ประสาท มีแต้ม
คุณพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้ชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 (เวลาประมาณ 15.28 น-ดูจากคลิปได้) พอสรุปได้ว่า “ยอมรับว่าค่าไฟฟ้าเราแพงไปจริง ทำให้แข่งขันไม่ได้ สาเหตุเพราะว่าเรามีกำลังการผลิตล้นเกินและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่จะลดราคาลงไม่ได้ในทันที ต้องใช้เวลาเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ซึ่งมีต้นทุนในปัจจุบันประมาณ 10 กว่าล้านบาทต่อเมกะวัตต์เท่านั้น ทำให้ต้นทุนค่าในส่วนนี้ (หมายถึงพลังงานเฉพาะหมุนเวียน) ไม่เกิน 2 บาทต่อหน่วย”
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดของท่าน ผมขอย้อนไปฟังคำชี้แจงก่อนหน้านั้นเล็กน้อยในเรื่องนโยบายการเกษตร ท่านกล่าวว่า “เราควรลดพื้นที่การเพาะปลูกของพืชที่เราผลิตได้มากกว่าการบริโภคภายในประเทศ เช่น ข้าว เราส่งออกได้จำนวนมาก แต่ได้ราคาที่แทบจะไม่มีกำไร เราจึงควรลดพื้นที่ปลูกข้าวลง แล้วหันมาปลูกพืชอย่างอื่นที่ต้องนำเข้าแทน ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัว”
ผมเห็นด้วยกับหลักคิดของท่านเกือบทั้งหมด ยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องที่ท่านอ้างว่าต้องใช้เวลาในการปรับตัวซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าต้องใช้นานเท่าใดและจะทำอะไร อย่างไร
เพื่อให้บทความนี้อ่านง่ายขึ้น ผมจึงขอนำเสนอเป็นข้อๆ ดังนี้
หนึ่ง ในเรื่องเวลา ลองเปรียบกับนโนบายสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร (แถลงเมื่อกันยายน 2567) เมื่อถึงปลายเดือนมีนาคมรัฐบาลก็ได้มีมติ ครม. รับหลักการในร่างกฎหมายดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว มันรวดเร็วดุจกามนิตหนุ่ม ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยนำเรื่องนี้ไปหาเสียงกับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแต่อย่างใด (หมายเหตุ ในคำแถลงนโยบายดังกล่าวไม่มีคำว่ากาสิโนแต่อย่างใด) ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะคุ้มหรือไม่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาสังคมและนักวิชาการบางส่วน
ในทางตรงกันข้าม ก่อนการเลือกตั้งพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ต่างก็มีนโยบายจัดการกับปัญหาค่าไฟฟ้าแพงกันทุกพรรค พรรคภูมิใจไทยถึงขั้นจะติดโซลาร์เซลล์ให้ฟรีเสียด้วยซ้ำ พรรคเพื่อไทยรับปากกับสภาองค์ของผู้บริโภคว่าจะส่งเสริมให้มีการแลกไฟฟ้ากันระหว่างบ้านที่ติดโซลาร์เซลล์กับการไฟฟ้าของรัฐ
เรื่องการใช้เวลาของแต่ละโครงการนั้นมี 2 ขั้นตอน คือใช้ในกระบวนการจัดทำโครงการและออกแบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเวลาที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน 4-6 ปี แต่ในวงการพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์นั้นจะใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยมาก
สอง เมื่อปี 2017 รัฐออสเตรเลียใต้(มีประชากร 1.8 ล้านคน) ประสบปัญหาไฟฟ้าดับเนื่องจากพายุ อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทแบตเตอรี่แห่งหนึ่งได้เสนอว่า หลังจากลงนามในสัญญา ภายใน 100 วัน ทางบริษัทจะติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 100 เมกะวัตต์ (ซึ่งเป็นโครงการแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น) มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ให้แล้วเสร็จ หากไม่เสร็จทันเวลาเขาจะยกให้ฟรี แล้วในที่สุดเขาก็สามารถทำได้จริงตามที่เสนอ
ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันรัฐออสเตรเลียใต้ได้ติดตั้งแบตเตอรี่ในระบบการผลิตไฟฟ้าของรัฐไปจำนวนเท่าใดแล้ว แต่ทราบว่าในช่วง 28 วันที่ผ่านมา (4 มี.ค.-1 เม.ย. 68) มีการใช้แบตเตอรี่ป้อนไฟฟ้าเข้าระบบถึง 140 เมกวัตต์ ผมนำรายละเอียดมาแสดงในภาพด้วยครับ
ผมขอสรุปสาระสำคัญจากภาพอีกครั้งหนึ่งว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์และกังหันลมต่ำที่สุดเป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ และที่ผลิตจากแบตเตอรี่ก็ต่ำกว่าที่ผลิตจากก๊าซ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาราคาแบตเตอรี่ได้ลดลงแล้วกว่า 80% และจะลดลงอีกในอนาคต
แนวความคิดการผลิตไฟฟ้าในภาพนี้ก็เหมือนกับความคิดของท่านรองนายกฯคือ “ปลูกพืชแทนการนำเข้า” หรือใช้แสงแดดและลมแทนก๊าซนั่นเอง
อีกประเด็นสำคัญที่ท่านรองนายกฯไม่ได้พูด แต่คนของรัฐบาลและวิศวกรชอบอ้างกันมากคือ “ต้องมีโรงไฟฟ้าฐาน(base load)” แต่จากรูปข้างต้นก็เห็นกันชัดเจนแล้วว่า ในระบบปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าฐานอีกแล้ว ไม่ใช่ที่นี่ที่เดียว ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาก็เป็นเช่นนี้ แผนการผลิตไฟฟ้าใหม่ของอังกฤษก็เป็นเช่นนี้ คือ ไม่มีถ่านหินแล้ว จะใช้ก๊าซเพียง 5% มีนิวเคลียร์เพียงเล็กน้อย ภายในปี 2030
สาม ในข้อนี้ ผมขอตอกย้ำด้วยข้อมูลจากประเทศอินเดีย คือเมื่อสิงหาคมปี 2567 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศผู้ชนะการประมูลไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์พร้อมแบตเตอรี่ในราคา 1.44 บาทต่อหน่วย นั่นคือสามารถขายไฟฟ้าใด้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีความจำเป็น ราคาก็ถูกกว่าที่ท่านรองนายกฯบอกตั้งเยอะ
ด้วยข้อมูลจริงจากอินเดียและผลงานวิจัยที่ผมติดตามมานานของกลุ่ม RethinkX (ชื่อ Rethinking Energy 2020-2030 100% Solar, Wind, and Batteries is Just the Beginning, โดยใช้ 100% SWB คือ โซลาร์ กังหันลมและแบตเตอรี่ ด้วยต้นทุนเฉลี่ย 3.1 เซนต์ต่อหน่วย ขออนุญาตยังไม่กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้) ผมจึงได้ประมาณอย่างมั่นใจว่า ค่าไฟฟ้า 2.50 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นไปได้ครับ
สี่ ท่านรองนายกฯได้พูดถึงกำลังการผลิตที่ล้นเกิน สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยเสนอรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าว่า ควรจะเปิดการเจรจากับผู้ได้รับสัมปทานโรงไฟฟ้าเอกชน คล้ายกับที่บริษัทเอกชนขอแก้ไขสัญญากรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่รัฐบาลก็เฉย ภาระค่าความพร้อมจ่ายที่ไม่เป็นธรรมก็ยังคงตกเป็นของผู้บริโภคต่อไป
แผนพัฒนากำลังไฟฟ้าฉบับใหม่ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2022 จนป่านนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ไม่ว่าจะเป็นแผนไหน ๆก็ตามหากยังใช้ความคิดเดิมซึ่งได้ตกยุคและล้าสมัยไปหมดแล้วก็แก้ปัญหาไฟฟ้าแพงไม่ได้ เราต้องคิดใหม่ทั้งหมดภายใต้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและสถานการณ์โลกร้อนที่รุนแรงขึ้นในอัตราเร่ง
ห้า ผมขอเปรียบเทียบนโยบายพลังงานของพรรคเพื่อไทย (เข้าบริหาร กันยายน 2566) กับของรัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของพรรคแรงงานซึ่งเริ่มบริหารเมื่อกันยายน 2567
พรรคแรงงานของอังกฤษได้เสนอกฎหมายจัดตั้งบริษัทชื่อ Great British Energy (GB Energy) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐและเพิ่งผ่านกระบวนการทางกฎหมายเมื่อ 25 มีนาคม 2568 นี่เอง เพื่อลงทุนในพลังงานสะอาด
ในเอกสารก่อตั้งบริษัท ได้เขียนเหตุผลในการก่อตั้งอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงว่า “ประเทศของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ครอบครัวและธุรกิจต่างๆ ยังคงต้องจ่ายราคาสำหรับปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานของอังกฤษ ค่าใช้จ่ายยังคงสูงกว่าหลายร้อยปอนด์เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่วิกฤตพลังงานจะเริ่มขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในไม่ช้านี้ ในขณะเดียวกันเรายังเผชิญกับวิกฤตสภาพอากาศที่อยู่รอบตัวเราซึ่งไม่ใช่ภัยคุกคามในอนาคต แต่เป็นความจริงในปัจจุบัน และยังมีความต้องการงานที่ดีและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างทั่วทั้งอังกฤษ”
นอกจากนี้ ได้วิเคราะห์สถานการณ์โลกได้อย่างมั่นใจและชัดเจนว่า
“ในปี 2024 คำตอบสำหรับความท้าทายทั้งหมดเหล่านี้ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการลงทุนในพลังงานสะอาดอย่างรวดเร็วและในปริมาณมาก ในโลกที่ไม่มั่นคง วิธีเดียวที่จะรับประกันความมั่นคงด้านพลังงาน และปกป้องผู้จ่ายค่าไฟฟ้าอย่างถาวรได้ก็คือ การเร่งการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและไปสู่พลังงานสะอาดที่ผลิตในประเทศ” (เหมือนกับความคิดท่านรองนายกฯพิชัย)
ในขณะที่รัฐบาลไทยชุดนี้ยังคงมุ่งไปที่การใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นกิจการที่จำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มทุนผูกขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาที่มีปัญหาซับซ้อน โดยไม่สนใจว่าโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว
ล่าสุด บริษัท GB Energy ก็ประกาศลงทุนเกือบ 8 พันล้านบาทเพื่อติดโซลาร์เซลล์ให้กับ 200 โรงเรียนและ 200 โรงพยาบาล เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าปีละเฉลี่ยโรงละ 1 ล้านบาทสำหรับโรงเรียน และ 2 ล้านบาทสำหรับโรงพยาบาล โดยหลังแรกจะต้องเสร็จก่อนสิ้นฤดูร้อนปีนี้ และให้นำเงินที่ประหยัดได้นี้ไป ลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาทักษะด้านพลังงานหมุนเวียนของนักเรียนและกิจการของโรงพยาบาล
หก สรุป ผมขอยกเอาคำปราศรัยของ Dr. Hermann Scheer สมาชิกรัฐสภาเยอรมนี ประธาน EUROSOLAR ในเวที WTO เมื่อปี 2005 ที่เจนิวา ว่า “ผู้มีอำนาจตัดสินใจในแวดวงการเมืองและเศรษฐกิจมักจะมีลักษณะ 3 อย่างคือ หนึ่ง ดีแต่ปากแต่ไม่ลงมือทำ สอง ชอบแก้ตัว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ มีน้อย ไม่เสถียร แพง ต้องใช้เวลา และ สาม ขาดภาวะผู้นำและความกล้าหาญที่จะกำหนดลำดับความสำคัญของปัญหาที่ถูกต้อง เพื่อล้มล้างผลประโยชน์ด้านพลังงานแบบเดิม ขาดความกล้าหาญที่จะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม”