
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
ฝ่ายค้านเปิดข้อมูลเอื้อ ‘กลุ่มทุนพลังงาน’ ต้นเหตุค่าไฟแพง ทั้งล็อกโควตารับซื้อโดยไม่เปิดประมูล-ตั้งเงื่อนไขห้ามฟ้อง-ปิดปากเอกชน จี้ยกเลิก-ชะลอลงนามสัญญาทาส-รับซื้อไฟแพง 25 ปี – ‘แพทองธาร’ ยันรัฐบาลชุดนี้ยังไม่เคยอนุมัติซื้อไฟเพิ่ม
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 เวลา 15.30 น. ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พิจารณาญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน กับคณะ จำนวน 165 คน เป็นผู้เสนอ.

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้อภิปรายปัญหาค่าไฟประชาชน การทุจริตเชิงนโยบาย สานต่อขบวนการค่าไฟแพง ปล้นเงินประชาชนคนทั้งประเทศไปแลกดีลจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่สนิทสนมกับนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินหน้าสานต่อการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนระยะ 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ แม้โครงการจะชะลอมา 3 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลตั้งใจโกงค่าไฟประชาชน 1 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย
แม้โครงการดังกล่าวนี้จะริเริ่มในสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 เป็นมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2 เดือน แต่รัฐบาลใหม่เองก็มาสานต่อ และเดินหน้าโครงการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) แต่ต่อมาก็มีมติให้ชะลอโครงการออกไปก่อน ผ่านมา 3 เดือนแล้ว จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆจากนายกรัฐมนตรีว่าจะตัดสินใจอย่างไร หรือ เป็นเทคนิค รอให้ข่าวเงียบ เพื่อให้ไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนต่อได้
“ที่ผ่านมาการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ก็ไม่มีการเปิดประมูล เพื่อแข่งขันราคาแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีการกำหนดราคารับซื้อไว้แล้ว โดยราคาที่รัฐจะรับซื้อเป็นเส้นตรงคงที่ตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี คำนวณแล้วจะทำให้ค่าไฟของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท” นายวรภพ กล่าว
นายวรภพ กล่าวต่อว่า การรับซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ ยังซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด 2,000 เมกะวัตต์ของรัฐบาลเอง ที่อนุมัติก่อนหน้าไปแล้วในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ช่วงเดือนมิถุนายน 2567 แต่ในเดือนกรกฎาคม 2567 รัฐบาลแพทองธารกลับเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนล้นเกินอยู่แล้ว หากรัฐรับซื้อไฟฟ้าโดยเกินความต้องการ ราคาก็จะมารวมอยู่ในบิลค่าไฟของประชาชนทุกคน
“โครงการดังกล่าวมีการล็อกโควตา เฉพาะเอกชนที่ยื่นโครงการในระยะแรก 5,200 เมกะวัตต์ จะได้รับสิทธิพิจารณาก่อนเพื่อน เอกชนส่วนหลังจะมีสิทธิเฉพาะ 2,100 เมกะวัตต์ ที่เหลือในส่วนหลัง เหมือนกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ และปลอบใจรายเก่า ขณะที่ กกพ.ก็กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเอกชนผ่านคุณสมบัติจำนวนมากนั้น เอกชนที่ได้รับคะแนนเทคนิคสูงที่สุดจะได้รับคัดเลือกก่อน”
ไม่เปิดประมูล–ใช้ดุลพินิจจิ้มเลือก-เร่งเซ็นสัญญาทาส
“แต่ประเด็นที่เป็นข้อพิรุธทุจริตนโยบาย คือ การรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ นอกจากจะไม่เปิดประมูลแล้ว ก็ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิคคืออะไร พูดง่ายๆ คือ เป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้มหาศาล จิ้มเลือกได้เลยว่าต้องการให้เอกชนรายใดได้รับคัดเลือกในการที่จะได้กำไรดีๆ จากการขายไฟฟ้าให้รัฐ ที่ไม่ต้องประมูลแข่งขันอะไรเลย” นายวรภพ กล่าว
