ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2558 หากมองสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จะพบว่า ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจโดดเด่นมากที่สุดคือ “อินโดนีเซีย” โดยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขนาด 8.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
แต่อินโดนีเซียไม่ได้มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจอยู่ที่เป็นเบอร์หนึ่งใน AEC หรือในภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่ต้องการยกระดับเศรษฐกิจให้มีขนาดใหญ่ติด 1 ใน 10 ของโลกในอีก 12 ปีจากนี้ไป หรือภายในปี 2025 ซึ่งไม่ไกลเกินไป เนื่องจากปัจจุบัน อินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่ม G-20 รองจากจีน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-6 เรื่อยมา และอยู่ที่ 6.4% ในปี 2011
โดยการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ปัจจุบันอินโดนีเซียได้ยกระดับทางเศรษฐกิจมาสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมการผลิตและการให้บริการ
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีนโยบายทางการคลังที่มุ่งเน้นการลดระดับหนี้สาธารณะ ทำให้ปัจจุบันอินโดนีเซียมีระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 95% ในปี 2000 มาอยู่ที่ต่ำกว่า 25% ในปี 2011
จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ที่อินโดนีเซียสามารถผ่านมาได้โดยไม่มีปัญหา ทำให้มีการคาดการณ์จากนานาประเทศว่า ในอนาคตอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่น่าจับตามองในเรื่องความแข็งแกร่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่ใช่ว่าการมีเศรษฐกิจที่เติบโตและมีเสถียรภาพจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจสำหรับอินโดนีเซีย จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปีนั้น ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียตระหนักได้ว่า ในอนาคต เศรษฐกิจโลกจะยังคงมีความสุ่มเสี่ยง และอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อินโดนีเซียจะต้องมีการปรับปรุงประเทศอีกครั้ง โดยต้องแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ภายในประเทศเสียก่อน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัจจุบัน ปัญหาภายในที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญอยู่ เริ่มตั้งแต่การที่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังคงผลิตโดยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก มีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมเท่านั้นที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้า ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเกาะสุมาตราและเกาะชวา ที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของประเทศ ทำให้เกิดเป็นปัญหาเป็นช่องว่างระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของประเทศ
อีกปัญหาสำคัญของอินโดนีเซียคือ ความไม่พร้อมในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเชื่อมเกาะต่างๆ เข้าหากัน อันจะทำให้การเดินทางขนส่งมีต้นทุนที่ต่ำลง และทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน
ขณะที่คุณภาพแรงงานของอินโดนีเซียยังคงต้องมีการพัฒนามากขึ้น ปัจจุบันแรงงานประมาณ 50% ของทั้งหมดมีการศึกษาในระดับประถม และมีเพียง 8% เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาในระดับประกาศนียบัตร ซึ่งเป็นผลมาจาการจัดการศึกษาของประเทศ
และในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง จากที่ในปี 2010 ประชากร 53% ของประเทศอาศัยอยู่ในเขตเมือง มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้รูปแบบการบริโภคและโครงสร้างการผลิตเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการใช้ที่ดิน ประเทศจะต้องมีระบบการกระจายสินค้าและบริการที่ดีขึ้น
จากปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ในปี 2010 รัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งมี “นายซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน” เป็นประธานาธิบดี จึงได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของประเทศ เชิญข้าราชการ นักวิชาการ ผู้บริหาร และนักธุรกิจจากทุกภาคส่วน มาร่วมประชุม รับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น ก่อนที่จะแล้วเสร็จและมีการประกาศใช้ในปี 2011
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้มีชื่อว่า “แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซีย 2011-2025”(Masterplan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Development 2011- 2025) โดยมีชื่อย่อของแผนแม่บทนี้ว่า “MP3EI”
ด้วยความต้องการของอินโดนีเซียที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2025 ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น แก้ปัญหาความยากจน พัฒนาระบบการศึกษาและระบบสาธารณะสุข เพื่อสร้างชนชั้นกลางที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการซื้อ และมีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลก
แผน MP3EI นี้จึงได้กำหนดระยะเวลา 15 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2011–2025 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในปี 2025
โดยการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผน MP3EI มีหลักการที่สำคัญ 2 ส่วน คือ “เร่ง” และ “ขยาย” ผ่านองค์ประกอบที่สำคัญของแผน 3 ประการ ได้แก่
1. การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคใน 6 เขตเศรษฐกิจที่สำคัญตามเกาะต่างๆ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจสุมาตรา, เขตเศรษฐกิจชวา, เขตเศรษฐกิจกาลิมันตัน, เขตเศรษฐกิจสุลาเวสี, เขตเศรษฐกิจบาหลี และเขตเศรษฐกิจปาปัว
2. สร้างความเข้มแข็งให้กับการเชื่อมต่อภายในประเทศและต่างประเทศ
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในแต่ละเขตเศรษฐกิจ
ตามแผนการที่ประเมิน การจะที่อินโดนีเซียจะเดินทางสู่เป้าหมายในการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2025 ได้ คาดว่าจะต้องทำให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวที่ประมาณ 14,250 –15,500 เหรียญสหรัฐฯ และ GDP มีขนาด 4.0–4.5 ล้านๆ เหรียญสหรัฐฯ โดยในปี 2011–2014 เศรษฐกิจจะต้องโตไม่ต่ำกว่า 6.4-7.5% และอัตราเงินเฟ้อต้องลดลงจาก 6.5% ในปัจจุบัน เหลือ 3%ในปี 2025
แม้อินโดนีเซียจะได้ชื่อว่าเป็นดาวเด่นด้านเศรษฐกิจ และเป็นที่จับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว แต่หลังจากมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้ อินโดนีเซียได้กลายเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก และหากอินโดนีเซียสามารถทำตามแผนพัฒนาที่วางไว้สำเร็จ อินโดนีเซียจะกลายเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดให้นักลงทุนและเงินทุนวิ่งเข้าไปหามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้
ที่สำคัญกว่านั้นคือ ถ้าอินโดนีเซียประสบผลสำเร็จตามแผนพัฒนาที่วางไว้ โดยสามารถเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติด 1 ใน 10 ของโลกได้จริง แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้จะกลายเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในอนาคต
(อ่านต่อตอนที่ 2:เปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอินโดนีเซีย: MP3EI กับการพัฒนาประเทศ