ThaiPublica > เกาะกระแส > “ผู้ว่า ธปท.” ชี้เศรษฐกิจไทยเจอพายุใหญ่ภาษีสหรัฐฯ แนะปรับตัวฝ่าวิกฤติ มาตรการรองรับไม่ควรปูพรม

“ผู้ว่า ธปท.” ชี้เศรษฐกิจไทยเจอพายุใหญ่ภาษีสหรัฐฯ แนะปรับตัวฝ่าวิกฤติ มาตรการรองรับไม่ควรปูพรม

10 พฤษภาคม 2025


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดงานพบปะสื่อมวลชน Meet the Press ครั้งที่1/68 โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า Meet the Press วันนี้ โดยหลักต้องการที่จะตอบคำถามที่ทางสื่อสนใจ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ว่าจะกระทบไทยอย่างไร

ความไม่แน่นอนสูง ผลของพายุยังมาไม่ถึง

“ผลระทบของภาษีการค้า สร้างความไม่แน่นอนสูงมาก และมีหลายอย่างที่ยังไม่ค่อยชัดเจน ก็อย่างที่เห็นใน กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) เอง ตอนที่เราออก forecast ตัวเลขประมาณการ มีฉากทัศน์ 2 ฉากทัศน์ ซึ่งปกติเราจะไม่ทำ แต่สะท้อนว่าตอนนี้สิ่งที่เราเห็น ที่เราเจอ ที่เผชิญอยู่ มีความไม่แน่นอนสูงจริงๆ แต่ผมเข้าใจว่าการที่เราจะไปพูดว่าแบบทุกอย่างคลุมเครือ ไม่แน่นอน ไม่มีความชัดเจน ก็ไม่ได้ช่วยภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการที่จะเตรียมตัวแล้วก็ทำตัวให้พร้อมที่จะรับมือเรื่องพวกนี้ วันนี้จะขอพยายาม อาจจะฉายในของที่เราพอที่จะดูออกท่ามกลางความไม่แน่นอน ว่ามีอะไรบ้างที่เราพอดูออก เกี่ยวกับของที่กำลังมาว่าจะเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้ก็ได้พูดไปเหมือนกันว่า มองไปข้างหน้าเห็นได้ชัดว่าพายุกำลังมา” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า คำถามคือ ถ้าบอกว่าพายุกำลังมา สิ่งที่คนอยากรู้คืออะไร จะบอกว่าพายุกำลังมาเฉยๆ คงไม่พอ คนอยากรู้ว่า แล้วพายุจะมาถึงเมื่อไหร่ ผลกระทบนานแค่ไหน มาแล้วก็จะกระทบใครตรงไหน อย่างไร แล้วก็หนักแค่ไหนแล้วก็หลังจากนั้นหลังที่พายุมาแล้ว หลังจากผ่านไปแล้ว สถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็คงเป็นเรื่อง เป็นคำถามที่คนอยากจะรู้

“ผมพยายามจะฉายภาพเท่าที่เห็นได้ตอนนี้ แต่ก็มีความยาก เพราะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงจะคลาดเคลื่อนอยู่แล้ว แต่ผมว่าการที่เราจะฉายมุมมองของเรา อย่างน้อยก็อาจจะเป็นประโยชน์ในการที่จะให้ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน เตรียมรับมือ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ข้อแรก เป็น timing พายุจะมาเมื่อไหร่ มาถึงเมื่อไหร่ จะอยู่นานแค่ไหน ตอนนี้มองออกไปข้างหน้า เห็นชัดว่าพายุออกมาแล้ว แต่ผลของพายุจริงๆ ในแง่ของโลกตัวเลข ยังไม่เห็นอย่างชัดๆ ส่วนหนึ่งเท่าที่ดูผลเรื่องของการค้าในหลายมิติก็ยังไม่ค่อยเห็น เพราะเมื่อทุกคนรู้ว่ามีภาษีนำเข้าจะเกิดขึ้น ก็มีการนำเข้าเร็วขึ้น นำเข้าล่วงหน้า ช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้สะท้อนสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ก็มีผลบางอย่างที่เริ่มเห็นแล้ว เช่น มีความไม่แน่นอนสูง การลงทุนต่างๆ จึงอยู่ในโหมดที่จะรอคอย

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ผลของพายุที่เข้าคงไม่เห็นเร็ว เพราะมีผลที่เกิดจากเรื่องของนำเข้าเร็ว นำเข้าล่วงหน้า รวมทั้งการเจรจาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่

“ผลจริงๆ ก็คงเริ่มเห็นที่หนักๆ ก็คือครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในไตรมาส 4 หลังจากนั้นที่มองไว้ ซึ่งตัวนี้ก็สะท้อนสิ่งที่คนมองในเศรษฐกิจหลักด้วยว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตัวเลขต่างๆ น่าจะหนักขึ้นประมาณไตรมาส 4 อีกอย่างที่อยากจะสื่อนอกจากเรื่องเวลาแล้วก็คือ ผลกระทบรอบนี้ พายุตัวนี้ใช้เวลานาน ไม่จบเร็ว ถ้ามองว่า อีกภายใน 90 วันที่ระงับการบังคับใช้ภาษีไว้ทุกอย่างเหมือนจะเคลียร์ไป ก็ชัดเจนว่าคงไม่ใช่ เพราะหลักๆ คือจำนวนประเทศที่ต้องเจรจาสูงมาก การเจรจาก็คงไม่ง่าย การเจรจาที่เป็นข่าวออกมาเกี่ยวกับข้อตกลงสหรัฐฯ กับอังกฤษ ก็สะท้อนเหมือนกันทุกอย่าง คงใช้เวลาก่อนที่จะคลี่คลาย เป็นลักษณะพายุที่มาและใช้เวลายาวกว่าจะเคลียร์ได้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ส่วนการปรับตัวก็เช่นเดียวกัน ก็คงจะยาวนาน เพราะสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังการประกาศภาษี และเริ่มเห็นความชัดในระดับหนึ่ง คือห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ต่างๆ แต่การปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานใช้เวลานานเป็นปี ตัวนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่สะท้อนว่าช็อกครั้งนี้จะเป็นช็อก พายุนี้ใช้เวลา ไม่ได้จบในเร็ววัน

กระทบตรงไหน ขนาดไหน ใครถูกกระทบ พื้นที่ที่จะโดนเป็นใคร

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า อันแรกที่ชัดก็คือจุดที่จะโดนหนักสุด คือ กลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ 5 หมวด ตามที่เคยประเมินไว้ ทั้ง 5 หมวดเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับผลจากมาตรการภาษี เพราะเป็นหมวดที่ส่งออกไปที่สหรัฐฯ มาก ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน (รวมยางล้อ) อาหารแปรรูป และเครื่องจักร อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นห่วงค่อนข้างมาก ซึ่งไม่เฉพาะกลุ่มที่ส่งออกไปที่สหรัฐฯ แต่เป็นกลุ่มที่โยงกัน ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจจะไม่ได้ส่งออกไปที่สหรัฐฯ แต่อาจจะส่งไปที่ประเทศอื่นแล้ว ประเทศพวกนั้นส่งต่อไปที่สหรัฐฯ อีกทอดหนึ่ง กลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานนี้ก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“แต่มีกลุ่มหนึ่งที่เป็นห่วงมากเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่จะโดนกระทบจากเรื่องของสินค้านำเข้าที่จะทะลักเข้ามาในไทย เพราะการที่ประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถส่งไปที่สหรัฐฯ ได้ สิ่งที่จะตามมาก็คือสินค้าที่เขาส่งออกก็ต้องไปที่อื่น ซึ่งหนึ่งที่จะไปก็คือเป็นบ้านเราและโอกาสที่สินค้าต่างๆ จะทะลักเข้ามาในไทยก็สูง การที่สินค้าพวกนี้จะทะลักเข้ามาในไทยจะกระทบหลายธุรกิจด้วยกัน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า จะเห็นได้ว่ารอบนี้ผู้ที่ถูกกระทบหนักเป็นภาคการผลิต ต่างจากช่วงการระบาดโควิด ซึ่งขณะนั้นภาคการผลิตยังพอไปได้ ส่งออกยังพอไปได้ ภาคที่ได้รับผลกระทบหนักโดยตรงคือภาคบริการ

