ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สรรพากรมึน มูลนิธิ-สมาคม กว่า 600 แห่ง ไม่ส่งงบการเงิน อธิบดีขู่เพิกถอนสิทธิหักภาษี

สรรพากรมึน มูลนิธิ-สมาคม กว่า 600 แห่ง ไม่ส่งงบการเงิน อธิบดีขู่เพิกถอนสิทธิหักภาษี

20 กุมภาพันธ์ 2013


พฤติกรรมในการทำบุญทำทานของคนไทยปัจจุบันแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก ทำบุญโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ กับกลุ่มที่ 2 ทำบุญเพื่อหวังผลตอนแทน พฤติกรรมการทำบุญแบบกลุ่มหลังนี้มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ ทำบุญเพราะหวังว่าผลบุญจะช่วยเกื้อหนุนให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น, ทำบุญเพื่อหวังจะได้รับวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง หรือทำบุญเพื่อเสริมดวงชะตา สะเดาเคราะห์ แก้กรรม และทำบุญ เพื่อให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนใจบุญ คนกลุ่มนี้นิยมทำบุญกับวัดวาอาราม มูลนิธิ โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง และทำบุญแล้วต้องมีภาพข่าวลงตามหน้าหนังสือพิมพ์

ที่มา : http://www.phra-d.com/webboard/index.php?topic=3.0
ที่มา: http://www.phra-d.com/webboard/index.php?topic=3.0

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาทำบุญ บริจาคเงิน ช่วยเหลือสังคมกันมากขึ้น ปี 2535 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย จึงประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 2 ยกเว้นภาษีเงินได้ทุกประเภทและภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรการกุศล มูลนิธิ สถานพยาบาล สถานศึกษาที่ผ่านการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง โดยผู้บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลเหล่านี้ได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษีได้

ที่ผ่านมา มาตรการนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้รับการตอบรับจากผู้มีจิตศรัทธาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มของ “เศรษฐีใจบุญที่มีเงินได้สุทธิเกิน 20 ล้านบาท จ่ายเงินทำบุญเฉลี่ยคนละ 756,000 บาท”ขณะที่คนกลุ่มนี้บริจาคเงินสนับสนุนการศึกษา 380,908 บาท ทั้งๆ ที่กรมสรรพากรให้สิทธิลดหย่อนภาษีมากถึง 2 เท่าตัว แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังนิยมบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลเหมือนเดิม

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้การบริจาคเงินสนับสนุนสถานศึกษาไม่ค่อยได้รับความนิยม เนื่องจากกรมสรรพากรไปกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดเอาไว้อย่างเข้มงวด มากกว่ากรณีการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลทั่วไป ในมุมมองของผู้เสียภาษี อาจจะมองว่าเป็นปัญหาอุปสรรค แต่สำหรับคนที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี ถือว่าเป็นการวางระเบียบที่ค่อนข้างรัดกุม โดยผู้ที่บริจาคเงินให้กับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา (กรณีมีใบเสร็จรับเงินบริจาค) สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายเงินได้ในรายงานประจำปีของสถานศึกษา

ขณะที่องค์กรการกุศลทั่วไปยังขาดระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างกรณีของวัด ถือเป็นองค์กรการกุศลประเภทหนึ่งที่ได้รับยกเว้นภาษี ไม่ต้องส่งงบดุล และรายงานบัญชีรายได้-รายจ่ายให้กับกรมกรมสรรพากร ดังนั้น กรมสรรพากรจึงไม่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินบริจาคของวัด และที่สำคัญ ไม่มีฐานข้อมูลที่ใช้ตรวจสอบใบอนุโมทนาบัตรหรือใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยวัด

และเนื่องจากวัดทุกศาสนาทั่วประเทศมีเกือบ 1 แสนแห่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ การตรวจสอบต้องใช้วิธีสุ่มตรวจโดยการโทรศัพท์หรือทำหนังสือไปสอบถามพระ เพราะวัดไม่ได้อยู่ในฐานภาษี แต่สามารถออกใบเสร็จรับเงินบริจาคให้คนที่อยู่ในระบบนำไปหักลดหย่อนภาษีได้

