ภายหลังการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนรับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้ง 32 คน 34 ตำแหน่ง เตรียมการเพื่อแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. และเข้าปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ทันที โดยจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกในวันอังคารที่ 9 เดือน 9
ก่อนเข้ากระทรวงในวันศุกร์ที่ 5 กันยายน 2557 สำนักข่าวไทยพับลิก้าขอนำเสนอทรรศนะของ 2 รัฐมนตรีด้านสังคม ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “จับชีพจรประเทศไทย” (A Nation in Decline) ซึ่งจัดทำโดย สถาบันอนาคตไทยศึกษาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมจัดทำเนื้อหา ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2556
“ยงยุทธ ยุทธวงศ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ประธานกรรมการสรรหา สภาปฏิรูป ด้านการศึกษา

“รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ต่างก็ไม่ให้ความดูแลเอาใจใส่และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างจริงจัง เห็นได้ชัดจากงบประมาณซึ่งไม่ได้จัดสรรให้ตามที่พูดไว้ จากเดิมงบวิจัยของไทยอยู่ในระดับ 0.2% ของรายได้ประชาชาติ สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล บอกว่าจะเพิ่มเป็น 1% ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะให้เป็น 2% แต่ในความเป็นจริง งบที่ได้รับการจัดสรรจริงไม่ได้เพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย กลับลดลงด้วยซ้ำ”
“สิ่งที่เราเห็นก็คือ ไม่มีการติดตามในสิ่งที่รัฐบาลพูดไว้ แต่การกระทำยังไม่เกิดขึ้นเลย ในขณะเดียวกัน แม้จะมีการบรรจุวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตลอดระยะที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ แผนก็เป็นเพียงแค่แผน เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามแผนแต่อย่างใด”
“จริงอยู่ที่ความแข็งแกร่งของประเทศไทยคือการเกษตร แต่เราอาจต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมอาหารหรือส่งออกผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว ผมคิดว่าถ้าเราไม่ทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า ประเทศจะน่าเป็นห่วงมาก อย่าว่าแต่การออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) เลย แม้แต่การรักษาระดับรายได้ปานกลางก็อาจจะเป็นเรื่องยากด้วยซ้ำไป”
“โครงสร้างของระบบการศึกษาของเราแย่มาก เพราะยังถูกควบคุมโดยส่วนกลาง และไม่มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย…การศึกษาในศตวรรษใหม่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบจากการสอนโดยครูหรือตำรามาเป็นการเรียนรู้โดยผู้เรียนผ่านครูและสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ แต่เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอกับจิตวิญญาณของการเปลี่ยนแปลงนี้ กลับให้ความสำคัญกับวัตถุ เครื่องมือ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต”
“ระบบการศึกษาไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการผลิตแรงงานอาชีวะที่มีความสำคัญมาก คนไทยมีค่านิยมว่าต้องเป็นเจ้าคนนายคน ต้องไม่ทำงานที่ทำให้มือเปื้อน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ฝึกให้นักศึกษาทำงานด้วยมือและด้วยตนเอง ปัจจุบันเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ปานกลางมักไม่อยากเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จะเลือกไปเรียนทหารมากกว่าอาชีวะ เพราะกลัวเรื่องตีกัน ทำให้ค่านิยมระดับแรกๆ จะเป็นทหาร ตำรวจ แล้วค่อยมาอาชีวะ”
“ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (competitiveness) ที่วัดโดย International Institute for Management Development หรือ IMD ซึ่งถ้าดูความสามารถในการศึกษา เราอยู่ในลำดับที่เกือบ 50 ถ้ายังเป็นแบบนี้ สิ่งที่จะเห็นคืออันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะถูกดึงให้ต่ำลงในระยะยาว”
“ถ้าถามว่าการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางมีความจำเป็นหรือไม่ ผมคิดว่าสำหรับรายบุคคลอาจจะไม่จำเป็น แต่สำหรับประเทศเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะถ้าประเทศไม่ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะในด้านการค้า อุตสาหกรรม และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ไทยก็เหมือนประเทศตกโลก และทุกอย่างในประเทศจะเดือดร้อนและลำบากทั่วกันไปหมด”
“ผมอยากให้ดูตัวอย่างประเทศที่สามารถก้าวข้ามไปเป็นประเทศร่ำรวยอย่างไต้หวัน เกาหลี หรือแม้แต่สิงคโปร์ ตัวแปรสำคัญแห่งความสำเร็จคือผู้นำต้องเอาจริง เมื่อผู้นำเอาจริง สังคมก็เอาด้วย ประชาชนก็ยินดีทำงานหนักและมองถึงอนาคตในระยะยาว มีความเชื่อมั่นว่าความรู้และการศึกษาจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาประเทศในอนาคต”
