ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯไม่พอใจยอดท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว วอนคนมีเงินช่วยใช้จ่าย–มติ ครม.อนุมัติงบฯฟื้นฟูลอตแรก 92,400 ล้าน

นายกฯไม่พอใจยอดท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว วอนคนมีเงินช่วยใช้จ่าย–มติ ครม.อนุมัติงบฯฟื้นฟูลอตแรก 92,400 ล้าน

8 กรกฎาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯ ยังไม่พอใจยอดท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว วอนคนมีเงินช่วยใช้จ่าย เผยงบฟื้นฟูฯ ลอตแรกดูแลเกษตรกรก่อน-ภาคธุรกิจคิวถัดไป จี้หน่วยงานรัฐเร่งจ้างงาน มติ ครม.อนุมัติงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจลอตแรก 92,400 ล้าน ตั้ง “ทวีพงษ์” นั่งผู้ว่าการเคหะฯ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

ร.10 มีกระแสรับสั่งดูแล ปชช. ให้เป็นธรรม-สามัคคี-รักษาอัตลักษณ์ไทย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะเรียนให้ทราบคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อจัดซื้อรถพยาบาลในลักษณะรถเคลื่อนที่จำนวน 13 คัน เพิ่มเติมจากที่กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาและมีอยู่ เพื่อให้ครบเขตการบริการเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

และจากการเข้าเฝ้าเพื่อถวายข้อราชการตามห้วงระยะเวลาของรัฐบาลให้ทรงทราบ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ทรงรับสั่งมาเรื่องแรก คือ การชมเชยขอบคุณทั้งรัฐบาลและในส่วนของเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขและทุกคนที่ทำหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งวันนี้ก็ได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานภายนอกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นความน่าภาคภูมิใจของประเทศไทย ซึ่งทรงพระราชทานกำลังใจให้กับส่วนนี้เป็นพิเศษ

เรื่องที่ 2 ทรงมีกระแสรับสั่งในเรื่องของความรัก ความสามัคคี และรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดูแลเรื่องความเป็นธรรม ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ พระองค์ทรงเน้นย้ำในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งทำให้บ้านเมืองของเรานั้นมีเสถียรภาพให้ดีที่สุด บริหารจัดการทุกอย่างให้ได้ในทุกมิติ ในส่วนปัญหาใดก็ตามที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ก็ขอให้รัฐบาลได้มีแผนงานโครงการในการลงไปดูแลให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม

“สิ่งที่ทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษคือเรื่องของน้ำ เรื่องของป่า เรื่องของการเก็บน้ำเพื่อประชาชนที่ยังคงได้รับความเดือดร้อนอยู่ในส่วนของการบริหารราชการอื่นๆ นั้นรัฐบาลก็จะทำหน้าที่ของรัฐบาลให้ดีที่สุดเพื่อสนองพระราโชบาย โดยเฉพาะเรื่องการสืบสานรักษาและต่อยอดเหล่านี้”

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีกระแสรับสั่งอีกเรื่องคือประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งเราทุกคนควรภูมิใจในเรื่องเหล่านี้และรักษาไว้ให้ได้ และเราคงต้องเปรียบเทียบกับต่างประเทศด้วยว่าเรามีความแตกต่างกับเขาอย่างไรในบริบทต่างๆ หลายอย่าง ซึ่งรัฐบาลก็รับสนองฯ ตรงนี้ เราต้องช่วยกันศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ได้

“เรามีการพัฒนามาตามลำดับ หลายคนยังมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ตนเข้าใจ แต่ก็ต้องนึกถึงด้วยว่าที่ผ่านมาเราได้อะไรไปแล้วบ้าง ในส่วนตรงนี้หลายคนก็ได้ไปแล้ว แต่ยังไม่พอเพราะความต้องการไม่มีวันสิ้นสุด ตนเข้าใจดี เราเองก็ต้องค่อยๆ ทยอยดำเนินการ จัดลำดับสำหรับความเร่งด่วนของแผนงานโครงการ การใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด สิ่งเรานี้ต้องไปด้วยกันให้ได้ ด้วยความรัก ความสามัคคีไปด้วยกัน เพื่อสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็งต่อไป ต้องทำให้ประเทศไทยและประชาชนมีความสุข เราต้องให้ประชาชนทั้งปลาและเบ็ดเพราะถ้าเราให้ปลาไปเยอะมากๆ งบประมาณเราก็มีจำกัดก็จะกลายเป็นปัญหางบประมาณในอนาคตเราต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย”

