ThaiPublica > คอลัมน์ > ฟุตบอล กีฬา กับมะเร็งร้ายที่ต้องรีบรักษา

ฟุตบอล กีฬา กับมะเร็งร้ายที่ต้องรีบรักษา

29 พฤศจิกายน 2022


ปิติคุณ นิลถนอม

ที่มาภาพ : https://twitter.com/search?q=qatar+world+cup&ref_src=twsrc%5Egoogle%7Ctwcamp%5Eserp%7Ctwgr%5Esearch

มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างฟุตบอลโลก FIFA World Cup ได้หวนกลับมาให้แฟนานุแฟนลูกหนังทั่วโลกร่วมเชียร์กันอีกครา
ต้องยอมรับว่าฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมของมนุษยชาติไม่ว่าชาติใด ภาษาใด บางคนกล่าวว่าเป็นกีฬาที่สลายชนชั้นในสังคมลง ไม่ว่าจะเป็น CEO บริษัทข้ามชาติหรือผู้ใช้แรงงานก็สามารถสนุกกับเกมส์ได้โดยการเชียร์ทีมๆเดียวกัน แม้แต่ผู้ลี้ภัยที่เตะฟุตบอลกับเพื่อนร่วมค่ายก็สนุกกับมันได้ไม่ต่างจากฟุตบอลกระชับมิตรที่ อีลีท หรือเซเลบ นัดสังสรรค์โดยใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลาง

นอกจากนี้ ฟุตบอลยังเป็นกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจและความหวังให้กับเยาวชนมากมายที่อยากเป็นเหมือนนักเตะที่ชื่นชอบ เพราะมันนำมาซึ่งชื่อเสียง รายได้และความมั่นคงในชีวิตและเมื่อฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมถึงขีดสุด ฟุตบอลจึงถูกใช้เป็นสื่อกลางในการส่งต่อ “คีย์แมสเสจ” ให้ถึงสังคมในวงกว้าง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม เช่น การยุติความรุนแรง การสร้างความเท่าเทียม แม้กระทั่งการโปรโมทเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs ที่ สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป หรือ UEFA ได้ส่งเสริมประเด็นดังกล่าว ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์ยุโรป (Women’s Euro 2022) เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

https://digitalhub.fifa.com/m/4c8c5e88c80b704b/original/FIFA-Women-s-World-Cup-2023-Sustainability-Strategy.pdf
สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (UEFA) เข้าร่วมโครงการ Football For The Goals (FFTG) กับสหประชาชาติ เพื่อใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลางให้แฟนฟุตบอลตระหนักถึงความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์ยุโรปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ที่มา : https://news.un.org/en/story/2022/07/1122002

หรือล่าสุดที่ทีมฟุตบอลในยุโรปนัดกันให้กัปตันทีมชาติใส่ปลอกแขนวันเลิฟเพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนความเท่าเทียม และปกป้องสิทธิ์ของกลุ่ม LGBTQ+ แม้จะมีดราม่าจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ที่ไม่ต้องการให้ทำแคมเปญดังกล่าวเพราะเรื่องรักร่วมเพศขัดแย้งกับกฎหมายของชาติเจ้าภาพอย่างการ์ต้า

อย่างไรก็ตาม ในภาพดีๆที่เห็นก็ยังมีมุมมืดเช่นเดียวกับวงการอื่นๆ สืบเนื่องมาจากวงการฟุตบอลมีผลประโยชน์มหาศาล ทั้งเรื่องการตลาด ลิขสิทธิ์การถ่ายทอด ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเย้ายวนใจให้มนุษย์เข้ามาตักตวงผลประโยชน์อันมิชอบเพื่อตนเองและพวกพ้อง

เรื่องการทุจริตเหล่านี้เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับหลักการของกีฬาโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะการบ่อนทำลายความเป็นนักกีฬา (Sportsmanship) ที่ต้องเป็นสุภาพชน รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย มีน้ำใจนักกีฬา อยู่ในกติกาของการแข่งขัน เรียกได้ว่าการทุจริตในวงการกีฬาทำลายทั้งธรรมาภิบาลของวงการ รวมถึง “หลักการ”และ “สปิริต” ของกีฬาด้วย

ก่อนฟุตบอลโลกเริ่มได้ไม่นาน มีเรื่องน่าตกใจไม่น้อยที่ เซปป์ แบลตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่า ได้ออกมายอมรับว่ากาตาร์ไม่เหมาะสมที่จะจัดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ซึ่งเรื่องความไม่โปร่งใสนี้มีส่วนเชื่อมโยงกับกรณีอื้อฉาวของฟีฟ่าเมื่อ ค.ศ. 2015 ที่มีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้บริหารฟีฟ่าหลายราย หลังสำนักงานสอบสวนกลางหรือ FBI และหน่วยสืบสวนของกรมสรรพากรสหรัฐหรือ IRS-CI ทำการสอบสวนพบกรณีการรับสินบน จนส่งผลให้ เซปป์ แบล็ตเตอร์ ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานฟีฟ่า และถูกแบนจนถึงปี 2027

นอกเหนือจากฟีฟ่าแล้ว ในแวดวงกีฬาโลก สถานการณ์การทุจริตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ Interpol ได้รวบรวมสถิติการทุจริตในวงการกีฬาทั่วโลกไว้ในฐานข้อมูลอย่าง Sports Corruption Barometer ที่ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัย Abertay โดยระบุว่า ปี 2021 ที่ผ่านมา มีการลงโทษทั้งทางอาญาและทางปกครองจำนวน 157 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาค ยุโรปและเอเซีย ในจำนวนนี้มีประเทศที่ถูกลงโทษเฉพาะกีฬาฟุตบอลรวม 21 ประเทศ

ฐานข้อมูล Sports Corruption Barometer ปี 2021 ที่รวบรวมโดย Interpol และมหาวิทยาลัย Abertay ที่มา : https://www.interpol.int/Crimes/Corruption/Corruption-in-sport

เมื่อดูประเภทกีฬาแล้ว นอกจากกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอล มีกีฬาที่มีแนวโน้มการทุจริตเพิ่มขึ้นคือ ปิงปอง ขี่ม้า แฮนด์บอล ฮอคกี้น้ำแข็ง และกีฬาสมัยใหม่อย่าง eSports

มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์ของปี 2021 คือการใช้ เงินดิจิทัล ในการใช้กระทำผิด อันเป็นความท้าทายใหม่ของผู้บังคับใช้กฎหมาย ส่วนคนที่ถูกลงโทษนอกจากนักกีฬาแล้วยังมี กรรมการผู้ตัดสิน โค้ชผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนกรณีการปั่นผลการแข่งขันมักจะทำในทัวร์นาเมนต์ที่ไม่ใหญ่นัก และสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการทุจริตคือขาดธรรมภิบาล

ข้อมูลข้างต้นคือข้อมูลในปีที่แล้วที่สะท้อนภาพและแนวโน้มในปัจจุบันเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วการทุจริตในวงการกีฬามีมาตั้งแต่ในยุคโอลิมปิกสมัยโบราณ และมาหนักขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษหลัง ที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบการโอนเงิน หรือแม้แต่ cryptocurrency ที่มีบทบาทสูงในปัจจุบัน ทำให้การทุจริตมีช่องทางมากขึ้นและซับซ้อนขึ้น ยากที่จะจับได้ และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในรูปแบบขององค์กรอาชญากรรมที่มีเครือข่ายการฟอกเงินในหลายประเทศ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก คำกล่าวนี้ไม่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด ดังจะสะท้อนให้เห็นจากองค์กรระดับโลก ได้ริเริ่มแคมเปญต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการทุจริตและอาชญากรรมในวงการกีฬา อาทิ สำนักงานว่าด้วยอาชญากรรมและยาเสพติดแห่งสหประชาชาติหรือ UNODC ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาของการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอร์รัปชัน หรือ UNCAC ซึ่งอนุสัญญานี้เป็นเอกสารกฎหมายฉบับเดียวในประชาคมโลกที่มีผลผูกพันสมาชิกในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน

ความพยายามดังกล่าวเริ่มจากการมีข้อมติร่วมกันของชาติภาคีสมาชิก UNCAC ทั่วโลกกว่า 180 ประเทศ ในปี 2017 ที่กรุงเวียนนา และ 2019 ที่เมืองอาบูดาบี เป็นข้อมติที่อุทิศให้กับการต่อต้านการทุจริตในวงการกีฬา ซึ่งในปี 2017 UNODC ได้มีการจัดตั้งโครงการปกป้องวงการกีฬาจากการทุจริตและอาชญากรรมขึ้นอีกด้วย

และล่าสุดเมื่อ 9 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา UNODC ได้เผยแพร่ Global Report on Corruption in Sport ซึ่งถือเป็นรายงานฉบับแรกของโลกที่ฉายภาพให้เห็นสถานการณ์การทุจริตในทุกมิติที่เกิดขึ้นในวงการกีฬารวมถึงข้อเสนอแนะให้รัฐบาลแต่ละประเทศรวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดการกับปัญหาโดยมีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้กับปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย

