ThaiPublica > คอลัมน์ > แอลกอฮอล์: กฎหมาย วัฒนธรรม และดุลยภาพแห่งการควบคุม

แอลกอฮอล์: กฎหมาย วัฒนธรรม และดุลยภาพแห่งการควบคุม

12 พฤษภาคม 2025


ปิติคุณ นิลถนอม

ในโลกที่ผู้คนเดินทางข้ามพรมแดนกันง่ายดายเหมือนเดินไปซื้อของปากซอย สิ่งหนึ่งที่ยังคงต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละประเทศคือ “ทัศนคติต่อแอลกอฮอล์” ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว บางประเทศอนุญาตให้ซื้อได้เสรีราวกับน้ำดื่ม ในขณะที่บางประเทศกลับมีบทลงโทษรุนแรง แม้เพียงแต่มีไว้ในครอบครอง นี่ไม่ใช่เพียงประเด็นทางสุขภาพหรือพฤติกรรมส่วนบุคคล หากแต่สะท้อนถึงศาสนา วัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ และบทบาทของรัฐในการควบคุมพฤติกรรมในสังคม

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และแอลกอฮอล์มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี เอาเป็นว่าเครื่องดื่มๆง่ายๆอย่างเบียร์นั้น มีอยู่คู่สังคมนานโขแล้ว ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ชาวสุเมเรียนบูชาเทพีแห่งเบียร์นามว่า “นินกาซี” พร้อมบทสวดที่เชื่อกันว่าเป็นสูตรการหมักเบียร์ที่เก่าแก่ที่สุด ในอียิปต์โบราณ เบียร์มิได้เป็นเพียงเครื่องดื่ม แต่ยังเป็นอาหารและค่าแรงสำหรับผู้รังสรรค์พีระมิด

ในยุโรปยุคกลาง ซึ่งน้ำไม่สะอาดพอสำหรับดื่ม ผู้คนหันมาดื่มเบียร์แทน (เอาสิ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เอล (Ale)” ซึ่งเป็นเบียร์ที่ใช้วิธีการหมักด้วยยีสต์ลอย (Top Fermented Yeast) อันเป็นวิธีการที่ใช้กันทั่วไปในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ ที่มีแอลกอฮอล์ดื่ม “เอาอิ่ม” อย่างเบียร์ชาวท่าเรือ หรือ “พอร์เตอร์ (Porter) และ “สเตาท์ (Stout)” ซึ่งเป็นเบียร์ดำที่มีรสชาติเข้มข้นและให้พลังงาน
นอกจากนี้ อังกฤษได้พัฒนาเบียร์ India Pale Ale หรือ IPA สำหรับขนส่งทางไกล โดยเพิ่มฮ็อปส์เพื่อถนอมรสชาติและไม่ให้บูด ส่วนเบลเยียมก็ไม่น้อยหน้า มีเบียร์ “รสพระทำ” หรือ Trappist ที่ผลิตโดยนักบวชในวัด รายได้เพื่อการกุศล รสชาติเข้มลึกและสะท้อนความศรัทธา

อย่างไรก็ตามแม้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะอยู่คู่สังคมมนุษย์มานานนมแล้ว แต่ผลกระทบเชิงลบก็มีให้เห็นดาษดื่น เช่น ในช่วงปี 1720–1751 อังกฤษเผชิญกับปรากฏการณ์ “Gin Craze” ซึ่งเกิดจากนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการกลั่น Gin จนกลายเป็นเครื่องดื่มราคาถูกและแพร่หลายในวงกว้างโดยเฉพาะในลอนดอน จนเกิดปัญหาอย่างรุนแรง เช่น เด็กถูกทอดทิ้ง อาชญากรรมพุ่งสูง และผู้คนเมาตายริมถนน รัฐจึงต้องออกกฎหมายเข้มงวดอย่าง Gin Act ปี 1751 เพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้กลายเป็นบทเรียนคลาสสิกของโลกว่าการเข้าถึงแอลกอฮอล์โดยไร้การควบคุมอาจนำไปสู่หายนะได้

การบริโภคแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปก่อให้เกิดผลเสียไม่เพียงแต่ต่อสุขภาพ แต่ยังกระทบต่อสังคม ทั้งความรุนแรง อุบัติเหตุ และภาระทางการแพทย์ เมื่อมนุษย์มีพาหนะสัญจรอย่างแพร่หลาย การดื่มแล้วขับยิ่งกลายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก

สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในปี 2019 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคแอลกอฮอล์ถึง 2.6 ล้านคน ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุด้วย โดย 13% ของผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์อยู่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 20-39 ปี ข้อมูลจากสำนักงานบริหารความปลอดภัยบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NHTSA) พบว่า ในปี 2022 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 42,514 คน ซึ่ง 32% หรือ 13,524 คน เสียชีวิตในอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเมาแล้วขับ หรือโดยเฉลี่ย 1 คน ทุกๆ 39 นาที!

หลายประเทศจึงมีการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างเป็นระบบ โดยต่างก็มีแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับจิตวิทยาและแรงจูงใจส่วนบุคคลในการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการตรากฎหมายมาบังคับใช้

ประเทศอย่างซาอุดีอาระเบีย และอัฟกานิสถานห้ามแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาดตามหลักศาสนาอิสลาม ในทางกลับกันเยอรมนี สเปน และอิตาลีมีวัฒนธรรมการดื่มที่เปิดกว้าง ประสบการณ์ของผู้เขียนเองตอนไปคูเวตก็พบว่าแอลกอฮอล์ถูกแบน 100% มีเพียงแต่สถานทูตต่างชาติที่สามารถมีไวน์ไว้จัดเลี้ยงได้ ส่วนประชาชนในประเทศไม่สามารถซื้อหาได้ สำคัญคือสายการบินแห่งชาติก็ไม่เสิร์ฟแอลกอฮอล์บนเที่ยวบิน จนมีคนพูดติดตลกว่าสายดื่มที่อยู่ในคูเวตหากเลือกเดินทางออกนอกประเทศก็จะเลือกสายการบินอื่นที่ไม่ใช่สายการบินแห่งชาติเพื่อที่จะดื่มแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่ขึ้นเครื่องเลย ในทางกลับกันอินโดนีเซีย และอาเซอร์ไบจาน เป็นประเทศมุสลิมเช่นกัน แต่ค่อนข้างที่จะไม่เข้มงวดในการขายเท่าไหร่ ในซุปเปอร์ขนาดใหญ่ก็มีเบียร์ให้เห็นอยู่ ส่วนที่นอร์เวย์แม้เป็นประเทศในยุโรปแต่มีข้อจำกัดเยอะมาก เช่น เบียร์ไม่เกิน 4.7% ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ถึงเวลา 20.00 น. ส่วนเครื่องดื่มแรงกว่านั้นต้องซื้อที่ร้าน Vinmonopolet ของรัฐ และห้ามขายวันอาทิตย์ ส่วนในเซเว่นไม่ขายแอลกอฮอล์แบบบ้านเรา ดังนั้นจะซื้อจะหาไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าดื่มแล้วติดลมจะเดินไปซื้อปากซอยนี่ทำไม่ได้โดยเด็ดขาด

ส่วนในสหรัฐฯ เคยห้ามผลิต ขนส่ง และจำหน่ายแอลกอฮอล์อย่างเบ็ดเสร็จในช่วงปี 1920–1933 (Prohibition Era) ด้วยเจตนาลดอาชญากรรม แต่กลับส่งผลให้ตลาดมืดเฟื่องฟู กลุ่มมาเฟียอย่างอัล คาโปนเติบโตขึ้น รายได้ภาษีรัฐหายไป สุราเถื่อนคุณภาพต่ำแพร่กระจาย ภายหลังรัฐบาลจึงกลับลำ ยกเลิกกฎหมาย Prohibition ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ และใช้ระบบภาษี ควบคุมการจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพแทน ปัจจุบัน รัฐต่าง ๆ แบ่งออกเป็น Wet States ที่จำหน่ายได้อย่างเสรี Dry States ที่ห้ามจำหน่ายโดยเด็ดขาด และ Moist States ที่มีพื้นที่ที่จำหน่ายได้และห้ามจำหน่ายตามเสียงประชามติในท้องถิ่น โดยตัวอย่างที่น่าสนใจคือ รัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงกลั่น Jack Daniel’s นั้นก็จัดอยู่ในประเภท “Moist State” ที่อนุญาตให้ขายได้ในบางเมืองหรือบาง County โดย Moore County อันเป็นที่ตั้งของโรงกลั่น Jack Daniel’s เป็น “Dry County” มาตั้งแต่ยุค Prohibition ทำให้แม้จะผลิตสุราได้ แต่ไม่สามารถขายได้โดยตรง นักท่องเที่ยวสามารถชิมได้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว แต่หากต้องการซื้อก็ต้องออกใบอนุญาตพิเศษหรือไปซื้อจากพื้นที่อื่น สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของกฎหมายแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ

ในประเทศไทยนั้น เมื่อเดือนมีนาคม 2568 ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในหัวข้อ “รับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. …” โดยร่างประกาศฉบับนี้มีหลักการสำคัญในการกำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการคุ้มครองสุขภาพและสังคม รวมถึงด้านเศรษฐกิจ โดยคงไว้ซึ่งวันเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพิ่มเติมข้อยกเว้น ซึ่งเป็นแนวทางที่พยายามรักษาสมดุลกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งประชาชนที่ต้องได้รับการคุ้มครองด้านความปลอดภัย สุขภาพ และผู้ประกอบการที่อาจได้รับอุปสรรคจากการกำหนดมาตรการดังกล่าว โดยมีข้อยกเว้นใหม่ที่สามารถขายได้โยไม่จำกัดเวลา คือ การขายในอาคารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ การขายในสถานบริการซึ่งเป็นไปตามกำหนดเวลาเปิดปิดของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ การขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

คงต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร โดยความพยายามนี้สะท้อนสภาวะทางสองแพร่งหรือ dilemma เชิงนโยบายสาธารณะว่า รัฐควร “ปกป้องชีวิต ความปลอดภัย และสุขภาพ” ของประชาชนอย่างไร โดยไม่ขัดขวางการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจท้องถิ่น” ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและสินค้าเกษตร ซึ่งหากรัฐห้ามมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย ในขณะที่หากผ่อนปรนมากเกินไปก็อาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่พรากชีวิตของประชาชน รวมถึงการเพิ่มภาระการรักษาพยาบาลของภาครัฐให้กับประชาชนที่เป็นโรคอันเป็นผลโดยตรงจากการดื่ม

ทั้งหมดนี้คือการออกแบบนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของการได้อย่างเสียอย่างหรือ trade-off ระหว่างชีวิต สุขภาพ กับเศรษฐกิจ และการพยายามหาจุดที่ลงตัว หรือ optimal point ซึ่งจะเป็นทางสายกลางที่ทั้ง “รักษาชีวิต” และ “ขับเคลื่อนชีวิต” ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้วประเด็นสำคัญนอกจากมาตรการทางกฎหมายที่ต้องรณรงค์ คือความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น (empathy) กล่าวคือหากนักดื่มคิดว่าทุกคนคือญาติพี่น้องก็คงไม่ดื่มแล้วเที่ยวขับรถ การตระหนักว่าการดื่มแล้วขับรถจะไปชนลูกหลานหรือคนที่รัก อาจเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ผู้ดื่มยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง นอกจากนี้ต้อง “ดื่มไม่ขับ ไม่ใช่เมาไม่ขับ” เพราะเพียงแค่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเล็กน้อย ก็ส่งผลต่อการตัดสินใจและสมรรถนะในการขับขี่ยานพาหนะแล้ว และอีกอย่างคือใครจะยอมรับว่าตัวเองเมา! การรณรงค์จึงควรเน้นย้ำให้ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ งดเว้นการขับขี่ยานพาหนะโดยเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องง่ายมากเพราะมีแอพเรียกแทกซี่ หรือแม้แต่ขาไปขับรถส่วนตัวไปหากดื่มก็มีแอพเรียกคนขับมาช่วยขับรถเรากลับบ้านได้ด้วย นอกจากนี้หากมีผู้กระทำผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีโดยเด็ดขาด โดยไม่เนิ่นช้า เพื่อให้ต้นทุนในการทำผิดสูงขึ้นจนทำให้ยับยั่งชั่งใจได้บ้าง และทำให้สายดื่มหนาวๆร้อนๆบ้างว่าหากดื่มแล้วฝืนขับรถจะต้องประสบพบเจออะไรบ้าง

ข้อมูลประกอบ
https://www.who.int/europe/health-topics/alcohol
https://www.nhtsa.gov/risky-driving/drunk-driving