“พายุที่เข้ามาไม่ใช่จะได้รับผลกระทบทุกคน ไม่ได้โดนทุกพื้นที่ จะเป็นลักษณะภาค real sector ก่อน แต่ถามว่าผลข้างเคียงจะตามมา จะมีไหม ก็มีบ้าง ความไม่แน่นอนมันยังสูงมาก ทุกวันที่มีข่าวออกมากแนวโน้มก็เปลี่ยน แต่จากที่ดูครั้งนี้ก็ต้องบอกว่าผลระยะยาวมหาศาลแน่นอน แต่ถ้าเทียบกับช็อกอื่นๆ ที่เราเคยเจอก็คิดว่าไม่ได้หนักเท่ากับวิกฤติอื่นๆ ที่เราเคยผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นช่วงโควิดหรือช่วงวิกฤติปี 40” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ความลึกของช็อกครั้งนี้ก็ไม่น่าจะหนักเท่ากับวิกฤติอื่นๆ ที่ไทยเคยประสบ ดังจะเห็นได้จากมูลค่าเพิ่ม (value added) ของการส่งออกโดยรวมไปสหรัฐฯ ทั้งหมดประมาณ 2.2% ของ GDP เป็นตัวเลขที่ไม่น้อย แต่เมื่อเทียบกับช็อกที่เคยเจอในอดีต ไม่ว่าจะเป็นปี 40 หรือช่วงโควิด หรืออื่นๆ ที่ GDP ลงไปมากกว่านี้ เทียบดูแล้วก็ไม่ได้หนัก แต่ก็จะมีผลระยะยาว

”ประเด็นสุดท้าย แล้วหลังพายุผ่านไปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปเลย จะเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ หลังจากสถานการณ์ตรงนี้ การที่เราจะต้องปรับตัวต่างๆ เพื่อให้อยู่อย่างสง่างามในโลกหลังพายุมีความจำเป็นอย่างสูงเป็นพิเศษ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ด้วยความไม่แน่นอนที่ยังสูง การที่จะประเมินผลกระทบออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนยังไม่สามารถทำได้ กนง. เองก็ได้ใช้ตัวเลขเป็นฉากทัศน์เพื่อให้เห็นภาพขึ้นมาระดับหนึ่ง

เศรษฐกิจลงไม่ลึกเท่าวิกฤติอื่น

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ดร.เศรษฐพุฒิ ได้เขียนรูปประกอบ พร้อมอธิบายว่า เมื่อนึกถึงช็อกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะมีคำถามเกี่ยวรูปแบบของช็อกว่าจะเป็นแบบไหน เพื่อเป็นแนวทางในการต้องจับตา เช่น แบบ U-shape หรือแบบ V-shape ที่ลงลึกลงเร็ว แล้วฟื้นเร็ว ซึ่งครั้งนี้ต้องบอกว่า ไม่ใช่ V-shape “แต่โอกาสน่าจะเป็นเหมือนตัว V ที่แบบขากว้างๆ

“ขอย้ำว่ามีโอกาสเปลี่ยนไปได้ แต่ว่าเพื่อให้เป็นแนวทางในการจับตามอง เพื่อจะให้เห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า จากช็อกที่เจอ ก็คาดว่าก็น่าจะลงไปแบบตัว V ขากว้าง การฟื้นคงใช้เวลาพอสมควร “สิ่งที่เราต้องพยายามสังเกตก็คือ จุดต่ำสุดอยู่ไหน แล้วหลังจากที่ฟื้นเทียบกับก่อนจะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทาง จากการประเมินในลักษณะจะเห็นว่ามี 2-3 ช่วงที่ต้องใส่ใจ หนึ่ง คือ ช่วงที่กำลังลง สองช่วงที่ใกล้จุดต่ำสุดว่าจะลึกแค่ไหน สามที่สำคัญก็ช่วงนี้ ช่วงจะกลับไปฟื้นกลับไปสู่สภาวะควันหลงสุดท้ายแล้ว หลังจากพายุผ่านไป เราจะเป็นอย่างไร เป็น 4 ระยะ”

ระยะแรกจะลงเร็วแค่ไหน ลึกแค่ไหน ขึ้นกับการเจรจา ไม่ใช่เพียงการเจรจาของไทยกับสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เวลา มีหลายประเทศมากที่ต้องเจรจา อีกทั้งประเทศในกลุ่มประเทศหัวแถวต้องเจรจาก่อน แล้วการเจรจาอาจจะไม่ได้ง่าย ยกตัวอย่างข่าวการเจรจาของสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร รายละเอียดหลายอย่างยังไม่ค่อยชัดเจน เป็นเพียงกรอบที่ต้องไปเจรจาต่อ โดยเฉพาะในบางหมวด ไม่ใช่ว่าเจรจาเสร็จแล้วทุกอย่างชัด มีรายละเอียดอีกมาก

“การเจรจาการค้าตามปกติก็ใช้เวลากันเป็นปี การที่จะทำเร็วคงทำให้ครบถ้วนไม่ได้ และความไม่แน่นอนก็จะยังมีเหลืออยู่ ซึ่งความไม่แน่นอนอย่างที่เหลือนี้เป็นตัวถ่วงการลงทุน และการจะบอกว่าทุกอย่างจะจบเร็วเคลียร์เร็ว เราคิดว่าโอกาสนี้ต่ำ ล่าสุดก็เห็นมีข่าวจากทางสหรัฐฯ ที่ผู้แทนการค้าบอกว่าการเจรจากับประเทศอื่น ยกตัวอย่างทางเอเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ว่าน่าจะใช้เวลานานกว่าของสหราชอาณาจักร เพราะซับซ้อนกว่า”

“ท้ายสุด ตัวสำคัญที่จะบอกว่าจะหนักและลึกแค่ไหนก็คือจีน การเจรจาการค้ากับจีนน่าจะใช้เวลานานมากด้วยความที่รายละเอียดเยอะมาก ผลกระทบในแต่ละเรื่องก็มาก การเจรจาคงไม่ง่าย ตรงนี้คงใช้เวลาพอสมควร ก็เป็นที่มาที่เราคิดว่าจุดต่ำสุดคงไม่เร็วกว่าไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะใช้เวลากว่าเราจะเห็นความชัดเจน และหลังความชัดเจนและผลที่จะกลับมาให้ฟื้นได้ ก็คงใช้เวลา”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สิ่งที่สร้างความสบายใจได้บ้าง คือ ความลึกของตัวนี้ไม่น่าจะลึกเท่ากับช็อกที่เราเคยเจอครั้งก่อนๆ ถ้าเทียบเคียงกับช่วงวิกฤติการเงินโลก 2008 รอบนั้นการส่งออกตกลงไป 13% รอบนี้ตัวเลขฉากทัศน์ที่สอง ที่มองว่าเป็นกรณีรุนแรง (adverse scenario) ก็ติดลบประมาณ 1% กว่า หรือไม่ได้แรงมาก

