ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ฯ ชี้สังคมไทยน่าห่วง ค่าใช้จ่าย “บุหรี่ – แอลกอฮอล์ – กินยาเกินขนาด” เพิ่ม และหนี้สินครัวเรือนมีสัญญาณสูงขึ้น

สภาพัฒน์ฯ ชี้สังคมไทยน่าห่วง ค่าใช้จ่าย “บุหรี่ – แอลกอฮอล์ – กินยาเกินขนาด” เพิ่ม และหนี้สินครัวเรือนมีสัญญาณสูงขึ้น

28 พฤษภาคม 2012


นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ รายงานภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทยน่าเป็นห่วง

โดยนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายการบริโภคบุหรี่ของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจาก 5,408 ล้านบาทในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2554 เป็น 5,613 ล้านบาทในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 3.8% เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น 6.1% จากมูลค่า 36,965 ล้านบาทในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2554 เป็น 39,219 ล้านบาทในปี 2555

จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ปี 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 53.9 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน หรือ 21.4% ของประชากรในกลุ่มอายุดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการสูบหรี่เป็นประจำในช่วงปี 2544-2552 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง แต่ในปี 2554 มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากปี 2552 คือจาก 18.1% เป็น 18.4% ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

นางสุวรรณีกล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทยของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำการศึกษาทุก 5 ปี พบว่าในปี 2552 การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรไทยประมาณ 48,244 คนต่อปี โดยเฉลี่ยเป็นผู้ชาย 1 ใน 6 คน และผู้หญิง 1 ใน 25 คน

นอกจากนั้น จากรายงานปี 2546 ของ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช วิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำการศึกษาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในประเทศไทยกับรายรับของรัฐ พบว่า ค่าใช้จ่ายเพียง 3 โรค อันได้แก่ โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด มีแนวโน้มสูงกว่ารายรับของรัฐบาลจากภาษีบุหรี่

โดยในปี 2546 รายรับจากภาษีบุหรี่เท่ากับ 33,582 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยทั้งหมดและค่าใช้จ่ายของรัฐจาก 3 โรคดังกล่าวเท่ากับ 46,800 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์ข้อมูลข่าวสารเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2552 ที่รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคทั้ง 3 โรค เท่ากับ 51,569 ล้านบาท แต่รายรับของรัฐจากภาษีบุหรี่เท่ากับ 43,936 ล้านบาท

ขณะที่การดื่มสุราในปี 2552 และ 2554 เพิ่มขึ้น 12.6% และ 0.8% ตามลำดับ เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุพบว่า อัตราการดื่มสุราในกลุ่มวัยทำงาน (25-29 ปี) และวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มเด็กและเยาวชน (15-24 ปี) มีจำนวนผู้ดื่มสุราลดลงเหลือ 3.2% ในปี 2554 จากที่เพิ่มขึ้น 10.1% ในปี 2552

นอกจากนี้ ทางด้านสุขภาพ พบว่าคนไทยใช้ยาเกินความจำเป็น ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ โดยจากการศึกษาของกรมการแพทย์พบว่า ในปี 2553 คนไทยบริโภคยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณที่ผลิตเองและนำเข้าปีละประมาณ 47,000 ล้านเม็ด หรือเฉลี่ยบริโภควันละ 128 ล้านเม็ด โดยมีผู้ป่วยซื้อยากินเอง 15% ของผู้ป่วยทั้งหมด สะท้อนว่า คนไทยเชื่อ “หมอตี๋” หรือเภสัชกรตามร้านขายยามากกว่าจะไปหาหมอที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาของคนไทยในปี 2550 มีมูลค่า 109,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 134,286 ล้านบาท ในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้น 22.3% เมื่อเทียบกับปี 2550 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณาสัดส่วนค่ายาต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 76.6% ในปี 2550 เป็น 79.5% ในปี 2554

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภคยาของไทยกับประเทศพัฒนาแล้ว นางสุวรรณีระบุว่า ข้อมูล OECD Health Data ปี 2551 ชี้ว่ามูลค่าการบริโภคยาของคนไทยคิดเป็น 46.7% ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 10-20% เท่านั้น

“แสดงถึงการใช้ยาเกินความจำเป็นที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายเกินจำเป็นของครอบครัวในการซื้อยาทั้งภายในและภายนอกประเทศ” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าว

นางสุวรรณีกล่าวต่อว่า จาการสำรวจสุขภาพคนไทย ปี 2550-2552 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปกินยาแก้ปวด 2.3% กินยานอนหลับเป็นประจำ 3.3% กินยาลูกกลอนเป็นประจำ 2.1% และกินยาลดความอ้วน 1.1% โดยยาที่คนไทยใช้มากเป็นอันดับ 1 คือ ยาปฏิชีวนะ ใช้ถึง 20% ของยาทั้งหมด ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการใช้ยาเกินขนาดที่กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น และการสะสมอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

ทั้งนี้ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ระบุว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาอาการไข้หวัดเกินความจำเป็นจนเกิดภาวะดื้อยา โดยประเทศไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่าถึง 20% ของยาทั้งหมด หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

สำหรับผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2554 หนี้ครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยเท่ากับ 134,900 บาทต่อครัวเรือน เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยเท่ากับ 134,699 ล้านบาท

แต่หนี้สินของครัวเรือนในปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นางสุวรรณีระบุว่า มีเครื่องชี้หลายรายการที่บ่งชี้ ได้แก่ การก่อหนี้รายย่อยมีมากขึ้น เห็นได้จากยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 เพิ่มขึ้น 10.8% จากเพิ่มขึ้น 6.4% ช่วงเดือนช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 5.8% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2554

นอกจากนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไป ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 เพิ่มขึ้น 13.7% จากที่เคยเพิ่มขึ้น 0.7% ในช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 8.5% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2554 และการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า สินเชื่อบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นกว่า 10% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหลังน้ำท่วม แต่ประเด็นคือ คนที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือคนทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงหรือต่ำกว่า 10 ชั่วโมง กลุ่มนี้ต้องผ่อนสินเชื่อผ่านบัตรเครดิตในช่วงสั้นเพราะมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้น แต่ต้องติดตามพฤติกรรมดูว่าระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร เนื่องจากบัตรเครดิตเดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แทนเงินสดหรือเป็นสื่อกลางแทนเงินสด แต่ตอนนี้กลายเป็นสินเชื่อ จึงทำให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นมาก

“ทางการควรเข้าไปดูแลให้แรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงมีรายได้เพียงพอ เช่น ในธุรกิจบริการ การขนส่งสินค้า ธุรกิจร้านอาหาร หรือที่จ่ายเป็นรายชั่วโมง หรือคนที่ทำงานต่ำกว่า 10 ชั่วโมง ให้มีการส่งเสริมมีรายได้มากขึ้น” นายอาคมกล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ในไตรมาสมาสแรก ปี 2555 มีการจ้างานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และอัตราการว่างงานเท่ากับ 0.73% หรือมีผู้ว่างงาน 285,150 คน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 0.83% โดยเป็นผลจากจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มทยอยเรียกแรงงานให้กลับเข้ามาทำงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แม้การว่างงานจะลดลง แต่การว่างงานแฝงกลับมากขึ้น โดยมีอัตราการว่างงานแฝง 1.44% คิดเป็นจำนวน 557,540 คน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 29.2% แบ่งเป็นผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือผู้ที่ทำงานไม่ก่อให้เกิดผลผลิตเต็มที่ (Unproductive job) และต้องการทำงานเพิ่มจำนวน 111,755 คน และแรงงานรอฤดูกาลจำนวน 445,785 คน

ขณะที่ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 15.1% จากเพิ่มขึ้น 6.9% ในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4% ทำให้รายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 11.4%

“แม้ภาพรวมการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น แต่ส่งผลต่อมูลค่าส่วนเพิ่มในระบบเศรษฐกิจได้ไม่มาก เนื่องจากมีผู้มีงานทำที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จำนวน 7.94 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 18.8% ขณะที่ผู้มีงานทำที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตเต็มที่มีประมาณ 1.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 2.76% ของผู้มีงานทำทั้งหมด เพิ่มขึ้น 13.61% จากช่วงเดียวกันปีก่อน” นายอาคมกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการ จากการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในเดือนเมษายน 2555 นายอาคมกล่าวว่า ในระยะสั้น การปรับตัวของธุรกิจยังไม่ส่งผลให้ปรับลดงานคนงานจำนวนมากในทันที ผู้ประกอบการจะปรับตัวโดยใช้วิธีลดต้นทุนการผลิตด้านอื่นมากกว่าการปรับลดแรงงาน เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดแคลนแรงงาน

อย่างไรก็ตาม แรงงานในบางธุรกิจอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกปลดออก เช่น ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจทำความสะอาดและรักษาความปลอดภัย ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น โดยเฉพาะสถานประกอบการที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูง เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจรับเหมาสร้างบ้าน มีต้นทุนประมาณ 33% และ 27% ของต้นทุนรวม ตามลำดับ

นายอาคมกล่าวว่า ในระยะยาว การปรับตัวของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีแนวโน้มนำเครื่องจักรมาแทนแรงงาน เพื่อลดต้นทุนและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน นอกจากนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอและธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร มีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง หรือมีค่าแรงถูกกว่า

ในขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพต่ำ มีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการหากไม่สามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้เท่ากัน 300 บาททั่วประเทศในปี 2556 จะส่งผลกระทบเป็นรอบที่ 2 ต่อผู้ประกอบการน 70 จังหวัดที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 9-35% (เพิ่มขึ้นต่ำสุดที่จังหวัดชลบุรี และสูงสุดที่จังหวัดพะเยา)

“หากผู้ประกอบการใดไม่สามารถปรับตัวได้ รัฐบาลควรมีมาตรการเพิ่มเติมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงของการปรับตัวก่อนจะมีการปรับค่าแรง โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เพิ่มผลิตภาพของแรงงานเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันหลังจากค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ ในรายงานภาวะสังคมในไตรมาสแรก ปี 2555 ยังมีประเด็นด้านการศึกษาซึ่งน่าเป็นห่วง นางสุวรรณีกล่าวว่า คุณภาพการศึกษาเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องตระหนัก เนื่องจากการประเมินผลการสอบ ONET ในปี 2551-2554 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักไม่ถึง 50% จึงต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักและเตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษให้กับเยาวชนเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า รวมทั้งการยกระดับความรู้วิชาพื้นฐานการเข้าสู่การเรียนรู้วิชาชีพและการศึกษาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและการใช้ภาษาอังกฤษในหมวดวิชาชีพต่างๆ

“ประชาคมอาเซียนตกลงกันว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง หากประเทศไทยไม่เตรียมพร้อมอาจแข่งขันสู้มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ เพราะภาษาเป็นสื่อกลางในทุกๆ มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม” นางสุวรรณีกล่าว