ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะขบวนการทุจริตงบประมาณแบบบูรณาการ (6): จัดงบฯ กระทรวงกลาโหม “หลักการ” หรือ “ความเกรงใจ”

เจาะขบวนการทุจริตงบประมาณแบบบูรณาการ (6): จัดงบฯ กระทรวงกลาโหม “หลักการ” หรือ “ความเกรงใจ”

28 มกราคม 2013


ในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณ นอกจากประเด็นเรื่อง “ความโปร่งใส” หรือ “หมกเม็ด” แล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง “หลักการ” หรือ “ความเกรงใจ” ด้วย โดยรายงานโครงการศึกษาวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า หน่วยงานที่มี “อำนาจ” หรือเป็นที่น่า “เกรงขาม” จะได้รับโอกาสจัดสรรงบประมาณมากกว่าหน่วยงานอื่น ตัวอย่างเช่น กระทรวงกลาโหม

คณะผู้วิจัยฯ ได้ยกตัวอย่าง “กระทรวงกลาโหม” ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 เป็น 1.68 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 หรือกว่า 2 เท่า

งบประมาณกระทรวงกลาโหม 2548 - 2556

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยฯ อ้างถึง “รัชนิภา สายอุบล (2552: 236)” ซึ่งได้สัมภาษณ์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คนหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดย ส.ว. คนนี้ได้ชี้ว่า

“ปัจจุบันประเทศก็ไม่ได้จะมุ่งเน้นเรื่องการทหารหรือการป้องกันประเทศ แต่ว่าพอมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร (คมช.) กองทัพก็ได้รับจัดสรรงบประมาณให้เยอะ ก็จะทำให้ประเด็นของการที่จะจัดสรรนโยบายลงตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลตั้งไว้ก็จะต้องผิดเพี้ยน คือ เหมือนกับเทงบประมาณไปให้กับทหาร ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 3-4 ปีก่อนมีการทำรัฐประหาร กระทรวงกลาโหมมีงบประมาณประมาณ 80,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ยอดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 140,000 ล้านบาท ก็จะขัดแย้งกับที่รัฐบาลพูดว่า มุ่งเน้นด้านการศึกษา การสาธารณสุข ซึ่งต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเรานี่ยังเกรงใจทางทหารอยู่ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ต้องให้ทหารช่วยค้ำ บทบาทเขาสูงมากเลย สมัยก่อนๆ บทบาทเขาลดลงมาๆ แต่ตอน คมช. ต้องยอมรับว่ามีความเกรงใจ เพราะที่ว่าสำเร็จขึ้นมาได้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็อยู่ที่เหล่าทัพทั้งนั้น ก็เป็นการตอบแทนบุญคุณกัน มีความเกรงอกเกรงใจกัน”

นอกจากนั้น คณะผู้วิจัยฯ ได้นำเสนอเนื้อหาการอภิปรายการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นข้างต้น อาทิการอภิปรายของ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายค้าน ได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลง 10% จากทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท ซึ่ง น.อ.อนุดิษฐ์มองว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นงบประมาณที่มากเกินไปในยุคโลกาภิวัตน์ที่มุ่งเน้นการทำสงครามทางการค้ามากกว่าที่จะสะสมอาวุธ

ขณะที่การอภิปรายของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายถึงความพยายามที่จะปกปิดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ รวมทั้งการตั้งราคาอาวุธไว้สูงเกินความเป็นจริง เช่น ตั้งงบประมาณสำหรับการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน 1.9 หมื่นล้านบาท การจัดซื้อรถถัง 7,200 ล้านบาท เฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวน 1,800 ล้านบาท เป็นต้น

การออกมาอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน ทำให้สังคมทราบข้อมูลหลายอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธของกองทัพที่หลายครั้งถูกมองว่า แม้แต่องค์กรตรวจสอบอย่าง สตง. ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ดังเช่นคำอภิปรายของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ที่อ้างว่า “แม้แต่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่า สตง. ยังเคยถูกข่มขู่กลับมาหลังจากลงไปขอเอกสารเพื่อตรวจสอบการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ 16 ลำ”

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยฯ ได้ระบุถึงคำสัมภาษณ์ของอดีตผู้บริหารสำนักงบประมาณ ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับงบฯ กระทรวงกลาโหมว่า

“เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปตรวจสอบได้ แม้แต่ สตง. ก็เถอะ ดังนั้นจึงมีการทุจริตสูง ถ้ามีกระบวนการกลั่นกรองการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพที่โปร่งใสโดยเฉพาะ เราดูในแง่ของอาวุธว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ได้ดูเพื่อเปิดเผยความลับของประเทศนะ แต่ควรมีแผนป้องกันประเทศที่กำหนดไว้ชัดเจนกว่านี้ว่าจะทำอะไร ไม่ต้องบอกเราหรอกว่าจะต้องมีจำนวนอาวุธเท่าไร เพื่อให้เรารู้กรอบวงเงินคร่าวๆ ในการจัดซื้ออาวุธแล้วซอยมาเป็นงบแต่ละปี แล้วตอบคำถามให้ได้ว่าเมื่อได้มาแล้วจะมีไว้เพื่ออะไร”