เผยงบฟื้นฟูฯลอตแรกดูแลเกษตรกรก่อน-ภาคธุรกิจคิวถัดไป

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องสำคัญวันนี้ ครม. ได้อนุมัตินำเสนอหลักการ โครงการ ในระยะที่ 1 ในเรื่องของการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เเงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งระยะแรกจะเน้นหนักด้านการเกษตรก่อน เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน ในส่วนนักธุรกิจ เอสเอ็มอี เป็นอีกเรื่องที่จะทยอยมีมาตรการออกมาตามลำดับ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รัฐบาลต้องหามาตรการที่เหมาะสมด้วยความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ตลอดจนกลไกของรัฐ หรือกลไกต่างๆ กองทุนต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม ในการที่จะให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ในช่วงนี้

“สถานการณ์ในช่วงเวลานี้ถือว่าประชาชนอยู่ในช่วงเวลาที่ลำบาก และรัฐบาลก็อยู่ในห้วงเวลาที่บริหารราชการลำบาก วันนี้มีการอนุมัติโครงการระยะแรกก่อน ในวงเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งให้มีหลายระยะด้วยกัน ส่วนระยะที่ 2 ก็ต้องเตรียมการที่จะนำเข้า ครม.เพื่ออนุมัติ ต่อไป”

สำหรับเรื่องของเอสเอ็มอีและซอฟต์โลน รัฐบาลก็จำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงในเรื่องของแหล่งเงินทุน ซึ่งต้องมีการระมัดระวังการใช้จ่าย ปัญหาหนี้เสียในอนาคตด้วย รัฐบาลต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทุกคนก็ทราบดีถ้ากู้ไปโดยไม่มีหลักทรัพย์ เราก็จำเป็นต้องดูแลเขา แต่จะดูแลได้เท่าไหร่ เพียงใด อย่างไร รัฐบาลก็ไม่เคยทอดทิ้ง

“ในเรื่องของงบฯ ฟื้นฟูระยะแรกไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 มีอีก 3 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้กำลังดำเนินการในส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน และทยอยดำเนินการในระยะต่อไป โดยจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รวมถึงต้องระมัดระวังการตรวจสอบจากภาคประชาชน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องกวดขันเข้มงวดในเรื่องเหล่านี้”

จี้หน่วยงานรัฐจัดงบฯจ้างงานในท้องถิ่น

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญสุดคือต้องทำให้เกิดการจ้างงาน เนื่องจากบางธุรกิจไม่สามารถประกอบกิจการได้ สินค้าส่งออกไม่ได้ เพราะความต้องการจากต่างประเทศลดลง เป็นเรื่องของห่วงโซ่การตลาด และสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งวันนี้ได้มีการเร่งรัดการส่งออกผลไม้ ทั้งทางบก ทางเรือ และมีการพัฒนาเรื่องด่านให้สามารถดำเนินการเรื่องการขนส่งได้ โดยได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน และทราบจากกระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นไปได้ด้วยดี

“รัฐบาลจำเป็นต้องปรับกลไกให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเราคงไม่ใช่ประเทศที่เดือดร้อนประเทศเดียว มันเดือดร้อนทุกประเทศทั่วโลก อยู่ในห่วงโซ่ทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงต้องเร่งรัดการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำชับทุกหน่วยงานจัดทำงบประมาณในการจ้างงาน ถ้าไม่เพียงพอรัฐบาลก็จะหามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมลงไป อาจจะเป็นการจ้างงานรายวัน รายชั่วโมง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และใช้โครงการที่มีอยู่แล้วเดิม บ้าน วัด โรงเรียน ที่จะมีการจ้างงานในท้องถิ่น และในส่วนของวัดก็ต้องร่วมมือกันในวัด ดูแลปรับปรุงวัด เกิดการจ้างงาน อยู่ในแผนการใช้งบประมาณอีกส่วนหนึ่ง

