
หลังจาก “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด” ที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นประธานฯ สรุปความเสียหายโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วงเงิน 286,640 ล้านบาท ส่งให้ “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” ของกระทรวงการคลัง ที่มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานฯ เพื่อพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครอง เรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ล่าสุดนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เปิดเผยว่าเมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2559 ตนได้ลงนามรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ให้เรียกค่าเสียหาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหาย 178,586 ล้านบาท พร้อมกับทำหนังสือผ่านรองปลัดกระทรวงการคลัง นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรี ร่วมกันลงนามคำสั่งทางปกครองแจ้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการดำเนินโครงการดังกล่าว หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เห็นด้วย สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายจิรชัย มูลทองโร่ย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สรุปความเสียหายกว่า 280,000 ล้านบาท เหตุใดคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง วินิจฉัยว่ามีความเสียหายแค่ 178,000 ล้านบาท รวมทั้งกำหนดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหายแค่ 20% (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
นายมนัสกล่าวว่า สำหรับสำนวนการสอบข้อเท็จจริงที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งวินิจจัยนั้น เป็นความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเฉพาะสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มี 4 ฤดูการผลิต เมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วได้แบ่งความเสียหายจากการดำเนินโครงการดังกล่าวออกเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และนาปรัง ปี 2555 มีความเสียหาย 115,342 ล้านบาท ในช่วงปีการผลิตดังกล่าวนี้ ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำข้อเสนอแนะ ประเด็นปัญหา และความเสี่ยงต่างๆ ถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้หามาตรการป้องกัน และหลังจากที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับหนังสือทักท้วงจากหน่วยงานตรวจสอบทั้ง 2 แห่งแล้ว ได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เมื่อคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งพิจารณาจากพยานหลักฐานแล้ว ยังถือไม่ได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ประมาทเลินเล่อ หรือปล่อยปะละเลย ทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งในจุดนี้ทำให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งมีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด
ช่วงที่ 2 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556 และปี 2556/2557 มีความเสียหายเกิดขึ้น 178,586 ล้านบาท โดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งตรวจพบว่า กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี ขอให้ระงับ ยับยั้ง โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว สรุปผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการดังกล่าวกว่า 2 แสนล้านบาท และมีหนี้สินคงค้างกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนว่าโครงการรับจำนำข้าวเสียหาย และเมื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทำหนังสือทักท้วงแล้ว ก็ไม่ระงับ ยับยั้ง ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบความเสียหายในส่วนนี้
ด้าน น.ส.เยาวนุช วิยาภรณ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและระเบียบการคลัง กล่าวถึงสาเหตุที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งลงความเห็นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหายเฉพาะปีการผลิต 2555/2556 และ 2556/2557 เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาจากหลักฐาน 3 ส่วน ดังนี้ คือ 1. ทั้ง สตง. และ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือเตือนเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งนี้ระบุถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจน 2. ช่วงที่มีการประเมินโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือเสนอความเห็นว่าโครงการนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณและมีภาระเงินกู้ และ 3. คณะอนุกรรมการปิดบัญชีรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล สรุปตัวเลขวงเงินความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอย่างชัดเจนเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ทบทวนหรือสั่งชะลอ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ดำเนินการ นี่คือความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งแตกต่างจากคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด ที่มองว่าอดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด
นายมนัสชี้แจงถึงเหตุผลที่คณะกรรมการฯ ลงความเห็นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น 20% ว่า ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 วรรคที่ 2 ระบุว่าการเรียกค่าเสียหายให้คำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำ และต้องให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องชดใช้ความเสียหายเต็มจำนวนก็ได้ วรรคสุดท้าย ระบุกรณีมีเจ้าหน้าที่ร่วมกระทำความผิดหลายคน กำหนดให้รับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากการคดีที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ประชุมไปทั้งหมด 13 ครั้ง จึงลงความเห็นให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบความเสียหาย 20% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 178,586 ล้านบาท คิดเป็นเงิน 35,717 ล้านบาท ส่วนปีการผลิต 2554/2555 และนาปรัง 2555 ไม่ได้จงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
“หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา ทำไมต้องรับผิดทางละเมิด ประเด็นต้องแยกระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้บังคับบัญชา กรณีผู้กำหนดนโยบายไม่ถือว่ากระทำผิดทางละเมิด แต่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจหน้าที่ต้องระงับ ยับยั้ง เมื่อมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าโครงการรับจำนำข้าวเกิดความเสียหาย แต่ไม่สั่งชะลอหรือทบทวนโครงการ ถือว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” นายมนัสกล่าว