สำหรับการ “จัดซื้อจัดจ้าง” กรณีการจัดซื้ออาวุธ กระสุนปืน หรืออุปกรณ์สงคราม หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคง หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันประเทศ ทางคณะผู้วิจัยฯ ระบุว่า เป็นหน้าที่ที่กระทรวงกลาโหมซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภากลาโหมไว้ในมาตรา 43 เรื่อง นโยบายการทหาร นโยบายการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม และการพิจารณางบประมาณการทหารและการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้ ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 กำหนดให้การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม ซึ่งคณะผู้วิจัยฯ ตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนสมาชิกของสภากลาโหมที่มีทั้งหมด 26 คน มีเพียง 2 คนมาจากฝ่ายการเมือง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะประธานและรองประธานสภากลาโหม ส่วนสมาชิกที่เหลือมาจากฝ่ายกองทัพซึ่งเป็นข้าราชการทหารทั้งหมด

ข้อสังเกตดังกล่าว คณะผู้วิจัยฯ ระบุว่า อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นอำนาจการต่อรองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกองทัพ เพราะโดยทั่วไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องบริหารราชการกระทรวงกลาโหมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การดำเนินการใดๆ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหมก่อน ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญนั้นคือ การพิจารณางบประมาณการทหารและแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม

ดังนั้น เมื่อสมาชิกของสภากลาโหมเกือบทั้งหมดมาจากฝ่ายกองทัพ ทำให้อำนาจการต่อรองภายในสภากลาโหมจึงตกอยู่กับฝ่ายกองทัพเป็นส่วนใหญ่ แต่หากช่วงใดที่ฝ่ายบริหารมีความเข้มเข็งมาก อำนาจการต่อรองของสภากลาโหมก็จะน้อยลงไปด้วย

คณะผู้วิจัยฯ ได้นำบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อสังเกตของอดีตผู้บริหารสำนักงบประมาณท่านหนึ่ง ดังนี้

“ตั้งแต่ปี 2544 สมัยรัฐบาลไทยรักไทย งบฯ กลาโหมลดลงมาตลอดเนื่องจากรัฐบาลชุดนั้นมองว่าการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย เช่น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พยายามจะจัดซื้อรถถังยูเครน ผมเคยเสนอไปว่า ไม่เห็นด้วยนะครับ เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผ่านมาเราใช้ของอเมริกามาโดยตลอด ถ้าเป็นของรัสเซียเราต้องเปลี่ยนใหม่อีกทั้งชุด ระบบการยิงก็ต้องเปลี่ยน และไม่มีใครเขาใช้กันแล้ว”

แต่ในทางกลับกัน คณะผู้วิจัยฯ พบว่า หลังจากเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คมช. ปรากฏว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 โดยให้อำนาจกับสภากลาโหมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา มีข่าวการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมและกองทัพมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสและความไม่ชอบมาพากลมาโดยตลอด เช่น โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 , โครงการจัดซื้อเรือเหาะตรวจสังเกตการณ์, โครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะยูเครน, โครงการจัดซื้อฝูงบินกริพเพน, โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Enstrom 480B จำนวน 16 ลำ, การอนุมัติซื้อรถหุ้มเกราะล้อยาง 121 คัน และโครงการซื้อ “เรือฟริเกต” 2 ลำ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

อาวุธกองทัพ

สรุปการทุจริตในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณ

คณะผู้วิจัยโครงการศึกษาวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ได้สรุปการทุจริตในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณว่ามีลักษณะที่สำคัญดังนี้

1. การทุจริตในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณแผ่นดินไม่ปรากฏคดีหรือเรื่องกล่าวหาที่ทั้ง ป.ป.ช. และ สตง. เคยชี้มูล

2. ลักษณะการทุจริตในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณอยู่ในรูปของการเอื้อประโยชน์กันระหว่างภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดทำงบประมาณ โดยรูปแบบดังกล่าวสามารถอธิบายด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานที่สามารถใช้ดุลพินิจในการจัดทำโครงการและพิจารณาคำของบประมาณ

3. ในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณนั้น การตรวจสอบภาคประชาชนทำได้ไม่มากเท่าที่ควร

4. หน่วยราชการบางหน่วยมีอำนาจต่อรองในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณสูง โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย ซึ่งมักปรากฏความไม่ชอบมาพากลและไม่โปร่งใสในการจัดหาอาวุธของกองทัพ นอกจากนี้ ภายหลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 งบประมาณกระทรวงกลาโหมและกองทัพเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามแผนการป้องกันประเทศ

5. มีการใช้อำนาจรัฐบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคพวกของผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณ อันได้แก่ หน่วยงานจัดทำงบประมาณ ฝ่ายการเมือง และภาคธุรกิจ โดยมีรูปแบบการบิดเบือนในลักษณะทับซ้อนกันของผลประโยชน์