“ความลึกของช็อกผมคิดว่ามันหนักแล้วจะส่งผลระยะยาว แต่เราไม่ควรตกใจจนเกินไป ไม่ควรชะล่าใจแน่นอน ความจำเป็นของการปรับตัวนี้มี แต่ไม่ควรตกใจเกินไป ภายใต้ความไม่แน่นอนในกรณีฉากทัศน์ที่เกิดสงครามการค้าอย่างเต็มที่ แบบคุยกันไม่ได้เลยระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเรื่องการค้าระหว่างสองประเทศ ความชันของการปรับลงก็จะชันกว่านี้ และจะลึกกว่านี้ สิ่งต้องจับตามองในระยะแรกและระยะสอง ตัวสำคัญ คือ การเจรจา โดยเฉพาะกับระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อโลกและต่อไทย และการเจรจาของเราเองว่าจะได้เงื่อนไขอะไร” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

อย่างไรก็ตามช็อกนี้จะไม่ดิ่งไปมหาศาล เทียบกับวิกฤติอื่นๆ และไม่น่าที่จะเกิดขึ้น เพราะชัดเจนว่าหลายฝ่ายคิดว่าระดับภาษีนำเข้าตอนนี้กว่า 100% ทั้งสหรัฐฯ กับจีนกับสหรัฐฯ เป็นอย่างนี้ไม่ได้ เนื่องจากภาคการผลิตของอเมริกาเองพึ่งการนำเข้าของชิ้นส่วนที่เป็นสินค้าขั้นกลางค่อนข้างมาก อย่างอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนประมาณ 46% ของสินค้าขั้นกลางที่จะเอาไปใช้ในการผลิตต่อ ในอิเล็กทรอนิกส์ 46% มาจากจีน ถ้าตัดตรงนี้ผู้ผลิตก็ไม่สามารถผลิตได้

“โอกาสที่จะเกิดสงครามการค้าเต็มที่และปรับลงแรงไม่น่าจะเกิด จะเป็นฉากทัศน์ที่มีการเจรจาไปก่อน แต่ไม่ใช่เจรจาแล้วจบ จะเหมือนกับการเจรจาเคลียร์บางอย่างไปก่อนแล้วต้องไปคุยต่อ ระหว่างนี้ก็มีภาษี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะปรับลง เพราะนัยหนึ่งที่ถอดมาการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักรคือ ภาษีพื้นฐาน 10% ยังอยู่ แม้สหราชอาณาจักรนำเข้าจากสหรัฐฯ มากกว่าส่งออก สหรัฐฯ ไม่ได้มีขาดดุลการค้ากับสหราชอาณาจักรก็ยังถูกเก็บภาษีพื้นฐาน 10% ประเทศอื่นอย่างไรก็ต้องถูกเก็บ 10% ก็ต้องบอกว่าไม่น้อยเลย 10% ถ้าเทียบกับที่ก่อนหน้านั้นอัตราภาษีนำเข้าที่มีผลบังคับใช้ของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณกว่า 2%” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

อัตราภาษี 10% ถือว่าสูง การค้าโลกจะลดลง แล้วจะมีนัยในระยะข้างหน้าว่า โลกหลังทั้งหมดผ่านไปจะไม่เหมือนเดิม อีกสัญญาณหนึ่งที่น่าเป็นห่วงซึ่งสะท้อนว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิม หลักการอันสำคัญของการค้าโลกที่ทุกที่ยึดกันไว้เดิม คือ MFN หรือ most favored nation (ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง) ดูเหมือนว่าไม่ใช้แล้ว ซึ่งหากมากขึ้นก็จะส่งผลให้ความวุ่นวายเกี่ยวกับการค้าสูงมากขึ้น และจะกระทบว่า end game ของทั้งหมดจะเป็นอย่างไร

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ระยะที่สาม กรณีที่ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ก็เป็นเรื่องของการฟื้นตัว “ตรงนี้ชัดเจนว่าจะใช้เวลาค่อนข้างยาว น่าจะยาวกว่าช่วงแรก เพราะว่าช่วงหลังการฟื้นตัว เป็นเรื่องของการปรับตัว เป็นการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งพวกนี้ใช้เวลาอยู่แล้วเป็นปีแล้วแต่หมวด และที่สำคัญ อันสุดท้าย คือหลังการฟื้นตัวจะเป็นอย่างไร ขอย้ำว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไม่ปรับตัว ก็จะต่ำกว่าระดับที่เคยอยู่สมัยก่อน เนื่องจากข้อแรกที่ชัด คือ ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สูงขึ้นทำให้การค้าโลกลดลงโดยรวม”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ต้องปรับตัว แทนที่จะไปเลือกห่วงโซ่อุปทานที่เหมือนกับต้นทุนต่ำที่สุด ก็ต้องไปที่อื่นที่ต้นทุนสูงกว่า เหล่านี้ทั้งหมดจะลดหรือทอนประสิทธิภาพ ก็น่าจะทำให้อัตราการเติบโตของโลก และรวมของไทย ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนี้ชะลอตัวลง ประเทศหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วยที่พึ่งพาการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ก็จะถูกกระทบ ”พูดง่ายๆ คือ ถ้าแบบไม่ค่อยมีการปรับตัวเหมือนกัดฟันไป ผ่านเวลาไปกลับไปอยู่อย่างเดิม ไปพึ่งทุกอย่างแบบเดิม อัตราการโตที่จะเห็นในข้างหน้ามีโอกาสที่จะต่ำกว่าที่เคยเห็นในอดีตค่อนข้างสูง แต่หากเราถือโอกาสนี้ปรับตัวให้ได้ โอกาสที่การเติบโตของเราจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนก็มี”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สิ่งช่วยให้อัตราการเติบโตสูงกว่าก่อนได้ อย่างแรก สหรัฐฯ เป็นตลาดที่ใหญ่ในโลก แต่สัดส่วนของการนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจโลกประมาณ 15% (หากรวมสินค้าขั้นกลางด้วยก็ประมาณ 17%) ถ้าใช้ตัวเลข 15% ของโลก คำถามคือ 85% ที่เหลือทำอย่างไร จึงมีฉากทัศน์หนึ่งที่ใช้ 15% การนำเข้าลดลง การค้าส่วนนั้นน้อยลง แต่หาก 85% ที่เหลือหันหน้าเข้าหากัน ลดกำแพงภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีกับการค้าต่างๆ ลดลง มีการค้าขายกันมากขึ้นในส่วน 85% ที่เหลือ รวมตัวกันมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่า การค้าที่ประเทศอย่างไทยจะเจอก็อาจจะดีกว่าก่อนก็ได้ แล้วอัตราการของโตก็จะดีขึ้นไป

อย่างที่สองในด้านอุตสาหกรรม ตัวสำคัญของไทยคือภาคบริการ เทียบกับประเทศอื่นก็ถือว่ามีข้อดี ไทยเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างหนักไปทางด้านภาคบริการ ผลกระทบต่อการค้ากับการอุตสาหกรรมอาจจะไม่มากเท่ากับประเทศอื่น ที่พึ่งภาคอุตสาหกรรมกับการส่งออกมากกว่าไทย แล้วหากไทยสามารถยกระดับประสิทธิภาพภาคบริการให้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบเดิมๆ แต่ต้องหาแบบอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่สามารถพึ่งพาแบบเดิมได้ โอกาสตรงนี้จะเพิ่มสูงขึ้นแล้วก็ดีขึ้นกว่าเดิมก็มี

