ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอินโดนีเซีย: MP3EI กับการพัฒนาประเทศ

เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอินโดนีเซีย: MP3EI กับการพัฒนาประเทศ

11 มกราคม 2013


ประเทศอินโดนีเซีย ภาพจาก:  lonely planet
ประเทศอินโดนีเซีย ภาพจาก: lonely planet

แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อินโดนีเซียจะสามารถพิสูจน์ให้โลกเห็นถึงความสามารถในการพัฒนาประเทศ จนมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคได้

แต่จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ประกอบกับปัญหาภายในประเทศที่รุมเร้า รัฐบาลอินโดนีเซียจึงเห็นว่า สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตของอินโดนีเซียในอนาคตได้ โดยเฉพาะปัญหาด้านการผลิต ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ (เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอินโดนีเซีย: มุ่งสู่ 1 ใน 10 ของโลกก่อนปี 2025)

ในปี 2011 รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้จัดทำ “แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซีย 2011-2025” หรือที่มีชื่อย่อว่าแผน “MP3EI” ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งสร้างให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในปี 2025

โดยความเชื่อมั่นในครั้งนี้ของอินโดนีเซียไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ เนื่องจากรัฐบาลของอินโดนีเซียเห็นว่า เป้าหมายนี้จะสามารถสำเร็จได้จากปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนอินโดนีเซียให้เกิดการพัฒนา 3 ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ ปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยด้านภูมิศาสตร์

ในด้านทรัพยากรมนุษย์ ปี 2010 อินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก มีจำนวนประมาณ 240 ล้านคน ซึ่งการมีประชากรจำนวนมหาศาลในประเทศทำให้เกิดความต้องการซื้อภายในที่สูงมาก เกิดเป็นตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศ

และจำนวนประชากรที่มากนี้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นแรงงานสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ศักยภาพด้านแรงงานของอินโดนีเซียเกิดขึ้นจากการที่ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย โดยประชากรมากกว่า 50% มีอายุต่ำกว่า 29 ปี ทำให้มีการคาดการณ์ว่า จำนวนแรงงานในประเทศจะเพิ่มขึ้นทุกปีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน

ส่งผลให้อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีค่าแรงต่ำ และในช่วงปี 2020–2030 จะกลายเป็นปีที่มีจำนวนประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นสูงสุด ในช่วงนี้ อินโดนีเซียจึงมีโอกาสจากการมีแรงงานและกำลังการผลิตจำนวนมาก

MP3EI PIC_Page_3

ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล ซึ่งหากอินโดนีเซียสามารถลดการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติไปต่างประเทศ และนำวัตถุดิบเหล่านี้มาป้อนให้กับอุตสาหกรรมในประเทศได้มากขึ้น ทรัพยากรเหล่านี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้จำนวนมหาศาล

อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายในการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ที่สามารถผลิตและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้เช่นกัน

อาทิ น้ำมันปาล์ม ที่อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและผู้ส่องออกอันดับหนึ่งของโลก โกโก้และดีบุกที่เป็นผู้ผลิตเป็นอันดับสองของโลก นิกเกิลและอลูมิเนียม ที่มีมากเป็นอันดับที่ 4 และ 7 ของโลก และยังเป็นผู้นำของโลกในการผลิตเหล็ก ทองแดง และการทำประมงอีกด้วย

ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีพลังงานสำรองจำนวนมหาศาล มีตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินอันดับที่ 2 ของโลก และมีพลังงานความร้อนใต้พิภพสำรองมากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน

และปัจจัยสุดท้ายที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประเทศอินโดนีเซียได้ คือ ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ จากการที่อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนมากที่สุดในโลก ทำให้อินโดนีเซียมีพื้นที่ติดต่อกับเส้นทางเดินทะเลที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด และติดต่อกับเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าทางทะเลของในโลกได้โดยตรง

MP3EI PIC_Page_2

จากปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ ทำให้การวางแผนเศรษฐกิจ MP3EI ได้วางกลยุทธ์ให้มีการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 8 ด้าน คือ การเกษตร เหมืองแร่ พลังงาน อุตสาหกรรม ประมง ท่องเที่ยว การสื่อสาร และการพัฒนาพื้นที่สำคัญ ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด 22 อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมขนส่ง, สิ่งทอ, อาหารและเครื่องดื่ม, เหล็ก, น้ำมันปาล์ม, ยางพารา, โกโก้, ถ่านหิน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตามแผนที่วางไว้ใน 3 เรื่อง คือ 1. การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจใน 6 เขตเศรษฐกิจที่สำคัญ 2. สร้างการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ และ 3. สร้างความเข้มแข็งด้านทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

1. การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจใน 6 เขตเศรษฐกิจที่สำคัญ
เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ต่างๆ กว่า 17,500 เกาะ ทำให้แต่ละพื้นที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน โดยการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจใน 6 เขตเศรษฐกิจที่สำคัญจะเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศเกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ และกระจายความเจริญให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ

โดยการสร้างและพัฒนาให้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial Cluster) ในพื้นที่ ซึ่งมีการนำความได้เปรียบที่แต่ละพื้นที่มีหรือมีการใช้วัตถุดิบเฉพาะของพื้นที่นั้นมาเป็นตัวสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง โดยเขตเศรษฐกิจที่จะมีการพัฒนาตามแผน MP3EI คือ