พร้อมทั้งเน้นย้ำในเรื่องของแหล่งน้ำที่ในบางพื้นที่มีโครงการอยู่แล้วแต่ต้องหยุดเพราะมีปัญหาเรื่องดิน ซึ่งตนได้ให้แนวทางไปแล้วในการไปดูในเรื่องแรงงาน เรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันหลายกระทรวงด้วยกัน เพราะมีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งต้องบูรณาการกฎหมายที่เรามีให้ได้

ไม่พอใจยอดท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว วอนคนมีเงินช่วยใช้จ่าย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาว่า วันนี้ทราบว่ามีการประเมินว่ามีการท่องเที่ยวมากขึ้น มีการเข้าพักตามโรงแรมต่างๆ มากขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้ธุรกิจดีขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์ก็จะดีขึ้นตามลำดับ จากมาตรการผ่อนคลายป้องกันโควิด-19 ระยะที่ 4 และระยะที่ 5 ของรัฐบาล ซึ่งก็ต้องมีระยะต่อไป สำหรับเรื่องการท่องเที่ยวก็ขอให้ช่วยกันใช้จ่ายบ้างสำหรับผู้ที่มีเงิน ส่วนผู้ที่ไม่มีเงินขอให้เก็บหอมรอมริบ วันนี้ขอฝากให้ประชาชนผู้ที่มีสตางค์ช่วยกันใช้จ่ายบ้าง

“ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนคงมีโอกาสได้ไปพักผ่อนผมเองไม่ได้ไปไหนอยู่ในกรุงเทพฯ และติดตามงานทุกวัน อะไรบ้างสิ่งที่จะเป็นปัญหาอุปสรรคก็ต้องมาคิดเพื่อจะมาถ่ายทอดในวันนี้ให้คณะรัฐมนตรีทราบว่าเราคิดตรงกันหรือไม่ วันนี้เราต้องเดินหน้าไปด้วยกันไม่ว่าจะเป็นในภาคของรัฐบาล ข้าราชการ ธุรกิจเอกชน สมาคมผู้ประกอบการทั้งหลาย ต้องทำงานร่วมกันหาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพราะเราทราบดีว่างบประมาณมีแค่ไหนอย่างไร ต้องเตรียมแผนงานตรงนี้ไว้เพื่อรองรับสถานการณ์หากมีการแพร่ระบาด ซึ่งวันนี้งบเยียวยายังคงมีเหลืออยู่เพื่อรองรับสถานการณ์ตรงนี้”

พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงมีเหลืออยู่ ตนไม่อยากให้ทุกคนต้องกังวล รัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้ว หากไม่มีการแพร่ระบาดระลอกสองก็สามารถใช้ในแผนงานอื่นได้ พร้อมระบุว่า หลายอย่างเดินหน้าไม่ได้หากมีความไม่เข้าใจมีการบิดเบือนต่างๆ ตนขอฝากสื่อและสังคมพิจารณาด้วยว่าเจตนาของรัฐบาลนั้นต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

“ขอบคุณนะครับ ขอให้รักษาตัวในช่วงนี้เพราะเรากำลังเดินหน้าด้านการท่องเที่ยวในประเทศและการเปิดกิจการต่อไป หากทุกคนไม่ระมัดระวังก็จะเดินหน้าไปไม่ได้ต้องย้อนกลับมาที่เดิม ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้น เรื่องใดก็ตามที่พูดออกมาในสื่อในโซเชียลหน่วยงานก็ได้ชี้แจงไปบ้างแล้วก็ขอให้รับฟังการชี้แจง ลดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขัดแย้งโดยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทำให้เกิดปัญหากับประเทศชาติ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในการชี้แจงต่อ ครม. ผมได้เน้นย้ำในเรื่องการชี้แจงสื่อสารของกระทรวง แต่คงไม่ได้ทำครั้งเดียว ต้องพูดด้วยว่า สิ่งที่ทำไปแล้ว ผลสัมฤทธิ์เกิดอะไรขึ้น และเกิดผลประโยชน์โดยตรงโดยอ้อมอย่างไร การลงทุนในอนาคตต้องไปด้วยกันทั้งหมด เป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้เข้าถึงการบริการของภาครัฐ นั่นคือโอกาสความเท่าเทียมและเรื่องความเป็นธรรม ดูแลผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามต้องไม่ให้เป็นภาระงบประมาณระยะยาว อันนี้เป็นสิ่งที่เราเผชิญหน้าอยู่ทุกวัน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ฉะนั้นรัฐบาลต้องทำอย่างดีที่สุด ตนขอยืนยันในเจตนารมณ์ของตนเอง

