
ไทม์ไลน์ “ทักษิณ” รีด fat หั่นค่าไฟขั้นต่ำเหลือ 3.70 บาท เล็งใช้ “merit oder” ประเมินต้นทุนการผลิต เผยโรงไฟฟ้าผลิตไฟแพง ไม่คุ้ม ควร “ปิด” หรือ “สแตนด์บาย” พร้อมปรับลด ‘ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม – VAT – เงินนำส่งคลัง – ค่าผ่านท่อก๊าซ’ แยกบิล กรณี อปท. ใช้ไฟฟรี ด้านกพพ. รับลูก ชงพลังงานปรับลดค่า adder – FiT สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ค่าไฟฟ้าแพงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยแล้ว ยังเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจที่มีผลกระทบไปถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และภาพรวมของเศรษฐกิจ ดังนั้น เรื่องการปรับลดราคาพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน และแก๊สหุงต้ม จึงถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
ระหว่างที่นายทักษิณ ชินวัตร ไปปราศรัยตามเวทีต่างๆ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย แต่ที่พูดแล้วเห็นภาพชัดเจนมากสุด คืองานดินเนอร์ทอล์กซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา นายทักษิณ กล่าวว่า “การปรับลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ต้องใช้วิธีการ “รีด fat” โดยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดหา และผลิตไฟฟ้า ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกจากค่าไฟ และผมมั่นใจว่าทำได้ เพราะแอบไปเห็นตัวเลขต้นทุนค่าไฟทั้งหมดมาแล้ว ตัวเลข 3.70 บาทต่อหน่วยที่กล่าวไปนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขขั้นต่ำ”
ก่อนหน้านี้นายทักษิณกล่าวว่า เคยหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้คำนวณต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าบางแห่งใช้ก๊าซธรรมชาติปั่นไฟ บางโรงก็ใช้ถ่านหิน แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในวันนี้มีต้นทุนอยู่ที่ 2 บาทต่อหน่วย และในการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบจะมีบัญชีประเภทหนึ่งที่ใช้วิเคราะห์ ตรวจวัดประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง
นายทักษิณกล่าวว่า “ให้เอาราคาค่าไฟที่เรียกเก็บจากประชาชนเป็น benchmark หรือเป็นตัวตั้ง โรงไหนผลิตไฟฟ้าแล้วไม่คุ้มค่า คือ แพงกว่าค่าไฟที่เรียกเก็บจากประชาชน ก็ควรจะปิดหรือสแตนด์บายไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น เพราะเราต้องการลดต้นทุนเพื่อดึงค่าไฟลงมา และในที่สุดราคาค่าไฟก็จะลงมาเหมือนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด แต่ในเบื้องต้นคิดว่าจะลดค่าไฟลงมาอยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วยได้”
จากนั้นก็ต้องมารีด fat ในส่วนของภาครัฐ นายทักษิณกล่าวว่า “ต้องพยายามลดการสูญเสียพลังงานในการจำหน่ายไฟของ 3 การไฟฟ้า ที่มันสูงมากเกินไป อาจต้องดูเรื่องเงินนำส่งรัฐ โดยเฉพาะเงินค่าเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ เพื่อเป็นกำไรให้กับการไฟฟ้าทั้งฝ่ายผลิต นครหลวง และภูมิภาค เพื่อนำส่งคลัง”
ประเด็นถัดมาก็เป็นเรื่องการใช้ไฟฟรีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นายทักษิณกล่าวว่า “อปท. บางแห่งเปิดไฟไว้ทั้งวันทั้งคืน ตื่นเช้ามาแอร์จะได้เย็น ไม่ปิดไฟ ปิดไม่เป็น กรณีแบบนี้ต้องแยกใบเรียกเก็บให้ชัดเจน”
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นายทักษิณบอกว่า “นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่จะทำให้ค่าไฟลดลง แต่ว่ายังมีอีกเยอะที่สามารถรีดค่าไฟลงมาได้อีก อย่างเช่น การลดค่าบริการผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ แต่อาจกระทบ ปตท. ซึ่ง ปตท. ก็เต็มใจที่จะลดราคาลงมา สุดท้ายค่อยมาดูเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับค่าไฟ ซึ่งมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากประชาชนปีละ 60,000 ล้านบาท
ถามว่าการปรับลดภาษีจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายทักษิณบอกว่า “ก็ต้องมาดูว่าผลประโยชน์ตกกับประชาชนส่วนใหญ่หรือเปล่า ถ้าผลประโยชน์ตกกับประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหาเลย สามารถทำได้”
ส่วนปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (reserve margin) ที่มีปริมาณสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ประเด็นนี้นายทักษิณกล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าแล้ว ก็ไม่เดือดร้อนสักเท่าไหร่ เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เกินมาก็ขายต่อไม่ได้ แต่ถ้าเราปิดโรงไฟฟ้าไปบางส่วนตามที่กล่าวข้างต้น กำลังการผลิตที่เกินมาก็อาจจะไม่เยอะ และถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5% ต่อปี เศรษฐกิจดีก็จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น การใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้น ปริมาณไฟฟ้าสำรองก็จะลด

“การที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินไปก็มีข้อดี โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากๆ อย่างเช่น ธุรกิจศูนย์ข้อมูลหรือศูนย์เอไอ เหตุที่เขาสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เขาบอกว่าไม่ต้องมานั่งรอ ปริมาณไฟฟ้าของเราพร้อม ถึงแม้เขาจะต้องการใช้ไฟสีเขียว แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ซีเรียสมากนั้น แต่เรื่องอัตราค่าไฟก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าปรับลดค่าไฟฟ้าลงมาได้ ก็เป็นแรงจูงใจหรือดึงดูดการลงทุน ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องรีบทำ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟทอป”

