ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ธนาคารโลกประเมินน้ำท่วมเสียหาย 1.356 ล้านล้านบาท และใช้เงินฟื้นฟูอีกกว่า 7 แสนล้าน

ธนาคารโลกประเมินน้ำท่วมเสียหาย 1.356 ล้านล้านบาท และใช้เงินฟื้นฟูอีกกว่า 7 แสนล้าน

4 ธันวาคม 2011


ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ถือเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศไทย โดยสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนต่อผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก และยังส่งผลกระเทือนทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของไทย

โดยตัวเลขความเสียหายที่ธนาคารโลกประเมินเบื้องต้นพบว่าเป็นจำนวนสูงถึง 1.356 ล้านล้านบาท สาเหตุที่ความเสียหายสูงมากเนื่องจากธนาคารโลกไม่ได้ประเมินเฉพาะความเสียหาย (Damage) จากสิ่งปลูกสร้างถูกทำลาย เช่น บ้านถล่ม ตึกพัง โรงงงานจมน้ำ โบราณสถานน้ำท่วม เท่านั้น แต่ยังประเมินความสูญเสีย (Loss) ด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่อง เช่น โรงงานปิดผลิตสินค้าไม่ได้ คนงานต้องหยุดงาน ทำให้ธุรกิจ และแรงงานสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้หากน้ำไม่ท่วม เป็นต้น

จากการประเมินความเสียหายดังกล่าว ปรากฏว่า ตัวเลขความสูญเสียอยู่ที่ 716,761 ล้านบาท สูงกว่าความเสียหายซึ่งอยู่ที่ 640,049 ล้านบาท โดยภาคการเงินมีความสูญเสียมากที่สุด เนื่องจากน้ำท่วมทำให้ธนาคารพาณิชย์สูญเสียโอกาสในการปล่อยสินเชื่อ รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องหยุดการผลิตช่วงน้ำท่วม และภาคการท่องเที่ยว ที่ต้องสูญเสียรายได้เพราะนักท่องเที่ยวลดลง (รายละเอียดดูจากตาราง)

ที่มา ธนาคารโลก

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า การประเมินผลกระทบน้ำท่วมครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการที่เรียกว่า “Post Disaster Needs Assessment“ (PDNA) Methodology ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเอ็นจีโอ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศทั้งธนาคารโลก สหประชาชาติ(ยูเอ็น) องค์กรความร่วมระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) และ สหภาพยุโรป(อียู)

ในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ครั้งนี้ ดร.กิริฎาบอกว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างมากกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมเป็นทีมลงภาคสนามกว่า 100 คน โดยจะมีผู้เชี่ยวด้านต่างๆ ในแต่ละสาขาเศรษฐกิจกระจายลงพื้นที่เก็บข้อมูล สำรวจความเสียหายทั้งหมด 18 สาขาเศรษฐกิจ ใน 26 จังหวัด ที่ประสบภัยน้ำท่วม

ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย บอกว่า ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินมีทั้งข้อมูลทางการของภาครัฐ และข้อมูลจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ประสบภัย หรือคนในพื้นที่ ซึ่งโครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 7-25 พ.ย. 2554 โดยวิธีการที่ใช้ประเมินที่เรียกว่า Damage, Loss & Needs Assessment หรือ “DaLA” วิธีการนี้ไม่ได้ดูเฉพาะความเสียหายอย่างเดียว แต่จะประเมินการผลิตที่เสียหาย หรือสูญเสียไปด้วย

“วิธีการที่ใช้เป็นสากลในต่างประเทศที่ประสบภัย ซึ่งได้รับการพัฒนามาหลายสิบปี จากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ โดยการประเมินผลกระทบน้ำท่วมในครั้งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากอียู” ดร.กิริฎากล่าว

คุณวราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้เชียวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารโลกประจำประเทศไทย หนึ่งในทีมงานที่ลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหายในโครงการ PDNA อธิบายเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจะมีผู้เชียวชาญแต่ละสาขาที่โดดเด่นในจังหวัดนั้นๆ เช่น จังหวัดนครสวรรค์ จะมีทีมผู้เชียวชาญลงครบเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถาน จะไม่มี แต่ผู้เชียวชาญด้านโบราณสถานส่วนใหญ่จะลงพื้นที่จังหวัดอยุธยา ลพบุรี สุโขทัย เป็นต้น เมื่อทุกคนได้ข้อมูลมาแล้วจะมาวิเคราะห์ตัวเลขร่วมกัน หากมีข้อมูลชุดใดซ้ำซ้อนจะตัดออกก่อนจะประเมินความเสียหายและความสูญเสีย

