ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลก ขยายการตรวจและรักษาเอชไอวีในกลุ่มชายรักชาย ในกรุงเทพฯ หลังพบเสี่ยงติดเชื้อสูงขึ้น

ธนาคารโลก ขยายการตรวจและรักษาเอชไอวีในกลุ่มชายรักชาย ในกรุงเทพฯ หลังพบเสี่ยงติดเชื้อสูงขึ้น

1 มิถุนายน 2015


ผลการสำรวจของธนาคารโลกชี้ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นกลุ่มชายรักชายมากที่สุด และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ในขณะที่กลุ่มชายรักชายส่วนใหญ่ยังไม่เข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและรักษาด้วยยาต้านไวรัสแม้ว่าการรักษาจะไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้อัตราผู้ป่วยเอชไอวีในไทยเพิ่มสูงมากขึ้นหากไม่รีบแก้ไข จึงเสนอให้สถานพยาบาลต่างๆ เพิ่มศักยภาพในการชักชวนให้กลุ่มชายรักชายตรวจเชื้อเอชไอวีและรีบรักษาทันทีหากติดเชื้อ ซึ่งจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ตรวจเชื้อเอชไอวีได้กว่า 4 หมื่นราย รักษาผู้ติดเชื้อได้อีกกว่า 5 พันคน และช่วยลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้กว่าร้อยละ 50 ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ธนาคารโลกร่วมกับกรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย สหประชาชาติประจำประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันจัดการสัมมนา เรื่อง “การขยายบริการตรวจและรักษาเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายในกรุงเทพมหานคร” เพื่อประเมินค่าใช้จ่าย ปริมาณงาน และความสามารถในการรองรับผู้มารับบริการของหน่วยบริการด้านสุขภาพในกรุงเทพมหานครในการให้บริการตรวจเชื้อเอชไอวี และการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มของชายรักชาย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา

แถลงข่าว "การขยายบริการตรวจและรักษาเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายในกรุงเทพมหานคร" เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ณ  สภากาชาดไทย
แถลงข่าว “การขยายบริการตรวจและรักษาเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายในกรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ณ สภากาชาดไทย

รองศาสตราจารย์ เดวิด พี วิลสัน ผู้เขียนร่วมของรายงาน สถาบันเคอร์บี้ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ กล่าวว่า ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีรายงานผลผู้ติดเชื้อเอชไอวีในชายกับชายเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ จากร้อยละ 21 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 28 ในปี 2555 โดยในปี 2556 คณะทำงานเพื่อการประมาณการและการวางแผนของประเทศไทยได้คาดประมาณโดยอิงจาก AIDS Epidemic Model (AEM) ว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยถึง 39,000 คน ในระหว่างปี 2555-2559 โดยและร้อยละ 25-30 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และร้อยละ 44 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่คือกลุ่มชายรักชาย

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า กรุงเทพฯ มีอัตราชายรักชายติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีชายรักชายติดเชื้อเอชไอวีเพียงร้อยละ 5 แต่ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในปัจจุบัน และอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 59 ซึ่งต้องรีบแก้ปัญหานี้ด้วยการรักษาและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงจึงต้องเข้ารับการตรวจเลือดและรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันทีเพื่อป้องกันและลดการติดเชื้อเอชไอวีลง

ทั้งนี้ สำหรับเพศสัมพันธ์แบบหญิงชาย หลังจากที่รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยมีหลักฐานจากการวิจัยว่า สามารถลดการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 96 และยังพบว่า จะไม่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกหากผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง

“กรุงเทพฯ มีกลุ่มเสี่ยงสูงถึงประมาณ 62,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยที่ไม่ได้ป้องกัน แต่ข้อมูลในปี 2554 พบว่ามีเพียง 14,387 คน หรือร้อยละ 23 เท่านั้น ที่ได้รับการตรวจเอชไอวี นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเพียงแค่ 989 คนเท่านั้นที่เข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไววัส คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีและเข้าเกณฑ์การรักษา” รองศาสตราจารย์เดวิดกล่าว

ด้านแพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค หัวหน้าแผนกป้องกัน ศูนย์โรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี 1 ใน 3 ของการติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มประชากรสำคัญที่ติดเชื้อคือกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ดังนั้น กลยุทธ์สำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี คือต้องเพิ่มอัตราการตรวจเชื้อเอชไอวีของกลุ่มชายรักชายให้ได้ร้อยละ 90 รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในกลุ่มคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี เพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวีไปยังผู้อื่น

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ศักยภาพของกรุงเทพฯ ยังรองรับการตรวจเชื้อเอชไอวีและรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อีก 405,144 ครั้งต่อปีจากสถานพยาบาลประเภทต่างๆ คือร้อยละ 5.3 ในคลินิกวิจัย, ร้อยละ 39.1 ในหน่วยบริการภาครัฐ, ร้อยละ 72.9 ในศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพฯ และร้อยละ 89.4 ในโรงพยาบาลเอกชน

“หากสถานพยาบาลทุกแห่งทำงานอย่างเต็มศักยภาพจะทำให้ชายรักชายอีกราว 43,000 คน ได้รับการตรวจเชื้อเอชไอวี และผู้ติดเชื้อราว 5,100 คน จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสภายในปี 2565 หากรัฐบาลลงทุนเท่าเดิม และหากลงทุนเพิ่มอีก 55.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในอีก 10 ปีข้างหน้าจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้รักษาด้วยยาต้านไวรัสได้อีก 12,600 คน รวมถึงเพิ่มอัตราการตรวจเชื้อเอชไอวีโดยการสำรวจแหล่งบริการที่กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสร้างคลินิกให้บริการอยู่ในบริเวณดังกล่าว หรือเพิ่มช่องทางให้บริการทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้มีต้นทุนต่ำที่สุด มีรูปแบบการให้บริการที่หลากหลาย โดยเน้นการให้บริการที่เป็นมิตร” แพทย์หญิงนิตยากล่าว

สำหรับพื้นที่หลักในกรุงเทพฯ มี 4 แห่ง คือ เขตจตุจักร เขตลาดพร้าว เขตพัฒน์พงษ์ สีลม และเขตพระนคร พบว่ามีหน่วยบริการตรวจเชื้อเอชไอวีรวม 91 แห่ง และหน่วยให้บริการที่ให้ยาต้านไวรัส 48 แห่ง ซึ่งจากการสำรวจการให้บริการในกลุ่มชายรักชายประมาณ 14,000 คน พบว่า การตรวจเชื้อเอชไอวีร้อยละ 75 จะอยู่ในคลินิกนิรนามของสภากาชาดไทย และคลินิกชุมชนสีลม ซึ่งให้บริการเฉพาะกลุ่มชายรักชาย

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเช่นกันและทุกวันนี้รักษาด้วยยาต้านไวรัสมา 20 ปีแล้ว ซึ่งปัญหาที่คนไม่กล้ามาตรวจเอชไอวีก็เพราะความกลัวเป็นสำคัญ ทั้งกลัวว่าเลือดจะบวก กลัวเพื่อนรับไม่ได้ กลัวคนรอบข้างกังวลใจ พอผลเลือดบวกแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยปัญหานี้มีมาต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ในวันนี้ขอให้ทุกคนมาตรวจเพราะรู้ดีกว่าไม่รู้ เนื่องจากสารถป้องกันและรักษาได้อย่างปลอดภัย

“สังคมต้องสร้างบรรยากาศใหม่ในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะประเทศไทยมีเชื้อเอชไอวีมา 30 กว่าปีแล้ว และไม่ใช่โรคที่ป่วยง่ายตายเร็ว แต่เป็นโรคที่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ทุกอย่าง” นายอภิวัฒน์กล่าว

เช่นเดียวกันนายดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกลาง สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่จะจูงใจให้คนเข้าไปตรวจเชื้อเอชไอวีได้ ต้องขจัดความกลัวทั้ง 5 ของผู้ที่จะตรวจให้ได้ก่อน คือ 1. ค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันต้องประชาสัมพันธ์ให้รู้อย่างทั่วถึงว่าฟรี 2. การตรวจยุ่งยากและใช้เวลานานหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันผู้ตรวจสามารถรอฟังผลได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 3. ความเป็นมิตรในการบริการ ซึ่งตรงนี้สถานพยาบาลต้องสร้างความเป็นมิตรกับผู้รับบริการโดยเฉพาะกลุ่มเกย์ กะเทย 4. ถ้าผลเลือดเป็นบวกแล้วจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร ซึ่งส่วนนี้นอกจากสร้างความรับรู้ว่าสามารถรักษาได้ฟรีแล้ว ต้องให้กำลังใจผู้ติดเชื้อระหว่างการรักษาในช่วงแรกด้วย และ 5. กลัวว่าวิถีชีวิตจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของจิตใจ

“สื่อต้องช่วยกันสร้างภาพใหม่ว่าการติดเชื้อเอชไอวีไม่ใช่ความกลัว ความเศร้า แล้วไม่สามารถใช้ชีวิตต่อได้ แต่สังคมต้องเข้าใจและจับมือกันช่วยเหลือ” นายดนัยกล่าว