  • ธปท.ชี้เศรษฐกิจ shock ภาษี GDP ปีนี้มีโอกาสต่ำกว่า 2.5%
  • นโยบายไม่ควรใช้เพื่อกระตุ้นแบบเดิม

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การประเมินที่นำเสนอนี้ มีโอกาสคลาดเคลื่อน ผิดพลาดสูง สิ่งที่ ธปท. จะพยายามทำ คือ อัปเดตต่อเนื่อง โดยที่ตอนนี้ฉากทัศน์ที่มองคือจะเห็นไตรมาส 4 หนักสุดในเรื่องตัวเลข GDP แต่ก็ขึ้นอยู่กับผลของการเจรจาสำหรับประเทศหลักและของไทย ถ้าเห็นว่าตรงนี้ช้ากว่าที่คาด หรือเร็วกว่าที่คาด ความลึกความชันของการปรับลงก็จะมีการปรับตัว หากการเจรจาดีขึ้นความชันตรงนี้ก็จะน้อยลง จุดต่ำสุดก็จะลึกน้อยลง

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่อเห็นภาพแบบนี้ ก็มีคำถามว่าไทยควรรับมืออย่างไร ซึ่ง “ผมว่าจากภาพนี้สะท้อนช็อกที่ชัดเจนว่าพายุกำลังมา เรือจะแล่นด้วยความเร็วเดิมไม่ได้ ต้องมีการชะลอตัวลง และโจทย์ของนโยบายตอนนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องของการที่จะกระตุ้นเพื่อจะให้ความเร็วของเรือนี้ไปเร็วแบบเดิม เพราะการเจอช็อกแบบนี้ก็จะชะลอตัวลง หนีไม่พ้น โจทย์ของนโยบายจริงๆ ตอนนี้ เป็นเรื่องของการรับมือ คือ 1. บรรเทาช็อกที่เจอ ทำให้เบาลงอย่าให้ลงลึกมากนัก 2. ชัดเจนก็คือเรื่องของการที่จะช่วยเอื้อให้การปรับตัวที่ต้องเกิดขึ้น ปรับตัวได้เร็วขึ้น และปรับตัวในทางที่เอื้อให้เราในระยะยาวหลังจากที่พายุผ่านไป สามารถโตในระดับที่ดีกว่าเดิมได้ คือ ปรับช่วง ลดช่วงการเปลี่ยนผ่านให้สั้นลง และเพิ่มเรื่องของการเติบโตในระยะยาว มาตรการนโยบายก็ควรเอื้อไปทางด้านนั้น”

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า มาตรการไม่ควรเป็นแบบครอบคลุม เพราะผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างแตกต่างกันไป ค่อนข้างขึ้นกับว่าใครอยู่ตรงไหน พายุที่มามันกระทบคนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน โดยในกลุ่มแรก ผู้ที่ส่งออกไปที่สหรัฐฯ ที่มีทั้งหมด 5 หมวด แต่ใน 5 หมวดที่แม้ส่งออกไปสหรัฐฯ สูง ผลกระทบของแต่ละหมวดค่อนข้างแตกต่างกัน ตัวอย่างหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีมูลค่าเพิ่มต่อ GDP อยู่ที่ 0.8% สัดส่วนผลิตผู้ส่งออกก็คือสูง 77% แต่เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าผู้ส่งออกในหมวดนี้ 200 รายเป็นต่างชาติ คิดเป็น 50% ของบริษัททั้งหมดและ 75% ของมูลค่าส่งออก มี SME ที่เกี่ยวข้องอยู่ในนั้นประมาณ 5,000 ราย และมีการจ้างงานอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนคน

    การที่บริษัทในหมวดเป็นบริษัทต่างชาติจำนวนมาก ทำให้ผลกระทบอาจจะไม่เหมือนกับในหมวดอื่น และในกรณีที่ไทยเจรจาการค้าแล้วภาษีของไทยสูงกว่าของประเทศอื่นอย่างมีนัย สิ่งที่บริษัทข้ามชาติจะทำก็คือย้ายฐานการผลิต ซึ่งในกลุ่มนี้มีหลายบริษัทที่มีโรงงานอยู่ในประเทศอื่น บางบริษัทก็มีโรงงานในสหรัฐฯ อยู่แล้ว

    “ถ้าเราไม่ต้องการให้ตรงนั้นเกิดขึ้น นโยบายที่เราออกมาหรือมาตรการที่เราต้องออกก็ต้องเป็นแบบหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางด้านเกี่ยวกับ BOI ไปในแนวนั้น” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    ส่วนหมวดอาหารแปรรูป มีมูลค่าเพิ่มต่อ GDP ใกล้เคียงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 0.7% สัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกก็ใกล้เคียงกันอยู่ที่ 76% แต่บริษัทที่อยู่ในหมวดนี้จัดว่ามี local content สูง เป็น SME จำนวนมากกว่า 12,000 ราย แล้วที่สำคัญเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจไทยระดับรากหญ้าค่อนข้างสูง จ้างงานเกือบ 300,000 คน ห่วงโซ่อุปทานยาวมาก โอกาสที่จะย้ายฐานไม่ง่าย ปรับตัวก็ไม่ง่าย อำนาจต่อรองก็น้อย ถ้าเป็นรายเล็กจะมีการปรับตัวค่อนข้างลำบาก แต่รายใหญ่ก็อาจจะมีการย้ายคำสั่งซื้อไปผลิตในต่างประเทศได้

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า นโยบายหรือมาตรการที่ออกมาเพื่อรองรับจะต่างกัน เพราะกลุ่มหนึ่งเป็นเรื่องของการที่ไม่ต้องการให้เกิดการย้ายฐาน ก็ต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจจะมาต่อห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะยาวมาก

    แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่เมื่อพิจารณาผลโดยรวมเป็นกลุ่มที่ ธปท. ห่วงเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากสินค้าที่จะทะลักเข้ามาในไทย กลุ่มนี้จะค่อนข้างหลากหลาย สินค้าที่ทะลักเข้ามาในไทยมีโอกาสที่จะมาในหลายรูปแบบสูงมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มต่อ GDP ใกล้เคียงหมวดอื่นที่ประมาณ 0.8% จะถูกกระทบจากของที่นำเข้ามาและมีการแข่งขัน ในหมวดนี้มี SME กว่า 1.2 แสนราย ลักษณะรูปแบบของบริษัทเป็นอีกแบบหนึ่งเป็นบริษัทเล็กๆ ความเปราะบางจะสูง แต่ผลต่อรายได้ต่อการจ้างงานค่อนข้างมาก จากการจ้างงานกว่า 400,000 คน มาตรการเพื่อจะบรรเทางผลกระทบสำหรับกลุ่มก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

    ในแง่ของมาตรการที่จะเป็นการบรรเทาผลกระทบของการที่สินค้านำเข้าทะลักเข้ามา ก็เป็นเรื่องพวกมาตรการเชิงการค้าของไทยเอง เช่น anti-dumping หรือ การบังคับอย่างจริงจังเกี่ยวกับมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้สินค้าที่เข้ามาได้มาตรฐาน บรรเทาผลกระทบของการที่สินค้าในหลายหมวดจะทะลักเข้ามาในไทย เพราะจะกระทบ SME จำนวนมากในหลากหลายกลุ่ม

    นอกจากนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลการค้าต่างประเทศของจีน ที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 20% แต่การส่งออกของจีนโดยรวมโต 8% เป็นสัญญานชัดว่า ส่วนนี้ไทยต้องใส่ใจมาก เพราะจะกระทบไม่ใช่แค่การส่งออกไทย แต่จะมีสินค้าทะลักเข้ามา ส่วนที่ว่าจะได้รับผลหนักแค่ไหนและลึกแค่ไหน นโยบายมาตรการต่างๆ อาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องการกระตุ้นแต่เป็นการดูแล anti-dumping มาตรฐาน ที่ช่วยไม่ให้ถูกกระทบมากเกินไปจากสินค้าที่ชัดเจนว่าจะทะลักเข้า และคงไม่ใช่แค่จีน จะมีทั้งประเทศต่างๆ เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ที่อื่นที่จะเจอสถานการณ์คล้ายๆ กับจีนแล้ว มาตรการนโยบายรองรับต้องทำไปในรูปแบบที่มันค่อนข้างแตกต่างกัน แยกกัน เพราะผลกระทบค่อนข้างแตกต่างกันมากๆ

    กระสุนมีจำกัดต้องใช้อย่างระมัดระวัง

    สำหรับการดำเนินการของ ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ธปท. ทำมาโดยตลอดในหลายๆ เรื่อง การดำเนินนโยบายของ ธปท. ฝั่งการเงินก็ทำมาแบบเป็นส่วนหนึ่งของ integrated policy framework คือ ดูนโยบายการเงินควบคู่ไปกับมาตรการอื่น นโยบายต่างๆ โดยในแง่นโยบายการเงินรื่องของดอกเบี้ย การประชุมคณะกรรมการ กนง. ครั้งล่าสุด ได้มีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% สะท้อนการรองรับที่มองไปข้างหน้าและแนวโน้มต่างๆ ทั้งการเติบโต เงินเฟ้อ การที่ลดดอกเบี้ยเพื่อที่จะให้นโยบายการเงินเอื้อ หรือช่วยรองรับการชะลอตัว ก็เป็นส่วนหนึ่ง ประกอบการตัดสินใจที่จะลดดอกเบี้ย

    “แต่ด้วยความที่ลูกกระสุนมีจำกัด ก็มองว่าต้องใช้อย่างระมัดระวังไปข้างหน้า ตลาดการเงินผันผวนค่อนข้างมาก เมื่อมีข่าวออกมาเงินดอลลาร์ก็แกว่งค่าเงินต่างๆ แกว่งราคาทองแกว่ง การที่จะดูแลเรื่องของ functioning ของตลาด ธปท. ดูแลมาต่อเนื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าความผันผวนสูงมากๆ สูงแบบไม่ค่อยได้เห็นมานาน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในด้านมาตรการทางด้านการเงิน มาตรการที่มีอยู่ก็ยังเป็นช่องทางที่ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่เกี่ยวกับ responsible lending หรือการให้สินเชื่อเป็นธรรม ซึ่งเน้นเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ถูกกระทบ โดยกำหนดถ้าลูกหนี้มีปัญหา ก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังจากเป็นหนี้เสียก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้อีกครั้งหนึ่ง เป็นมาตรการที่ยังทำอย่างต่อเนื่อง และคิดว่าช่วยได้ เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งมาตรการเฉพาะเจาะจงที่เราทำผ่านโครงการคุณสู้เราช่วย

    “เราก็พร้อมที่จะดูว่าความจำเป็นที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร หนักแค่ไหน แต่เห็นว่าการออกแบบมาตรการไม่ควรเป็นแบบปูพรม เพราะว่าผลค่อนข้างต่างกัน และขอย้ำอีกทีวันนี้ผมไม่ได้มาเพื่อมาประกาศมาตรการ แค่จะมาเล่าว่าที่เรามองภาพรวมของผลกระทบ แล้วก็แนวคิดของเราในการที่จะออกมาตรการรองรับ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่อาจจะทำให้ช็อกครั้งนี้ดูเหมือนหนักเป็นพิเศษ หรือลำบากเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะสะสม ประสบกับวิกฤติหลายระลอก อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกหนักหรือลำบาก เพราะมีผลกระทบหลายด้าน เดิมได้เห็นภาคครัวเรือน ภาคประชาชนที่มีภาระหนี้ครัวสูงมาโดยตลอดอ่อนแอ SME ก็ประสบความยากลำบาก และมีโอกาสที่จะเจอกับสินค้าที่จะทะลักเข้ามาก็จะยิ่งหนักขึ้นไปอีก ครั้งนี้ยังกระทบบริษัทรายใหญ่ด้วย ทำให้รู้สึกว่าจะหนัก

    “แต่ถ้าเทียบกับครั้งก่อน เราเคยเจอหนักกว่านี้มาแล้วเรายังรอดไปได้ ครั้งนี้ก็มีพายุมา โดยรวมเราก็จะผ่านพ้นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะผ่านแบบไหน จะทำยังไงให้เราผ่านพ้นได้ดี ให้เป็นโอกาสในการปรับตัว และก็มีโอกาสจริงๆ การนำเข้าของสหรัฐฯ คิดเป็น 15% ของการค้าโลก ถ้า 85% ที่เหลือหันไปหาคู่ค้าอื่น ทำตรงนี้ใช้ประโยชน์ในการที่จะค้าขายกับที่อื่น เซ็นสัญญา FTA ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะค่อนข้างช้าในการเซ็นเทียบกับประเทศอื่น ทำพวกนี้ให้ดีขึ้น ฝั่งภาคอุตสาหกรรม ฝั่งการผลิตก็อาจจะมีทางที่จะไปต่อได้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การที่จะปรับตัวในโหมดต่างๆ ไปสู่มูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น อย่างเช่น ภาคบริการที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวค่อนข้างมากก็เป็นโอกาส แต่ต้องมีแนวทางทำให้ขายของดีขึ้น ซึ่งด้านหนึ่ง ได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุ ที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน ที่ใกล้เคียงกับความเชี่ยวชาญของไทยในด้านการบริการต้อนรับ (hospitality) wellness รวมทั้งเฮลท์แคร์ เป็นภาคที่ใช้หุ่นยนต์ได้ยาก “ถ้าปรับตัวพวกได้ โอกาสที่เราจะผ่านไปได้ อาจจะไม่ได้อัตราที่ดีกว่าเดิมแต่ถือว่ามีโอกาส และใช้ทรัพยากรที่เรามีจำกัดให้ถูกทาง อย่าทำอะไรที่ปูพรม”

    อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเพียงพอรองรับการชะลอตัว

    จากนั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดให้ถามคำถาม
    คำถามแรก ตอนนี้สิ่งที่ชัดเจนก็คือความไม่แน่นอนสูง แล้วชัดเจนไหมสำหรับ ธปท. กับ กนง. ในสิ่งที่จะทำต่อไป
    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับ กนง. ไม่ได้ fix ไม่ได้ทำเหมือนบางประเทศที่ dot-plot (แผนภูมิการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย) หรือ ให้ forward guidance ถึงแนวโน้ม ซึ่งมองย้อนหลังเป็นสิ่งที่ดีที่ไม่ทำอย่างนั้น เพราะด้วยความที่ทุกอย่างมีความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว การไปประกาศกับตลาด เพราะคิดว่าจะเป็นแบบนี้ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปต้องถอย ยิ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาด “แล้วเป็นสิ่งที่ผมคิดว่า ไม่ค่อยดีและไม่ค่อยเหมาะเลยยามนี้ คิดว่าดีแล้วที่เราไม่ได้เลือกที่จะเน้นในเรื่อง forward guidance สำหรับเรา กนง. ในไทย ไม่ได้เน้นตรงนั้น สิ่งที่เราทำในการตัดสินใจ คือมองไปข้างหน้าที่เราพูดว่าเราเน้นว่า outlook dependent มากกว่า data dependent เพราะว่าตอนที่เราดูอะไรต่างๆ แน่นอนว่า outlook ขึ้นอยู่กับ data แต่บางที data ที่เข้ามาอาจจะมีเหตุผลเฉพาะ แต่ถ้า outlook ไม่ได้เปลี่ยนเราก็มองว่าของที่เรา set ไว้มันก็โอเค”

