
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2558 ว่า ธปท. ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพี ปี 2558 ลงเหลือ 3.8% จากเดิมที่ประมาณการไว้ ณ ธันวาคม 2557 ที่ 4 %
นายเมธีกล่าวต่อว่า สาเหตุที่ปรับลดประมาณการจีดีพีเป็นผลมาจาก 1) ตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 4 ปี 2557 ต่ำกว่าคาด 2) การใช้จ่ายภายในประเทศทั้งเอกชนและภาครัฐที่ลดลง 3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ชะลอลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี ทำให้แรงส่งไปยังเศรษฐกิจลดลง
นอกจากนี้ การลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐที่ล่าช้า เนื่องจากหน่วยราชการไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ทัน รวมไปถึงการปรับค่างานก่อสร้างตามราคาน้ำมันที่ลดลงและการขาดแคลนแรงงาน ทำให้การลงทุนบางส่วนล่าช้าออกไป และส่งผลให้การลงทุนของเอกชนล่าช้าออกไปอีกด้วย แต่คาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัวได้ เป็นผลจากภาครัฐที่เร่งใช้จ่ายลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำหรือแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน
“ตัวเลขที่ออกมายังถือว่าต่ำกว่าศักยภาพอยู่บ้าง และเข้าใจว่าอาจจะต่ำกว่าศักยภาพมาระยะหนึ่งแล้ว ประเด็นก็คือว่า การปล่อยให้เศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพนานๆ มันจะกระทบต่อตัวศักยภาพด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเน้นเรื่องการลงทุน โดยให้ภาครัฐนำก่อน แล้วให้เอกชนตามมา” นายเมธีกล่าว
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปจากเดิม 1.2% เป็น 0.2% ส่งผลให้หลุดกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-4% ขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเอาไว้ที่ 1.2% เช่นเดิม โดยนายเมธีกล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินแบบ “มองไปข้างหน้า” และยอมรับว่าครึ่งแรกของปีอาจจะเห็นเงินเฟ้อติดลบบ้าง แต่จะเริ่มปรับเป็นบวกในครึ่งหลังจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ประมาณ 2.5% ในปีถัดไป
“ภาวะเงินเฟ้ออาจเป็นไปได้ที่จะติดลบ แต่ยังต้องนำสถานการณ์อื่นๆ มาประกอบ เช่น ราคาน้ำมันจะทรงตัวตามที่ ธปท. คาดการณ์ในระดับ 59.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหรือไม่ หรือนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับพลังงาน เรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงาน จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เป็นต้น” นายเมธีกล่าว
สำหรับประมาณการอื่นๆ ธปท. ปรับลดลงทั้งหมดได้แก่
1. เป้าส่งออกจาก 1% เหลือ 0.8% โดยระบุว่าเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะประเทศจีนที่กำลังปฏิรูปเศรษฐกิจและเอเชียที่ชะลอตามการส่งออกไปยังประเทศจีนและประเทศผู้ส่งออกน้ำมันลดลง ราคาสินค้าส่งออกตกต่ำลงตามราคาน้ำมันโลก แม้การส่งออกบริการจะขยายตัวได้ดี
2. การลงทุนของเอกชนปรับลดจาก 7.2% เป็น 3.1% เนื่องจากกำลังรอความชัดเจนของเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐ รวมไปถึงสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ
และ 3. การบริโภคภาคเอกชนถูกปรับลดจาก 3.1% เหลือ 2.4% เนื่องจากความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและไทยที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ครัวเรือนใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกัน รายได้เกษตรกรยังตกต่ำเป็นเวลานาน หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ
“ประสาร” ย้ำต้องสร้างภูมิคุ้มกัน อย่าใจอ่อน ระบุ “กระสุน” แบงก์ชาติยังไม่หมด
