ปิติคุณ นิลถนอม

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณและเงินกู้ไปกับการแก้ไขและเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายด้านทั้งการจัดหาวัคซีน การรักษาผู้ป่วย การฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจและสังคมผ่านแพคเกจต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกแทบจะประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ในประเด็นที่คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงบริการของภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น ไม่มีบัตรประชาชน เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จนมีคำกล่าวที่ว่าโควิด-19 ทำร้ายคนตัวเล็กตัวน้อยหรือกลุ่มเปราะบางมากที่สุด
ในปัจจุบัน ผู้ตรวจสอบภาครัฐที่ทำหน้าที่ในองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน (supreme audit institutions) แต่ละประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นการสร้างผลผลิต ทั้งการตรวจสอบและการให้คำปรึกษา เพื่อแนะนำให้ภาครัฐจัดทำโครงการต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะประเด็นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้สังคมเป็นสังคมของทุกคนอย่างเท่าเทียมและครอบคลุมแบบ inclusive society
นอกจากนี้ ผู้ตรวจสอบภาครัฐได้หันมาให้ความสำคัญกับการฟังเสียงจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษี อย่างแข็งขันว่า เขาคาดหวังสิ่งใดจากรัฐ รวมถึงองค์กรตรวจสอบ เพื่อให้งานที่ผลิตออกมาเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชนมากที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องจากทรัพยากรขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั้งงบประมาณ บุคลากร และเวลา มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การเลือกตรวจสอบเรื่องหนึ่งย่อมเสียโอกาสในการที่จะไปตรวจสอบในอีกเรื่องหนึ่ง จึงจะต้องมีการคัดเลือกเรื่องตรวจสอบที่มีนัยสำคัญและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งต้องใช้วิธีการตรวจสอบและกระบวนการที่สร้างความมั่นใจว่า ข้อเสนอแนะที่แจ้งไปยังภาครัฐจะได้รับการปฏิบัติตาม และเมื่อมีการแก้ไขตามคำแนะนำแล้ว จะทำให้โครงการภาครัฐได้รับการปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งคุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น กระบวนการที่สำคัญที่สุดก็คือฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่มว่าเขาต้องการอะไร และจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นก็จะต้องเข้าใจบริบทของสังคมวัฒนธรรมการเมืองในประเทศนั้นๆ เพื่อทำหน้าที่ให้ตอบโจทย์กับประชาชนมากที่สุด
ในเรื่องนี้มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศนิวซีแลนด์ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งนิวซีแลนด์ (Office of the Auditor General of New Zealand หรือ OAG) พยายามทำความเข้าใจว่าประชาชนต้องการสิ่งใด และมีมุมมองต่อการบริหารภาครัฐอย่างไร โดยมุ่งเน้นมุมมองของชาวเมารีซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศเพื่อตอบโจทย์การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หลักคิดของการศึกษานี้คือ ภาษา วัฒนธรรมของคนต่างกลุ่มกันย่อมส่งผลโดยตรงให้มองโลกและตีความสิ่งเดียวกันแตกต่างกันออกไปตามทฤษฎีสัมพันธภาพทางภาษาหรือ linguistic relativity นอกจากนี้หากมองในมุมของมานุษยวิทยาภาษา (linguistic anthropology) หรือคติชนวิทยา (folklore) โดยเฉพาะที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่า นิทานปรัมปราต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ต่างก็มีผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มคนนั้นๆ อย่างแยกไม่ออก
OAG ที่ต้องการสร้างผลงานเพื่อให้ภาครัฐปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงอยากรู้ว่าในมุมมองของชาวเมารีแล้ว มีความคาดหวังอะไรจากภาครัฐบ้าง มีอะไรเป็นข้อขัดข้องใจหรือ painpoint เวลาได้รับบริการจากภาครัฐบ้าง
และเมื่อมองผ่านเลนส์วัฒนธรรมและภาษาของชาวเมารีแล้ว ความพร้อมรับผิดของภาครัฐคืออะไร และควรจะเป็นอย่างไร ซึ่ง OAG มุ่งหมายที่จะนำผลการศึกษามาพัฒนางานของหน่วยงานให้ทำงานตอบโจทย์มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสาธารณะหรือ public trust ให้ครอบคลุมทั้งประชากรกลุ่มใหญ่และชาวเมารีที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 17.1 ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศทั้งสิ้น