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การตัดสินใจล่าสุดที่ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกันแล้วลดลงมา “ก็มองว่าพอที่จะรองรับภาพที่เห็น พายุที่กำลังมาระดับหนึ่ง แต่ถ้าทุกอย่างลงหนักแรงกว่าที่คาด คือ outlook เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัย ก็พร้อมที่จะปรับ แต่ตอนนี้ก็คิดว่าเป็น accommodative แล้วเพียงพอที่รองรับการชะลอตัว และถ้าเกิด outlook มัน deteriorate ลงไปอีกก็พร้อมที่จะปรับ”

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ช็อกที่เห็นไม่ได้กระทบทุกคน เป็นเรื่องของภาคการผลิตเป็นหลัก หมวดผู้ที่ถูกกระทบก็ไม่ใช่ทุกคนในแง่ภาคการผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ

    ดังนั้น ในแง่รายได้ของคนในเศรษฐกิจโดยรวม การจ้างงานอิงกับภาคบริการไม่น้อยก็ยังไปได้ แม้การท่องเที่ยวดูเหมือนจะชะลอตัวลง แต่โดยรวมแล้วไม่ได้จะตกลงแรง

    สิ่งที่เป็นห่วงในอันดับต้น คือ การทะลักเข้าของสินค้า ที่จะกระทบหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มี SME จำนวนมาก และเป็น SME ที่มีจ้างงานจำนวนมาก กนง. ก็ได้คำนึงถึงส่วนในไประดับหนึ่งในการทำฉากทัศน์ แต่ต้องดูว่าท้ายสุดเป็นตามเงื่อนไขที่ใส่ไว้หรือไม่

    คำถาม ที่ผู้ว่าบอกว่าในระยะยาวมีโอกาสที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะลดลง ขอถามว่า ธปท. ประเมิน potential growth ของไทยไว้ที่เท่าไหร่ แล้วก็ถ้าเราโดนเก็บภาษีพื้นฐาน 10% แล้ว potential growth ของเราจะลดลงอีกไหม และดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ neutral rate อาจจะปรับลดลงอีกไหม และมองว่า neutral rate ช่วงอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า potential growth เดิม ธปท. ประเมินไว้ที่ต่ำกว่า 3 เล็กน้อย และหากไม่มีการปรับตัว potential growth rate ก็คงลดลง ถามว่าเท่าไหร่ ต้องดูอีกเพราะตอนนี้ความไม่แน่นอนยังสูง การที่จะบอกค่อนข้างยาก เพราะขึ้นอยู่กับการค้าโลกจะจบลงอย่างไร แต่ถ้าไม่มีการปรับตัวก็มีแนวโน้มที่จะลดลงแต่อีก ถ้าถือโอกาสปรับตัวโดยเฉพาะประสิทธิภาพ ก็มีโอกาสที่จะโตได้ดีกว่าก่อน

    ส่วน neutral rate ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของ long-term growth rate ไม่มีผลต่อ neutral rate มาก คือ growth rate ต้องขยับมากจึงผลต่อ neutral rate ไม่ใช่ว่าว long-term growth rate ขยับแล้วต้องขยับ neutral rate ทันที และระดับ neutral rate “เรามองว่าระดับปัจจุบันต้องถือว่าเป็นระดับที่ accommodative ความหมายคือต่ำกว่า neutral ก็คือ เอื้อ ช่วยเศรษฐกิจแล้ว เพราะ neutral rate range น่าจะสูงกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน”

    คำถามต่อมาขอถามว่า จากการที่ ธปท. บอกว่ายังมีช่องในการลดดอกเบี้ยได้ แล้วตอนนี้ผลกระทบของภาษีสหรัฐฯ ที่เจอมีโอกาสไหมที่จะเห็นลดดอกเบี้ยไปถึง 0.5% เหมือนตอนโควิด

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.75% อย่างที่บอกความไม่แน่นอนสูงมาก “ที่เราดูไว้ตอนนี้เราก็คิดว่าอัตราที่อยู่ในปัจจุบันเหมาะแล้ว รองรับเรื่องเหล่านี้ แต่ถ้า deteriorate มากไปอย่างมีนัยจากฉากทัศน์ที่เรามองไว้ๆ ถามว่าเราจะไม่ยอมลดหรือไม่ ผมตอบว่าคือไม่ ก็คงมีการลดอยู่ แต่ตามที่เห็นใน กนง. มีกรรมการสองท่านบอกว่าเป็นห่วงเรื่อง policy space ที่มีจำกัด การใช้ลูกกระสุนที่เหลือต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้พร้อมให้ปรับแต่ก็รู้ว่าพื้นที่จริงๆ จะลง”

    ที่น่าสังเกตคือประสิทธิภาพของการลดดอกเบี้ยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจจะค่อยๆ ลดลงตอนที่ดอกเบี้ยยิ่งต่ำลง เพราะการส่งผ่านจะค่อยๆ น้อยลง พื้นที่นโยบายที่มีจำกัดต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งผลน้อยก็ต้องใช้พื้นที่ที่เหลืออยู่อย่างระมัดระวัง

    คำถามต่อมา ในช่วงของวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพการปิดตัวของบริษัทหรือการเลิกจ้างค่อนข้างมาก ดังนั้น ในช่วงเฟส 4 ของผลกระทบ ที่ทาง ธปท. บอกว่าต้องติดตามมากๆ นั้น จากโครงสร้างปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเห็นภาพแบบนั้นกลับมาหรือไม่ และที่ผ่านมาเราปรับตัวกันหรือเปล่า

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยไม่ค่อยจะปรับ และมีความเป็นห่วงมาก เพราะถ้าไม่ปรับตัวก็จะโตต่ำ ซึ่งปกติก็ก็ต่ำอยู่แล้ว มองไปข้างหน้าโดยเหตุผลที่ได้เล่ามาก็จะยิ่งต่ำไปกว่าเดิม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การที่จะแก้ไขโดยการกระตุ้นไม่ได้ เพราะจะได้ระยะสั้น ต้องแก้ด้วยการปรับตัว ในแง่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรม

    ที่มีการทำสัญญาการค้า ก็ต้องหาตลาดใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย บริษัทเล็กก็เช่นกัน จะไปตลาดอื่นไม่ง่าย ส่วนภาคบริการจะไปแบบเดิมหวังนักท่องเที่ยวแบบเดิมไม่ได้

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ธปท. กำลังศึกษาถึงการออกแบบมาตรการนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งจะมีผลทั้งสองอย่าง หนึ่ง จะช่วยไม่ให้ผลแรงมาก และสอง สิ่งที่ทำตอนนี้เอื้อให้ไปทางที่ถูกมากกว่าไปพยายามไปแค่กระตุ้นๆ การพยุงก็คงต้องมีอยู่แล้ว แต่ถ้าพยุงแล้วไม่เห็นว่าจะไปต่ออย่างไรก็ยาก แล้วฝั่งการเงินเป็นตัวช่วย สถาบันการเงินหากมองว่าไปได้ หากประเมินว่ามีโอกาสความเป็นได้ ความเสี่ยงรับได้ ก็พร้อมที่จะปล่อย แต่ถ้ามองแบบไม่เห็นมันยากที่จะปล่อย ประสบการณ์ก็เห็นมาแล้วช่วงที่ทำซอฟต์โลนช่วงวิกฤติโควิด ซอฟต์โลนชุดแรกเงินไม่ได้ออกเต็มจำนวน เพราะหนึ่งมีความเสี่ยง ความเสี่ยงเทียบกับผลตอบแทนไม่สมดุลกัน