ต่อประเด็นที่นายทักษิณพูดถึงเรื่องที่จะนำบัญชี merit order มาใช้ประเมินต้นทุนในการผลิตของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง โรงไหนผลิตไฟมาแล้วไม่คุ้ม แพงกว่าราคาค่าไฟ ก็ควรจะปิดหรือสแตนด์บายไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ ให้ความคิดเห็นว่า “เห็นด้วย เป็นสิ่งที่ดี และถูกต้องแล้ว ซึ่งการไฟฟ้าเขาก็ทำมาตลอด แต่มันไม่ discipline (มีมาตรฐานในทางปฏิบัติ) การนำ merit order มาประเมินความคุ้มค่าเป็นวิธีดีที่สุด โรงไหนผลิตไฟฟ้ามาแล้วไม่คุ้ม ก็ปิดไปเลย ตามกลไกของระบบทุนนิยม”
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ขานรับทันที โดยที่ประชุมบอร์ด กกพ. ครั้งที่ 2/2568 มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กกพ. ทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาทบทวน และปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนในการรับซื้อไฟฟ้า จากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ทั้งในรูปแบบของ adder และ feed in tariff (FiT) ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซี่งจะทำให้ค่าไฟลดลงได้ทันทีประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568) ที่เรียกเก็บจากประชาชน 4.15 บาทต่อหน่วย ราคาค่าไฟก็จะลดลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ยกตัวอย่าง กรณีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอดีตที่มีผลผูกพันมาจนถึงปัจจุบัน การไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าประเภทนี้ในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง 3.16บาทต่อหน่วย บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) อีก 8 บาทต่อหน่วย (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้า 11.16 บาทต่อหน่วย ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงปี 2565 และในส่วนเพิ่มเติมปี 2567 ในปัจจุบันรับซื้อกันที่ 2.17 บาทต่อหน่วย เทียบกับการรับซื้อไฟในปัจจุบันแล้วแพงกว่าหลายเท่าตัว หรือมีส่วนต่าง 8.99 บาทต่อหน่วย หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที ยืนยันว่าไม่มีกระทบต่อผู้ประกอบการด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
-
1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีต 11.16 บาทต่อหน่วย เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน ถึงแม้โครงการจะผ่านมา 10 ปี และเงินอุดหนุน 8 บาทต่อหน่วยก็หมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อไฟฟ้าประเภทนี้ก็ยังอยู่ที่ 3.16 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังแพงกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2565 อยู่ที่ 2.17 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังมีส่วนต่างประมาณ 0.99 บาทต่อหน่วย ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ
ดร.พูลพัฒน์กล่าวต่อว่า “ประการสำคัญในสัญญารับซื้อไฟฟ้ากลุ่มนี้ระบุว่า ‘ให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ’ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด”
นอกจากการทบทวนค่า adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ยังมีไขมันตัวสุดท้ายที่ไม่ได้พูดถึง คือ “ค่าพร้อมจ่าย” ซึ่งตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเอกชนจะมีต้นทุนอยู่ 2 ส่วน คือ ค่าพร้อมจ่าย (availability payment หรือ AP) และค่าพลังงาน (energy payment หรือ EP) หากการไฟฟ้าสั่งให้โรงไฟฟ้าไหนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแห่งนั้นก็จะได้รับค่าพร้อมจ่ายและค่าพลังงาน แต่ถ้าไม่สั่งให้เดินไฟ โรงไฟฟ้าแห่งนั้นก็จะได้แต่ค่าพร้อมจ่ายอย่างเดียว สรุปไม่ว่าจะเดินไฟหรือไม่เดินไฟ การไฟฟ้าก็ต้องจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งค่าพร้อมจ่ายดังกล่าวนี้จะถูกนำมาคำนวณอยู่ในค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) กล่าวคือเป็นค่าบริการที่ผู้ใช้ไฟต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้า ยกตัวอย่าง ในช่วงเดือนมกราคม–เมษายน 2568 มีค่าพร้อมจ่ายหรือค่าพลังไฟฟ้า (AP/CP) ที่การไฟฟ้าต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าประมาณ 25,192 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการซื้อไฟฟ้าในประเทศมีค่า AP ประมาณ 19,873 ล้านบาท และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศก็มีค่าพร้อมจ่ายอีกประมาณ 5,319 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น หากจะมีการนำเสนอนโยบายปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายเงินค่า adder และ FiT แล้ว ควรจะมีการเจรจาขอแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยการปรับลดค่าพร้อมจ่ายลงมาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในคราวเดียวกัน เพื่อทำให้ค่าไฟถูกลง เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องนำมาปรับแก้ร่วมด้วย