ThaiPublica > เกาะกระแส > “โสมแดง” ผลัดใบ ท่ามกลางความท้าทายโลกคอมมิวนิสต์แห่งสุดท้าย

“โสมแดง” ผลัดใบ ท่ามกลางความท้าทายโลกคอมมิวนิสต์แห่งสุดท้าย

19 ธันวาคม 2011


เกาหลีเหนือถึงยุคผลัดใบเมื่อ "คิม จอง-อิล" ถึงแก่อสัญกรรม
เกาหลีเหนือถึงยุคผลัดใบเมื่อ "คิม จอง-อิล" (ขวา) ถึงแก่อสัญกรรม
(ที่มาภาพ: http://cdn.theatlantic.com/static/infocus/wpph2011/w05_10122014.jpg)

ข่าวการเสียชีวิตของผู้นำเกาหลีเหนือ “คิม จอง-อิล” กลายเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วโลก เพราะเขาเป็นผู้นำของประเทศ 1 ใน 5 รัฐคอมมิวนิสต์แห่งสุดท้าย (เกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ลาว คิวบา) ซึ่งมักแสดงบทเด็กเกเรที่มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของเล่น จนทำให้ประเทศมหาอำนาจของโลกต่างปวดหัวไปตามๆ กัน

KCNA สื่อทางการของเกาหลีเหนือรายงานข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของท่านผู้นำในวัย 69 ปี โดยคิม จอง-อิล จากไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2554 ด้วยสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและมีอาการหัวใจวายระหว่างเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ โดยพิธีศพจะมีขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคมนี้

คาดกันว่า “คิม จอง-อุน” ลูกชายคนที่ 3 มีภาษีมากที่สุดที่จะขึ้นมาเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากบิดา เพราะแม้เขาจะเป็นลูกชายคนเล็กที่มีอายุเพียง 28 ปี แต่กลับดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองและการทหารในปี 2553 เนื่องจากการผลักดันของคิมผู้พ่อ ในขณะที่พี่ชายคนโตใช้ชีวิตแบบเพลย์บอย และพี่ชายคนกลางให้ความสนใจกับการเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ

น่าสนใจว่า การเสียชีวิตของคิม จอง-อิล ได้จุดชนวนความกังวลถึงการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ที่มีอำนาจควบคุมประเทศแห่งนี้อย่างเบ็ดเสร็จ และยังเป็นผู้กุมชะตากรรมโครงการนิวเคลียร์ในดินแดนแห่งนี้ เพราะนี่ย่อมส่งผลต่อความเป็นไปในคาบสมุทรเกาหลีที่ตึงเครียดมานาน

ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ รวมถึงเพื่อนบ้านทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างก็จับตาจังหวะการผลัดใบของผู้นำคนใหม่อย่างใกล้ชิด รวมถึงไทยเองที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับทั้งเกาหลีเหนือและประเทศเหล่านี้ อ่านไฟล์แนบการเปลี่ยนผ่านอำนาจผู้นำในเกาหลีเหนือ

แม้แต่ผู้เล่นในตลาดหุ้นก็มองสิ่งที่เกิดขึ้นนับจากนี้ในประเทศที่แยกตัวโดดเดี่ยว ซึ่งทุ่มเดิมพันกับการเป็นผู้มีอิทธิพลด้านอาวุธนิวเคลียร์ จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ดังจะเห็นได้จากตลาดหุ้นทั้งฟากสหรัฐและเอเชียที่ร่วงระนาวรับข่าวนี้ เช่นเดียวกับตลาดทองคำที่ปรับตัวลง

“วิกเตอร์ ชา” ผู้เชี่ยวชาญด้านเรื่องเกาหลีจากศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการต่างประเทศในวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า หากมีใครสักคนตั้งคำถามถึงซีนาริโอที่เป็นไปได้มากที่สุดที่เกาหลีเหนือจะล่มสลาย คำตอบก็น่าจะอยู่ที่การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ “คิม จอง-อิล” และตอนนี้พวกเราก็อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นไปได้นั้น โดยที่ไม่รู้เลยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เพราะมีคำถามต่อคิม จอง-อุน ว่าจะมีบารมีมากพอหรือไม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศแห่งนี้อย่างมั่นคง ทั้งที่อายุเพียง 20 ปลายๆ และมีเวลาเตรียมตัวเพียงไม่นานที่จะก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุด ซึ่งคนในตระกูลนี้ครองอำนาจมาร่วม 60 ปี