ที่จริงแล้วมีการศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ 1998 ผลสรุปว่าชาวเมารีมีความเชื่อมั่นในการทำงานของภาครัฐในระดับต่ำ และมีข้อเสนอว่าภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการสาธารณะโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมของชาวเมารี อย่างไรก็ตามผ่านมา 20 ปีก็ยังไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีการปรับปรุงดังกล่าวแล้ว ดังปรากฏตามรายงานของสำนักงานชาวเมารีสัมพันธ์ หรือ Office for Maori Crown Relations ที่ระบุว่า ชาวเมารียังคงรู้สึกว่าภาครัฐทอดทิ้งและไม่สนใจ ซึ่งต่อมาในปี 2020 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริการสาธารณะ หรือ Public Service Act ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ให้ความสำคัญกับชาวเมารี โดยจะต้องเข้าใจวัฒนธรรม ตลอดจนส่งเสริมให้ชาวเมารีมีส่วนร่วมในกระบวนการภาครัฐมากขึ้น
จากเหตุผลข้างต้น ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว OAG จึงได้ว่าจ้างบริษัท Haemata Limited ศึกษาในเรื่องนี้ บริษัทได้เริ่มศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัยที่ยึดชาวเมารีเป็นศูนย์กลาง หรือ Maori-centred research approach หาใช่เป็นการนำการศึกษาแบบตะวันตกที่ใช้กันในการศึกษาทั่วๆไป เพื่อตัดอคติของการมองในมุมของคนที่ไม่ใช่ชาวเมารีออกไป อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความรู้สึกปลอดภัยในเชิงวัฒนธรรม (culturally safe) นอกจากนี้ ยังเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในทุกกระบวนการ รวมถึงใช้แนวทางการวิจัยแบบ Wananga ที่มุ่งเน้นการคิดและการแก้ปัญหาร่วมกันกับชาวเมารี เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจใหม่ร่วมกัน
โดย OAG คาดหวังว่าจะนำผลการศึกษานี้ไปกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานตรวจสอบรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของ OAG อันจะนำไปสู่ประโยชน์ในการเสนอแนะให้ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐ ที่ตอบโจทย์ชาวเมารีที่สุด

หลังการศึกษาและสัมภาษณ์ ผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นชาวเมารีทั้งที่เป็นผู้ทำหน้าที่อยู่ในภาครัฐและถูกตรวจสอบโดย OAG, ชาวเมารีที่เป็นผู้จัดทำโครงการสาธารณะแก่ชาวเมารีเอง (service providers) และชาวเมารีที่เป็นประชาชนทั่วไป พบว่า
ในมุมมองความเชื่อมั่นและความมั่นใจที่มีต่อภาครัฐ (trust and confidence) ซึ่งเป็นหัวใจของความพร้อมรับผิดของภาครัฐ ปรากฏว่า

ในมุมความพร้อมรับผิดหรือ accountability นั้น ชาวเมารียังมีกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นธรรมเนียม (customary law) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความพร้อมรับผิดเรียกว่า Mana ที่มีคำอธิบายว่า Mana คือพลังที่ผู้อื่นมอบให้
ไม่มีใครจะอ้างว่าตัวเองมีได้หากผู้อื่นไม่ได้มอบให้ และเมื่อได้รับมาก็จะมีไปตลอดตราบที่ยังมีความน่าเชื่อถือต่อบุคคลอื่นอยู่ หลักการนี้มีมาตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของลัทธิอาณานิคม ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นหลักการสำคัญที่ชาวเมารีมองเรื่องความพร้อมรับผิดของผู้มีอำนาจ