UNODC ได้เผยแพร่ Global Report on Corruption in Sport ซึ่งถือเป็นเอกสารรายงานฉบับแรกของโลกที่ฉายภาพให้เห็นสถานการณ์การทุจริตในทุกมิติ เมื่อ 9 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา ที่มา : https://www.unodc.org/unodc/en/safeguardingsport/grcs/index.html

นอกเหนือจากความพยายามดังกล่าวข้างต้น UNODC ยังได้ริเริ่มความร่วมมือกับองค์กรกีฬาระดับโลก โดยลงนามใน MoU กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC ในปี 2011 และ FIFA ในปี 2020 เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการกับมะเร็งร้ายที่ชื่อว่าการทุจริต

Gianni Infantino ประธาน FIFA แถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2021 ถึงความร่วมมือกับ UNODC เพื่อต่อสู้กับการทุจริตในวงการฟุตบอล และป้องป้องเด็กๆทั่วโลก ที่มา :https://www.unodc.org/unodc/en/safeguardingsport/grcs/index.html

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำไปเพื่อมุ่งหวังที่จะผลักดันให้ประชาคมโลกผลักดันให้มีกฎหมายภายในประเทศเพื่อจัดการกับการทุจริตในวงการกีฬาทุกรูปแบบ ทั้งการติดสินบน การล็อคผลการแข่งขัน การพนันที่ผิดกฎหมาย การล่วงละเมิดในวงการกีฬา เป็นต้น

รวมถึงการผลักดันให้ทุกประเทศจัดให้มีหน่วยงานกลางภายในประเทศ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานต่อผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีอาญาและทางแพ่ง รวมถึงยึดทรัพย์ตามมาตรการการฟอกเงินกับผู้กระทำผิด โดยจะต้องจัดสรรงบประมาณและบุคลากรให้กับหน่วยงานดังกล่าวอย่างเพียงพอในการทำหน้าที่ พร้อมทั้งต้องมีระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและบุคลากรในกระบวนการด้วย

นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกแก่กันในทางระหว่างประเทศรวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน ในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และภายในประเทศ

…ทั้งนี้เพื่อปกป้อง “สปิริต” ของกีฬา ซึ่งเป็นทั้งความหวัง และสัญลักษณ์ของสุภาพชนที่เคารพกติกา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เอาไว้…

เมื่อฟุตบอล และกีฬา สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับเยาวชนหลายล้านทั่วโลกฉันท์ใด การสร้างความโปร่ง ตรวจสอบได้ ในวงการย่อมทำให้เกิดตัวอย่าง และ “ภาพจำ” ที่ดี ที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษากติกา และเกิดวัฒนธรรมการไม่ยอมรับต่อการทุจริตในแวดวงอื่นๆ ได้ฉันท์นั้น

ประชาชนอย่างเราๆต้องไม่ยอมให้เกิดการทุจริตไม่ว่าวงการใด เพราะการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตย่อมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนา และหากมองในบริบทของประชาคมโลกแล้วจะเป็นส่วนส่งเสริมเป้าหมาย SDG ที่ 16 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โลกของเราบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมายได้

ในสนามฟุตบอลมีระบบกล้อง VAR หรือ Video Assistant Referee เพื่อช่วยกรรมการในการตัดสิน และมีหลายครั้งที่จับได้ว่ามีผู้เล่นทำผิดกติกา จนเสียจุดโทษ หรือได้ใบเหลือใบแดงกันไป หากเรารวมพลังและทำตัวเป็น VAR ที่สอดส่องและบันทึกภาพในสังคมและใช้ข้อมูลที่เก็บได้เพื่อจัดการกับผู้ทำผิดกติกาบ้านเมือง เชื่อว่าบรรดา “ผู้เล่น” ทั้งที่เป็นเบอร์ใหญ่แบบซุปตาร์ หรือตัวเล็กตัวน้อย ก็คงเล่นกันอย่างระวัง เพราะหากทะเล่อทะล่าทำผิดมา มีหวังได้เจอกล้อง VAR ภาคประชาชนแน่นอน !

เอกสารประกอบการเขียน

https://news.un.org/en/story/2022/07/1122002

https://www.voathai.com/a/fifa-arrests-1st-update-nm/2793633.html

https://www.interpol.int/Crimes/Corruption/Corruption-in-sport

https://www.unodc.org/unodc/en/safeguardingsport/grcs/index.html

https://www.fifa.com/legal/football-regulatory/news/fifa-and-unodc-stress-importance-of-cooperation-in-tackling-crime-threat

https://www.fifa.com/legal/football-regulatory/media-releases/unodc-fifa-partner-to-kick-out-corruption-and-foster-youth-development-through-f