“ชุง ยัง-แต” จากสถาบันรวมชาติเกาหลี มองว่า คิม จอง-อุน ไม่ใช่ทายาทอย่างเป็นทางการ แต่ประเทศนี้จะขับเคลื่อนในทิศทางที่ คิม จอง-อุน เป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่การสืบทอดอำนาจจะลงท้ายด้วยความวุ่นวาย เพราะอาสาวและอาเขยยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองและการทหารอยู่มากในขณะนี้ รวมถึงนายทหารระดับสูงในกองทัพ

แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายเห็นว่า คิม จอง-อุน เป็นคนเฉลียวฉลาด และมีทักษะความเป็นผู้นำที่จะทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งได้อย่างมั่นคง โดยพ่อส่งเขาไปเรียนในโรงเรียนมัธยมที่สวิตเซอร์แลนด์ พูดภาษาเยอรมันได้ดีพอควร นอกจากนี้ เขายังมีความโหดที่เป็นอุปนิสัยที่จำเป็นในการปกครองประเทศนี้

คิม จอง-อิล ผู้ล่วงลับ (ซ้าย) และลูกชาย "คิม จอง-อุน" (ขวา)
คิม จอง-อิล ผู้ล่วงลับ (ซ้าย) และลูกชาย "คิม จอง-อุน" (ขวา)
(ที่มาภาพ: http://www.dallasnews.com/incoming/20111219-north_korea_kim_jong_il.2.jpg.ece/BINARY/w620x413/North_Korea_Kim_Jong_Il.2.jpg)

ขณะที่ “เดน ชามอร์โร” ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของโกลบอล ริสค์ คาดการณ์ว่า ท่ามกลางห้วงเวลาเช่นนี้ บ่อยครั้งที่โสมแดงมักทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองอยู่รอดได้ มีอำนาจ และยังคงเป็นภัยคุกคามต่อคนอื่นๆ สิ่งที่เป็นไปได้ อาทิ การทดสอบจรวดมิสไซล์ หรือการแสดงความแข็งกร้าวหรือสร้างความขัดแย้งในรูปแบบอื่นๆ

ในแง่ปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อการผลัดใบอำนาจ สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ในเกาหลีเหนือแตกต่างจากประเทศอาหรับที่ลุกฮือขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเพราะนับจากยุคผู้นำตลอดกาล “คิม อิล-ซุง” พ่อของ “คิม จอง-อิล” ที่เพิ่งลาโลกไป ต่างก็ใช้ระบบการปกครองที่เข้มงวด ใครที่ต่อต้านผู้นำจะถูกส่งไปคุมขังทั้งครอบครัว

นอกจากนี้ โสมแดงยังห้ามการสื่อสารทุกรูปแบบ จนถึงปัจจุบันคนส่วนใหญ่ในเกาหลีเหนือก็ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และแม้หลายคนจะมีโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ถูกจำกัดให้ใช้โทร.ภายในประเทศเท่านั้น

นี่ทำให้เกาหลีเหนือรับมือกับความเห็นที่แตกต่างได้ผิดกับประเทศในอาหรับที่เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้นำพาให้เกิดการปฏิรูปการปกครองอย่างที่เห็นในปีนี้

แต่ก็ใช่ว่าสังคมเกาหลีเหนือจะไม่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะระบบชนชั้นที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากในช่วง 2 ทศวรรษมานี้ เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมกิจกรรมในการดำเนินชีวิตทุกๆ อย่างได้อีกต่อไป นี่ทำให้คนเล็กคนน้อยเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แตกต่างจากอดีตที่ใครๆ ก็อยากเป็นทหารรับใช้ชาติ เพื่อไต่เต้าไปสู่ชีวิตที่มั่นคง

