ThaiPublica > คอลัมน์ > บาทอ่อนค่า น่ากังวลแค่ไหนสำหรับสินค้านำเข้า?

บาทอ่อนค่า น่ากังวลแค่ไหนสำหรับสินค้านำเข้า?

30 ธันวาคม 2021


ทศพล อภัยทาน [email protected] ธนาคารแห่งประเทศไทย
พิม มโนพิโมกษ์ [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
นุวัต หนูขวัญ [email protected] ธนาคารแห่งประเทศไทย
เจตวัฒน์ ภัทรรังรอง [email protected] ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “ค่าเงินกระทบราคาสินค้านำเข้าอย่างไร? ไขปริศนาจากข้อมูลใบขนสินค้า” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (https://www.pier.or.th/)

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/abridged/2021/22/

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า เงินบาทได้ปรับอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 จนมาอยู่ใกล้ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ซึ่งนับว่าอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี เนื่องด้วยเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด มีสัดส่วนการส่งออกและนำเข้าสูง การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทดังกล่าวจึงส่งผลกระทบมายังภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านหนึ่ง เงินบาทที่ปรับอ่อนค่าลงนั้นย่อมส่งผลดีต่อภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดีตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว และจะเป็นแรงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเรามองถึงผลกระทบต่อผู้นำเข้า การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและในท้ายที่สุดอาจถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้าของผู้บริโภค ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นได้

ผลกระทบของเงินบาทที่อ่อนค่าต่อราคาสินค้านำเข้า เป็นประเด็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในบริบทปัจจุบันที่เราเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจาก supply disruption ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19

ดังนั้น เงินบาทที่อ่อนค่าลงจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารกลางกำลังจับตามองมากขึ้น เนื่องจากอาจยิ่งซ้ำเติมให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นอีก และทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเร่งขึ้นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมาคือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นมาก ผนวกกับการอ่อนค่าของเงินบาท

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือ “การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้ามากน้อยเพียงใด?” และ “ขนาดของการส่งผ่านขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?” ซึ่งการตอบคำถามเหล่านี้ในเชิงลึกจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่มีความละเอียดสูง ผู้เขียนได้ทำการศึกษาในประเด็นนี้โดยใช้ฐานข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าของกรมศุลกากรในช่วงปี 2550 – 2562 ซึ่งแจกแจงการนำเข้าสินค้าอย่างละเอียดในแต่ละรายการรวมนับล้านรายการ โดยมีจำนวนผู้นำเข้า 2 หมื่นกว่าราย และสินค้านำเข้ากว่า 12,000 ชนิด ผลการศึกษามีข้อสรุปสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก: ผลกระทบของค่าเงินบาทต่อราคาสินค้านำเข้าขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า และอำนาจตลาดของผู้นำเข้าเป็นสำคัญ

ในการประเมินการส่งผ่านของอัตราแลกเปลี่ยนไปยังราคาสินค้านำเข้า ผลโดยรวมพบว่าราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.6% เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง 1% ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการส่งผ่านในลักษณะที่เรียกว่าไม่สมบูรณ์ (incomplete) แต่ก็สะท้อนว่าผู้นำเข้าต้องเป็นฝ่ายรับความเสี่ยงบางส่วนจากความผันผวนของค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม จากรูปที่ 1 เราจะเห็นได้ว่าการส่งผ่านของอัตราแลกเปลี่ยนมายังราคาสินค้านำเข้าแตกต่างกันมากในแต่ละกลุ่มสินค้า โดยราคาของสินค้าบางกลุ่มอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากแร่และสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ สาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะสินค้าในกลุ่มนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน (homogenous goods) และมักมีราคาที่ใช้อ้างอิงอยู่แล้วในตลาดโลก เช่น น้ำมันซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลักในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแร่ จึงทำให้ผู้นำเข้าต่อรองขอปรับราคาเพื่อลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนได้ยากขึ้น ดังนั้น ผู้นำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจึงต้องเผชิญกับต้นทุนการนำเข้าที่เร่งขึ้นมากในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าของผู้บริโภคต่อไป

