ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สวรส – สสส. – HITAP กับคำถามผลประโยชน์ทับซ้อน และข้อเท็จจริงของ สสส.

สวรส – สสส. – HITAP กับคำถามผลประโยชน์ทับซ้อน และข้อเท็จจริงของ สสส.

27 พฤษภาคม 2012


จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการมาครบ 10 ปี และได้ให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำงานวิจัยผลงานของ สสส. ในรอบ 10 ปี ว่า สสส. ใช้เงินที่ได้รับการจัดสรร 2 % จากภาษีแอลกอฮอล์และบุหรี่ ประมาณ 24,403 ล้านบาท ว่าคุ้มค่าหรือไม่ (อ่านรายงานแถลงข่าวงานวิจัยในล้อมกรอบ)

การจัดทำรายงานวิจัยดังกล่าว จัดทำโดย สวรส. โดยที่ สวรส. ได้มอบหมายให้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งเป็นภาคีในเครือข่ายของ สวรส. ทำการประเมินผลความคุ้มค่าในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. (อ่าน สวรส. ดันงานวิจัยโชว์ผลงาน “สสส.” ใช้เงินหมื่นล้านคุ้มค่า สวนทางตัวเลขภาษีเหล้า-บุหรี่ 10 ปีเพิ่ม 2 เท่า ได้เงินจัดสรรไปแล้วกว่า 2.4 หมื่นล้าน)

จากการตรวจสอบโครงสร้างของ สวรส. ซึ่งได้ระบุถึงระบบการทำงานว่าเป็นโครสร้างแบบเครือข่าย (Network) และการสร้าง “องค์กรลูก” ที่เป็นกลไกเชิงสถาบันซึ่งทำงานวิจัยอย่างเชื่อมประสานกันกับองค์กรภาคีต่างๆ โดยองค์กรลูกหลายองค์กรได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระในระยะเวลาต่อมา ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ปัจจุบัน สวรส. มีองค์กรลูกที่เรียกว่า “เครือสถาบัน” จำนวนทั้งหมด 7 เครือสถาบัน ประกอบด้วย

1. สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.)

2. สำนักงานพัฒนาระบบตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (สพตร.)

3. สถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ (สคม.)

4. สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.)

5. สถาบันสุขภาพวิถีไทย (สสว.) ปัจจุบันได้ปิดตัวลงแล้ว

6. สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.)

7. สำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.)

8. ศูนย์พัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย(ศรท.)

นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายของ สวรส. ได้แก่ 1. โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ” (HITAP) 2. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 3. สถาบันวิจัยระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) 4. สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) หรือ สรพ. เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีงบประมาณ 2554 ได้มีการเพิ่มกลไกการทำงานขึ้นอีก 3 กลไก ได้แก่ สำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังแห่งชาติ ศูนย์พัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย และแผนงานพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย โดย 2 หน่วยงานแรกมีฐานะเป็นเครือสถาบันของ สวรส. ส่วนหน่วยงานหลังเป็นแผนงานภายใน สวรส. ทั้งนี้เพื่อร่วมกันสร้างความเป็นธรรมภายในระบบสุขภาพให้มีมากขึ้นเรื่อยๆ (อ่านเพิ่มเติม)

จากโครงสร้างเครือข่ายดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีการเชื่อมโยงกันอยู่ระหว่าง สวรส. – สสส. และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ทำงานวิจัยผลงานห้กับกับ สสส. จึงเกิดคำถามว่า งานวิจัยดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งในประเด็นอื่นๆ กล่าวคือ สสส.ได้รับการจัดสรรเงินจากภาษีบาปเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นแสดงว่ามีคนบริโภคบุหรี่และดื่มแอลกอออล์เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้บางปีมีการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจึงทำให้การจัดเก็บภาษีได้น้อยลง อาทิ

ในปี 2549 กรมสรรพสามิตเก็บภาษียาสูบ 35,657 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2548 ลดลง 2,536 ล้านบาท มีสาเหตุมาจากการปรับขึ้นอัตราภาษียาสูบเป็น 79% ของมูลค่า ทำให้การบริโภคยาสูบลดลง ส่วนภาษีเบียร์จัดเก็บได้ 44,207 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนลดลง 1,276 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงปลายปีงบประมาณ 2548 ผู้ผลิตเบียร์มาขอชำระภาษีล่วงหน้า 2,000 ล้านบาท

ส่วนในปี 2552 กรมสรรพสามิตปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้น แต่ยอดการจัดเก็บภาษีเบียร์จัดเก็บได้ 48,993 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 4,472 ล้านบาท เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 รัฐบาลมีการปรับอัตราภาษีเบียร์จาก 55% เป็น 60% ของมูลค่า ทำให้การบริโภคเบียร์ลดลง

ขณะที่รายงานประจำปีของ สสส.ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ล่าสุด ปี 2553 ระบุว่าคนไทยสูบบุหรี่น้อยลง ทำให้คนไทยประหยัดเงินค่าบุหรี่ลงได้ 2,115 ล้านบาท และคนไทยดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้คนไทยประยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ 30,000 ล้านบาท(อ่านรายงานประจำปีสสส. 2553และสภาพัฒน์ฯชี้สังคมไทยน่าห่วง ค่าใช้จ่าย“บุหรี่ – แอลกอฮอล์ – กินยาเกินขนาด” เพิ่ม และหนี้สินครัวเรือนมีสัญญาณสูงขึ้น)

