ThaiPublica > คอลัมน์ > โศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภู : เราจะยอมให้มันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกไม่ได้!

โศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภู : เราจะยอมให้มันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกไม่ได้!

10 ตุลาคม 2022


ปิติคุณ นิลถนอม

ช่วงเที่ยงของวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมาเกิดเหตุโศกนาฏกรรมในพื้นที่ อบต. อุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ยังความเศร้าโศกเสียใจมาให้ครอบครัวของผู้สูญเสีย เมฆหมอกแห่งความเศร้าได้ปกคลุมไปทั้งประเทศ ผู้นำต่างประเทศและสื่อต่างชาติ ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ในส่วนของผู้เขียนนั้นเคยทำหน้าที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูรวมถึงอำเภอนากลางเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน จึงรู้สึกเสียใจกับเรื่องดังกล่าวมาก แม้จะไม่มีญาติอยู่ที่นั่นแต่ภาพของพี่น้องที่ได้รู้จักและพบเจอ รอยยิ้มของเขาเหล่านั้นก็ยังคงติดตาตรึงใจอยู่ ผู้เขียนเองต้องขอประนามการกระทำรุนแรงเช่นนี้ โดยเฉพาะการกระทำต่อเด็กและสตรีและต้องแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับผู้ที่สูญเสียทุกท่าน

ในขณะนี้ สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนคือการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ๆ ทั้งครอบครัว ประชาชน และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ในขณะเดียวกันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างเด็ดขาด

ในเรื่องความรุนแรง โดยเฉพาะการกราดยิง (mass shooting)ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่เราเห็นข่าวกันอยู่ในเนือง ๆคงหนีไม่พ้นประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประสบพบเจอกับเรื่องดังกล่าวอยู่บ่อยครั้งในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากนำมุมมองในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวเพื่อชวนท่านผู้อ่านได้ขบคิดร่วมกันครับ

เหตุการณ์กราดยิงภายในโรงเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง บ้างก็เห็นว่าเป็นเพราะกฎหมายอาวุธปืนในแต่ละมลรัฐที่อาจหละหลวม หรือแม้แต่การเลี้ยงดูของครอบครัว ในเรื่องนี้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ U.S.Government Accountability Office (GAO) ได้รับคำร้องขอจากสมาชิกสภาคองเกรส ให้ศึกษาเรื่องดังกล่าว และได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2020 ซึ่งรายงานฉบับนี้ฉายภาพมุมกว้างที่เป็นข้อมูลเชิงลึก (insight) อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปใช้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

GAO สรุปว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างใหญ่หลวงสร้างความกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับผู้คนในชุมชน จึงได้ตั้งคำถามในการศึกษาว่าลักษณะพฤติการณ์ความรุนแรงจากการกราดยิงในโรงเรียนเป็นอย่างไร โดย GAO ได้นิยามคำว่ากราดยิงไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาว่าคือเหตุการณ์ใดๆที่มีการยิงปืนในโรงเรียน บนรถโรงเรียน หรือระหว่างกิจกรรมในโรงเรียน แม้จะเกิดในเวลาเรียน ก่อนหรือหลังเวลาเรียนก็ตาม

ทั้งนี้ได้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงจากการกราดยิงในโรงเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาที่เรียกว่า K-12 Education ที่ผ่านๆมาตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2019 รวมระยะเวลาประมาณ 10 ปี ซึ่งมีมากถึง 318 ครั้ง รวมถึงศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังได้ทำการสัมภาษณ์นักวิจัยที่ศึกษาในเรื่องนี้ด้วย

หลังการศึกษาวิเคราะห์แล้ว GAO พบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงมักเกิดจากข้อพิพาทหรือความคับข้องใจระหว่างนักเรียนหรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนและจากข้อมูลที่รวบรวม พบว่าราว ๆ ครึ่งหนึ่งของผู้ก่อเหตุจะเป็นนักเรียนหรืออดีตนักเรียน อย่างไรก็ตามอีกครึ่งหนึ่งไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์ใดๆกับโรงเรียนนั้นๆ หรือเป็นผู้ปกครอง ครูหรือเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังพบว่าหากการกราดยิงเกิดขึ้นโดยเป็นอุบัติเหตุ หรือจงใจฆ่าตัวตายหรือวางเป้าหมายว่าจะก่อความรุนแรงในโรงเรียนตั้งแต่ต้น ผู้กระทำผิดมักจะเป็นนักเรียน