    คำถามต่อมา เกณฑ์ responsible lending (RL) เป็นอุปสรรคหรือไม่เพราะลูกหนี้ต้องมีเงินเหลือ 30% เพื่อการครองชีพหลังภาระหนี้ซึ่งทำให้ธนาคารใช้เป็นข้ออ้างไม่ปล่อยสินเชื่อ
    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในเกณฑ์ไม่ได้กำหนดว่าลูกหนี้ต้องมี residual income หรือเงินเพื่อการดำรงชีพ 30% เป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง แต่การไม่ปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีจริง ดังเห็นจากการชะลอตัวของสินเชื่อเกิดขึ้น แต่ก็เป็นไปตามวัฏจักร จากเดิมที่สินเชื่อโตเร็วมากโดยเฉพาะช่วงโควิดเพราะมีการออกซอฟต์โลน สินชื่อเพื่อการฟื้นฟู และก็เห็นความเสี่ยงเพิ่ม NPL เพิ่มขึ้นต้นทุนในการปล่อนสินเชื่อ (credit cost) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ไม่ปล่อยสินเชื่อ ไม่ได้มาจากเกณฑ์ RL

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ถ้าถามว่าควรมีซอฟต์โลนหรือไม่ในภาวะแบบนี้ ก็ต้องดูสถานการณ์ อย่างตอนโควิดเห็นชัดมีซอฟต์โลนวงปี 2563 ที่ 5 แสนล้านบาท แต่ใช้ไปกว่า 3 แสนล้านบาท เหมือนกับว่ามีวงเงิน แต่ออกมาไม่ถูกหรือไม่เหมาะกับสถานการณ์ เงินก็จะไม่ออก ดังนั้น ต้องถามว่าตอบโจทย์ถูกหรือไม่ และอย่างที่บอกว่าไม่ควรเป็นแบบปูพรม เพราะแต่ละหมวดได้รับผลกระทบต่างกันมาก และมาตรการที่เหมาะสมที่สุดบางทีก็ไม่ใช่ซอฟต์โลน

    คำถามต่อมา ระยะตั้งแต่ปรับตัวลงจนถึงฟื้นตัวทั้ง 4 ระยะ คาดว่าจะกินเวลาเท่าไร
    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ไม่แน่นอน ยังไม่ชัดเจนว่าเจรจาได้เร็วแค่ไหน แต่เบื้องต้นก็คิดว่าจุดต่ำสุดไม่น่าจะเร็วกว่าไตรมาส 4 ปีนี้ ไม่ไตรมาส 4 ก็ไตรมาส 1 ปีหน้าแต่ก็ยังไม่ค่อยชัดเจนและน่าจะใช้เวลาเป็นปีแน่นอน เพราะเป็นการปรับห่วงโซ่อุปทาน ผลเต็มๆ ยังมาไม่ถึง เหมือนเห็นพายุแล้ว ผลบางอย่าง เช่น การชะลอตัว การลงทุน พวกนี้เริ่มเห็นแล้ว แต่ผลจริงๆ ในเรื่องของการค้ายังไม่เห็นเพราะมีการนำเข้าล่วงหน้า นำเข้าก่อนมาก

    ระวังการกระตุ้นเศรษฐกิจจะกลายเป็นเพื่อนบ้านได้ประโยชน์แทน

    คำถามต่อมา จากที่ประเมินว่าผลกระทบจะเป็น V-shape ขากว้าง จะกว้างมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการปรับตัวกับการปรับโครงสร้าง ดังนั้น จึงมีแนวคิดในเรื่องของการขยายการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ธปท. มองว่าจากสถานการณ์นี้ควรมีการปรับไหม ขยายกรอบมากขนาดไหน และหากว่ามีการขยายการก่อหนี้จริง จะมีผลกับเครดิตเรตติงของประเทศขนาดไหน

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า “ด้วยบริบทที่เราเจอเรื่องเครดิตเรตติง ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญต้องใส่ใจ การทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงตรงเรื่องพวกนี้ เพราะในสภาวะที่พายุกำลังมาเรื่องเสถียรภาพเป็นเรื่องสำคัญ ควรจะใส่ใจเรื่องพวกนี้แล้ว หากเราเกิดโดน credit downgrade ขึ้นมา ก็มีผลไม่น้อย” เพราะว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ อย่างแรกต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐก็จะเพิ่มขึ้นทันที แล้วด้วยความที่ภาครัฐเป็นฐาน และธุรกิจที่ออกตราสารหนี้ก็เพิ่มจากตรงนั้นอีก ก็ส่งผลให้เพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนด้วย โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องเสถียรภาพ กลุ่มที่เรตติงอาจจะไม่ค่อยจะดีนัก ก็เป็นกลุ่มที่อาจจะมีความเปราะบาง การตัดสินใจต่างๆ ต้องใส่ใจ โดยเฉพาะในยามนี้เกี่ยวกับเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องเสถียรภาพต้นทุนด้านการคลังสูง

    “แต่ที่ผมอยากจะขอย้ำคือ ด้วยความที่ลูกกระสุนทั้งฝั่งการเงิน ทั้งฝั่งคลังมีจำกัด ยิ่งสะท้อนว่าต้องใช้ถูกต้องจริง ให้ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ประโยชน์ที่จะได้จากการใช้ลูกกระสุนต้องเต็มที่จริงๆ ซึ่งกลับมาตรงที่มาตรการบางอย่างอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมกับสภาวะที่กำลังเจออยู่ตอนนี้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไปเน้นกระตุ้นการบริโภค ถามว่า 1. ผลระยะยาวเป็นอย่างไร 2. ผลตอนนี้การที่จะช่วยตรงนี้มีมากแค่ไหน ทั้งการลดแรงกระแทกลงตรงนี้บวกกับการที่จะเพิ่มการปรับตัวตรงนี้ ซึ่งมาตรการอย่างนั้นไม่น่าจะตอบโจทย์ขนาดนั้น เพราะตอนนี้สิ่งที่ห่วงมากๆ คือ สินค้าที่จะทะลักเข้ามาในไทย แล้วถ้าเรากระตุ้นการบริโภคตอนที่สินค้าต่างประเทศกำลังทะลักเข้ามาในไทย ก็กลายเป็นแทนที่เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เราไปกระตุ้นเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านที่เขาส่งของมาไทย” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในบริบทตอนนี้ต้องคิดให้ดีว่า มาตรการจะใช้ทรัพยากรทั้งการเงินการคลังที่มีจำกัด จะทําอย่างไรเพื่อจะให้เศรษฐกิจกลับไปได้ในทิศทางที่ดีสุดท้ายสิ่งที่ควรทำซึ่งอาจจะไม่ได้ต้องใช้เงินมาก เช่น regulatory guillotine กำจัดกฎระเบียบที่ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูง เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติบอกมาโดยตลอดว่าเป็นอุปสรรคในการลงทุน ซึ่งไทยมีกฎระเบียบค่อนข้างมาก ถ้ายกเลิกหรือถอนได้ ซึ่งก็ไม่ได้ใช้งบประมาณเลย ก็มีผลที่จะช่วยการลดต้นทุนของการทำธุรกิจ แล้วก็มีโอกาสที่จะช่วยให้การลงทุนที่ไทยขาดมานานกลับเข้ามาได้ดีขึ้น