นอกจากนี้ โครงการลดอุบัติเหตุทางถนน รายงานประจำปี 2553 ระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างปี 2546-2552 ลดลงเป็นลำดับจาก 14,063 คน เหลือ 11,267 คน แต่จากรายงานของบริษัทไพร้ซ์ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส (ประเทศไทย) ถึงความเสี่ยงอุบัติภัยสาธารณภัยของประเทศไทยมี 18 ประเภทที่น่าเป็นห่วง ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออุบัติภัยจากภัยการคมนาคมและขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542-2548 โดยปี 2542 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 67,800 ครั้ง จนถึงปี 2548 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 122,122 ครั้ง ส่วนผู้เสียชีวิตในปี 2542 จาก 12,040 คน ในปี 2548 อยู่ที่ 12,871 คน

ดังนั้น จากข้อมูลผลการดำเนินงานของ สสส. ดังกล่าวตรงกันข้ามกับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในส่วนภาษีบุหรี่และแอลกอฮอล์ และรายได้ของ สสส. ที่ได้รับการจัดสรรที่เพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าหากการบริโภคบุหรี่และแอลกอฮอล์ลดลงตามที่ สสส.ระบุ การจัดเก็บภาษีดังกล่าวควรจะลดลงตามลำดับด้วย และรายได้ของ สสส. ก็ต้องลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากรายงานประจำปีของ สสส. มีการใช้เงินอุดหนุนโครงการ 13 แผน ตั้งปี 2544-2553 ดังรายละเอียดตารางข้างล่าง และรายจ่ายทางด้านการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมสูงมากที่สุด คือ ใช้ไปประมาณ 2,324.8 ล้านบาทภายใน 10 ปี ตามด้วยโครงการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (เฉพาะอาหารและโภชนาการ) 2,296.5 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ 1,937.86 ล้านบาท โครงการสุขภาวะชุมชน 1,936.05 ล้านบาท และโครงการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1,803.78 ล้านบาท ส่วนโครงการควบคุมการบริโภคยาสูบ 959.41 ล้านบาท

21 พฤษภาคม 2555 – ข่าวแจกรายงานการวิจัยของ สวรส.

จากการประเมิน “ผลลัพธ์การดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพที่ดำเนินงานโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย” ทำการประเมินโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP – ไฮแทป) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า คนไทยกว่าครึ่งประเทศรู้จัก สสส. ในฐานะองค์กรที่ทำประโยชน์ให้สังคม ด้วยการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ข้อค้นพบดังกล่าว ได้มาจากการสัมภาษณ์ประชาชนกว่า 7,000 คน ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ โดยพบว่า คุณค่าที่คนไทยมอบให้กับการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่าย มีมูลค่าคิดเป็นตัวเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบกับงบประมาณที่ สสส. ได้รับในแต่ละปีประมาณ 3,000 ล้านบาท เท่ากับว่าในสายตาประชาชน สังคมได้กำไรจากการมีองค์กรเช่น สสส. อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยพบว่า สสส. และภาคีเครือข่ายไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีรายได้และการศึกษาน้อย ซึ่งมักมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่และดื่มเหล้า จึงมีข้อเสนอแนะต่อ สสส. ให้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ทำการประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการมีนักสูบหน้าใหม่แต่ละราย ซึ่งพบว่ามีมูลค่าถึง 158,000 บาทในเพศชาย และ 85,000 บาทในเพศหญิง ทั้งนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้ผู้ชายโดยเฉลี่ยมีอายุสั้นลง 4.6 ปี และผู้หญิงมีอายุสั้นลง 3.4 ปี

สำหรับการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ดื่ม ถ้าดื่มอย่างอันตรายมากจะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 360,000 บาท ในเพศชายต่อราย และ 240,000 บาทในเพศหญิงต่อราย รวมทั้งทำให้ผู้ชายอายุสั้นลง 3.9 ปี และผู้หญิงอายุสั้นลง 2.2 ปี ทั้งนี้นักวิจัยยังพบอีกว่า หาก สสส. สามารถป้องกันนักสูบหน้าใหม่ไม่ให้สูบไปตลอดชีวิตได้อย่างน้อย 1,000 คนขึ้นไปต่อปี จะถือว่าแผนงานการควบคุมการบริโภคยาสูบมีความคุ้มค่า เช่นเดียวกัน หาก สสส. สามารถป้องกันไม่ให้มีนักดื่มหน้าใหม่ที่จะดื่มอย่างอันตรายมากไปตลอดชีวิตได้อย่างน้อย 800 คนต่อปี จะถือว่า แผนงานการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ สสส. มีความคุ้มค่า

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวสามารถช่วยสะท้อนให้เห็นถึงผลการการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ว่าสังคมได้รับประโยชน์ที่คุ้มค่ากับเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน โดย สสส. และภาคีเครือข่าย สามารถนำผลการวิจัยไปใช้พัฒนาการทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมากยิ่งขึ้น

21 พฤษภาคม 2555
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โทร. 02-8329245 / 081-6864147
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) โทร. 02-5904374-5 / 089-6640037