นายวรภพ อภิปรายต่อว่า รัฐบาลเร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มทุนพลังงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัวนายกรัฐมนตรี ที่ออกงานกันสนิทสนม ร่วมโต๊ะโซน VIP กันหลายงาน และกลุ่มทุนพลังงานนี้ก็ยังเป็นก๊วนกอล์ฟกับคุณพ่อของนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆที่พรรคเพื่อไทยเคยคัดค้านโครงการนี้มาก่อน และศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ แต่กลับไม่มีการชะลอโครงการ แม้จะมีคำสั่งศาลปกครองที่ชี้ว่ากระบวนการคัดเลือกนั้นไม่โปร่งใส จนทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มทุนผูกขาด และเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟส 2 จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ และเร่งรัดการเปิดเสรีพลังงานสะอาด (Direct PPA) พร้อมขอให้ยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสแรก รอบ 5,200 เมกะวัตต์ ในส่วนที่ยังไม่ได้ลงนาม
“พอเป็นเรื่องประโยชน์ประชาชน รัฐบาลก็อ้างว่าต้องศึกษาอย่างรอบคอบ แต่พอเป็นเรื่องประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน รัฐบาลไม่รีรออะไรทั้งนั้น เอาสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าไปเลย เพราะกลัวว่าประชาชนจะรวมพลังกันคัดค้าน เขาเลยต้องเร่งรีบลงนามสัญญา ราวกับรับคำสั่งมา ราวกับว่าการลงนามในสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของดีลจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ถึงรวดเร็วแบบนี้ หากย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้ง ก็ยิ่งตอกย้ำความผิดของการทุจริตนโยบายขบวนการค่าไฟแพงได้เป็นอย่างดี”
จี้นายก ฯยกเลิกลงนามสัญญาทาส
นายวรภพ บอกกว่า ข้อกล่าวหาของผมต่อนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆที่ รู้อยู่แล้วว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะทำให้ค่าไฟของประชาชนแพงขึ้น แต่ยังแต่งตั้งบุคคลที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนมาเป็นรัฐมนตรี ทำให้วันนี้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าล้นเกิน และทำให้ค่าไฟแพง ซึ่งในช่วงหาเสียงก็โบ้ยความผิดให้กับรัฐบาลที่แล้ว แต่พอตัวเองได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล กลับอนุมัติสัญญาซื้อขายอีกในรัฐบาลก่อนหน้า สานต่อขบวนการค่าไฟแพงอย่างไร้รอยต่อไป ทั้งที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการยกเลิก หรือ ชะลอการลงนามได้ แต่ก็ไม่ทำ ทั้งๆที่รู้ว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ค่าไฟของประชาชนแพงขึ้น
“ที่นายกรัฐมนตรี เคยหาเสียงไว้ว่า มีกิน มีใช้ นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ได้ หมายถึง ประชาชน แต่หมายถึงกลุ่มทุนพลังงานเพื่อนพ่อหรือไม่ จึงดูราบรื่นไปหมดแบบนี้” นายวรภพ กล่าว
ล็อกโควตาซื้อไฟ-ตั้งเงื่อนไขห้ามฟ้อง-ปิดปากเอกชน
นายวรภพ ยังมีข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดจึงไม่มีเอกชนในการฟ้องต่อศาลปกครองในเรื่องนี้เลยนั้น คำตอบคือ มีเงื่อนไขพิสดารในการล็อกโควตาซื้อไฟฟ้า เฟส 2 และยังมีการกำหนดว่าเอกชนที่จะยื่นเสนอจะต้องไม่เป็นเอกชนที่ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐอยู่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการขู่ และปิดปากเอกชน พอหากมีการฟ้องร้องจะไม่ได้รับสิทธิจากโควตารับซื้อไฟที่ล็อกไว้ให้ และแม้ว่าต่อมาจะมีการยกเลิกเรื่องการฟ้องร้องออกไปแล้วนั้น แต่การกระทำเช่นนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์เรียบร้อย จนการลงนามในสัญญาสำเร็จ รวมถึงมีการสานต่อโครงการในเฟสต่อไปแล้ว
ดังนั้น ความผิดของนายกรัฐมนตรีที่สานต่อนโยบายค่าไฟแพง ปล้นคนไทยทุกคนผ่านบิลค่าไฟ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่สนิทสนมกับนายกรัฐมนตรีและครอบครัว มีดังนี้ 1. เดินหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าเฟส 2 จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ ที่ทุจริตเชิงนโยบาย 2. เร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การรับซื้อไฟฟ้าเฟสแรกรอบ 5,200 เมกะวัตต์ ให้เพื่อนสนิทนายกรัฐมนตรีและพ่อ
