ThaiPublica > คอลัมน์ > อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ : มรดกโลก ชั้นดิน กาลเวลา และผู้คน

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ : มรดกโลก ชั้นดิน กาลเวลา และผู้คน

21 ตุลาคม 2023


ปิติคุณ นิลถนอม

“เอาไมเคิลแจ็คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา” ท่วงทำนองของน้าแอ๊ดและวงคาราบาวเมื่อครั้งผู้เขียนยังเป็นเด็กน้อยลอยขึ้นมาเตะหูเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงความตื่นตัวที่เกี่ยวกับโบราณคดีในอดีต ที่ต่างคนต่างเฝ้ารอการกลับมาของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองชิคาโก เมื่อปี 2531 แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานเหลือเกิน ซึ่งหากนับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คงเป็นการได้คืนมาซึ่งทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้วเมื่อปี 2564 ซึ่งทับหลังของปราสาททั้งสองได้สูญหายไป แต่มีการพบว่ามีการเก็บรักษาอยู่ใน Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รวมถึงกรณีการขุดพบตุ๊กตาหินโบราณใต้กำแพงพระบรมมหาราชวัง เมื่อปีกลาย ที่ยังความตื่นเต้นมาให้คนไทยอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเดือนกันยายนที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ที่ประชาชนต่างพูดถึงและมีความตื่นตัวสูงมาก คือกรณีที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ต่อจากเมืองสุโขทัย นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ที่กรุงรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย จากที่ยื่นให้พิจารณาไปตั้งแต่ปี 2564 โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments ที่ประกอบไปด้วยเมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปไม่มากนัก และเพิ่งบูรณะเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2555 ส่วนสุดท้ายคือโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ที่ห่างออกไปอีกราว 15 กิโลเมตร

ที่มาภาพ : https://twitter.com/UNESCO/status/1704053367171883148/photo/1

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีปรากฏหลักฐานว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาถึงยุคประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานว่ามีลักษณะวัฒนธรรมทวารวดี และเขมรตามลำดับ

ในเมืองโบราณศรีเทพมีการขุดคูน้ำคันดินอย่างวัฒนธรรมทวารวดี มีโบราณวัตถุที่ขุดพบที่แสดงให้เห็นถึงการรับศาสนาพราหมณ์และพุทธทั้งแบบเถรวาทและมหายาน มีรูปแบบศิลปกรรมแบบเฉพาะตัวที่เรียกว่าสกุลช่างศรีเทพ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี

ภาพจากดาวเทียมของ GISTDA ที่ร่วมยินดีที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพขึ้นทะเบียนมรดกโลก ที่มาภาพ : https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=7167&lang=TH

นอกจากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ยังมีการใช้เทคโนโลยีเรดาร์ศึกษาภูมิสันฐานบริเวณเขาคลังนอก โดยพบว่าใต้ดินยังคงมีโบราณสถานโบราณวัตถุฝังอยู่ รอการค้นพบอีกมากมาย และเมื่อไม่นานมานี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไลดาร์ (LiDAR ที่ย่อมาจาก Light Detection And Raging) เป็นการใช้โดรนบินเหนือพื้นที่แล้วใช้แสงเพื่อตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุ ซึ่งผลปรากฏว่ามีโครงสร้างของชุมชนอยู่เป็นวงกว้าง จนมีข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นวิทยาลัยสงฆ์ขนาดใหญ่ ทำนองเดียวกับวิทยาลัยสงฆ์นาลันทาในอินเดีย

ภาพเขาคลังนอกที่เริ่มขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อปี 2551 จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2555 ที่มาภาพ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร

จากหลักฐานการสำรวจทั้งเรดาร์และไลดาร์ พบว่าอาณาเขตของโบราณสถานศรีเทพกินบริเวณกว้างขวางมากกว่าพื้นที่ที่เป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร ทำให้ที่ผ่านมาประชาชนก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับโบราณสถานที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งปรากฏว่ามีบริเวณต่างๆ ถูกทำลายด้วยเหตุถูกลักลอบขุดเอาโบราณวัตถุไปขายซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก โดยเฉพาะราวปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ที่มีการลักลอบนำโบราณวัตถุจากทั้งบริเวณเขาถมอรัตน์และเขาคลังนอกไปขาย ส่งผลให้วัตถุมีค่าจำนวนมากถูกทำลายและสูญหายไปจำนวนมาก แม้จะมีบางส่วนสามารถติดตามกลับมาได้

โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบเอาไปหรือ looted cultural property เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังจะเห็นได้จากกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งไปพบอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชิคาโก และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในแทบทุกประเทศ ที่เห็นชัดเจนคือกรณีโบราณวัตถุถูกลักหรือทำลายจากความขัดแย้งของสงครามระหว่างประเทศหรือกลุ่มก่อการร้าย โดยตัวเร่งที่ทำให้ประเทศเหล่านี้มีการลักลอบนำโบราณวัตถุไปขายเพราะของมีค่าเหล่านี้สามารถแปลงเป็นทุนที่นำมาใช้ซื้ออาวุธในการต่อสู้ได้ ดังจะเห็นได้จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กองกำลัง ISIS (กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย – Islamic State of Iraq and Syria) ใช้วิธีขายโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ขัดแย้งแลกเป็นเงิน อันจะเป็นน้ำเลี้ยงให้ขบวนการของตน

กองกำลัง ISIS ใช้วิธีขายโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ขัดแย้งแลกเป็นเงินอันจะเป็นน้ำเลี้ยงให้ขบวนการของตน ที่มาภาพ : https://chasingaphrodite.com/2014/11/18/dantis-inference-the-known-unknowns-of-isis-and-antiquities-looting/

นอกเหนือจากเรื่องการลักลอบขุดของมีค่าไปขายแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการจัดการพื้นที่อนุรักษ์อีกด้วย แน่นอนว่าการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกย่อมทำให้ดึงดูดประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศเพื่อเข้าเยี่ยมชม ดังปรากฏในภาพข่าวว่าผู้คนต่างแห่แหนกันไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพกันมากจนเกิดปัญหาหลายประการ ทั้งเรื่องทางเดิน ห้องน้ำห้องท่า กระทั่งการไม่จำกัดพื้นที่ทำให้มีคนเดินไปในบริเวณที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่โบราณสถาน จนนำไปสู่การห้ามขึ้นด้านบนของเขาคลังนอก ประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงว่า นอกจากจะต้องดูแลรักษาไม่ให้ถูกทำลายหรือลักเอาไปแล้ว ยังต้องรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ให้คงสภาพเดิม ในขณะเดียวกันก็ต้องมีช่องทางให้ประชาชนเข้าศึกษาหาความรู้และเยี่ยมชมได้โดยง่ายและครอบคลุมทุกกลุ่ม รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นที่สามารถทำมาหากินในลักษณะต่างๆ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวได้โดยไม่สร้างผลกระทบต่อโบราณสถาน

ในทางปฏิบัติแล้ว การดูแลทรัพย์สินของมีค่าที่เป็นโบราณวัตถุ รวมถึงการจัดการพื้นที่โบราณสถาน นอกจากหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างกรมศิลปากรแล้ว ยังมีหน่วยงานตรวจสอบที่คอยสอดส่องแทนประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าโบราณสถานโบราณวัตถุซึ่งเป็นทรัพย์สินมีค่าของชาติ (และของมนุษยชาติ) จะได้รับการรักษาไว้อย่างดี รวมถึงการบริหารจัดการโบราณสถานจะเกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ

เช่น ความพยายามขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินแห่งบัลแกเรีย (Bulgaria National Audit Office) ที่ทำการตรวจสอบการทำหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมหลังจากสื่อมวลชนประโคมข่าวว่าโบราณสถานในเมือง Sofia, Plovdiv, Varna และ Veliko Tarnovo มีความเสื่อมโทรมมาก ซึ่งจากการตรวจสอบมีข้อตรวจพบว่ากระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ แล้วยังปรากฏว่า หลังรัฐสภาออกรัฐบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองโบราณสถาน โดยกำหนดให้มีการออกกฎหมายลำดับรองไว้ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังไม่ได้ออกกฎหมายลูกแต่อย่างใด รวมถึงภาระ workload ของเจ้าหน้าที่ที่ปรากฏว่ามีบางคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลโบราณสถานจำนวนมากจนไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง มิพักรวมถึงปี 2015-2018 ที่ไม่มีการตรวจตราสอดส่องโบราณสถานในเขตเมืองเลย

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีหน่วยงานที่ตามกฎหมายมีหน้าที่ดูแลโบราณสถานจำนวนมากทั้งหน่วยงานส่วนกลางและองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่ไม่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ของแต่ละหน่วยไว้อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือโบราณสถานกว่า 93% ในเขตเมืองยังไม่ได้มีการกำหนดเขตที่ชัดเจน ทำให้มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย

หรือในประเทศไทยที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. ได้ทำการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยมีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง รวมถึงส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในพื้นที่อำเภออู่ทอง รวม 33 หน่วยงาน

โดยในรายงานของ สตง. ระบุว่า “การที่สิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จแต่ยังมีการใช้ประโยชน์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้นั้น ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินโครงการตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการฯ อาจไม่บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยมีเจตนาเพื่อเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จ จึงยังไม่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวได้ และสิ่งก่อสร้างตามโครงการบางส่วนชำรุดเสียหาย เนื่องจากไม่มีการใช้ประโยชน์และขาดการบำรุงดูแลรักษาให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ทำให้ต้องเสียงบประมาณในการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่ก่อสร้างไปแล้วให้มีสภาพพร้อมใช้งาน”