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เห็นชอบจัดงบกลาง 506 ล้านบาท บริหารจัดการน้ำ – ขุดลอกคลอง

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบงบกลาง วงเงิน 506.67 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านน้ำทั่วประเทศ 76 จังหวัด พร้อมทั้งโครงการขุดลอก 7 คลองหลัก และ 53 คลองสาขาในกทม. รวมทั้งสิ้น 68 โครงการ เพื่อรองรับน้ำฝนในปี 2563 นี้

อนึ่ง โครงการจะดำเนินการโดย 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน สทนช. และ กทม. ในส่วนของกรมชลประทานมีโครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพานอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง และแผนงานขุดลอกคลองสายหลักและคลองสาขาในพื้นที่หนองจอก 3 คลอง จำนวน 6 โครงการ และมีแผนงานกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมความพร้อมในการเร่งระบายน้ำหลากในช่วงฤดูฝนอีก 215 แห่ง”

ขณะเดียวกัน มีโครงการของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกอบด้วย 1. การจัดทำแบบจำลองทางกายภาพลุ่มน้ำเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 17 ลุ่มน้ำ 2. ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด (76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คณะ คณะละ 6 ครั้ง) และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด (76 จังหวัด จังหวัดละ 2 คณะ คณะละ 6 ครั้ง) 3. โครงการ/รายการ กทม. แผนการดำเนินการขุดลอกคลองหลัก 7 คลอง และคลองสาขา 53 คลอง ใน กทม. พื้นที่หนองจอก รวม 60 โครงการ

ตั้ง “บิ๊กป้อม” คุมค้ามนุษย์แทน “จุรินทร์”

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. ได้มอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

“ทั้งหมดนี้เพื่อให้มีการดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่กรรมการต่างๆ โดยสรุปเป็นสองคณะกรรมการที่เปลี่ยนจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็น พล.อ. ประวิตร” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

จัดเลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการเขต 5

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการเขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 และทั้งหมดนี้จะกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่เท่าไหร่จะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป

“ทั้งนี้ กกต. ได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขตเลือกตั้งที่ 5 ใหม่แทนนายกรุง ศรีวิไล สุทินเผือก” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

ผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พร้อมทั้งเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย เนื่องจากมีส่วนที่เกี่ยวข้องกัน โดยสาระสำคัญของกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวมีหลักการเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองงอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิวัติ และให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

อนึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้

  • คำว่า “คู่ชีวิต” ภายใต้กฎหมายหมายถึงบุคคลที่มีเพศโดยกำเนิดเดียวกันและได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
  • กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาคดีตามกฎหมายนี้
  • การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุครบ 17 ปีและมีสัญชาติไทยหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
  • กำหนดให้กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิตจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
  • กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกันสามีหรือภรรยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  • กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินคู่ชีวิตโดยแบ่งเป็นสินส่วนตัวและสินทรัพย์ร่วมกัน
  • คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งสามารถจดทะเบียนรับผู้เยาว์ของคู่ชีวิตอีกฝ่ายมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองก็ได้
  • เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
  • กำหนดให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรมมาใช้บังคับได้โดยอนุโลม

ขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ กำหนดให้ชายหรือหญิงทำการสมรสขณะที่คนมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้ รวมไปถึงกรณีสามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดูผู้อื่นฉันคู่ชีวิต, กำหนดให้เหตุผลฟ้องหย่าและกำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

“ครม. ยังเห็นชอบกระทรวงยุติธรรมประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว รวมถึงให้กระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะว่าแม้ว่าจะเป็นการรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกันและเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัวแล้ว แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมในทุกๆ สิทธิเช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ ฉะนั้นการประเมินและติดตามการใช้กฎหมายจึงสำคัญและจำเป็น และจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ตามมา เพื่อคุ้มครองสิทธิอื่นๆ ของคู่สมรสเพศเดียวกัน”

