ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 Maxim Reshetnikov รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ รัสเซีย ได้เดินทางไปยังกรุงเนปยีดอ และร่วมประชุมกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เมียนมา พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานที่สำคัญ เช่น พล.อ. แยวินอู เลขาธิการร่วม SAC รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมา (CBM)
ตามรายงานของเพจ Dawei SEZ Watch ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีพิธีเซ็นบันทึกความร่วมมือเพื่อการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ “ทวาย” โดย Maxim Reshetnikov เป็นผู้ลงนามในบันทึกดังกล่าวร่วมกับอู คันส่อ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมียนมา
Dawei SEZ Watch รายงานว่า เนื้อหาในบันทึกความร่วมมือระบุว่า บริษัทจากรัสเซียจะเข้ามาลงทุนก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลากหลายประเภท บนพื้นที่ 196 ตารางกิโลเมตร ชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่เมืองทวาย ภาคตะนาวศรี ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงก่อสร้างโครงการที่สำคัญ เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน และโรงกลั่นน้ำมันฯลฯ

ในข่าวของ Dawei SEZ Watch ไม่ได้ให้รายละเอียดของการลงทุนเหล่านี้ว่าจะเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อใด แต่ได้อ้างอิงความเห็นของรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซีย ที่วาดแผนไว้ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะถูกใช้เป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เขตอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร ศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่ง และศูนย์กลางการส่งออก…
ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นโครงการขนาดใหญ่ของเมียนมาที่อยู่ใกล้ชิดกับประเทศไทย ที่ตั้งของโครงการนี้อยู่ริมชายหาดในเขตนะบูแล ห่างจากตัวเมืองทวายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 17 ไมล์ หรือประมาณ 27 กิโลเมตร
ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เมียนมา ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 132 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ 300 กิโลเมตร และห่างจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทย 450 กิโลเมตร(ดูภาพประกอบ)

ไทยและเมียนมาเห็นชอบร่วมกันที่จะพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของเมืองทวายตั้งแต่เมื่อปี 2551 โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD) จากประเทศไทย เป็นผู้ได้รับสัมปทาน แต่ด้วยความล่าช้าของโครงการ ทำให้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เพียง 2 สัปดาห์ รัฐบาลของพรรค NLD ในขณะนั้น ได้ประกาศยกเลิกสัมปทานที่ให้ไว้กับ ITD โดยให้เหตุผลว่า โครงการไม่มีความคืบหน้าแม้เวลาผ่านไปแล้วหลายปี และผู้ที่ได้รับสัมปทานมีปัญหาเรื่องการจัดหาเงินทุน
หลัง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โครงการทวายเป็นเมกะโปรเจกต์โครงการแรกที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ประกาศชัดในที่ประชุมคณะกรรมการสภาบริหารแห่งรัฐ ครั้งที่ 17/2021 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่าต้องเดินหน้าและสร้างโครงการนี้ต่อให้เสร็จ เพราะเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา

เพียงแต่ในวันนั้นเขายังไม่ได้ฟันธงว่า ผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการทวาย เป็นนักลงทุนจากประเทศใด
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เดินทางไปยังชายหาดนะบูแล ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งถูกเตรียมไว้สำหรับก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย พร้อมรับฟังรายงานจากอู อ่องไหน่อู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น และอู อ่องโซ ประธานคณะกรรมการบริหาร เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ถึงสถานการณ์และความล่าช้าของโครงการ

หลังเสร็จสิ้นการรับฟังรายงาน พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ยืนยันจะเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้เสร็จสมบูรณ์ เพราะเป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ การค้า และการขนส่งสินค้า ตามโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศบนภาคพื้นทวีปในกลุ่มอาเซียน ที่ประกอบด้วย เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงโครงการที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเมียนมา แต่ยังสร้างประโยชน์อย่างมากต่อประชาคมระหว่างประเทศ
แต่จนถึงในตอนนั้นก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า นักลงทุนจากประเทศใดที่จะได้เป็นผู้ลงทุนในโครงการทวาย…
เดือนมีนาคม 2567 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กล่าวกับสำนักข่าว ITAR-TASS ของรัสเซีย ว่า รัฐบาลทหารเมียนมา อยากได้ความช่วยเหลือจากรัสเซียเพื่อเริ่มต้นโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่มีความสามารถในการรองรับเรือบรรทุกสินค้าที่มีขนาดเกินกว่า 200,000 ตัน
กลางเดือนพฤษภาคม 2567 Eleven Media Group มีรายงานโดยอ้างข่าวจาก Construction World นิตยสารด้านธุรกิจและการก่อสร้างของอินเดีย ที่เผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังเจรจาให้รัสเซียเป็นผู้ลงทุนและบริหารโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

