เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
บางโรงเรียนที่ผมรู้จัก เริ่มติดตู้ “รับเรื่องร้องเรียน” เป็นช่องทางรับความคิดเห็นผู้เรียนในเรื่องต่าง ๆ เช่น อาหารกลางวันควรเพิ่มอะไรดี ชมรมปีนี้ควรมีอะไรบ้าง ฯลฯ นำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ เมื่อผู้เรียนไม่ได้รับความยุติธรรมจากโรงเรียน เขาเหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง
การเขียนความเห็นแล้วหย่อนใส่ตู้ การฟ้องครูใหญ่และผู้ปกครอง รวมไปถึงการแก้แค้น ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกหรือเรื่องจริง อย่างการเจาะยางรถยนต์ครู เป็นการเรียกร้องความยุติธรรมเป็นครั้ง ๆ แล้วจบไป แต่ไม่มีระบบที่ยั่งยืนถาวร ที่นอกจากจะปกป้องสิทธินักเรียนแล้ว ยังป้องกันไม่ให้ครูใช้อำนาจกดขี่ด้วย
อย่างที่เราทราบกัน กฎหมายนั้นถูกใช้ในชุมชนขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งในทางปฏิบัติ ชุมชนขนาดเล็กอย่างครอบครัวหรือชุมชนตามหมู่บ้าน มักมีกฎระเบียบของตัวเองและหลายครั้งก็ขัดต่อกฎหมายในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนกลาง ๆ อย่างโรงเรียน ที่มีรัศมีของกฎหมายฉายไปไม่ถึง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม ความเข้มแข็งของค่านิยมในอดีต หรือช่องทางการร้องเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่กลาง ๆ นี้มีกฎหมู่เป็นของตัวเอง
โครงสร้างอธิปไตยในโรงเรียนทั่วไปจึงมีเพียง ฝ่ายบริหาร ซึ่งกระทำการโดยคณะครูและผู้บริหารโรงเรียน และอาจมีสภานักเรียนอยู่บ้างในโครงสร้าง แต่โดยทั่วไป ไม่มีอำนาจบริหาร รวมถึงไม่เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ที่ควรมีเพื่อถ่วงดุลกัน โดยเฉพาะในชุมชนทางสังคมที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในเชิงการบริหารหรือตัดสินใจมากกว่า (ในกรณีสถาบันการศึกษาเอง มีชนชั้นครูและชนชั้นนักเรียน แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน) นักเรียนจึงไม่มีทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ สิ่งนี้ทำให้นักเรียนไม่สามารถต่อรองในเชิงระบบ อำนาจเดียวที่ทำได้คือ อำนาจจากปัจเจกบุคคลและความสัมพันธ์ขนาดเล็ก เช่น ตัวนักเรียนเอง กลุ่มเพื่อน ผู้ปกครอง และอาจกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่บ้างในบางครั้ง เช่น การชุมชนประท้วงในโรงเรียน แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่ความยั่งยืน เป็นการเกิดขึ้นแล้วจบไป ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างอำนาจหลักของโรงเรียนแต่อย่างใด
ผู้เรียนในสถานศึกษาหลายแห่งของประเทศอย่างแคนาดา สหรัฐอเมริกา รวมถึงสิงคโปร์ และฮ่องกง นอกจากมีอำนาจเสนอข้อบังคับ กฎระเบียบ และมีส่วนในการบริหารสถานศึกษาแล้ว ยังมีกลไกที่เรียกว่า “ศาลนักเรียน” หรือ Student Court ซึ่งเป็นระบบตุลาการประเภทหนึ่งที่พบในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนที่มี Student Council โดยขนาดและหน้าที่ของศาลนักเรียนอาจแตกต่างกันไป แต่ทั่วไปแล้วมักมีหน้าที่ การระงับข้อพิพาท การตีความข้อบังคับและกฎระเบียบของสถานศึกษา และเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) รวมถึงเป็นพื้นที่ในการเปิดโอกาสให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาได้ปกป้องหรือไถ่โทษตัวเอง สิ่งนี้เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทำให้โรงเรียน มีฝ่ายตรวจสอบที่เป็นอิสระ ทั้งต่อผู้บริหาร ครู บุคลากรในโรงเรียน และต่อสภานักเรียนเอง ทำให้นักเรียนไว้วางใจระบบที่ดีมากกว่าการมีครูหรือผู้แทนนักเรียนที่ดี
แน่นอนว่า มีคำถามที่ย่อมตามมามากมาย ทุกครั้งที่ใครก็ตามเสนอเรื่องการเพิ่มอำนาจนักเรียน เช่น ปัญหาด้านความสามารถ ที่เชื่อว่า นักเรียนไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการตัดสินข้อพิพาทหรือความไม่ยุติธรรม ซึ่งจากประสบการณ์ผมเอง ก็พบว่า ครูเองก็ไม่ได้ลงโทษหรือให้คะแนนอย่างยุติธรรม แต่ปัญหาไม่ใช่ว่า การกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยุติธรรมหรือไม่ ปัญหาคือ เราไม่มีอีกฝ่ายหรืออีกหลาย ๆ ฝ่ายในการตั้งคำถามและตรวจสอบว่า สิ่งที่ฝ่ายผู้กระทำทำลงไปนั้น ชอบธรรมหรือเปล่าต่างหาก รวมถึงคำถามอื่น ๆ เช่น ในระบบการศึกษาหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีหน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วในการตรวจสอบซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า, ศาลนักเรียนอาจขาดกลไกที่จะต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ, ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น, ระบบที่ซับซ้อน, ภาระของผู้เรียนที่มากขึ้น, เป็นเพียงสัญลักษณ์ให้มี ๆ ไป หรือเป็นเครื่องมือของครูหรือนักเรียนในการกลั่นแกล้ง, รวมถึงข้อครหาอย่าง ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะกรรมการศาลอาจมาจากการสรรหา แต่งตั้งโดยครูหรือนักเรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เราควรต้องเริ่มคิดกันและมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบความยุติธรรมในโรงเรียนให้เกิดขึ้น ทั้งเพื่อเพิ่มอำนาจผู้เรียนในการต่อรองเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น ปริมาณการบ้าน, เงินค่าทัศนศึกษา, ราคาและคุณภาพอาหารในโรงอาหาร, ห้องน้ำปลอดภัย, การบังคับขนหนังสือกลับบ้าน, น้ำหนักกระเป๋า, การบังคับเข้ากิจกรรมกีฬาสี-แปรอักษร-ประเพณีต่าง ๆ, การบังคับเรียนพิเศษเพื่อให้ได้แนวข้อสอบ และเรื่องที่เกี่ยวกับการละเมิดโดยตรง เช่น การลงโทษโดนครู, การใช้คะแนนจิตพิสัยซึ่งไม่มีมาตรฐาน, การล่วงละเมิดทางเพศ, การใช้คำด่าหยาบคาย, การกลั่นแกล้งรังแก, การใช้ให้บีบนวด, การประจาน, การริบของใช้ส่วนตัว รวมถึงกรณีละเมิดอื่น ๆ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในโรงเรียนไทยส่วนใหญ่
ศาลนักเรียนนี้จะมาแทนที่ระบบวินัยแบบดั้งเดิมที่โรงเรียนเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียว โดยผู้เรียนไม่มีอำนาจและช่องทางในการแก้ไข โมเดลศาลนักเรียนที่ว่า อาจมีในรูปแบบ Peer Jury Model โดยมีผู้พิพากษาเป็นนักเรียนหรือครู และลูกขุนที่เป็นนักเรียน, Tribunal Model คือมีผู้พิพากษา 3 คนที่เป็นนักเรียน ตัดสินร่วมกัน หรือโครงสร้างอื่น ๆ อย่างไรก็ตามโครงสร้างศาลนี้ควรเป็นระบบที่เปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด
ปัญหาความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำในสังคม กระบวนการยุติธรรมผุพัง หล่อเลี้ยงและถ่ายทอดวัฒนธรรมกดขี่มายังโรงเรียน และโรงเรียนเองก็กลายเป็นที่บ่มเพาะวัฒนธรรมความรุนแรงจำนวนมาก หนำซ้ำยังทำให้ความไม่ยุติธรรมในหลายสถานการณ์กลายเป็นเรื่องปกติยอมรับได้ หากเราเปลี่ยนแปลงระบบความยุติธรรมในโรงเรียนได้ นอกจากจะช่วยสร้างความกล้าหาญทางจริยธรรมให้ผู้เรียนและบ่มเพาะวัฒนธรรมการปกป้องสิทธิและการต่อรองแล้ว ยังช่วยให้โรงเรียนมีระบบที่ตรวจสอบถ่วงดุลการกระทำมิชอบของครูด้วย
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงข่าวครูเจาะปากเด็กทั้งห้องด้วยเข็มกลัดเมื่อปี 2024 หลังอ่านข่าว ผมคิดอย่างอื่นต่อไม่ออกเลย ได้แต่คิดว่า ถ้าตัวเองตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นในฐานะนักเรียนจะทำยังไงดี? พลันย้อนคิดไปถึงภาพเพื่อนร่วมห้องชั้น ป.1 ถูกครูกระหน่ำฟาดจนล้มลงไปกับพื้น และยังโดนฟาดต่อ
นอกจากการตรวจสุขภาพจิตครู การบังคับใช้โทษทางวินัยและกฎหมายกับครูที่กระทำ นโยบายการปกป้องสิทธินักเรียน และการสอนนักเรียนให้ปกป้องสิทธิเนื้อตัวร่างกายตนเองและเพื่อน ๆ เป็นวิชาพื้นฐานตั้งแต่เข้าเรียนวันแรกแล้ว ศาลนักเรียนคือหลักประกันในเชิงระบบว่า หากมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นจะมีกลไกที่หลายฝ่ายตรวจสอบและช่วยเหลืออย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งเป็นกลไกในการสร้างความยุติธรรมในเชิงระบบกับโรงเรียนเองผ่านการชำระข้อบังคับและวัฒนธรรมกดขี่ต่าง ๆ
หากการปฏิรูปการศึกษายังวนอยู่กับแต่เรื่องรูปแบบการสอน เงินเดือนครู งบประมาณ การประเมิน แต่ไม่พูดถึงการเพิ่มอำนาจนักเรียนและการละเมิดสิทธิเลย การเสนอหรือแก้ปัญหาการศึกษาโดยละเลยปัญหาจริง ๆ ของผู้เรียน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากที่สุดในระบบ กำลังสร้างมาตรฐานที่ผิดและทำลายพื้นที่ในการต่อรองของผู้เรียนซึ่งมีน้อยอยู่แล้วให้ถูกลืมเลือนไปในที่สุด การต่อสู้เพื่อนักเรียน ไม่ใช่แค่ว่าเราเป็นนักเรียนอยู่หรือเรียนจบแล้ว แต่เราเชื่อหรือเปล่าว่า ทุกคนต้องการความยุติธรรม