รายงานโดย กันตภณ อมรรัตน์ และ ดวงรัตน์ ประจักษ์ศิลป์ไทย, TMB Analytics
การแข็งค่าของเงินบาท ถือเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันต่อเนื่องมาโดยตลอดในปีนี้ เพราะเงินบาทมีการแข็งค่ามากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ต้นปี ทั้งๆที่ในปีนี้เศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง
ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็แสดงความกังวล ในประเด็นการแข็งค่าของค่าเงินบาทจนมีการออกมาตรการต่างๆ รวมถึงการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน สถานการณ์เงินบาทไทยก็ยังไม่ได้ดีขึ้นเท่าไรนัก เมื่อเทียบช่วงตอนต้นปี เงินบาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐมีการแข็งค่าขึ้นกว่า 6.75% มาอยู่ที่ระดับ 30.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 กันยายน 62) และในช่วงอาทิตย์ก่อนหน้านั้นเคยแข็งค่าลงไปถึง 30.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่ถือว่าเป็นระดับค่าเงินที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปีเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น เงินบาทไทยยังแข็งค่าขึ้นมากกว่าสกุลเงินอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเทศในละแวกบ้านเราอย่างสิงคโปร์ หรือ ประเทศพัฒนาแล้วที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างญี่ปุ่น ที่แม้ค่าเงินจะแข็งค่าขึ้นแต่ก็ยังแข็งไม่เท่าเงินบาท โดยเมื่อนำสกุลเงินบาทไทยมาเปรียบเทียบ เงินบาทไทยล้วนแล้วแต่แข็งค่าขึ้นกว่าสกุลเงินหลักอื่นๆในเอเชียและทั่วโลก
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับดัชนีค่าเงินบาท NEER (Nominal Effective Exchange Rate) ที่ใช้เปรียบเทียบสกุลเงินบาทกับสกุลเงินประเทศอื่นๆที่เป็นคู่ค้ากับไทย โดย ดัชนีเงินบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีกว่า 6.8% แสดงให้เห็นว่าไทยเรามีค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทไทยเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก จากข้อมูลสกุลเงิน 140 สกุลเงินทั่วโลก สกุลเงินบาทของไทยมีการแข็งค่ามากเป็นอันดับ 4 ของโลก และถือว่าแข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย
วันนี้เราเลยอยากมาช่วยอธิบายว่าเราจะเข้าใจเงินบาทไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
บาทแข็งค่า = ใครๆก็ต้องการบาทไทย
ก่อนจะไปตามหาสาเหตุการแข็งค่าของเงินบาทไทย เราควรเข้าใจกันก่อนว่า “การแข็งค่าของเงินบาทไทย” แสดงถึงอะไรกันแน่ หากจะอธิบายให้ฟังอย่างคร่าวๆ การที่เงินบาทไทยแข็งค่า แสดงให้เห็นว่าเงินบาทไทยนั้นมีมูลค่าในตัวมันเองเพิ่มมากขึ้น เพราะเดิมอย่างเมื่อปลายปีที่แล้วที่อัตราค่าเงินอยู่ที่ประมาณ 32.4 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ หมายความว่า เราต้องใช้เงิน 32.4 บาท เพื่อแลก 1 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่ตอนนี้เราใช้เงินแค่ 30.5 บาทเพื่อแลก 1 ดอลลาร์ หมายความว่าเงินบาทไทยมีมูลค่ามากขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
การที่มูลค่าเงินบาทเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวเนื่องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ อย่างอุปทาน (Demand) และอุปสงค์ (Supply) กล่าวคือ ราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้น มาจากสองกรณี คือ เมื่อความต้องการซื้อสินค้านั้นเพิ่มขึ้น และ เมื่อความต้องการขายสินค้านั้นลดลง ในกรณีของเงินบาทก็เช่นกัน การที่ความต้องการถือหรือใช้เงินบาทมีเพิ่มมากขึ้น ย่อมจะส่งผลให้มูลค่าของเงินบาทเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น และส่งผลต่อเนื่องทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
แล้วความต้องการเงินบาทที่เพิ่มขึ้นมาจากอะไร
เราสามารถรู้ความต้องการเงินบาทผ่านการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ดุลการชำระเงิน หรือ Balance of Payment ซึ่งเป็นบัญชีที่ระบุถึงปริมาณเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าออกประเทศไทยผ่านทางช่องทางต่างๆ แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการเงินบาทมากน้อยเพียงใด ซึ่ง Balance of payment จะมี 2 องค์ประกอบหลักๆ คือ
-
1.ดุลบัญชีเดินสะพัด หรือ Current Account ซึ่งเป็นเงินสกุลต่างประเทศที่ไหลเข้ามาผ่านการค้าทั้งสินค้าและบริการ ประกอบด้วย ดุลการค้า (การส่งออกหักลบด้วยการนำเข้า) และดุลบริการ (รายได้จากต่างชาติเที่ยวไทยหักลบด้วยรายจ่ายที่คนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศ) รวมถึงรายได้จากบริษัทไทยไปลงทุนต่างประเทศลบด้วยรายได้ที่บริษัทต่างชาติในไทยส่งกลับประเทศตัวเอง
2.ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือ Financial Account อันนี้จะเป็นเงินสกุลต่างประเทศที่ไหลเข้ามาผ่านบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนหักลบด้วยเงินลงทุนที่บริษัทไทยนำออกไปลงทุนต่างประเทศ ทั้งการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (Portfolio Investment) และสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ อย่างสินเชื่อการค้าและเงินกู้ต่างๆ
ดุลการชำระเงินของแต่ละประเทศจะมีลักษณะ รายละเอียด และขนาดต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เราจะเห็นความคล้ายคลึงกันทางรูปแบบเศรษฐกิจ ที่แต่ละประเทศต่างก็พึงพิงการส่งออกเป็นหลักมากกว่าการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าเป็นบวก ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และ สิงคโปร์
ในทางทฤษฎี ค่าเงินจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหากดุลการชำระเงินเป็นศูนย์ เพราะปริมาณเงินสกุลต่างประเทศที่ไหลเข้าสอดคล้องกับปริมาณเงินที่ไหลออกทำให้ความต้องการเงินบาทไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากดุลการชำระเงินเกินดุล (Surplus) หมายความว่ามีเงินสกุลต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยมาก ทำให้มีความต้องการเงินบาทเพิ่มสูงมากขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้น การเกินดุลการชำระเงินจะแสดงทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ในทางตรงกันข้าม ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หากดุลบัญชีชำระเงินเริ่มขาดดุล
ประเทศที่มีการเกินดุลการชำระเงิน หรือ Balance of Payment ในระดับที่สูงกว่า มักจะมีการแข็งค่ามากกว่า (หรืออ่อนค่าน้อยกว่า) เมื่อเทียบกับประเทศที่เกินดุลน้อยกว่าหรือขาดดุล
แล้วพัฒนาการดุลการชำระเงินของไทยเป็นอย่างไร ?
หากเราลองมาศึกษาทิศทางความเป็นไปของดุลการชำระเงินของไทย เราพบว่าดุลการชำระเงินมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในเชิงรายละเอียดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2014 มีการเกินดุลต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเกินดุลต่อเนื่อง คือภาคการท่องเที่ยวของไทยที่มีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้มีเงินต่างประเทศไหลเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยมูลค่ารายรับจากการท่องเที่ยวไทยที่เคยอยู่ที่ไตรมาสละ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงปี 2012 ทะยานขึ้นมาสูงเป็นเท่าตัวมาอยู่ที่ระดับ 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ทำให้มูลค่าการส่งออกบริการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน โดยมูลค่าการส่งออกบริการที่เคยขาดดุล 4 แสนล้านบาทในปี 2008 กลับมาเติบโตจนเกินดุล ในปี 2013 และเติบโตต่อเนื่องเรื่อยๆ จนในปี 2018 ประเทศไทยมีการส่งออกบริการสุทธิเกินดุลทั้งสิ้น 8 แสนล้านบาท ในปี 2019 เอง หากพิจารณาช่วงครึ่งปีแรกจะพบว่า มูลค่าการส่งออกบริการเกินดุลอยู่ที่ประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาท
ในขณะที่บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทย แม้จะมีขนาดเล็กกว่าดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ก็มีทิศทางตรงกันข้ามมาตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการลงทุนในต่างประเทศที่มากขึ้นของบริษัทไทย ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีการเกินดุลการชำระเงินสุทธิ โดยในปี 2018 ดุลการชำระเงินของไทยเกินดุล 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.3% ต่อ GDP
ทั้งนี้ เมื่อเราเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไทยในระยะยาว เราจะเห็นได้ว่าเงินบาทไทยมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับดุลการชำระเงิน นั่นคือ ในช่วงที่ประเทศไทยมีการเกินดุลเพิ่มมากขึ้นความต้องการเงินบาทจะเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าตามลำดับ ในขณะเดียวกัน หากประเทศไทยมีการขาดดุลบัญชีชำระเงิน ค่าเงินบาทก็จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเช่นกัน
ดังนั้น ในเบื้องต้น เราจะเห็นกันได้ว่า ดุลบัญชีชำระเงินเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งหากเราต้องการจะเข้าใจถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้ละเอียดขึ้นไปมากกว่านี้ เราก็ควรศึกษารายละเอียดองค์ประกอบภายในของทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม
ในตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่า ในปีที่ผ่านมานี้ มีองค์ประกอบส่วนใดของดุลบัญชีเดินสะพัด หรือ ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ส่งผลก่อให้เกิดการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้มากขนาดนี้