ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์
เราสามารถเห็น “ความขัดแย้ง” ระหว่าง “ชาวบ้าน” และ “นายทุน” เกิดขึ้นในหลายพื้นที่อย่างบ่อยครั้ง
กรณีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่บริเวณอ่าวท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการต่อสู้ของชาวประมงในพื้นที่กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เพื่อปกป้องระบบนิเวศในบริเวณที่พวกเขาขนานนามตามความอุดมสมบูรณ์ว่า “อ่าวทองคำ”
เมื่อ “คนตัวเล็ก” ที่มีเพียงเรือประมงเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ต้องปะทะ กับ “คนตัวใหญ่” ซึ่งมีความพรั่งพร้อมทั้งทุนและคอนเน็คชัน
คำถามที่เกิดขึ้นจึงไม่จบลงที่ว่าเหตุการณ์นี้สุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่เป็นคำถามที่ว่าความยุติธรรมมีมากน้อยเพียงใด?
ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนองานวิจัยเรื่อง “ความยุติธรรมเชิงนิเวศ ในความเป็นชุมชนสมัยใหม่” ในงานสัมมนา “ความยุติธรรมเชิงนิเวศ: กรณีศึกษาท่าศาลา” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
“ผศ.นพนันท์” ระบุว่า “ความยุติธรรมทางนิเวศมีจุดยืนให้ความยุติธรรมที่ไม่ใช่เพียงแก่มนุษย์เท่านั้น แต่ต้องให้ความยุติธรรมแก่ธรรมชาติด้วย มนุษย์และธรรมชาติมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เราช่วยคุ้มครองธรรมชาติไม่ใช่เพื่อมนุษย์เท่านั้น หากแต่เป็นไปเพื่อชีวิตทั้งหมดบนโลก”
หัวใจสำคัญที่เป็นหลักการพื้นฐานของความยุติธรรมทางนิเวศ ประกอบไปด้วย 1. ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนอื่นๆ 2. ความยั่งยืนทางนิเวศ 3. ความพอเพียง และ 4. การมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ วิถีของชาวประมงท่าศาลาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจะมีความเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมหรือระบบธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นผืนแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย อากาศที่เราหายใจ น้ำดื่ม น้ำใช้ พืชพรรณ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ล้วนแต่เป็นของขวัญอันมีค่าที่พระเจ้าเป็นผู้ประทานมาให้เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการยังชีพ
มนุษย์และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน มนุษย์ในฐานะที่ได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้า จึงมีหน้าที่เป็นผู้อนุรักษ์คุ้มครองและดูแลทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่าเหล่านี้
“ดูแล” แต่ไม่ใช่ “ครอบครอง”!
สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชาวประมงท่าศาลา ที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในทะเลที่มีอย่างคุ้มค่าและระมัดระวัง โดยเน้นเรื่องความสมดุลของธรรมชาติ มีความเคารพต่อผู้อื่นและต่อธรรมชาติอย่างเคร่งครัด
เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ชาวประมงเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างท่าเรือดังกล่าว
แต่กระนั้น “การเลือกปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม” หรือ “การเหยียดเชื้อชาติด้านสิ่งแวดล้อม” ถือเป็นอุปสรรคของที่สำคัญในกรณีนี้
โดยกลุ่มที่มีความได้เปรียบด้วยสถานะทางสังคมสูงและเป็นอภิสิทธิ์ชน อาจจะมีส่วนก่อเหตุทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษสะสมในเขตอาศัยของประชากรชายขอบ
และด้วยเงื่อนไขของความมี “อคติด้านชนชั้น” บวกกับ “นโยบายที่ให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มชนชั้นนำ” ได้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นได้อยู่เสมอในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย ที่ทิ้งขยะติดเชื้อ โรงงานอุตสาหกรรมเสี่ยงอันตราย โครงการลงทุนด้านพลังงาน ตลอดจนจุดเวนคืนก่อสร้างถนน สถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และท่าอากาศยาน นำมาซึ่งความอยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม
ในประเทศไทยก็เช่นกัน โครงการลงทุนด้านพลังงานส่วนใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ การก่อสร้างเขื่อน ท่าเรือน้ำลึก และท่าอากาศยาน ถูกจัดอยู่ในรายการโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA) ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ
โดยมีแนวทางการประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน อันประกอบไปด้วยการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบต่อสังคม และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์การปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของ บ.เชฟรอนฯ นั้น ในการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) มีการประชุมทั้งสิ้น 7 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 1-6 คชก. มีมติไม่เห็นชอบต่อรายงาน EHIA
การที่ คชก. มีมติไม่เห็นชอบต่อรายงานฯ และให้บริษัทที่ปรึกษานำไปปรับปรุงตามมติที่มีในที่ประชุมถึง 6 ครั้ง และให้นำเสนอใหม่จนทำให้โครงการต้องหยุดชะงักลงถึง 2 ปีนั้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีปัญหาอยู่มาก
“ผศ.นพนันท์” ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดลำดับความสำคัญของการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งจะเห็นว่ามีการให้ความสำคัญกับสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนมากกว่าผลกระทบที่ลึกลงไปทางสังคม เช่น ระบบนิเวศวิทยาทางทะเลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชน หรือกระทบต่อประชาชนที่มีความเปราะบาง
โดยผลกระทบปลายทางเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่ประเมินผลกระทบออกในเชิงปริมาณได้ยาก จึงมีแนวโน้มที่จะถูกจัดลำดับไว้ต่ำ และประเด็นการศึกษาถึงผลกระทบนั้นๆ ในท้ายที่สุดมักจะผ่านการพิจารณาไปได้
ที่สำคัญ ในการพิจารณาครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นครั้งที่ คชก. อนุมัติรายงาน EHIA พบว่า หลายประเด็นที่ คชก. เคยขอให้ทางบริษัทที่ปรึกษาไปแก้ไขรายงานยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ผลกระทบต่อการประมงจากแนวการขุดลอกร่องน้ำเดินเรือใกล้แนวปะการังเทียมเพียง 600 เมตร
ประเด็นดังกล่าวจึงมีความชัดเจนว่า ขั้นตอนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรการที่จะสนับสนุนนโยบายที่เสริมสร้างความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมนั้น อาจจะก่อผลที่ไม่เท่ากันต่อกลุ่มที่แตกต่างกันในสังคมชาวประมงพื้นบ้านบริเวณสิชล-ท่าศาลา กับชุมชนชายฝั่งท่าศาลา เป็นผู้รับภาระต้นทุนทางสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าใคร แต่ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงคือบริษัทเอกชน
“คนบางกลุ่มในสังคมไทยกำลังรับผลจากนโยบายหรือการคุ้มครองจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่เท่ากัน เพราะที่ผ่านมาและที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน การเลือกปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมมิได้มีความสำคัญมากพอในกระบวนการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”
ดังนั้น ภาคประชาสังคมจะต้องเคลื่อนไหวทางสังคม โดยให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและภาระความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรม และทำให้เห็นว่าการกระจายความเสี่ยงและผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เท่าเทียมมีอยู่จริง ซึ่งกรณีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินของศาลปกครอง หรือศาลสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตามนักเสรีนิยมใหม่อาจจะมองว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมาก่อน หลังจากนั้นจึงเสนอมาตรการคุ้มครองทางด้านสิ่งแวดล้อม
แต่ทว่า ความยั่งยืนทางนิเวศซึ่งเป็นบรรทัดฐานข้อหนึ่งของยุติธรรมทางนิเวศนั้น มิอาจรอคอยให้เศรษฐกิจพัฒนาไปก่อนแล้วค่อยจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมตามหลังได้
เพราะโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยอันตรายจากการพัฒนาที่ผิดทิศทางซึ่งได้ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปมากเกินขีดจำกัดจะฟื้นฟูเองตามธรรมชาติอย่างมากมาย และผลกระทบได้ย้อนกลับมาปรากฏในสังคมมนุษย์โดยแสดงผ่านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มมากขึ้น