ด้านนายสุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัส เหมือนกับการป่วยโรคความดันหรือเบาหวานที่ต้องกินยาต่อเนื่องตลอดชีวิต อีกทั้งผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสนั้นก็ลดน้อยลงจากในอดีตมาก ดังนั้น ผู้เข้ารับการรักษาจะมีสุขภาพดี ผิวไม่ดำอย่างในอดีตแล้ว

คลินิกนิรนาม
คลินิกนิรนาม

สำรวจคลินิกนิรนาม

นางสมทรง ธีรตกุลพิศาล หัวหน้างานคลินิกนิรนาม กล่าวว่า คลินิกนิรนามของสภากาชาดไทยเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2532 แต่เปิดใช้บริการสำหรับกลุ่มชายรักชายโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2550 โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการประมาณ 120 คนต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงตอนเย็นหลังเลิกงานและวันเสาร์ ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มชายรักชายประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เข้ารับบริการทั้งหมด

ด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ทางคลินิกสามารถเบิกคืนได้จากรัฐร้อยละ 70 สำหรับการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายของ สปสช. ประกอบด้วย การตรวจเชื้อเอชไอวี และตรวจค่า CD4 (ระดับภูมิคุ้มกันในเลือด) อย่างละ 2 ครั้งปีต่อคน ยากดปริมาณเชื้อไวรัส และยาต้านไวรัสสูตรตั้งต้น กรณีมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก็จะอยู่ในระดับราคาของโรงพยาบาลรัฐ หรือคิดกำไรเพิ่มไม่เกินร้อยละ 5 ทั้งนี้แม้ว่าค่ารักษาจะไม่แพงแต่คลินิกก็ไม่ขาดทุน

สำหรับวิธีการรักษาเริ่มต้นจาก ให้ผู้เข้ารับบริการมาลงทะเบียนซึ่งไม่ต้องใช้ชื่อจริง แต่ใช้หมายเลขแทนในการขานเรียกของสถานพยาบาล โดยในขั้นตอนนี้หากอยู่ในกลุ่มชายรักชาย ก็จะเข้ารับบริการในคลินิกแยกเฉพาะชายรักซึ่งอยู่ด้านล่างของตึก โดยการตรวจเชื้อเอชไอวีของกลุ่มชายรักชายนี้นอกจากตรวจเลือดแล้ว ยังตรวจทวารหนักและตรวจเชื้อ HPV เพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และมะเร็งปากทวารหนักด้วย ซึ่งหากพบโรคใดจะได้รักษาต่อเนื่อง

นางสมทรงกล่าวต่อว่า หลังจากพบว่าติดเชื้อเอชไอวี ทางคลินิกก็จะติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องทุกๆ 2 สัปดาห์ จนกว่าผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งการรักษานี้จะไปกดไวรัสไว้ไม่ให้แพร่เชื้อเพิ่มในร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้วหลังจากที่รักษาต่อเนื่องประมาณ 6 เดือนก็จะสามารถกดเชื้อได้คงที่แล้ว และสำหรับผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาเร็วบางรายก็พบว่าไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกายอีกเลย

อย่างไรก็ตาม นอกจากคนไทยแล้ว ชาวต่างชาติก็มารับการรักษาหรือซื้อยาต้านไวรัสที่คลินิกจำนวนมาก อาจเพราะด้วยราคาที่ไม่แพง ซึ่งคลินิกก็จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่มีใบสั่งยามาเท่านั้น

“ปัจจุบันบุคลากร 1 คนต้องดูแลผู้รับบริการประมาณ 40-50 คน ถือว่ามีจำนวนมาก อย่างไรก็ตามพนักงานของคลินิกจะให้บริการที่เป็นมิตรอยู่แล้ว โดยจะมีการอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรู้เฉพาะของเชื้อเอชไอวีและโรคอื่นๆ ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคระบาดของกลุ่มชายรักชาย ฯลฯ เพื่อให้บุคลากรสามารถแนะนำการตรวจและการรักษาให้กับผู้ใช้บริการได้ครบถ้วน” นางสมทรงกล่าว

ทั้งนี้คลินิกนิรนามมีการประสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ www.adamslove.org ทำให้คลินิกเป็นที่รู้จักของกลุ่มชายรักชาย โดยเว็บไซต์ดังกล่าวเปิดให้บริการมากว่า 3 ปีแล้ว มีผู้เข้าชมรวมประมาณ 8 ล้านวิว และมีผู้เข้ามาในเว็บไซต์ประมาณ 3 ล้านคนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพศชายที่เข้าชมในเว็บไซต์ แต่ก็มีผู้เข้าชมที่เป็นผู้หญิงร้อยละ 20 และกลุ่มข้ามเพศร้อยละ 10