ในอดีตปัจจัยที่กำหนดชะตากรรมของคนเกาหลีเหนือ คือ ภูมิหลังครอบครัว ซึ่งเคยเป็นที่นิยมในหมู่ประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย อย่างอดีตสหภาพโซเวียต บุคคลที่สืบเชื้อสายจากขุนนางชั้นสูง นักบวช และพ่อค้า มักถูกเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนหรือเลื่อนตำแหน่งงาน และมักตกเป็นเหยื่อทางการเมือง แต่พอถึงยุค 1940 สถานการณ์นี้ก็เปลี่ยนไป

ผิดกับเกาหลีเหนือที่มีการตรวจสอบภูมิหลังครอบครัวของพลเมืองอย่างเข้มงวด ประชาชนทุกคนจะถูกจัดประเภทอย่างชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสในการทำงานและชีวิตตามมา โดยโสมแดงแบ่งหมวดหมู่เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ถือเป็นปรปักษ์ของชาติ ได้แก่ ผู้ที่บรรพบุรุษเคยมีส่วนในกิจกรรมที่รัฐไม่ปรารถนา อาทิ ลูกหลานของเสมียนที่ทำงานให้หน่วยงานของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งในเวลานั้น หรือเกี่ยวข้องกับนักรณรงค์ชาวคริสต์ เจ้าของกิจการ และผู้ที่ฝักใฝ่เกาหลีใต้ คนเหล่านี้จะถูกจำกัดสิทธิต่างๆ เช่น ห้ามอาศัยอยู่ในกรุงเปียงยาง หรือเมืองสำคัญๆ รวมถึงไม่ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำ และไม่มีโอกาสเข้าทำงานในกองทัพ

ขณะที่คนในกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสมากที่สุด คือ ผู้ที่ถูกจัดเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ อาทิ เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายเกี่ยวข้องกับครอบครัวคิมที่เป็นผู้นำนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ รวมถึงผู้ที่บรรพบุรุษต่อต้านญี่ปุ่น เป็นฮีโร่ในสงครามเกาหลี หรือข้าราชการ

การปกครองที่เข้มงวดต่อชีวิตส่วนตัวเช่นนี้ ทำให้การรับราชการกลายเป็นวิธีเดียวที่จะผู้ที่มีสถานะดีในสังคมและมีฐานะมั่งคั่ง เพราะจะได้รับสิ่งของต่างๆ จากรัฐ และได้เงินเดือนจากหน่วยงานรัฐหรืออุตสาหกรรมที่เป็นของรัฐ

แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปนับจากช่วยต้นยุค 1990 เมื่อสหภาพโซเวียตยุติการสนับสนุนต่อโสมแดง ทำให้ไม่มีการปันส่วนอาหาร อีกทั้งเงินที่ได้รับไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะอดอยากและคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก

เพื่อความอยู่รอดชาวเกาหลีเหนือบางส่วนจึงเริ่มหารายได้จากกิจกรรมตลาดแบบแอบๆ นับจากกลางยุค 1990 ซึ่งทางการไม่ได้เข้มงวด ยกตัวอย่างการเปิดโรงงานเย็บผ้าและสินค้าต่างๆ รวมถึงการลักลอบทำการค้า นำเข้าและส่งออก จนทำให้เจ้าของกิจการเหล่านี้ร่ำรวยขึ้นมา และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าข้าราชการระดับกลาง

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภูมิหลังครอบครัวไม่ได้มีความสำคัญเหมือนในอดีต และผู้คนก็ไม่ได้คาดหวังที่จะทำงานกับรัฐอีกต่อไป คนเหล่านี้อยากเป็นพ่อค้าที่มีรายได้มากกว่ารับราชการ ทำให้ผู้คนพูดกันด้วยเงินมากขึ้น ภูมิหลังครอบครัวมีความสำคัญเฉพาะตำแหน่งบริหารสูงๆ เท่านั้น

เหล่านี้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ในทางหนึ่งกิจกรรมทางการตลาดทำให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมที่รวดเร็วและน่าดึงดูด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นความเสี่ยงทางสังคมที่โสมแดงกำลังเผชิญ

หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจากรอยเตอร์ส วอชิงตัน โพสต์ วอลล์สตรีต เจอร์นัล เอเชีย ไทม์ส