“สำหรับผม ความเสียหายที่สุดสำหรับประเทศไทยในการที่นายกรัฐมนตรีสานต่อขบวนการค่าไฟแพง คือการสานต่อกลุ่มทุนผูกขาดให้เติบโต แข่งขันกันหาผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ แข่งขันหารายได้จากการผูกขาด หาประโยชน์จากคนในชาติด้วยกันเอง และนายกรัฐมนตรีแพทองธารสานต่อทุจริตนโยบาย เอาค่าไฟของคนทั้งประเทศไปแลกกับดีลของพ่อ หรือคนในครอบครัว ผมขอเป็นตัวแทนประชาชน หยุดการทุจริตเชิงนโยบายของรัฐบาล ยุติการปล้นเงินจากกระเป๋าคนไทยโดยบิลค่าไฟ” นายวรภพ กล่าว
เคลียร์ผลประโยชน์ไม่ลงตัว – ต้นเหตุยกร่างแผนพีดีพีฯอืด
จากนั้นนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ขึ้นกล่าวอภิปรายว่า นายกฯ ฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เก่งแต่พิทักษ์ผลประโยชน์ของทุนพลังงาน ดูได้จากความล่าช้าของร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ เหตุผลที่ล่าช้า เพราะติดเคลียร์ปัญหากับนายทุนผลิตโรงงานไฟฟ้า และยัดโครงการนายทุนในแผนฯ เพื่อให้การันตีว่าโรงงานไฟฟ้าที่ได้รับสัมปทานได้สร้างแน่นอน เพื่อช่วยนายทุนพลังงานทุกกลุ่ม ขณะที่เนื้อหาของร่างพีดีพีฉบับใหม่มีปัญหา แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้ทบทวนแต่ น.ส.แพทองธาร ฐานะประธาน กพช.ก็ไม่สนใจ
ปั้นดีมานด์ใช้ไฟสูงเกินจริง – เอื้อนายทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม 4.4 พันเมกะวัตต์
นายศุภโชติ อภิปรายว่า มีการวางแผนเชิงทุจริตเชิงนโยบายครั้งใหม่ เพื่อเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ให้หน่วยงานปั้นตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตสูงเกินจริง และไม่ตรงกับความจริง โดยอ้างถึงการเติบโตของประมาณการทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยกลุ่มทุนพลังงานกว่า 4,400 เมกะวัตต์ หากเป็นแบบนั้นจะทำให้สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีก 16 โรง ซึ่งตีได้ว่านายกฯ กำลังทำให้นายทุนพลังงานมีกินมีใช้

“นายกฯ ของไทยติดหรู ชอบใช้ของแพง โดยพบว่ามีการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลายแห่ง เช่น เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนสานะคาม เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนเซกอง ที่มีราคาสูงเกือบ 3 บาท ซึ่งพบว่ามีบริษัทร่วมทุนเป็นชื่อบริษัทที่นายทักษิณมีความสนิทสนม และมีการให้สัญญาสัมปทานยาวถึง 35 ปี แต่หากต่อสัญญากับรายเดิมจะทำให้ค่าไฟมีราคาถูกลง และทำให้ประเทศประหยัดเงินที่ใช้จ่ายค่าไฟจำนวนมาก”
นอกจากนี้รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร พบการล็อกโควตาซื้อไฟให้กับกลุ่มทุนพลังงาน โดยแผนพีดีพีฉบับใหม่ไม่มีการขยายโควตาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้แก่ประชาชน กำหนดโควตาให้ประชาชนแค่ 9,000 หลังคาเรือน ทั้งที่ร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่มีการขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 2.4 หมื่นเมกะวัตต์ มากกว่าเดิม 3 เท่า คาดว่าจะมีการจัดสรรให้กับกลุ่มทุนพลังงานบางราย ซึ่งเป็นการสมคบคิดระดับชาติ โดยนายกฯ ฐานะประธาน กพช. กับบริษัททุนพลังงานที่เป็นเพื่อนของบิดา
‘แพทองธาร’ ยันไม่เคยอนุมัติซื้อไฟเพิ่ม
และเมื่อเวลา 21.20 น.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกรณีเรื่องพลังงานที่ระบุว่ารัฐบาลทำให้ค่าไฟฟ้าแพง และเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน และพวกพ้องนั้น ยืนยันรัฐบาลชุดนี้ยังไม่เคยอนุมัติซื้อไฟฟ้าเพิ่มกับบริษัทใด ๆ รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนประเทศเพื่อนบ้านที่สมาชิกรัฐสภาผู้แทนราษฎรกล่าวหาว่าเอื้อกลุ่มทุนนั้น มีข้อมูลสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าที่ทำกันมานานหลายปี ก่อนที่ดิฉันจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นข้อมูลที่สมาชิกฯ กล่าวอ้างจึงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง เป็นการอภิปรายผลงานของรัฐบาลชุดอื่น