จึงได้มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
1. ภาครัฐควรเปลี่ยนแนวทางการจัดทำบริการสาธารณะในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชาวเมารี โดยไม่โฟกัสเฉพาะสถิติในเชิงลบเหมือนที่ผ่านมา โดย OAG ควรจะวางยุทธศาสตร์ในการทำงานเพื่อชาวเมารี รวมถึงจัดให้มีกลไกรับฟังทั้งข้อมูลความคิดเห็น เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการตรวจสอบโครงการภาครัฐ ตลอดจนพัฒนากระบวนการเกี่ยวกับการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและประเมินผล โดยเข้าใจวัฒนธรรมของเมารี และฟังเสียงชาวเมารี เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานภาครัฐรวมถึงการตรวจสอบจะนำไปสู่ผลที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้คุณภาพชีวิตชาวเมารีดีขึ้น
2. OAG ควรเน้นการตรวจสอบประเด็นความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมในการจัดทำโครงการภาครัฐ รวมถึงการตรวจสอบในภาพรวมของหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกันในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับชาวเมารี ไม่ใช่ตรวจสอบเพียงบางหน่วยงาน เพราะในหลายๆเรื่องนั้นการแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ดังนั้นจะทำให้เกิดมรรคเกิดผล ย่อมต้องตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพรวม (Whole-of-Government Approach) เพื่อมีข้อเสนอแนะให้ทำงานสอดคล้องกันและไม่ขัดแย้งหรือย้อนแย้งกัน
3. ในประเด็นที่ชาวเมารีมอง OAG ว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐเลยไม่เชื่อมั่นนั้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (Controller and Auditor-General) ควรจะสร้างช่องทางในการติดต่อและเชื่อมสัมพันธ์กับชาวเมารีเพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้ชุมชนชาวเมารีมีความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และอำนาจของ OAG ผ่านการสื่อสาร 2 ทาง โดยเน้นการฟังเชิงลึก deep listening เพื่อรับฟังเสียงและเข้าใจวัฒนธรรมของชาวเมารีอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการสร้างการเรียนรู้แบบ 2 ทาง (two-way education) และการวางกลยุทธ์ในการร่วมงานกับชาวเมารี เพื่อให้ชาวเมารีเห็นความจริงใจและความตั้งใจของ OAG ในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน
โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาว่าชาวเมารีคิดอย่างไร การจัดให้มีการสื่อสารอย่างใกล้ชิด การฟังเชิงลึก รวมถึงการถามว่ามีสิ่งใดที่จะทำเพื่อชาวเมารีได้ จะเป็นส่วนสำคัญในการลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทของผู้ว่า OAG ได้ และจะค่อยๆสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานอย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อความน่าเชื่อถือของ OAG เพิ่มขึ้น ชาวเมารีก็จะมีความไว้วางใจมากขึ้นและเห็นว่าผลงานการตรวจสอบน่าเชื่อถือ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเขาโดยแท้จริง

โดยหลักการแล้วองค์กรตรวจการแผ่นดินเปรียบเสมือนผู้ฉายสปอทไลท์ไปที่ภาครัฐเพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่ามีการบริหารงานอย่างไร เพื่อสร้างความโปร่งใสความรับผิดในภาครัฐ หากพบว่ามีข้อบกพร่องหรือความเสี่ยงใด ๆ ก็จะเสนอแนะผ่านความเห็นที่เป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติได้เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปโดยโปร่งใส ไม่รั่วไหล เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน และครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่ตกหล่น
ผลโดยตรงของการทำหน้าที่นี้ก็คือสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกๆกลุ่ม ว่ามีคนเฝ้าระวังเป็นหมาเฝ้าบ้านคอยจับตาดูแทนประชาชน การเข้าอกเข้าใจ (empathy) ว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินแผ่นดินที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุดในแต่ละกลุ่ม คิดอย่างไร และคาดหวังสิ่งใด ก็จะทำให้การทำงานนั้น เกาถูกที่คัน ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ไม่เพียงแต่ OAG นิวซีแลนด์เท่านั้น แต่องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้ว่าในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การตรวจเงินแผ่นดินนานาชาติ (International Organization of Supreme Audit Institutions หรือ INTOSAI) ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งจะมีการพูดคุยกันในประเด็น “global voice, global outcome, and far-reaching impact” ที่จะแลกเปลี่ยนประเด็นแนวคิดเกี่ยวกับความสำคัญของเสียงประชาคมโลก เพื่อให้ INTOSAI สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลกนี้ได้ ผ่านการให้คำปรึกษาแนะนำภาครัฐภายในแต่ละประเทศรวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งองค์กรตรวจแผ่นดินไทย (สตง.) ที่เป็นคณะกรรมการบริหาร 1 ใน 20 ประเทศก็จะเข้าไปมีส่วนในการอภิปรายในครั้งนี้เพื่อนำแนวทางดังกล่าวมาพัฒนาการตรวจสอบภาครัฐในประเทศไทยด้วย
ผลผลิตของการประชุมครั้งนี้ก็จะปรากฏในรูปแบบของปฏิญญาที่แต่ละชาติจะนำไปขับเคลื่อนในประเทศของตนเพื่อให้มั่นใจว่างานการตรวจสอบจะผลักดันให้ภาครัฐปรับปรุงการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์และตอบโจทย์ที่ประชาชนคาดหวังอย่างแท้จริง ทั้งในระดับประเทศ และสังคมโลกของเราทุกคน
เอกสารประกอบการเขียน
https://www.stats.govt.nz/information-releases/maori-population-estimates-at-30-june-2021
https://oag.parliament.nz/2022/maori-perspectives
https://www.facebook.com/photo?fbid=435307718634406&set=a.306010704897442