ในรอบสัปดาห์เดียวกัน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยหลังให้ความเห็นแก่กรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อกรณีการปรับนโยบายการเงิน (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.75%) ว่านโยบายการเงินโดยตัวมันเองยังมีข้อจำกัดในเรื่องของผลกระทบ ควรนำมาใช้อย่างระมัดระวังในจังหวะที่เหมาะสม และต้องดำเนินควบคู่ไปกับการนโยบายด้านอื่นๆ ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยที่ผ่านมา มองว่านโยบายการเงินยัง “จำเป็น” ต้องผ่อนคลายเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจต่อไป
“การคาดการณ์ของ กนง. ต้องมีการพิจารณาตัวเลขการฟื้นตัวในด้านต่างๆ ซึ่ง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงนำไปสู่การประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนนโยบายการเงินในอนาคต กระสุนยังมีอยู่ ไม่หมด ไม่ต้องกังวล” นายประสารกล่าว
นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนในเรื่องเศรษฐกิจโลกและแนวทางนโยบายเศรษฐกิจว่า สถานะภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบแปลกๆ ของเศรษฐกิจใหญ่ๆ ได้สร้างความไม่แน่นอนและความอ่อนไหวในตลาดการเงินจนเกิดความผันผวน ดังนั้น การดำเนินนโยบายโดยทั่วไปจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันของเราให้เข้มแข็ง ดังที่พูดในสุนทรพจน์ก่อนหน้านี้
ดร.ประสารกล่าวต่อว่า การดำเนินนโยบายบางเรื่องอย่าใจอ่อนเกินไป เพราะถ้าใจอ่อนก็จะกลับไปแบบเก่า ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการลงทุน ที่ผ่านมาเราส่งเสริมอะไรก็ได้ แต่ตอนหลังเน้นรายกลุ่มมากขึ้น พวกอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะและไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีไม่ควรส่งเสริมเพราะไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มเติมอะไร แรงงานเราขาดแคลน เป็นต้น

สภาพัฒน์ย้ำไตรมาสแรกโต3% – “ประยุทธ์” จีดีพีต้องจี้เกาะกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ 3-4.5%
ขณะที่ฝั่งรัฐบาลได้ออกมารายงานภาวะเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% เติบโตขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวได้ 2.3% โดยปัจจุบันรัฐบาลได้เร่งรัดการใช้งบประมาณค้างท่อในปี 2556-2557 และเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 เช่น การที่ ครม. อนุมัติกู้เงิน 40,692 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ไปจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน เป็นการนำไปลงทุนเสริมจากงบประมาณปกติ เป็นต้น
นอกจากนี้ อานิสงส์ของการที่ กนง. ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม ได้ช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน เนื่องจากจะมีต้นทุนทางการเงินลดลง
“ในตอนนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่มีแน่นอน และผมมั่นใจว่าปี 2558 ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเมื่อทั้งสองส่วนนี้ขยับ จะส่งผลให้เกิดการบริโภคตามมา โดยเฉพาะการบริโภคของคนชั้นกลางจะเข้ามาทดแทนการบริโภคของประชาชนในภาคเกษตรที่มีลดลงเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกไม่ดี นอกจากนี้ ครม. เศรษฐกิจเห็นชอบให้มีการติดตามโครงการที่อนุมัติไปแล้วว่ามีผลอย่างไรในทุก 3 เดือน ว่ามีเม็ดเงินลงไปเท่าใด เพื่อดูว่าจะเร่งรัดตรงไหน รวมทั้งให้ติดตามดูแลภาคเกษตรด้วย” นายอาคมกล่าว
ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากรายงานภาวะเศรษฐกิจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทราบว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในช่วงชะลอตัว “อย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่งอ้างอิงจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่าในเดือนมกราคมได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกลงจาก 3.8% เหลือ 3.5% ทั้งนี้ ต้องจับตาดูกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งถูกปรับลดจีดีพีจาก 4.9% เหลือ 4.3% พล.อ. ประยุทธ์ได้สั่งการเพิ่มเติมให้หายุทธศาสตร์เพื่อเกาะกลุ่มใกล้เคียงกับการเจริญเติบโตของประเทศเกิดใหม่ และมอบหมายให้เลขาสภาพัฒน์ดำเนินการต่อไป