เขตเศรษฐกิจสุมาตรา (Sumatra Economic Corridor) จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแหล่งสำรองพลังงานของชาติ
เขตเศรษฐกิจชวา (Java Economic Corridor) จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และการบริการของประเทศ
เขตเศรษฐกิจกาลิมันตัน (Kalimantan Economic Corridor) จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปด้านเหมืองแร่ และเป็นแหล่งพลังงานของประเทศ
เขตเศรษฐกิจสุลาเวสี (Sulawesi Economic Corridor) จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปด้านการเกษตรของประเทศ
เขตเศรษฐกิจบาหลี-นูซาเต็งการา (Bali–Nusa Tenggara Economic Corridor) จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและผลิตอาหารของประเทศ
เขตเศรษฐกิจปาปัว-หมู่เกาะโมลุกกะ (Papua – Kepulauan Maluku Economic Corridor) จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร ประมง พลังงาน และเหมืองแร่ของประเทศ

โดยจะมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุน และสร้างการเชื่อมต่อในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างถนน ท่าเรือ และสนามบิน

เนื่องจากรัฐบาลรู้ดีว่าจะไม่สามารถลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดได้เอง รัฐบาลจึงมีโครงการดึงดูดภาคธุรกิจให้เข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุน หรือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยการให้สิทธิพิเศษด้านภาษี และด้านศุลกากร เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดปัจจัยที่สนับสนุนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

MP3EI PIC_Page_1

2. สร้างการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ
อินโดนีเซียมีนโยบายที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศใน 4 ระบบ คือ ระบบโลจิสติกส์ ระบบขนส่ง ระบบการพัฒนาพื้นที่ระดับภูมิภาค และระบบ ICT

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดทะเลคิดเป็นระยะทางกว่า 54,716 กิโลเมตร ทำให้ชายฝั่งของอินโดนีเซียสามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่สำคัญทางทะเลได้โดยตรง อาทิ มหาสมุทรอินเดีย ช่องแคบมะละกา ทะเลจีนใต้ ทะเลชวา ทะเลเซเลเบส ทะเลโมลุกกะ และมหาสมุทรแปซิฟิก

อินโดนีเซียจึงมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจและเส้นทางเดินทะเลที่สำคัญลากผ่านน่านน้ำของอินโดนีเซียจำนวนมาก เช่น เส้นทางเดินเรือช่องแคบมะละกา ที่เป็นเส้นทางคมนาคมทางทะเล (Sea Lane of Communication หรือ SLOC) ที่สำคัญ หรือเส้นทางคมนาคมทางทะเลของหมู่เกาะอินโดนีเซีย (ALKI) และเส้นทางคมนาคมทางทะเลหลักของโลกที่ใช้ขนส่งสินค้า ก็ติดกับพื้นที่ชายฝั่งของอินโดนีเซียเช่นกัน

กลยุทธ์สร้างการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ จึงต้องนำทางเดินทะเลที่สำคัญคือ SLOC และ ALKI มาเป็นตัวสนับสนุน ด้วยการสร้างท่าเรือหรือสนามบินขนาดใหญ่สำหรับการขนส่งในพื้นที่ที่เส้นทางเดินทะเลเหล่านี้ลากผ่าน และพัฒนาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่ออำนวยความสะดวก ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การนำระบบหน้าต่างเดียว (National Single Window) มาใช้

สำหรับการเชื่อมต่อภายในประเทศ อินโดนีเซียจะทำการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างกันเป็นไปได้โดยง่าย ด้วยการเพิ่มท่าเรือและสนามบินในเขตเศรษฐกิจสำคัญ และมีการนำเทคโนโลยีด้าน ICT มาใช้เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถติดตามการเดินทางขนส่งได้โดยละเอียด ทำให้ระบบขนส่งมีความตรงต่อเวลา และมีค่าใช้จ่ายน้อยลง

ขณะที่การเชื่อมต่อภายในเขตเศรษฐกิจ จะต้องมีระบบที่สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักกับระบบขนส่งรองในท้องถิ่นต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีการปรับปรุงถนนหนทาง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การเชื่อมต่อภายในเขตเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

MP3EI PIC_Page_4

3. การสร้างความเข้มแข็งด้านทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
ในด้านทรัพยากรมนุษย์ การจัดการศึกษาที่ดีจะทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ในการผลิต เพื่อทำให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่ม โดยจะมีการจัดการศึกษาที่ประกอบไปด้วยหลักสูตรวิชาการ หลักสูตรวิชาชีพ และหลักสูตรวิชาชีพขั้นสูง เพื่อสร้างแรงงานในการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ และมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบวิจัยของมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการสร้างนวัตกรรมของชาติ และต้องมีการพัฒนาระบบ ICT เพื่อใช้ในการแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรร่วมกันของแต่ละสถาบัน

ขณะที่การศึกษาในสายวิชาชีพ จะมุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่และแต่ละเขตเศรษฐกิจที่บัณฑิตทำการศึกษา ผ่านวิทยาลัยชุมชนที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยรัฐบาลส่วนกลางและภาคธุรกิจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลวิทยาลัยชุมชนนี้ เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะตรงกับความต้องการของเขตเศรษฐกิจนั้นๆ ได้

และในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อินโดนีเซียมีเป้าหมายจะสร้างให้เกิดเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในวงกว้าง โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยเพิ่มขึ้นเป็น 1% ของ GDP จนถึงปี 2014 และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 3% ของ GDP ในปี 2025

โดยจะทำให้เกิดศูนย์นวัตกรรมต่างๆ ขึ้นทั่วประเทศ และเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมหันมาใช้ใช้วัตกรรมเพื่อการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม มากกว่าเน้นการใช้ทรัพยากรหรือแรงงาน และมุ่งสร้างให้เกิดแรงงานมีฝีมือที่มีการศึกษา และมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผู้จบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นอีก 7,000–10,000 คน ภายในปี 2014

เนื่องจากแผน MP3EI เชื่อว่า ในยุคเศรษฐกิจแห่งปัญญาและความรู้ (Knowledge–Based Economy) เศรษฐกิจต้องพัฒนาจากการผลิตที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดการศึกษาที่ดีให้แก่ประชากร เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย