ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เศรษฐีใจบุญ รายได้สุทธิ 20 ล้านบาท ทำบุญเฉลี่ยคนละ 756,000 บาท จ่ายภาษีลดลงเกือบ 3 แสนบาท

เศรษฐีใจบุญ รายได้สุทธิ 20 ล้านบาท ทำบุญเฉลี่ยคนละ 756,000 บาท จ่ายภาษีลดลงเกือบ 3 แสนบาท

29 มกราคม 2013


ด้วยนโยบายของรัฐที่ต้องการส่งเสริมและจูงใจให้คนทำนุบำรุงศาสนา สนับสนุนกิจกรรมสังคมอื่นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐ โดยใช้นโยบายทางด้านภาษีมาเป็นเครื่องมือจูงใจ แต่บางครั้ง นโยบายดังกล่าวก็กลับเป็นช่องโหว่ได้เช่นกัน

รายการหักลดหย่อนภาษียอดนิยมที่บรรดาเศรษฐีใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการเสียภาษีทุกปี (Tax planning) นอกจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่นำมาหักภาษีไม่เกิน 5 แสนบาทต่อรายการแล้ว การนำเงินไปบริจาคให้กับองค์การสาธารณะกุศล วัดวาอารามทุกศาสนา มูลนิธิ สมาคม ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เศรษฐีใช้ในการวางแผนภาษี ได้ทั้งบุญ ได้หน้าตาทางสังคม แถมช่วยประหยัดเงินภาษีที่ต้องชำระ

“เงินบริจาค” ที่นำมาหักลดหย่อนภาษีมีอยู่ 2 ประเภท คือ

กลุ่มแรก บริจาคเงินให้กับองค์การสาธารณกุศล

อาทิ สถานพยาบาลของรัฐ, สถานศึกษาของรัฐและเอกชน, วัดวาอารามทุกศาสนา, ห้องสมุด, พิพิธภัณฑ์, หอศิลป์, สถานพักฟื้นเด็ก คนพิการ คนชรา ส่วนมูลนิธิหรือสมาคมซึ่งมีรายชื่ออยู่ใน “ประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 2” ซึ่งมีจำนวน 813 แห่ง สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักรายการลดหย่อนภาษีตัวอื่นๆ แล้ว โดยผู้เสียภาษีต้องเก็บใบเสร็จรับเงินบริจาคไว้เป็นหลักฐาน กรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรขอตรวจสอบหลักฐานการบริจาคเงิน

ค่าลดหย่อนเงินบริจาค1

หากรวมวงเงินบริจาคที่ผู้เสียภาษีมาใช้สิทธิหักลดหย่อน นำมาหารด้วยจำนวนผู้เสียภาษีในแต่ละช่วงชั้นของเงินได้สุทธิเพื่อหาค่าเฉลี่ย พบว่า คนที่มีเงินได้สุทธิในช่วง 150,001-200,000 บาทต่อปี ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินบริจาคเฉลี่ย 6,081 บาทต่อราย ปกติคนกลุ่มนี้เสียภาษีที่อัตรา 10% ของเงินได้สุทธิ แต่ถ้านำเงินบริจาคไปหักภาษี 6,081 บาท จะช่วยประหยัดเงินค่าภาษีได้ 608 บาท

ขณะที่คนรวยที่มีรายได้เกิน 20 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินบริจาคเฉลี่ย 756,561 บาทต่อราย คนกลุ่มนี้เสียภาษีที่อัตรา 37% หากนำเงินจำนวนนี้ไปบริจาคให้กับองค์การสาธารณกุศล จะช่วยประหยัดเงินค่าภาษี 279,927 บาท

ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีแต่ละรายมีความสามารถในการบริจาคเงินได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกำลังทุนทรัพย์ แต่บางกรณีก็ใช้เป็นเครื่องมือในการลดต้นทุนการเสียภาษี

กล่าวโดยสรุป การนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีจะช่วยประหยัดเงินผู้เสียภาษีได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่ต้องชำระให้กับกรมสรรพากร ตัวอย่างเช่น คนที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 5 แสนบาท เสียภาษีที่อัตรา 10% การบริจาคเงินทุกๆ 100 บาท ช่วยประหยัดเงินค่าภาษีได้ 10 บาท ส่วนคนที่มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาทขึ้นไป ปกติเสียภาษีที่อัตรา 37% การบริจาคทุกๆ 100 บาท ประหยัดภาษี 37 บาท

แต่อย่างไรก็ตาม ในประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้เสียภาษีนำเงินบริจาคมาหักภาษีได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนและรายการยกเว้นภาษีตัวอื่นๆ แต่ไม่ได้กำหนดเพดานสูงสุดเหมือน RMF และ LTF ดังนั้น การใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินบริจาค จึงมีลักษณะปลายเปิด และสิทธิประโยชน์ทางภาษีแปรผันตามอัตราภาษีที่ต้องชำระในแต่ละช่วงชั้นของเงินได้สุทธิ

กลุ่มที่ 2 เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา

กลุ่มนี้ ตาม “พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 420 “ กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินหรืออุปกรณ์การเรียนให้กับสถานศึกษาของรัฐและเอกชนสามารถหักภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคไปจริง แต่หักภาษีได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่นๆ กรณีบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นำเงินไปบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา หักภาษีได้ 2 เท่าของที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ การนำเงินไปบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาจะต้องเป็นไปตาม “ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร “ กำหนด รายละเอียดมีดังนี้
1. ต้องเป็นสถานศึกษาของรัฐและเอกชนตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ
2. ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดหาที่ดิน จัดสร้างอาคาร จัดหาอาคารพร้อมที่ดิน ให้กับสถานศึกษา
3. จัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอนและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กรณีบริจาคคอมพิวเตอร์ ต้องเป็นอุปกรณ์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
4. เงินบริจาคในการจ้างครู อาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ทุนการศึกษา ทุนวิจัย
5. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ให้กับผู้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา

กรณีที่มีการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและบริจาคเงินทั่วไป กรมสรรพากรกำหนดให้นำเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษามาหักภาษีก่อน ส่วนที่เหลือนำเงินบริจาคทั่วไปมาหักภาษีได้อีกไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ

ค่าลดหย่อนเงินบริจาค 2

จากข้อมูลของกรมสรรพากรที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ผู้เสียภาษีนิยมบริจาคเงินให้องค์การสาธารณกุศลมากกว่าบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา อย่างเช่น กรณีผู้เสียภาษีที่มีเงินได้สุทธิ 10-20 ล้านบาท บริจาคเงินให้องค์การสาธารณกุศล มูลนิธิ สมาคม และวัด เฉลี่ย 283,946 บาทต่อราย ขณะที่การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 183,873 บาทต่อราย ส่วนผู้ที่มีเงินได้สุทธิเกิน 20 ล้านบาทขึ้นไป บริจาคเงินให้องค์การสาธารณกุศล 756,561 บาทต่อราย บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา 380,907 บาทต่อราย เป็นต้น

ถึงแม้กรมสรรพากรให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาถึง 2 เท่าของเงินบริจาคที่จ่ายไปจริง แต่คนไทยยังนิยมบริจาคเงินให้องค์การสาธารณกุศล ทั้งๆ ที่ได้สิทธิประโยชน์น้อยกว่า ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ (ติดตามตอนต่อไป)