ขณะเดียวกัน สินค้าบางกลุ่มเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่น้อยกว่า อาทิ สินค้าประเภทยานพาหนะ รวมถึงเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้าในกลุ่มเหล่านี้มักจะมีความแตกต่างกัน (differentiated goods) จึงทำให้ผู้นำเข้าสามารถต่อรองขอปรับราคานำเข้าได้มากกว่า และทำให้การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินส่งผ่านไปยังราคาสินค้านำเข้าของตนน้อยลง

คุณลักษณะของผู้นำเข้ายังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อขนาดการส่งผ่านของค่าเงิน โดยเฉพาะในมิติของอำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองของผู้นำเข้า โดยผลการศึกษาพบว่าผู้นำเข้าที่มีอำนาจตลาดสูง กล่าวคือ มีสัดส่วนการนำเข้าจากตลาดสินค้าหนึ่งๆ ในปริมาณมาก จะสามารถเจรจาต่อรองราคาได้ง่ายและสุดท้ายจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินน้อยกว่าผู้นำเข้าที่มีอำนาจตลาดต่ำ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทย ผู้เขียนพบว่า ผู้นำเข้าไทยส่วนใหญ่มีอำนาจตลาดค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกจากต่างประเทศสามารถผลักภาระให้ผู้นำเข้าไทยต้องเป็นฝ่ายแบกรับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินได้

ประการที่สอง: สกุลเงินที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้านำเข้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อขนาดการส่งผ่านของค่าเงิน

เมื่อพิจารณาสกุลเงินที่ใช้ตั้งราคาสินค้านำเข้า (invoicing currency) ผลการศึกษาพบว่าสินค้านำเข้าส่วนมากไม่ได้มีการตั้งราคาในรูปสกุลเงินของผู้ส่งออกหรือของผู้นำเข้า แต่มักจะอยู่ในรูปสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอลลาร์ สรอ. โดยในทางวิชาการการตั้งราคาในลักษณะนี้เรียกว่า Dominant Currency Pricing (DCP) ในกรณีของไทยพบว่าสินค้านำเข้าตั้งราคาอยู่ในรูปดอลลาร์ สรอ. เป็นสัดส่วนสูงถึง 75% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด1 ขณะที่การตั้งราคาผ่านสกุลเงินของประเทศผู้ส่งออก (เช่น ตั้งราคาสินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นในรูปสกุลเงินเยน) หรือเรียกว่า Producer Currency Pricing (PCP) คิดเป็นสัดส่วน 16% ส่วนการตั้งราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินบาทหรือที่เรียกว่า Local Currency Pricing (LCP) มีเพียงแค่ 8% เท่านั้น ดังแสดงในรูปที่ 2

สกุลเงินที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้าทำให้การส่งผ่านของค่าเงินมีความแตกต่างกัน โดยหากราคาสินค้านำเข้าอยู่ในรูปดอลลาร์ สรอ. หรือสกุลเงินของผู้ส่งออก ผู้นำเข้าจะต้องเผชิญกับการส่งผ่านของค่าเงินที่ค่อนข้างสูง โดยจากผลการศึกษาพบว่าในระยะสั้น ราคาสินค้านำเข้าจะสูงขึ้นมากกว่า 0.7% เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง 1% เปรียบเทียบกับในกรณีที่ราคาสินค้านำเข้าอยู่ในรูปเงินบาทที่พบว่าราคาสินค้านำเข้าแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งหมายความว่า ผู้ส่งออกจากต่างประเทศเป็นผู้แบกรับต้นทุนหรือความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนแทนผู้นำเข้า (รูปที่ 3)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง (1-2 ปี) เราจะเห็นว่าสินค้านำเข้าที่ตั้งราคาในรูปเงินบาทเริ่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ซึ่งอาจสะท้อนถึงการที่ผู้ส่งออกพยายามผลักความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนมายังผู้นำเข้าไทย แต่ผลกระทบดังกล่าวถือว่ายังน้อยกว่าในกรณีที่ราคาสินค้านำเข้าอยู่ในรูปสกุลเงินอื่น