ตามข่าวของ Construction World ระบุว่า โครงการทวายซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศไทย จะเป็นประตูให้รัสเซียในการเข้าถึงพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) ที่มีสมาชิก 6 ประเทศ คือ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม และยังเป็นโครงการที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ในระยะทางเพียง 300 กิโลเมตรเท่านั้น
เหตุผลที่รัฐบาลทหารเมียนมาอยากให้รัสเซียทำโครงการนี้ ก็เพื่อสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับรัสเซียและจีน เพราะปัจจุบัน จีนเป็นผู้ลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ โดยมีอินเดียเป็นผู้ลงทุนโครงการท่าเรือขนส่งสินค้าที่เมืองซิตต่วย ซึ่งอยู่ห่างขึ้นไปเล็กน้อยทางตอนเหนือจากเมืองเจ้าก์ผิ่ว ในอ่าวเบงกอล ภาคตะวันตกของเมียนมา (ดูแผนที่ประกอบ)

ในการเจรจากับรัสเซีย นอกจากจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทวายแล้ว ยังจะมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 100,000 บาร์เรลต่อวันขึ้นอีก 1 แห่งด้วย

วันที่ 21 มกราคม 2568 Iskander Kubarovich Azizov เอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำเมียนมา เดินทางไปยังเมืองทวาย และเดินทางต่อเพื่อไปร่วมประชุมกับอู เมียตโก่ มุขมนตรีภาคตะนาวศรี และคณะของประธานเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่เมืองเกาะสอง เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของรัสเซีย
ก่อนจะนำมาสู่พิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อการลงทุนในโครงการทวาย ระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซีย กับรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมียนมา เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
……

วันนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กำลังจะฟื้นกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ภายใต้การลงทุนของรัสเซีย
แต่เชื่อว่าในมุมมองของรัสเซีย โครงการทวายคงมิได้มีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวเท่านั้น!
โครงการทวาย ตั้งอยู่ริมทะเลอันดามัน ซึ่งมีชื่อในภาษาพม่าว่าทะเล “กับปะลี” (ကပ္ပလီ) และเดิมในอดีต ทะเลอันดามันเคยถูกเรียกเป็นทะเลพม่ามาก่อน
วันที่ 16 ตุลาคม 2567 กองทัพพม่าได้ประกาศจัดซ้อมรบทางทะเลโดยใช้กระสุนจริง ที่ใช้ชื่อว่าการฝึกซ้อมรักษาความมั่นคงทางทะเล (The 2024 Maritime Security Sea Exercise) ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม โดยกำหนดเขตในบริเวณน่านน้ำตอนเหนือของทะเลกับปะลี ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวเบงกอล ฝั่งตรงข้ามกับเมืองมะริด ภาคตะนาวศรี ห่างจากชายแดนประเทศไทยทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 300 กิโลเมตร

การซ้อมรบครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ และอากาศยาน กองทัพพม่าจึงได้ออกประกาศแจ้งเตือนไปยังเรือทุกประเภท ทั้งเรือประมง เรือขนส่งสินค้า และเรือโดยสาร ที่จำเป็นต้องเดินทางผ่านบริเวณนี้ ต้องใช้เส้นทางในพื้นที่ปลอดภัย คือ ห่างจากเขตฝึกซ้อมในรัศมีไม่น้อยกว่า 5 ไมล์ ส่วนเครื่องบินที่ต้องบินผ่านบริเวณนี้ ต้องบินในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 15,000 ฟุต
คู่ร่วมฝึกซ้อมรักษาความมั่นคงทางทะเลกับกองทัพเรือพม่า คือกองทัพเรือรัสเซีย โดยกองเรือแปซิฟิกของรัสเซียได้ส่งเรือคอร์เวต 4 ลำ และเรือขนส่งอีก 1 ลำ มาร่วมฝึกซ้อมด้วย
การซ้อมรบร่วมทางทะเลโดยใช้กระสุนจริงระหว่างกองทัพเรือพม่า-รัสเซีย เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยการซ้อมรบครั้งแรกได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2566 ในเขตทะเลอันดามันเช่นกัน

ช่วง 2 ปีมานี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพเรือรัสเซียมีความคุ้นชินกับสภาพพื้นที่ของทะเลอันดามัน และศักยภาพของกองทัพเรือรัสเซียจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อท่าเรือน้ำลึกทวาย ริมทะเลอันดามัน กำลังจะถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทจากรัสเซีย…