นายกฯ สั่งสภาพัฒน์ฯ เปิดเวทีรับฟังคนรุ่นใหม่ในเดือนนี้ เล็งคลายล็อกรับนักลงทุนต่างชาติ ยันทหารสหรัฐ-ญี่ปุ่นถูกกักตัว 14 วัน – มติ ครม. ไฟเขียวกู้เงิน “เอดีบี” เยียวยาโควิดฯ 48,000 ล้าน ปลดล็อกกัญชาเสรี ขยายวงถึง “ผู้ป่วย-หมอพื้นบ้าน”
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
ในหลวง-ราชินี พระราชทานโรงครัว ช่วยผู้ประสบอุทกภัย
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มีการประชุมทางไกลระหว่างศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กับท่านราชเลขานุการในพระองค์ ได้นำเรียนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชกระแสทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน
“ท่านราชเลขานุการในพระองค์แจ้งว่า ขอให้จิตอาสาพระราชทานและจังหวัดเปิดโรงครัวพระราชทานในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือประชาชน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ส่วนรัฐบาลสนองพระราโชบายดังกล่าว”
เล็งคลายล็อกรับนักลงทุนต่างชาติ ยันทหารสหรัฐ-ญี่ปุ่นถูกกักตัว 14 วัน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการอนุมัติแผนการใช้จ่ายเงินกู้ระยะที่ 1 ซึ่งจะมีการทยอยเข้ามาตามลำดับ ซึ่งวันนี้ก็มีการตรวจสอบมีการคัดกรองมีการหารือร่วมกันทุกอย่างต้องทยอยดำเนินการไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีการพิจารณามาตรการการผ่อนคลายต่างๆ ที่จะต้องเปิดให้นักธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาติดต่อธุรกิจ แต่ต้องมีมาตรการที่รัดกุมให้เกิดความเชื่อมั่นเชื่อถือ โดยเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศูนย์โควิดฯ) คาดว่าสัปดาห์จะทราบผล
“หากเรามั่นใจควบคุมได้ ก็มีความจำเป็น แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันนี้ก็รอศูนย์โควิดฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามที่สังคมมีความกังวล กรณีทหารสหรัฐ และญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาฝึกทหารในประเทศไทย และเข้ากักตัว 14 วันในโรงแรมภายในกรุงเทพฯ ว่า กรณีดังกล่าว เรื่องทหารสหรัฐฯ และทหารญี่ปุ่น ทางผู้บัญชาการทหารบกได้ชี้แจงไปแล้ว มีการปรับตัวและมีมาตรการต่างๆ อย่างดีที่สุดทุกคน ถ้าเราป้องกันก็ป้องกันได้ในทุกเรื่องอย่าให้มีการหลุดรอดออกมาก็แล้วกันต้องมีกระบวนการกักตัว 14 วัน และมีการตรวจเชื้อ 3 ครั้ง หากพบติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลทันที ซึ่งหากทุกคนร่วมมือกันก็จะป้องกันได้ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในกระบวนการสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ย้ำจุดยืน หนุนแก้ รธน. ชงฉบับร่างประกบฝ่ายค้าน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงจุดยืนต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า จุดยืนของตนคือให้การสนับสนุนการทำงานของ กมธ. อยู่แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา โดยรัฐบาลก็พร้อมร่วมมือเสนอร่างข้อแก้ไขควบคู่ไปด้วย หากฝ่ายค้านเสนอญัตติเข้ามาในสภา โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในการเปิดประชุมสภาสมัยหน้า เมื่อมีการเสนอร่างควบคู่กันไปจะได้พิจารณาได้ทันที
“เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลมีส่วนร่วมตรงนี้ในฐานะฝ่ายบริหาร หากมีการเสนอร่างเข้ามาก็จะมีร่างของรัฐบาลเสนอเข้าควบคู่ไปด้วยเพื่อพิจารณาต่อกันไป ประเด็นสำคัญก็คือวาระในการเปิดสภาเหลืออยู่เพียงจำกัดเพราะฉะนั้นก็ต้องหารือเรื่องนี้กันต่อไป ว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญตรงไหนอย่างไรก็ต้องรอฟัง กมธ. เสนอมาเราก็เตรียมเสนอร่างฉบับรัฐบาลในเรื่องนี้อยู่แล้ว รัฐบาลยืนยันให้ความร่วมมือทุกประการ ถ้าจะแก้ทั้งหมดเลยก็ต้องไปศึกษาขั้นตอนก่อนว่าใช้เวลาอย่างไรกฎหมายมีทุกตัวหากพูดกันปากเปล่าก็ไม่จบ”
สั่งสภาพัฒน์ฯ เปิดเวทีรับฟังคนรุ่นใหม่ในเดือนนี้
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการชุมนุมของนิสิต นักศึกษาในช่วงเวลานี้ว่า ตนคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของการทำงาน ทุกคนก็ต้องรู้ว่ากลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอย่างไร แต่ขณะเดียวกันตนก็ยืนยันให้แก้ไขในส่วนที่สมควรที่จะแก้ไข ตนไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับ กมธ.ยังมีการหารือร่วมกัน และหลังจากนั้นจะเป็นการรับฟังว่าเขาว่าอย่างไร จากนั้นให้ให้พรรคร่วมมาหารือร่วมกันกับพรรครัฐบาลในการที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญควบคู่กันไป นี้นี่คือกลไกที่ถูกต้อง
“ผมขอร้องว่าอย่าให้มันเกิดความวุ่นวายขึ้นมากนักเลยในช่วงเวลานี้เรากำลังแก้ไขปัญหาหลายอย่างไปด้วยกัน”
เมื่อถามว่า ห่วงชุมนุมของนักศึกษาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ห่วงนะ ห่วงเด็กๆ ผมให้แนวทางแล้วว่าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ว่าเขาอยากมีอนาคตอย่างไรก็ต้องฟังเขา ภายในเดือนนี้ก็จะเปิดเวทีให้มากขึ้น เป็นเวทีการพบปะ หารือพูดคุยกัน โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าภาพ”
เมื่อถามว่า ม็อบอยากให้ให้นายกฯ รับฟัง พล.อ. ประยุทธ์ ถอนหายใจ ก่อนตอบว่า “ก็ดูก่อน” เมื่อถามว่าจะมีการปรามทางสถาบันการศึกษาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ปราม เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่
เมื่อถามว่ามีความกังวลเรื่อง การชุมนุมของนักศึกษาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนกังวลเรื่องเศรษฐกิจ โควิดฯ กังวลเรื่องพวกนี้ เรื่องอื่นคิดว่าทุกคนที่เป็นคนไทย ต้องร่วมมือกันทำให้ประเทศมีเสถียรภาพก่อนตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจจะลดการเจริญเติบโตไปนานพอสมควร เรื่องนี้มันสำคัญด้วยไหม ไม่ได้บอกว่าอะไรสำคัญกว่าใคร ต้องให้ควบคู่ไปได้ไหม ทำให้สมดุลได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลทำอะไรไม่ได้ไปหมด แล้วคนที่เขาเดือดร้อนจะทำอย่างไรกับเขา ตอบคำถามด้วย จะชุมนุมตามสิทธิตามกฎหมายก็ว่าไป ต่างคนต่างเคารพตามกิตกาซึ่งกันและกัน ไม่ได้ขู่ใครทั้งสิ้น แต่ก็เป็นห่วง หลายคนที่พูดจาเลยเถิดอาจไม่ใช่เรื่องบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงแล้ว เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเขาดำเนินการ
“ที่ผ่านมาไม่ใช่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ก็ไปเชิญ มาคุยให้เลิกพฤติกรรมเหล่านี้ บางคนก็เลิก บางคนก็ไม่เลิก บางคนก็หนักกว่าเดิม เป็นเรื่องกฎหมายว่ากันไป”
ด้าน ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงต่างๆ จัดพื้นที่ให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงความคิดและนำเสนอสิ่งดีๆ เพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งได้มีกรอบไว้ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จะครอบคลุมประเด็น เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล (e-commerce การพัฒนาแอปพลิเคชัน) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การเตรียมพร้อมรับมือภาวะโลกร้อน สังคมสูงวัย การลดช่องว่างทางสังคม การใช้เทคโนโลยีพัฒนาการเกษตร การพัฒนาระบบราชการ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การปรับปรุงระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบ และทุกระดับ การปรับปคุงกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยรูปแบบการเปิดพื้นที่ นายกฯ ตัวแทนนายกฯ ส่วนงานของรัฐจะไปร่วมรับฟัง และมีการจัดทำเวิร์กชอปเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ซึ่งแนวคิดนี้มาจากความตั้งใจของท่านนายกฯที่ให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกัน ดังที่เรียกว่า “รวมไทยสร้างชาติ” และจากที่ท่านได้ไปรับฟังความเห็นจากสื่อออนไลน์”
มอบ “จักรทิพย์” สอบปมยิง ตร. ในบ่อน ยันเอาผิดทุกราย
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีเหตุยิงกันในบ่อนพระราม 3 โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. แสมดำ ว่า กรณีดังกล่าวตนได้รับรายงานเบื้องต้นแล้วเมื่อเช้านี้ และได้เน้นย้ำกับ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ไปแล้วในเรื่องดังกล่าวให้ก็มีการลงโทษทุกราย
“จะบอกว่า ไม่จริงจังในการกวาดล้างนั้นก็คงเป็นเรื่องของพื้นที่เป็นเรื่องรายบุคคลไปเพราะที่ผ่านมาก็มีการจับกุมกวาดล้างให้เห็นมีการลงโทษโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปล่อยปละละเลยอยู่บ่อยครั้ง อันนี้ก็เหมือนแมวไล่จับหนูบอลลอยบ่อนวิ่งเยอะแยะไปหมดจากตรงนี้ก็หนีไปตรงโน้น เพราะฉะนั้นใครที่อยู่เบื้องหลังเรื่องเหล่านี้ก็ต้องรับผิดชอบด้วย ขอให้ประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาผมก็ยินดีที่จะรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเพื่อที่จะสอบสวนติดตามจับกุมดำเนินคดีให้หมด”
ส่วนกรณีที่ ผบช.น. แถลงความคืบหน้าทางคดี โดยระบุว่าไม่มีกล้องวงจรปิด แต่ในคืนเกิดเหตุมีกล้องวงจรปิด พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ต้องตรวจสอบอีกครั้งว่ากล้องวงจรนั้นทำงานหรือเปล่า โดยรับปากว่าตนจะตรวจสอบให้
“คำว่าไม่มีกล้องวงจรปิดมันต้องถามต่อว่าไม่มีตัวกล้อง หรือไม่มีเทป หรืออัดภาพไม่ได้ก็ไม่รู้เหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็เสียต้องไปดูอีกทีเดี๋ยวจะให้ความชัดเจนอย่างน้อยต้องโดนอยู่แล้วในเรื่องที่มีบ่อน บ่อนวิ่งบ่อนอะไรเดี๋ยวต้องจับทุกบ่อน”
วอน ปชช. ใจเย็น รอฟังผลสอบ “คดีบอส”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการสอบข้อเท็จจริงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่า เรื่องดังกล่าวต้องฟังการสอบสวนของอัยการ ตำรวจ และของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากรัฐบาลว่าจะดำเนินการอะไรตรงไหนได้บ้าง โดยขอให้ประชาชนใจเย็นสักนิดหนึ่ง
“เห็นว่าจะมีการตั้งหลายคณะตามมาด้วยกัน ก็ต้องตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางกลางทางและปลายทางว่าบกพร่องอยู่ตรงไหนเพื่อที่จะหาวิธีการปฏิบัติวันนี้รอกรรมการชุดอาจารย์วิชา ส่งรายงานชุดหนึ่งมาก่อนยังไม่ครบ 10 วันหรอกทำงานมีอยู่แล้วและมีการตั้งมาอีก 4 ชุดในการตรวจสอบอื่นๆ”
“ก็เดี๋ยวหาก่อนว่าจะต้องมีใครรับผิดชอบ ก็ไม่ต้องกังวลหรอกนายกฯยืนยันอยู่ตรงนี้นายกฯเป็นคนคุมตำรวจเข้าใจไหมก็ลงโทษหมดแหละยังไงล่ะมีอะไรอยากตื่นจากนี้ไหมไม่ได้ละเว้นใครทั้งสิ้นนั่นแหละ”
ยังไม่ตัดสินใจ ตั้ง “ธนกร” เป็นโฆษกรัฐบาล ชี้มีหลายตัวเลือก
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเลือกนายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นโฆษกรัฐบาล ว่า ตนยังไม่ได้ตั้งใคร “ผมคิดของผมอยู่แต่ผมยังไม่ตัดสินใจใครทั้งสิ้น มีหลายคนให้ผมเลือก”
เมื่อถามว่าโฆษกรัฐบาลคนใหม่ต้องมาจากพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องดูก่อนว่าจะมาจากไหนได้บ้าง คุณสมบัติก็ต้องเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนยอมรับ
“คำว่ายอมรับก็คือ สามารถทำความเข้าใจได้ ผมก็ไม่ได้ว่าใครบกพร่องเพียงแต่ว่าวันนี้ต้องพูดให้คนเข้าใจได้ง่าย ผมก็ย้ำไปเรื่องสื่อโซเชียลต่างๆ บางทีฝ่ายรัฐบาลออกไปมีเนื้อหายาวตัวหนังสือละเอียดคนไม่ค่อยอ่านมีคนแชร์เพียงไม่กี่คน ผมก็บอกให้ปรับใหม่ทั้งหมด”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงการเดินทางพบปะสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ตนได้รับคำแนะนำจากสื่อรุ่นใหม่มา ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการรับรู้ให้ได้มากขึ้นอาจต้องมีความร่วมมือกับ สื่อสมัยใหม่เขาบ้างอะไรก็ว่ากันไป
เมื่อถามว่า โฆษกรัฐบาลคนใหม่จำเป็นต้องตอบโต้ประเด็นการเมืองได้ใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตอบโต้เรื่องอะไร การเมืองก็คือการเมืองการเมือง มีโฆษกพรรคการเมืองของพรรคอยู่แล้ว รัฐบาลเป็นการชี้แจงในเรื่องของข้อกฎหมาย อย่างเช่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีการชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ที่เป็นข้อกฎหมายอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลต้องทำตามกฎหมายตามขั้นตอนทุกประการโดยการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน
“โฆษกรัฐบาลคนใหม่จะเป็นคนในหรือคนนอกก็กำลังดูอยู่ และยังไม่รู้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง วันนี้ที่ประชุม ครม. ไม่มีวาระการแต่งตั้งโฆษกฯ ไม่มีวาระจรใดๆ ทั้งสิ้น ยังไม่มีการเสนอขึ้นมา เรื่องนี้นายกฯ เป็นคนตั้งเอง ส่วนการที่พรรคเสนอก็เสนอมา แต่สุดท้ายนายกฯ ก็ตั้งเอง”
มติ ครม. มีดังนี้
ไฟเขียวกู้เงิน “เอดีบี” เยียวยาโควิดฯ 48,000 ล้าน
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในนามรัฐบาลไทยจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ (เท่ากับ 48,000 ล้านบาท) เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีกำหนดลงนามกับ ADB ภายในเดือนสิงหาคมนี้
กระทรวงการคลังให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้ ว่า ในระยะต่อไปสภาวะตลาดการเงินภายในประเทศของไทยจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น โดยภาคเอกชนมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และรัฐบาลยังคงต้องใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศและต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงการคลังจึงเห็นควรกระจายการกู้เงินไปยังแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างสัญญาเงินกู้ฯ จะคำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน (LIBOR) ระยะเวลา 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่างร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน คือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ และวันที่ 15 สิงหาคม ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ อัตราร้อยละ 0.15 ต่อปี ภายหลัง 60 วันนับจากวันที่ลงนามในสัญญาเงินกู้ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย โดยชำระค่าธรรมเนียมพร้อมกับการชำระดอกเบี้ย ระยะเวลาสิ้นสุดการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใน 30 มิถุนายน 2564
สำหรับการชำระคืนต้นเงินกู้ แบ่งเป็น 2 วงเงินดังนี้
- วงเงินที่ 1 วงเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 10 ปี รวมระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนโดยแบ่งเป็น 14 งวด งวดละ 35.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2573
- วงเงินที่ 2 วงเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 5 ปี รวมระยะเวลาปลอดชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนโดยแบ่งเป็น 4 งวด งวดละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
“ภายหลังจากการกู้เงินจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในครั้งนี้แล้ว จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด จะเท่ากับ 2.46 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563) และกระทรวงการคลัง จะดำเนินการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ เมื่อภาวะตลาดเอื้ออำนวยต่อไป”
เคาะอีก 157 โครงการ ใช้งบฯ ฟื้นฟูโควิด-19 อีก 884 ล้าน
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบผลการพิจารณาโครงการภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของจังหวัด จำนวน 157 โครงการ วงเงินรวม 884.62 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามท้ายพระราชกำหนดการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยจำแนกออกเป็น 6 ด้าน และมีตัวอย่างโครงการ ดังนี้
- การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร จังหวัดลำปาง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดแพะเนื้อ จังหวัดเลย และโครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพมัลเบอร์รี่วัลเล่ย์ จังหวัดสระบุรี
- การยกระดับมาตรฐานคุณภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชน เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพเพิ่มมูลค่าและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไม้ผลอัตลักษณ์ท้องถิ่น (ทุเรียนสาลิกา มังคุดทิพย์พังงา) อำเภอกะปง จังหวัดพังงา และโครงการยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรสู่มาตรฐานเกษตรปลอดภัย จังหวัดปทุมธานี
- การสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาด เช่น โครงการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนตามฐานวิถีชีวิตใหม่ new normal จังหวัดลำพูน
- การส่งเสริมการตลาดผลผลิตเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและบริการ เช่น โครงการเชฟชุมชน เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จังหวัดกาญจนบุรี และโครงการโคเนื้อทุเรียนวากิวปากน้ำโพ Paknampho Durian Wagyu จังหวัดนครสวรรค์
- การส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและบริการ เช่น โครงการพัฒนาผ้าทอละว้า บ้านตุน หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อยจังหวัดแม่ฮ่องสอน และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเครือข่ายพื้นที่ขยายผล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และโครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพเกษตรผสมผสาน โดยจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ ทั้ง 157 โครงการนี้ จะครอบคลุมในพื้นที่ 57 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ จำนวน 22 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 65 โครงการ ภาคกลาง จำนวน 30 โครงการ ภาคตะวันออก จำนวน 2 โครงการ และภาคใต้และจังหวัดชายแดน จำนวน 38 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการของจังหวัดที่มีหน่วยรับผิดชอบอยู่ในสังกัดกระทรวงต่างๆ ได้แก่ 1) กระทรวงมหาดไทย 2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3) กระทรวงแรงงาน 4) กระทรวงศึกษาธิการ 5) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
“ในส่วนของการใช้เงินกู้กรอบวง 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ตั้งกรอบงบประมาณไว้ที่ 92,400 ล้านบาท (รอบที่1) มีโครงการที่อนุมัติไปแล้ว จำนวน 10 โครงการ รวมวงเงิน 41,949 ล้านบาท ตัวเลข ณ วันที่ 29 กรกฏคม 2563 ทั้งนี้ โครงการอื่นๆ ในจังหวัดต่างๆ จะทยอยเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องการผลักดันโครงการและการโอนงบประมาณว่าอย่าได้ช้า เพื่อเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นจะได้ฟื้นตัว ประชาชนมีงานทำและรายได้”
ต่อเวลาแรงงาน “เมียนมา-กัมพูชา-ลาว” สิ้น มี.ค. 65
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านกำลังแรงงานในการฟื้นฟูประเทศ และเป็นการลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มาจากคนต่างด้าวรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
- กลุ่มคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (passport: PP) เอกสารรับรองบุคคล (certificate of identity: CI) และเอกสารเดินทาง (travel document: TD) จำนวน 649, 046 คน ที่ได้รับอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานไปพลางก่อน ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ถึง วันที่ 31 ตุลาคม 2563 จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึง 31 มีนาคม 2565
โดยนายจ้างต้องพาคนต่างด้าว ไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และให้คนต่างด้าวใช้ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานและใบรับคำขอรับใบอนุญาตทำงานเป็นหลักฐานในการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เช่น การตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ และขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 และการ จัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและรับบัตรประจำตัวคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร ณ สำนักงานเขตกรุงเทพฯ/ศูนย์ทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือที่กรมการปกครองกำหนดในท้องที่ที่แรงงานต่างด้าวทํางาน โดยให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
- กลุ่มคนต่างด้าวที่มีบัตรผ่านแดน (border pass) จำนวนประมาณ 92,572 คน จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึง 31 มีนาคม 2565 ต้องไปขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางาน ในพื้นที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และดำเนินการตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ และซื้อประกันสุขภาพ (ซื้อประกันสุขภาพทุกคน ยกเว้นคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม) ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564
ทั้งนี้ การอนุญาตให้ทำงาน จะเป็นครั้งละ 3 เดือน และหากคนต่างด้าวประสงค์ทำงานกับนายจ้างต่อไป ต้องดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ ซึ่งครั้งแรก ให้คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม. ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. …. 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. และ 3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. …. จึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด และทำความเข้าใจกับร่างกฎกระทรวงเมื่อได้มีการประกาศใช้
ปลดล็อกกัญชาเสรี ขยายวงถึง “ผู้ป่วย-หมอพื้นบ้าน”
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้เมื่อปี 2562 โดยหลังจาก ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ร่างกฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือหมอชาวบ้าน ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรมและเกษตรกรที่ดำเนินการผลิตภายใต้ความร่วมมือกับผู้รับอนุญาตผลิตซึ่งยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนด สามารถได้รับใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หรือกัญชาได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค และปัญหาการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดกัญชาทางการแพทย์
ตามกฎหมายฉบับที่เป็นการเริ่มต้นการปลดล็อกกัญชานั้น กำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ขออนุญาต ที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้นจึงจะสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกได้ ส่งผลให้การพัฒนาองค์ความรู้และการต่อยอดกัญชาทางการแพทย์อยู่ในวงจำกัด ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงยาตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมสำหรับคนไข้ได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ไปเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันในกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการเก็บรักษาและทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง โดยกำหนดให้ กรณีที่มีการยึดหรือริบยาเสพติดให้โทษ เมื่อได้มีการตรวจชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย สามารถทำลายหรือนำยาเสพติดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บรักษายาเสพติดของกลางไว้เป็นเวลานาน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและสถานที่เก็บรักษา
เห็นชอบสภาพัฒน์ ฯร่วมกับ UNDP ตั้งศูนย์นวัตกรรมในไทย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC) ในประเทศไทย โดยให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในฐานะผู้ประสานงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาคในประเทศไทย และมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการ พร้อมเห็นชอบร่างเอกสารโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในการดำเนินงานศูนย์ RIC ในประเทศไทย และอนุมัติให้เลขาธิการสศช.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างเอกสารโครงการดังกล่าวของฝ่ายไทย นอกจากนี้ยังได้อนุมัติหลักการสำหรับงบประมาณสนับสนุนโครงการต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี โดยให้ สศช. จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอน
โดย สศช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 42.625 ล้านบาท และเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2564 จำนวน 30.5 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ให้สศช.จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดทำคำของบประมาณต่อไป
โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบนวัตกรรมภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงและตอบสนองความต้องการของประชาชน ประกอบด้วย 1. การสำรวจอนาคต (future lab) 2. การริเริ่มและทดสอบนโยบาย (policy lab) และ 3. การออกแบบนวัตกรรมภาครัฐ (government lab) ซึ่งรัฐบาลไทยและ UNPD ได้หารือกันมาอย่างต่อเนื่องจนนำมาสู่การดำเนินการจัดตั้งเป็นศูนย์ RIC ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในฐานะผู้นำในการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการจัดทำนวัตกรรมเชิงนโยบายระหว่างผู้จัดทำนโยบายรวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้จัดทำนโยบายของประเทศด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ใช้เครื่องมือในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น โควิด-19 และโครงการนี้ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ส่วนประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาครัฐที่จะมีประสิทธิผลสูงขึ้น และกระบวนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อนุมัติงบกลาง 435 ล้าน แก้ผลกระทบจากสัตว์ป่า