ในขณะที่หากการก่อเหตุเกิดขึ้นเพราะเหตุผลจากข้อพิพาทหรือความคับข้องใจผู้ก่อเหตุมักจะเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นักเรียนในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่า 1 ใน 5 ของเหตุการณ์กราดยิงนั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ก่อเหตุมีความสัมพันธ์ใดๆกับโรงเรียน

รายงานขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ U.S. Government Accountability Office ที่ได้รับคำร้องขอจากสมาชิกสภาคองเกรสให้ศึกษาเรื่องการกราดยิงในโรงเรียน ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2020
ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/gao-20-455

และเมื่อวิเคราะห์ไปถึงลักษณะของโรงเรียนปรากฏว่าโรงเรียนที่อยู่ในเขตเมืองหรืออยู่ในพื้นที่ชุมชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี หรือมีชน กลุ่มน้อยในอัตราที่สูง มักจะมีเหตุเกิดขึ้นมากกว่าโดยความรุนแรงมักจะเกิดจากเรื่องคับข้องใจและข้อพิพาท

ส่วนโรงเรียนในเขตชนบท หรือที่ตั้งในพื้นที่ชุมชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีหรือโรงเรียนที่มีอัตราชนกลุ่มน้อยต่ำมักเกิดเหตุความรุนแรงจากกรณีการจงใจฆ่าตัวตายหรือการวางแผนก่อเหตุความรุนแรงในโรงเรียนและมักจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่า

ในส่วนของสถานที่เกิดเหตุปรากฏว่าส่วนใหญ่จะเกิดเหตุนอกอาคารโรงเรียนอย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีที่ผู้ก่อเหตุลงมือในอาคารจะเกิดความสูญเสียมากกว่าทั้งนี้หากการกระทำเกิดจากข้อพิพาท ความรุนแรงก็มักจะเกิดนอกอาคารโรงเรียนในขณะที่หากเป็นกรณีมุ่งเป้าหมายไปที่โรงเรียนโดยตรงตั้งแต่ต้น ผู้ก่อเหตุจะลงมือภายในอาคารเสียส่วนใหญ่

รายงานของ GAO เป็นข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งที่นำไปสู่การนำเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยและการเตรียมการป้องกันเหตุกราดยิงในโรงเรียน หรือ School Shooting Safety and Preparedness Actอันเป็นความพยายามของสมาชิกสภาคองเกรสในการแก้กฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ซึ่งร่างกฎหมายมีสาระสำคัญคือ การกำหนดคำนิยามคำว่าโรงเรียนที่ให้หมายความรวมถึงสถานศึกษาก่อนวัยเรียน (early childhood)จนถึงสถานศึกษาที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษา (post-secondary education)รวมถึงคำนิยามของคำว่ากราดยิง ซึ่งในร่างนี้ระบุว่าคือ เหตุการณ์ใดๆ ที่มีผู้บาดจ็บหรือเสียชีวิตจากการยิงปืนซึ่งเกิดในโรงเรียนไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อน หรือหลังเวลาเรียน หรือในขณะที่นักเรียนเดินทางหรือการไปร่วมกิจกรรมที่เป็นทางการของโรงเรียน

นอกจากนี้ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาที่จะต้องหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับข้อมูลของโรงเรียนที่ประกอบไปด้วยตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยและอาชญากรรมในโรงเรียนซึ่งรวมไปถึงการรวบรวมสถิติข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในอดีตทั้งหมด

และที่สำคัญคือข้อมูลด้านความปลอดภัยและการป้องกันเหตุ ซึ่งจะต้องมีแผนเผชิญเหตุ(active shooter response plan)และแผนการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งกายและใจซึ่งรวมถึงสภาวะหลังความรุนแรง (traumaresponse plan)

จากประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกาที่ต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้งผู้เขียนจึงเห็นว่าการวางมาตรการที่เป็นรูปธรรมน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญในการจัดการกับปัญหา เช่น การจัดให้มีแผนรับมือและซักซ้อมภายในโรงเรียนกันอย่างเป็นประจำ