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

“เรื่องการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการแพทย์ เป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกัน เพราะมีความเชื่อมโยงต่อกัน และสามารถกระทบไปเป็นปัญหาทางสังคมได้ ฉะนั้น การแก้ปัญหาจะมองแบบแยกส่วนไม่ได้ เพราะการหยิบตัวหนึ่งขึ้นมาก็จะกระทบตัวอื่นๆ ไปด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและการแก้ปัญหาของแต่ละเรื่องจะต่างกัน จึงต้องแยกให้เห็นรายละเอียด ทั้งด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ และด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี”
“ประเด็นสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาขาดทั้งมาตรฐานและคุณภาพมี 3 ประการ ประการแรก รัฐบาลขาดความมุ่งมั่นที่จะดูแลระบบการศึกษา 20 ปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะปฏิรูประบบการศึกษา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง รัฐต้องทำหน้าที่อย่างจริงจังที่จะทำให้ระบบการศึกษาเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งเข็มทิศ เป็นผู้สนับสนุน และเป็นผู้สร้างรากฐานในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผมเป็นอธิการบดี 1 ปี 8 เดือน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาเปลี่ยนถึง 4 คน ในช่วง 1 รัฐบาล สะท้อนว่ารัฐบาลขาดความต่อเนื่องที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง”
“ปัญหาที่สอง มาตรฐานครู ยังไม่สามารถพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ควรจะเป็น เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ยังไม่สามารถสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพอและมีจำนวนมากพอ ที่จะเป็นครูเพื่อสอนเด็ก ปัญหาเรื่องครูในด้านความรู้ความสามารถ ความทุ่มเทในการสอนและคุณธรรมของวิชาชีพ ตลอดจนการมีหนี้สินจำนวนมาก ก็ดึงคุณค่าทางสังคมของอาชีพครูให้น้อยลงไปอีก”
“ปัญหาที่สาม สังคมสนใจแค่ปริญญา ทำให้ไทยขาดแคลนแรงงานทักษะ เด็กต้องการเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ปริญญา ไม่ใช่เพราะต้องการเป็นนักวิจัยหรือต้องการพัฒนาตนเองเพื่อศักยภาพในการทำงาน เรียนเพื่อฐานะทางสังคม ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวะอย่างรุนแรง โจทย์ของระบบการศึกษาคือทำอย่างไรที่ทำให้คนสนใจหันมาเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น เมื่อจบอาชีวะสามารถประกอบอาชีพที่มีเกียรติ มีรายได้เพียงพอดูแลครอบครัว”
“คนไทยขาดค่านิยมหลัก 3 เรื่อง ที่จะหนุนให้ประเทศก้าวหน้าได้ เช่น ค่านิยมที่ต้องมั่นคงในคุณธรรม ประชาชนรุ่นใหม่ต้องยอมรับไม่ได้ต่อการคอร์รัปชัน ที่น่าตกใจคือทุกวิชาชีพมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน แม้แต่อาชีพครูก็มีข่าวทุจริตในการสอบครูผู้ช่วยจนต้องสอบใหม่ แม้แต่อาชีพตำรวจชั้นประทวน ที่จะสอบเพื่อเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรก็ยังมีเรื่องทุจริตในการสอบเช่นกัน”
“ค่านิยมเรื่องที่สอง ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่นิ่งดูดายต่อความไม่ชอบมาพากล อยากทำให้สังคมนั้นดีขึ้น เมื่อเรียนจบต้องตอบสนองความต้องการของสังคม ช่วยพัฒนาแก้ไขปัญหาสังคม ไม่ใช่เรียนเพื่อตอบสนองเฉพาะความต้องการของตนเอง”
“ค่านิยมที่สาม การทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่ใช่เกี่ยงกันไปมา ประเทศไทยประสบปัญหามากเกี่ยวกับการทำงานแบบไม่บูรณาการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีแก้ปัญหาอุทกภัยปี 2554 ทำให้เห็นการทำงานที่ไม่บูรณาการ ระหว่างกรุงเทพฯ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล”
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์ละสุขภาพไทย ยังมีปัญหาที่ต้องการแก้ไขพัฒนา 6 ประการ
1. เงินในระบบประกันสุขภาพไม่เพียงพอ ในขณะที่ยังใช้ประโยชน์จากภาคเอกชนในระบบประกันสุขภาพได้ไม่มากนัก สาเหตุที่เงินไม่พอเพราะระบบการจ่ายเงินของรัฐเป็นรายหัว การคิดเงินแบบเหมาจ่าย
2. ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศสูงขึ้น ในขณะที่เมืองไทยไม่สามารถผลิตยาและเครื่องมือได้เอง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเฉพาะที่กรมบัญชีกลางมีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านบาท ยาและเทคโนโลยีแพงขึ้น
3. จำนวนแพทย์ทั่วไปยังน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับแพทย์เฉพาะทาง
4. แพทย์และพยาบาลยังกระจุกตัวอยู่ในเมือง มากกว่าจะออกไปต่างจังหวัด
5. ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยแย่ลง 20 ปีที่ผ่านมามีการฟ้องร้องแพทย์เพิ่มมากขึ้น การปลูกฝังแพทย์รุ่นใหม่ให้เป็น “แพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์” มากขึ้น
6. การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ยังไม่เชื่อมโยงกับความต้องการของสังคม