การตรวจสอบข้อมูลใบอนุโมทนาบัตรที่ผู้เสียภาษีนำมาหักลดหย่อนต้องเชื่อใจพระ เพราะผู้ทรงศีลย่อมไม่โกหก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการทุจริตหรือปลอมแปลงใบอนุโมทนาบัตร เพราะการตรวจสอบทำได้ไม่ทั่วถึง อย่างเช่น “กรณีอาจารย์สักยันต์ชื่อดัง ถูกกล่าวหาว่าใช้ใบอนุโมทนาบัตรปลอมมาหักลดหย่อนภาษีมูลค่า 37.9 ล้านบาท “ กรณีนี้ หากไม่ปรากฏเป็นข่าวขึ้นมา หรือไม่มีผู้ร้องเรียน กรมสรรพากรไม่มีทางทราบเรื่องได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงและยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งในเบื้องต้นคงต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนกรณีการบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลประเภทมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการยกเว้นภาษี “ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ฉบับที่ 531” กำหนดให้กรมสรรพากรเข้าไปทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของมูลนิธิหรือสมาคมแทนผู้บริจาคเงิน โดยองค์กรการกุศลกลุ่มนี้ต้องส่งงบดุล บัญชีรายได้-รายจ่าย และผลการดำเนินงานให้กรมสรรพากรตรวจสอบภายใน 150 วัน นับจากวันสิ้นรอบปีบัญชี หากไม่ดำเนินการจะถูกเพิกถอนชื่อออกจากประกาศกระทรวงการคลังฯ ฉบับที่ 2

ผลปรากฏว่า มีมูลนิธิหรือสมาคมแค่ 200 แห่ง จัดส่งรายงานผลการดำเนินงานและงบดุลให้กรมสรรพากรตรงตามกำหนดเวลา ที่เหลือกว่า 600 แห่ง ไม่ดำเนินการ ซึ่งกรมสรรพากรต้องรวบรวมรายชื่อมูลนิธิหรือสมาคมที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศกระทรวงการคลังฉบับที่ 531 ส่งให้กระทรวงการคลัง เพิกถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อมูลนิธิและสมาคมที่ได้รับยกเว้นภาษี

เหตุผลที่ประกาศกระทรวงการคลังฉบับที่ 531 กำหนดให้มูลนิธิและสมาคมต้องส่งงบดุลและผลการดำเนินงานภายใน 150 วัน ก็เพื่อให้กรมสรรพากรทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของสมาคมและมูลนิธิแทนประชาชน ซึ่งในประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 531 ข้อ 12 (2) และ (3) กำหนดให้ “มูลนิธิหรือสมาคมจะต้องนำเงินบริจาค หรือรายได้เฉพาะดอกผล ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไปใช้เพื่อการกุศลไม่น้อยกว่า 60% ของรายได้ และในแต่ละปีต้องใช้จ่ายเงินเพื่อการกุศลไม่น้อยกว่า 65% ของรายจ่ายทั้งหมด” หากมูลนิธิหรือสมาคมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจะต้องถูกเพิกถอน แต่ที่ผ่านมา กรมสรรพากรยังไม่เคยรวบรวมรายชื่อมูลนิธิหรือสมาคมส่งให้กระทรวงการคลังเพิกถอนสิทธิประโยชน์ทางภาษี

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2555 ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สรรพากรทุกพื้นที่ตรวจสอบกรณีที่มีการใช้ใบอนุโมทนาบัตรมาหักลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ วัดที่ออกใบอนุโมทนาบัตรให้กับผู้บริจาคเงินต้องเก็บต้นขั้วเอาไว้ หากไม่มีต้นขั้วใบอนุโมทนาบัตร ผู้เสียภาษีจะนำมาหักภาษีไม่ได้ สำหรับกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอาจารย์สักยันต์ชื่อดังใช้ใบอนุโมทนาบัตรปลอมมาหักลดหย่อนภาษี 37 ล้านบาท เรื่องนี้ตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ได้สั่งให้สรรพากรจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดเชียงใหม่ไปตรวจสอบแล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

“ส่วนกรณีมูลนิธิหรือสมาคมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสรรพากร หากไม่ส่งงบดุลให้กรมสรรพากรตรวจสอบการใช้จ่ายเงินบริจาคภายใน 150 วัน อาจจะถูกเพิกถอนสิทธิยกเว้นภาษี ตามประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 531” นายสาธิตกล่าว