ทำนองเดียวกับการซ้อมหนีไฟกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นแผนการรับมือและการซักซ้อมเป็นเรื่องสำคัญ “วิ่ง..หลบ..สู้(หากไม่มีทางอื่นแล้ว)..และโทรแจ้งเจ้าหน้าเมื่อทำได้”

แคมเปญของมหาวิทยาลัยมิสซูรี่ เพื่อรณรงณ์ในการรับมือกับเหตุการณ์ความรุนแรงในสถานศึกษา ที่มาภาพ : https://www.umsl.edu/safetyinitiatives/active-shooter-response.html

นอกจากนี้ควรพิจารณาการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไปพร้อมกันด้วย เช่นการพิจารณาเรื่องการครอบครองอาวุธปืนตามกฎหมายเพราะข้อเท็จจริงตามข่าวแม้ผู้ก่อเหตุจะถูกไล่ออกจากราชการแล้วและคืนปืนของราชการแล้วแต่ก็ยังคงครอบครองปืนที่จัดหาเอง ซึ่งจริงๆแล้วหากมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็จำเป็นที่จะต้องเพิกถอนใบอนุญาต

ปัญหายาเสพติดก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 และประกาศสำนักงาน ป.ป.ส.ผู้ที่มีคดีที่เกี่ยวกับการเสพโดยไม่ได้มีคดีเรื่องอื่นจำต้องเข้าสู่ระบบการตรวจพิสูจน์และฟื้นฟูสมรรถภาพโดยการรักษารูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบควบคุมตัวหรือไม่ควบคุมตัวแต่ตามข่าวก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวหรือไม่

ในเรื่องนี้เพื่อให้ชัดเจน เมื่อมีกรณีที่พบว่าบุคลากรในภาครัฐมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด การไล่ออกเพียงอย่างเดียวเป็นเหมือนกับการผลักภาระให้กับสังคม จริง ๆ ควรจะต้องมีการไล่ออกและเพิ่มกระบวนการส่งฟื้นฟูและรักษาแบบบังคับด้วย ในเรื่องนี้ควรจะมีระเบียบกลางของทางราชการรองรับ

นอกจากนี้การบรรจุบุคลากรเข้ารับราชการโดยเฉพาะข้าราชการที่ใช้อาวุธจำเป็นที่จะต้องมีระบบกลั่นกรองอย่างพิถีพิถันมากเพราะการฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจนเกิดทักษะที่ชำนาญ ย่อมใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนรวมถึงความไว้วางใจสาธารณะของประชาชนที่มอบให้กับเจ้าหน้าที่รายนั้นการใช้ทักษะที่ได้รับจึงต้องใช้ไปเพื่อพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญดังนั้นการตรวจประวัติภูมิหลังอย่างละเอียดตั้งแต่การบรรจุรวมถึงการตรวจหาสารเสพติดระหว่างการดำรงตำแหน่งนั้นๆอย่างสม่ำเสมอแบบตรงไปตรงมาไม่ช่วยเหลือกัน ก็จะเป็นการกลั่นกรองและลดความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่รายนั้นจะก่อเหตุอาชญากรรม

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาเป็นเพียงสิ่งที่ควรนำมาอภิปรายและระดมความเห็นรวมถึงมุมมองต่างๆ จากทุกภาคส่วนเพื่อให้ตกผลึกในทางความคิดก่อนที่จะผลักดันให้มีมาตรการต่างๆที่เป็นรูปธรรมอย่างไม่เนิ่นช้าสิ่งนี้น่าจะเป็นความหวังที่ทำให้เราป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก ผู้เขียนแม้ไม่มีลูกแต่ก็เป็นลุงของหลานๆอายุ 4 ขวบและ 2 ขวบ

แม้เพียงหลานเจ็บป่วยยังน้ำตาซึม นับประสาอะไรกับผู้ที่สูญเสียลูกน้อยผู้ที่เป็นแก้วตาดวงใจผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบทุกท่านผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปให้ได้ และขอเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันวางมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก

เอกสารประกอบการเขียน
https://www.gao.gov/products/gao-20-455
https://www.congress.gov/congressional-report/117th-congress/house-report/307/1
https://www.umsl.edu/safetyinitiatives/active-shooter-response.html