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบอนุมัติงบกลางจำนวน 435,289,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและลดผลกระทบจากสัตว์ป่า รวมถึงแก้ไขปัญหาการดูแลสัตว์ป่าของกลางตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ใน 3 โครงการ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ประกอบด้วย
- โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการ วงเงิน 360,608,000 บาท โดยจะใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูแหล่งอาหารของช้าง พร้อมสร้างรั้วป้องกันช้างมารบกวนพื้นที่ประชาชน
- แก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากลิงในชุมชน วงเงิน 24,461,000 บาท โดยจะมีการทำหมันลิง สร้างกรงลิง และจัดทำฐานข้อมูลประชากรลิง เพื่อง่ายต่อการแก้ปัญหา
- เพิ่มประสิทธิภาพการรับสัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่า เพื่อแก้ไขปัญหาตามหลักสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงในกรง วงเงิน 40,222,000 บาท เพื่อดูแลสัตว์ที่ยึดเป็นของกลาง โดยจะมีการสร้างคอกอย่างมาตรฐาน พร้อมสร้างคลินิกสัตว์ป่า มีอุปกรณ์การดูแลอย่างมาตรฐาน
เว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกำจัดขยะมูลฝอย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้ง ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 พ.ศ. …. ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่มีข้อกำหนดของท้องถิ่นให้เป็นกิจการควบคุม การจัดตั้งตลาด การจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสะสมอาหาร การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือรับรองการแจ้งเกี่ยวกับการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสะสมอาหารที่ราชการส่วนท้องถิ่นสามารถเรียกเก็บได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปีนับตั้งแต่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้มีผลบงคับใช้
ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระของประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ตามมาตรการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดเกือบทั้งหมดเป็นกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมหรือชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามกฎกระทรวงได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกกฎกระทรวงฉบับนี้มาเพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 คาดว่าจะทำให้จะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 16,837.76 ล้านบาท โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครคาดว่าจะทำให้รายได้ลดลง 158.5 ล้านบาท
สั่งเจ้าท่าฯ คุมเข้มเรือออกจากฝั่งช่วงมรสุม
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิต กรณีเรือโดยสารเฟอร์รี่ล่ม เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา โดย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม รายงานว่า เบื้องต้นพบผู้รอดชีวิต 11 ราย เสียชีวิต 2 ราย กำลังค้นหาอีก 3 ราย กรณีดังกล่าวกรมเจ้าท่าได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการแล้วว่ามีพายุ ให้งดนำเรือออกจากฝั่ง กรณีนี้จึงเกิดเหตุเพราะมีการฝ่าฝืนคำเตือน
“นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการค้นหาผู้สูญหายโดยด่วน แต่ขณะนี้มีอุปสรรคคลื่นลมแรง เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มกำลัง พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรัดกุมในการปล่อยเรือ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่พายุเข้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ถือเป็นบทเรียน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นนี้ขึ้นอีก นอกจากนี้ยังขอร้องให้ผู้ประกอบการ ปฏิบัติตามคำเตือนของหน่วยราชการอย่างเคร่งครัด”
ครม. สัญจร ระยอง 24-25 ส.ค. นี้
ผศ. ดร.สาวรัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เตรียมทีม ครม. เดินทางประชุม ครม. นอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2563 ที่ จ.ระยอง โดยมีกำหนดคือ วันที่ 24 สิงหาคม ลงพื้นที่พบประชาชน และวันที่ 25 สิงหาคม เป็นการประชุม ครม.
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2563เพิ่มเติม