ThaiPublica > คอลัมน์ > ลดดอกเบี้ยทำให้บาทอ่อน: ความจริง vs ความเชื่อ

ลดดอกเบี้ยทำให้บาทอ่อน: ความจริง vs ความเชื่อ

12 กันยายน 2017


นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics

ช่วงนี้เป็นจังหวะบังเอิญที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยถูกคงไว้ที่ 1.5% ต่อเนื่องผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินมา 18 ครั้ง อีกทั้งเงินบาทยังแข็งค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเซีย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงนี้แรงกดดันเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง…

แล้วลดดอกเบี้ยทำให้บาทอ่อนค่าได้จริง?

เรามาตอบคำถามนี้ตามความจริงผ่านข้อมูลและหลักเศรษฐศาสตร์

ทิศทางเงินบาทมองกันผิดจุด ที่ผ่านมาการวิเคราะห์ค่าเงินบาทมักจะใช้การเคลื่อนไหวของเงินทุน (fund flows) โดยเฉพาะตัวเลขที่ต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตร (foreign net buy in portfolio investments) เป็นตัวอธิบายหลัก ถ้าต่างชาติเข้าซื้อมากก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้แนวโน้มเงินไหลเข้าลดลง เพราะผลตอบแทนจากสินทรัพย์ของไทยจะลดลงเมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลง

ประเด็นนี้ถูกนำมาใช้โดยนักวิเคราะห์และสื่ออย่างกว้างขวาง จนสังคมไทยเกิดความเชื่อว่าการขยับดอกเบี้ยจะช่วยกำหนดทิศทางค่าเงินบาทได้

ตามตรรกะนี้ตรงไปตรงมาไม่มีอะไรผิด…

แต่เม็ดเงินจากต่างชาติใน Portfolio Investment ปัจจุบันมันเล็กมากเมื่อเทียบกับภาพรวมเงินทุนไหลเข้าสุทธิทั้งหมด สัดส่วนเป็นแค่ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการเกินดุลบริการซึ่งหลักๆ คือรายรับจากการท่องเที่ยวและดุลการค้าซึ่งหลักๆ คือรายได้จากการส่งออกหักด้วยนำเข้า (ดูภาพประกอบ)

ความจริงคือการเคลื่อนไหวของเงินบาทขึ้นกับ Demand และ Supply ทั้งระบบของสกุลเงิน โดยสะท้อนผ่านดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) ซึ่งประกอบไปด้วย

    1) ดุลการค้า
    2) ดุลบริการ
    3) การลงทุน Portfolio Investment จากต่างชาติสุทธิ
    4) การลงทุน Portfolio Investment ของไทยไปต่างประเทศสุทธิ
    5) การลงทุนทางตรงสุทธิจากต่างชาติ (FDI)
    และ 6) การลงทุนทางตรงสุทธิของไทยไปต่างประเทศ (TDI)

ทั้งนี้การเกินดุลการค้าและบริการและการลงทุนจากต่างชาตินำมาสู่การรับเงินตราต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการและสถาบันการเงินก็นำเงินตราต่างประเทศมาขายในตลาดเพื่อซื้อเงินบาท ทำให้ Demand ของเงินบาทเพิ่มขึ้นทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นตามกลไกราคา

ในทางกลับกัน สำหรับการลงทุนของไทยไปต่างชาติทั้งทางตรงและ Portfolio Investment สร้าง Supply เงินบาทในตลาดทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง เมื่อการเกินดุลการชำระเงินเพิ่มขึ้นค่าเงินบาทจะแข็งค่า ความสัมพันธ์นี้ค่อนข้างชัดเจน (ดูภาพประกอบ)

การลดดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้การลงทุนต่างชาติใน Portfolio Investment ลดลง แต่นโยบายนี้ไม่สามารถ lean against the wind ทำให้เงินบาทอ่อนอย่างมีนัยสำคัญ ตราบใดที่แนวโน้มดุลการชำระเงินยังเกินดุลต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่ดีและการส่งออกที่ฟื้นตัวซึ่งหมายถึง Demand เงินบาทที่ยังมีต่อเนื่อง

สถานการณ์นี้แค่สะท้อนความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์ว่าได้อย่างก็มีเสียอย่าง (trade-off) ถ้าเรายังต้องพึ่งพารายรับจากการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ ต้นทุนที่ตามมาคือการแข็งค่าของบาท

แล้วเรามีทางออกอย่างไรบ้าง?

การกระตุ้นให้มีการลงทุนไทยในต่างประเทศนั้นเป็นอีกช่องทางนึงที่จะทำให้บาทอ่อนค่าได้ ซึ่งปัจจุบันเม็ดเงินของส่วนของการลงทุนไทยใน Portfolio Investment นั้นมีขนาดใหญ่กว่าการลงทุน Portfolio Investment จากต่างชาติเสียอีก ซึ่งเราเริ่มเห็นมาตรการการผ่อนคลายเกณฑ์การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่แน่นอนคำถามเรื่องความเหมาะสมของการใช้การออมของประเทศ (National Saving) ไปถือสินทรัพย์ต่างชาติ (ซึ่งเท่ากับเป็นการไป Direct Finance การลงทุนของต่างชาติ) ในระยะยาวนั้นก็เป็นประเด็นที่น่าคิด

ในมุมของนโยบายการเงินและบริบททางเศรษฐกิจแล้ว มองไปข้างหน้าการลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นมีความเป็นไปได้ถ้าเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการลงทุนเอกชน แต่ถ้าเหตุในการลดนั้นมาจากความต้องการให้บาทอ่อนนั้นคงจะเป็นการ ‘เกาผิดที่คัน’