เคาะสร้างอ่างเก็บน้ำ “ห้วยกรอกเคียน” 1,800 ล้าน รองรับ EEC

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติให้กรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน ที่บ้านอ่างเตย ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและรองรับการเจริญเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี

โครงการมีระยะเวลา 4 ปีตั้งแต่ 2564-2567 กรอบวงเงิน 1,880 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง วงเงิน 680 ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินให้แก่เกษตรกร 1,200 ล้านบาท ด้วยเนื้อที่ 6,400 ไร่เป็นพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งหมด

“ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนคาดว่าจะมีแหล่งน้ำต้นทุน 19.2 ล้านลูกบากศ์เมตร มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ในช่วงฤดูฝน 11,000 ไร่และฤดูแล้งจำนวน 3,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีประมาณ 3 ล้านลูกบากศ์เมตรต่อปี และเป็นการรักษาสมดุลของระบบนิเวศในการเสริมศักยภาพในการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางประกง 1.3 ล้านลูกบากศ์เมตรต่อปี”

นอกจากโครงการนี้แล้ว ครม. ยังรับทราบรายงานแผนการสร้างแหล่งเก็บน้ำระยะยาวในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง ซึ่งจะดำเนินการในปีต่อๆ ไป

เตรียมลงนามเปิดเส้นทางส่งออกผลไม้ไปจีน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นการลงนามระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

“ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามในพิธีสารฯ ซึ่งกำหนดให้ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีน ใช้เส้นทางจากด่านมุกดาหาร เข้าสู่จีนตอนใต้ที่ด่านโหย่วอวี้กว่าน เมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกวางซีจ้วง (เส้นทาง R9) และกำหนดเส้นทางขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนและจากจีนมายังไทยผ่านด่านเชียงของ และด่านโม่หาน มณฑลยูนนาน (จีนตะวันตก) (เส้นทาง R3) รวมทั้งการกำหนดมาตรการกักกันโรคและตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง”

แต่ด้วยปัจจุบันไทยส่งออกผลไม้ไปจีนในปริมาณมาก โดยเฉพาะในฤดูกาลผลไม้ของไทย ประกอบกับด่านที่จีนอนุญาตให้นำเข้ามีจำกัด ส่งผลให้เกิดปัญหารถติดสะสมหน้าด่านนำเข้า สร้างความเสียหายต่อคุณภาพและราคาของผลไม้ไทย ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งเจรจาผลักดันให้จีนให้เปิดด่านนำเข้าผลไม้และเส้นทางในการขนส่งผลไม้จากไทยเพิ่มเติม และฝ่ายจีนก็ได้เห็นชอบแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการลงนามในพิธีสารฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากที่ได้เคยลงนามมาแล้วเมื่อปี 2552 และ 2554 แต่ได้ระบุให้ฝ่ายจีนเพิ่มด่านนำเข้าผลไม้จากไทย รวมทั้งอนุญาตให้ฝ่ายไทยใช้เส้นทางใดก็ได้ในการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนเพื่อแก้ปัญหาการขนส่งและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกของไทย

โดย พิธีสารฯ ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ผลไม้ที่นำเข้าและส่งออกของทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นผลไม้ที่ได้รับอนุญาตระหว่างกันโดยจะต้องจัดส่งข้อมูลทะเบียนรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนของแต่ละฝ่าย
  2. ผลไม้ต้องได้รับการบรรจุในผลิตภัณฑ์ใหม่สะอาดและอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หรือตู้ควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่ง
  3. ก่อนการส่งออกต้องมีการสุ่มเก็บตัวอย่างของผลไม้เพื่อตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยเมื่อสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
  4. ห้ามมิให้มีการเปิดตู้ผลไม้ระหว่างการขนส่งผ่านประเทศที่สาม
  5. ด่านนำเข้าและส่งออกของจีน: โหย่วอี้กว่าน โม่หาน ตงซิง สถานีรถไฟผิงเสียง
  6. ด่านนำเข้าและส่งออกของไทย: เชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ

“การจัดทำพิธีสารฯ ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ ซึ่งเป็นผลไม้เมืองร้อนที่เน่าเสียง่าย ไปยังจีนโดยเส้นทางบกผ่านประเทศที่สามได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ผลไม้ที่เรานำเข้าจากจีนเป็นผลไม้ที่เก็บรักษาได้นานจึงใช้การขนส่งโดยทางเรือเป็นหลักเพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่า ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ผ่านด่านโหย่วอี้กว่าน พบว่า มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณ 52,005 ตัน มูลค่า 1,921 ล้านบาท ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 580,764 ตัน มูลค่า 28,220 ล้านบาท ในปี 2562 คาดว่าจะมีการลงนามหลังจากผ่านช่วงโควิด-19 แต่ขณะนี้ทางการจีนได้อนุโลมให้ไทยทำการขนส่งผลไม้ได้ตามข้อตกลงใหม่ ไปพลางก่อนแล้ว”

อนุมัติงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลอตแรก 92,400 ล้าน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบโครงการและวงเงินภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ในรอบที่ 1 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอ โดยในรอบที่ 1 นี้ มีข้อเสนอโครงการเบื้องต้นของหน่วยงานต่างจำนวน 186 โครงการ กรอบวงเงิน 92,400 ล้านบาท

แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ 1. แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 50,000 ล้านบาท 2. แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 20,000 ล้านบาท และ 3. แผนงานการกระตุ้น อุปโภคบริโภคและกระตุ้นการท่องเที่ยว 22,400 ล้านบาท ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ

โดยในการประชุม ครม. ครั้งนี้ ได้อนุมัติโครงการเพิ่มเติมอีก อีก 5 โครงการ วงเงิน 15,520 ล้านบาท เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยอนุมัติโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” ไปจำนวน 22,400 ล้านบาท ดังนี้

  1. โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9,805.707 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่กรกฎาคม 2563 ถึงกันยายน 2564 โดยเป็นการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่และเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตร ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 44,099 ราย เพิ่มการจ้างงานได้ 8,018 ราย และมีพื้นที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง
  2. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,787.916 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่กรกฎาคม 2563 ถึงกันยายน 2564 โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู่ชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่น ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและประชาชน 25,179 ครัวเรือน เพิ่มการจ้างงานเกษตรกร 6,472 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าไม่น้อยกว่า 25,759 ไร่
  3. โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (one-stop service) ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 885 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่สิงหาคม 2563 ถึงกันยายน 2564 โดยฝึกอบรมสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนให้มีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการตรวจวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ย รวมทั้งขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับือเพิ่มการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนประมาณ 2,364 คน ลดต้นุทนการใช้ปุ๋ยเคมีไม่น้อยกว่า 60% หรือประมาณ 18,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 253 ล้านบาท
  4. โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว (safety zone) ของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่กรกฎาคม 2563 ถึงธันวาคม 2563 โดยสร้างต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 5 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเมืองเก่าน่าน หาดบางแสน เอเชียทีค ชุมชนบ้านไร่กองขิง (เชียงใหม่) และเยาวราช รวมไปถึงฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยให้ผู้ประกอบการและร้านค้าต่างๆ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือประเทศไทยมีพื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบสำหรับเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นๆ และมีรายได้กระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก
  5. โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 588 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่สิงหาคม 2563 ถึงสิงหาคม 2564 โดยเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน จ้างงานในชุมชนท้องถิ่นรอบพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า 1,250 คน เพื่อให้ความรู้ในแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนามาตรฐานกิจกรรมดูนกและเดินป่าในพื้นที่ โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อการเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ เช่น ผู้ให้บริการด้านการนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ 1,250 คน ผู้ประกอบการก่อสร้างในท้องถิ่น 125 ราย

ต่อสัญญา “โมโต จีพี” 5 ปี – รัฐช่วยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 900 ล้าน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี 2564-2568 (5 ปี) โดยการต่อสัญญาการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฯ ครั้งนี้ จะมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 3,248 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อสมทบค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันฯ ร้อยละ 50 เป็นเงิน 900 ล้านบาท จากค่าลิขสิทธิ์รวม 50 ล้านยูโร คิดเป็นเงิน 1,800 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