“การทำงานจึงต้องประสานงานกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพช่วยประสานงาน ทำให้การดำเนินการสามารถวิเคราะห์และประเมินได้ค่อนข้างเร็ว ทั้งตัวเลขความเสียหายและความสูญเสีย รวมถึงข้อเสนอแนะ จากนั้นจะทำรายงานเสนอส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล” คุณวราภรณ์กล่าว

สำหรับวิธีประเมินผลกระทบน้ำท่วมที่เรียกว่า “DaLA” ผู้เชียวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารโลกประจำประเทศไทย บอกว่า เป็นองค์ความรู้ที่พัฒนาใช้มาตั้งแต่ปี 1970 ที่ประเมินทั้งความเสียหาย และความสูญเสีย ต่างจากการประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติส่วนใหญ่ที่จะมองเฉพาะด้านความเสียหายอย่างเดียว ไม่ค่อยดูด้านความสูญเสีย ทำให้การประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ำกว่าความเป็นจริง ผลที่ตามมาคือ อาจส่งผลให้การกำหนดมาตรการหรือทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะมองความเสียหายเพียงด้านเดียว

คุณวรภรณ์ อธิบายวิธีการประเมินความสูญเสียว่า ในการคำนวณเริ่มต้นจากการจัดเก็บข้อมูลผลผลิต หรือรายได้ของภาคธุรกิจต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปีก่อนเกิดปัญหาน้ำท่วมมาดูว่ามีผลผลิตเท่าไร หรือในภาวะปกติมีรายได้จากการทำธุรกิจเท่าไร เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการประเมินความสูญเสีย

จากนั้นเมื่อน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือรายได้หายไป ก็จะเริ่มประเมินความสูญเสียที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการหยุดการผลิตหรือสูญเสียรายได้ไปจนกว่าจะถึงจุดที่สามารถกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมหรือมีรายได้กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งบางเซกเตอร์ฟื้นกลับมาผลิตได้เร็วเหมือนเดิม บ้างเซกเตอร์กว่าจะกลับมาผลิตเหมือนเดิมต้องใช้เวลานาน แต่การประเมินผลกระทบน้ำท่วมรอบนี้ใช้สมมติฐานว่าภาคเศรษฐกิจต่างๆ จะกลับมาปกติเฉลี่ยใช้เวลา 3 ปี

คุณวราภรณ์ ยกตัวอย่างการลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ว่า มีการทำประมงเลี้ยงปลากด ปลาชะโด เมื่อน้ำท่วมเขาก็รีบจับปลาเพื่อขายก่อนน้ำจะท่วมหมด ความสูญเสียที่เกิดขึ้นคือ ปลาที่รีบจับไปขายจะตัวเล็กหรือน้ำหนักอาจหายไป 1 กิโลกรัม ดังนั้นเมื่อนำไปขายก็จะได้ราคาไม่ดี รายได้ที่หายไปจากราคาขายที่ลดลง ก็คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นของชาวประมง เพราะถ้าน้ำไม่ท่วมน้ำหนักปลาจะมากกว่านี้ ราคาขายก็จะดีกว่าด้วย แต่การเลี้ยงปลาสามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ใช้เวลาไม่นาน

อีกตัวอย่างคือกรณีจังหวัดที่ปลูกต้นจำปีเป็นไร่ๆ เพื่อขาย เมื่อน้ำท่วมทำให้ต้นจำปีตายเป็นจำนวนมาก และเมื่อน้ำลดกว่าจะปลูกใหม่ให้กลับมามีดอก มีผลผลิต เก็บขายได้เหมือนเดิมต้องใช้เวลาอีก 5-7 ปี ดังนั้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีชาวประมงเลี้ยงปลากด เป็นต้น

นอกจากธนาคารโลกจะประเมินความเสียหายและความสูญเสียแล้ว ยังประเมินความต้องการใช้เงินในการฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย โดยประเมินว่าต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูและซ่อมแซมเป็นเวลา 2 ปี และต้องใช้เงินรวมทั้งสิ้น 756,374 ล้านบาท

ที่มา ธนาคารโลก
ที่มา ธนาคารโลก

สำหรับการประเมินผลกระทบน้ำท่วมต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ล่าสุดหน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารโลก ได้ปรับประมาณการจีดีพีลดลงดังนี้