    คำถามต่อเนื่อง ที่ผู้ว่าบอกว่าการกระตุ้นบริโภคอาจจะต้องคิดให้ดีๆ ในบริบทขณะนี้ที่จะมีสินค้าจากต่างประเทศที่จะไหลทะลักเข้ามา เพราะฉะนั้น ในส่วนของการกระตุ้นบริโภคอย่างเช่นโครงการ Digital Wallet ยังจำเป็นที่จะต้องมีหรือรัฐบาลจะต้องเดินหน้าต่อไหม ธปท. มีความเห็นอย่างไร

    ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ความเห็น ธปท. ต่อโครงการ Digital Wallet ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยสื่อสารไปแล้ว คิดว่าโครงการนี้ต้องดูความคุ้มค่า ประสิทธิผลให้ดี ยิ่งในชวงนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยน มีทั้งความท้าทายใหม่ๆ ที่มาด้วยสถานการณ์ที่เจอมาตรการภาษี บวกกับสินค้าที่จะทะลักเข้ามา “ก็คิดว่าเหมาะสมที่จะทบทวนก็ต้องขอบคุณ ทางรัฐบาลที่รับฟังความเห็นของทางเรากับหน่วยงานอื่นที่จะมาดูว่าความเหมาะสมของโครงการนี้”

    เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ทำภาพลักษณ์ไทยเทา

    คำถามต่อมา คิดว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ดีหรือไม่ ถ้าอย่างนั้น ภาคบริการเราน่าจะโตขึ้นอย่างดี
    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีหลายมิติที่ต้องพูด โจทย์ใหญ่คือทำให้เศรษฐกิจฟื้นอย่างยั่งยืน ตอนนี้โจทย์คงชัดว่าอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องของแค่พยายามที่จะดึงคนจำนวนมากขึ้นอย่างเดียว เพราะนักท่องเที่ยวมีทางเลือกมาก นักท่องเที่ยวจีนก็ไปที่อื่นได้ แต่ต้องมีแนวทางในการทำให้ได้มูลค่าเพิ่มมากขึ้น ด้านท่องเที่ยวโจทย์เป็นแบบนี้ซึ่งคงมีหลายมิติที่จะทำตรงนั้นได้

    ตัวอย่างด้านหนึ่ง ได้แก่การดูแลผู้สูงวัย ไทยเป็นประเทศที่ประชากรสูงวัยจำนวนมาก และมีตลาดไม่ใช่เฉพาะตลาดในไทย แต่รวมถึงในโลก การเข้ามารักษา ค่าครองชีพในต่างประเทศสูงกว่าการดูแลในไทย และโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยมีเหมาะกับการรับนักท่องเที่ยว สามารถแปลงให้เป็นแนว wellness การปรับตัวตรงนี้น่าจะมีความเป็นไปได้

    ในแง่ของประโยชน์ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ยังไม่ชัดว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะตอบการที่จะยกระดับของมูลค่าเพิ่มที่จะได้หรือไม่

    “แต่มีอีกมิติหนึ่งที่ต้องเรียนว่า ก็เป็นความกังวลของทางเรา คือตอนนี้ที่โลกมีความไม่ชัดเจน ความไม่แน่นอนสูง ที่สื่อต่างประเทศก็จะชอบเรียกว่า rules-based เดิมมันหมดไป ในบริบทนั้น ผมว่ามันยิ่งสำคัญใหญ่ ที่เราจะทำตัวให้เป็นแบบถูกต้อง ขาวสะอาดเท่าที่ได้ ตามกฎ ตามเกณฑ์ ตามระเบียบเพราะว่าตอนนี้ทุกคนกำลังหาตรงนั้น และเหมือนกับพรีเมียมตรงนั้นความสำคัญตรงนั้นยิ่งมากขึ้นกว่าก่อน ซึ่งถ้าเราดูโดยเฉพาะในบริบทที่เราเจอตอนนี้ล่าสุดก็มี Moody’s ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือเป็นลบจากมีเสถียรภาพ จากรายงานของเขาที่บอกว่าสิ่งที่ทำให้เขาคงเรตติงถึงแม้แนวโน้มจะเป็นลบ คือ เรื่องของ governance คุณภาพ governance ของ institutions ที่นำไปสู่ sound monetary and macro framework พูดง่ายๆ คืออะไรที่ถูกต้อง ทำตามกฎ ผมว่าตอนนี้ยิ่งชัด ในแง่เสถียรภาพมีความหมายมากขึ้น” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

    นอกจากนี้ จากการติดตามข่าว ตอนนี้สื่อใหญ่ๆ จากต่างประเทศ ทั้ง Economist, Financial Times, New York Times มีข่าวในลักษณะเดียวกันคือ การหลอกลวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในรายงานมีพาดพิงไทย เพราะไทยคือประเทศเพื่อนบ้าน…

    “ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ผมว่าสำคัญมาก แล้วมันมีความเสี่ยง เพราะว่าถ้าเรื่องคาสิโน ถ้าไปดัน ไปทำให้ภาพของความเป็นเทาๆ มากขึ้น ผมเชื่อว่าในยามนี้โดยเฉพาะ อาจจะเป็นความเสี่ยง แต่ก็ยอมรับโจทย์ที่จะเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากภาคบริการ นักท่องเที่ยว แต่ถ้าให้ผมเลือกระหว่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์กับศูนย์ที่เป็น wellness ดูและผู้สูงอายุที่ทำแบบให้ดี ผมว่าอันที่สอง ประโยชน์ชัด มูลค่าเพิ่มเยอะ ผลข้างเคียงน้อยกว่า”

    คำถามต่อมา ได้มีการประกาศเปิดรับสมัครผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนต่อไปแล้ว ขอถามความของผู้ว่าคนปัจจุบันว่าอยากฝากอะไร ห่วงอะไรมากที่สุด แล้วก็คุณสมบัติที่ผู้ว่าคนต่อไปควรมีคืออะไร

    ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า “แต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็พูดยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเราพยายามทำโดยตลอดคือ ทำให้การแก้ปัญหาอย่างนี้ที่มาสารพัดเรื่องไม่จบไม่สิ้น ตอนแรกที่ผมเข้ามาก็เจอเรื่องของโควิด ช่วงหลังก็เจอเงินเฟ้อ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แล้วก็ช็อกเข้ามาจากมาตรการภาษี ซึ่งพวกนี้ การแก้ปัญหายังไงต้องทำ แต่อย่างที่ผมคิดว่าสำคัญที่เราพยายามทำตลอด ทำได้บ้างตามที่ต้องการบางอย่างก็ช้ากว่าที่คิด คือ เรื่องระยะยาว การปูโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ ไม่ใช่ของที่จะเห็นผลในเร็ววัน แต่เป็นของที่จะช่วยการเติบโตให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับ landscape เช่น financial landscape เรื่อง digital, open data โดยเฉพาะตอนนี้ที่ผมอยากใส่ใจพิเศษนอกจากเรื่องของ open infrastructure และ open competition คือเรื่อง open data เพราะ open data เป็นตัวที่จะช่วย การแข่งขันจริงๆ ให้ได้อย่างที่ควรที่จะเป็น ก็หวังว่าเรื่องพวกนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องระยะยาวอะไรต่างๆ จะได้ถูกสานต่อ”