ดังนั้น การเลือก invoicing currency สำหรับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อขนาดผลกระทบจากค่าเงินที่ผู้นำเข้าต้องเผชิญ ซึ่งผู้นำเข้าเองควรให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการใช้ LCP ของผู้นำเข้าไทยที่ยังมีไม่มากนัก หากส่งเสริมให้ผู้นำเข้าเลือกใช้เงินบาทเป็น invoicing currency มากขึ้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงในระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

ประการสุดท้าย: กรณีเงินบาทอ่อนค่าส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้ามากกว่ากรณีเงินบาทแข็งค่า

ในบริบทปัจจุบันที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง อีกคำถามสำคัญที่ตามมาคือ “การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับการลดลงของราคาสินค้านำเข้าเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นหรือไม่?” กล่าวคือ ทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อการส่งผ่านของค่าเงินอย่างไร

ข้อสรุปจากการศึกษาพบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเปลี่ยนแปลงในขนาดที่สูงกว่าการแข็งค่า ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากอำนาจตลาดของผู้นำเข้าไทยที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศ การที่เงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ผู้ส่งออกจากต่างประเทศอาจเลือกที่จะไม่ปรับลดราคาสินค้าของตนลงเพื่อคงอัตรากำไร (profit margin) ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ในทางกลับกัน เมื่อเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ถึงแม้ว่าผู้นำเข้าจะได้ประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าที่ถูกลง แต่ผู้ส่งออกจากต่างประเทศอาจตัดสินใจปรับขึ้นราคาสินค้าของตนเพื่อให้ได้ profit margin เพิ่มขึ้น

ความไม่สมมาตรที่เกิดขึ้นนี้มีนัยโดยตรงต่อผลประโยชน์สุทธิของผู้นำเข้าเมื่อต้องเผชิญกับความผันผวนของค่าเงิน โดยผู้นำเข้าอาจได้รับประโยชน์ค่อนข้างจำกัดในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ในขณะที่เมื่อเงินบาทอ่อนค่า ผู้นำเข้าอาจเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นมากได้ เนื่องจากความสามารถในการต่อรองราคานั้นมีจำกัด เมื่อพิจารณาในแง่ผลกระทบต่อผู้บริโภค ความผันผวนในราคาสินค้าของผู้บริโภคจึงอาจมาจากการอ่อนค่าของเงินบาทได้มากกว่าการแข็งค่า ซึ่งย่อมมีนัยต่อการดูแลเสถียรภาพด้านราคาของธนาคารกลางต่อไป

โดยสรุปแล้ว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนต่อราคาสินค้านำเข้ามีความซับซ้อนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหรือลักษณะของสินค้า อำนาจตลาดของผู้ประกอบการ สกุลเงินที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้า รวมถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ดังนั้น การประเมินผลกระทบของค่าเงินต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนแรงกดดันเงินเฟ้อในภาพรวมจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ประกอบในการตัดสินใจ

ในบริบทปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น เรื่องของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่พึ่งพาสินค้าหรือวัตถุดิบนำเข้าที่ราคามีความอ่อนไหวมากต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงิน โดยการสนับสนุนให้ผู้นำเข้าพิจารณาตั้งราคาสินค้าในรูปเงินบาทในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยลดความเสี่ยงจากค่าเงินผันผวนได้ดีในระยะสั้น นอกเหนือไปจากใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง เช่น Forward หรือ Options

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือ ผู้กำหนดนโยบายควรต้องคำนึงถึงต้นทุน (trade-off) จากการอ่อนค่าลงของเงินบาทมากขึ้นในการดำเนินนโยบาย กล่าวคือ ถึงแม้ว่าภาคการส่งออกจะได้รับผลประโยชน์จากการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ผู้ประกอบการในฝั่งนำเข้าอาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นมากและอาจส่งผ่านต้นทุนมายังราคาสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งในท้ายที่สุดจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้ต่อไป

หมายเหตุ : 1. ในกรณีของไทย การตั้งราคาสินค้าโดยใช้สกุลเงินหลักอื่นอย่างเช่น สกุลเงินยูโร มีในสัดส่วนที่น้อยเพียง 2% เท่านั้น

    ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์