แบ่งเป็น ปี 2564 ค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด 324 ล้านบาท รัฐบาลสมทบ 162 ล้านบาท ปี 2565 ค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด 342 ล้านบาท รัฐบาลสมทบ 171 ล้านบาท ปี 2566 ค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด 360 ล้านบาท รัฐบาลสมทบ 180 ล้านบาท ปี 2567 ค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด 378 ล้านบาท รัฐบาลสมทบ 198 ล้านบาท และปี 2568 ค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด 396 ล้านบาท รัฐบาลสมทบ 162 ล้านบาท

สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะเกินขึ้น เห็นชอบให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นลำดับแรก และหากไม่เพียงพอสามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป โดยสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติได้ และตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีสมทบจำนวนเงิน 2,348 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไประเทศไทยได้เคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฯ ประจำปี 2561-2563 แล้ว โดยรับฐสมทบค่าลิขสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันฯ ไปจำนวน 300 ล้านบาท จากผลการจัดการแข่งขันใน 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสนามแข่งขันที่ดีที่สุดประจำปี 2561 และเป็นสนามแข่งขันที่มีผู้ชมเข้าชมมากที่สุดในฤดูกาล อีกทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการบริโภคต่อเนื่อง การใช้จ่ายในที่พักและอาหารของผู้เข้าร่วม ถึง 4,494 ล้านบาท จึงมีมติเห็นชอบการต่อสัญญาเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ต่อไปอีก 5 ปี

“ในระยะต่อไป กกท. จะดำเนินการเสนอให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบร่างสัญญาการจัดการแข่งขันฯ การลงนามในการต่อสัญญา ร่วมกับ ดอร์น่า สปอร์ต กรุ๊ป ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขัน ซึ่งในการจัดการแข่งขันประจำปี 2563 เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไป อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นคาดว่าจะมีการจัดการแข่งขันในประเทศไทยได้ ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2563 โดยจะดำเนินการคัดกรองตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และหากการแข่งขันฯ ถูกยกเลิก ประเทศไทยจะสามารถโอนค่าลิขสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันไปใช่ในปีต่อไปได้”

เห็นชอบลงนามความร่วมมือประกันสุขภาพฯลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักการต่อร่างเอกสารความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างบูรณการ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ

“ร่างเอกสารนี้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการรับมือกับ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใน ค.ศ. 2030 ในถ้อยแถลงยังได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย การวิจัยและพัฒนาวัคซีนและเวชภัณฑ์ การพัฒนาระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และขอบคุณประเทศญี่ปุ่นญี่ที่เสนอให้เงินช่วยเหลือทางเทคนิคและการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้แก่ประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นจำนวน 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยประเทศสมาชิกจะร่วมมือกันรักษาห่วงโซ่การผลิต เปิดตลาดและเส้นทาง

คมนาคมขนส่ง รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร สอดคล้องตามกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน การส่งเสริมความโปร่งใสและความยั่งยืนของแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ดำเนินโครการต่างๆ

พร้อมกันนี้ ประเทศสมาชิกได้แสดงความชื่นชมญี่ปุ่นที่ได้จัดตั้งโครงการเงินกู้เพื่อสนับสนุนการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan) จำนวนเงินประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในระะเวลา 2 ปีข้างหน้า รวมทั้งข้อริเริ่มเงินกู้และการลงทุนสำหรับอาเซียน (Overseas Loan and Investment for ASEAN) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนสตรีและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และการลงทุนโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ตั้ง “ทวีพงษ์” นั่งผู้ว่ากคช. – ส่ง “กมลินทร์” ชิงเก้าอี้เลขา AALCO

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ทีประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ เป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่เดือนละ 330,000 บาท ค่าตอบแทนผันแปรไม่เกินร้อยละ 30 ของผลตอบแทนรวมในแต่ละปี และร่างสัญญาจ้างผู้บริหารพร้อมสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติจะได้รับตามเอกสารแนบท้ายสัญญา ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้เสนอ นายกมลินทร์ พินิจภูวดล เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งจากประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian-African Legal Consultative Organization-AALCO) ตามที่ กต. เสนอ และให้ กต. ดำเนินการรณรงค์หาเสียงเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐสมาชิกก่อนการเลือกตั้ง

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2563เพิ่มเติม