 แสนบาท

สุดท้ายเป็นกลุ่มมูลนิธิสมาคมที่ได้รับการยกเว้นภาษี ตามประกาศระทรวงการคลัง ฉบับที่ 2 กลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษี แต่มีหน้าที่ส่งรายงานการประชุมใหญ่ งบดุล บัญชีรายได้-รายจ่าย และรายงานผลการดำเนินงานส่งให้กรมสรรพากรภายใน 150 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบว่า มูลนิธิและสมาคมที่ได้รับยกเว้นภาษีเหล่านั้นนำเงินบริจาคไปใช้จ่ายในกิจกรรมการกุศลไม่น้อยกว่า 60% ของรายได้จากการรับบริจาคตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับที่ 531 หรือไม่

มูลนิธิยกเว้นภาษี1

แต่จากการตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ในปี 2553 มีมูลนิธิและสมาคมที่ได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมด 742 ราย ส่งงบดุล บัญชีรายได้-รายจ่าย และผลการดำเนินงาน ให้กรมสรรพากรตรวจสอบภายใน 150 วัน แค่ 163 ราย ปี 2554 มูลนิธิและสมาคมกลุ่มนี้มีจำนวน 762 ราย จัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมสรรพากรตามกำหนดเวลา 187 ราย และปี 2555 มีจำนวน 815 ราย ล่าสุดเพิ่งส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรเพียง 9 ราย

ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังทยอยออกจดหมายเร่งรัดมูลนิธิและสมาคมกลุ่มนี้ ให้จัดส่งข้อมูลดังกล่าวนี้มาให้กรมสรรพากรตรวจสอบภายใน 150 วัน หากไม่ดำเนินการจะนำรายชื่อส่งให้กระทรวงการคลังเพิกถอนสิทธิ ส่วนกรณีมูลนิธิและสมาคมที่ส่งข้อมูลมาให้กรมสรรพากรแล้ว แต่ไม่สามารถนำเงินบริจาคไปใช้จ่ายในกิจกรรมสาธารณกุศลได้ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ก็จะถูกเพิกถอนรายชื่อออกจากประกาศกระทรวงการคลังฉบับที่ 2 เช่นกัน