การทำหน้าที่ของหน่วยงานหลัก โดยมีหน่วยงานตรวจสอบคอยให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดการให้ดีขึ้น ถือเป็นความพยายามส่วนหนึ่งเท่านั้น การปกป้องและอนุรักษ์โบราณสถานโบราณวัตถุ ตลอดจนการบริหารจัดการพื้นที่ที่ดี รวมถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนนั้น ไม่อาจสำเร็จได้หากประชาชนไม่เข้ามามีส่วนร่วม เพราะประชาชนถือเป็นเจ้าของและมีส่วนสำคัญในการดูแลทรัพย์สินเหล่านั้น ความร่วมมือและความรู้สึกเป็นเจ้าของของคนพื้นที่จะยิ่งทำให้เขามีความรักผูกพัน รวมถึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน

อย่างไรก็ตาม มีโบราณสถานบางแห่งยังมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของชุมชนก่อให้เกิดปัญหากับคนในพื้นที่ เช่น กรณีที่ผ่านมาอย่างปราสาทหินพิมาย ชุมชนวัดสระเกศภูเขาทอง รวมถึงที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพด้วย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องร่วมกันแก้ไขโดยภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

ต้องยอมรับว่าการอยู่สืบเนื่องมาของมนุษย์นั้นมีการทับซ้อนกันในแต่ละยุคสมัย จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่ความเป็นอยู่ของผู้คนยุคสมัยหนึ่งทับอยู่บนสมัยก่อนหน้านั้น ในเรื่องนี้การบังคับใช้กฎหมายต้องอาศัยความเข้าอกเห็นใจ และรักษาสมดุลระหว่างการรักษาโบราณสถานโบราณวัตถุกับวิถีชุมชนเอาไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน

โบราณสถานต่างๆ เหล่านี้ เมื่อสืบย้อนลึกลงไปตามชั้นดินผ่านยุคสมัยต่างๆ ทำให้เส้นเขตแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ที่เพิ่งมีไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาอันตรธานจางหายไป ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น เข้าใจวิวัฒนาการของเราสืบย้อนกลับไปมากขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่สะกิดใจให้เราคิดได้อย่างไม่ยากว่า ผู้คนในอุษาคเนย์นี้ปะทะสังสรรค์กันไม่ว่าจะผ่านการค้า การแต่งงานเป็นเครือญาติ สุดท้ายเมื่อโลกต้องการเครื่องมือที่เรียกว่ารัฐชาติสมัยใหม่ที่แต่ละประเทศต้องลากเส้นเขตแดนของตน ก็เหมือนกับการเล่นเก้าอี้ดนตรี ที่เพลงหยุดลงเมื่อใด ใครอยู่ในพื้นที่ของใครก็ถูกตีตราว่าเป็นคนชาตินั้น มันทำให้เราเข้าใจเพื่อนบ้านมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วเรากับเขาก็ไม่ต่างอะไรกัน

ยิ่งศึกษาประวัติศาสตร์และมองไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ต้องใช้หลักฐานทางโบราณคดีขุดลึกลงไป ยิ่งทำให้รู้ว่าเราเป็นเพียงธุลีเล็กๆ บนไทม์ไลน์ของโลกใบนี้เท่านั้น การศึกษาสิ่งเหล่านี้สามารถลดทิฐิมานะของเราลงไปไม่มากก็น้อย

บรรดาโบราณสถานโบราณวัตถุนั้นมีคุณค่าแก่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาติใด เพราะถือว่าเป็นสมบัติของมนุษยชาติ เราจึงต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะนอกจากจะเป็นสมบัติอันมีค่าของทุกคนแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานเข้าใจรากเหง้า และก้าวข้ามมายาคติอันเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาร่วมกันทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ

เอกสารประกอบการเขียน

https://twitter.com/UNESCO/status/1704053367171883148?t=Nl2D7sQ-2hokmuTR87a1og&s=19
https://www.unesco.org/en/world-heritage
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=7167&lang=TH
https://www.thaipbs.or.th/news/content/330345
https://salehere.co.th/articles/ancient-stone-dolls-of-wat-phra-kaew
https://chasingaphrodite.com/2014/11/18/dantis-inference-the-known-unknowns-of-isis-and-antiquities-looting/
https://www.theguardian.com/culture/2015/jun/29/museums-looting-art-artefacts-world-culture
https://www.novinite.com/articles/195621/Bulgaria%27s+Architectural+Heritage+is+in+Ruins+Instead+of+Attracting+Tourists