ThaiPublica > คอลัมน์ > โดนใจจังหนังสั้นเรื่องนี้ ชวนดู 5 ผลงานสะท้อนชีวิตคนรุ่นใหม่ไทย

โดนใจจังหนังสั้นเรื่องนี้ ชวนดู 5 ผลงานสะท้อนชีวิตคนรุ่นใหม่ไทย

27 กุมภาพันธ์ 2025


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ fuse.film แพลตฟอร์มหนังสั้นเด็กเยาวชน และชมรม Young Filmmakers of Thailand จัดงานประกาศรางวัลเทศกาล fuse. KIDS Film Festival 2024 ครั้งที่ 3 ณ โรงภาพยนตร์คิดส์ ซีนีมา พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ปีนี้มีหนังสั้นจากคนรุ่นใหม่หลากหลายสไตล์ส่งเข้าประกวด 922 เรื่องจากทั่วโลก และมีการมอบรางวัลใน 16 สาขา โดยผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, คณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ และตัวแทนกรรมการประจำเทศกาล

สำหรับผม ผู้ติดตามหนังสั้นเยาวชนมายาวนาน หนึ่งในไฮไลต์เทศกาล fuse. ทุกปีคือบทความรีวิว ชวนคิด วิเคราะห์ (แบบไม่มีคะแนนหรือดาวให้) และมีผลงานหลายเรื่องที่น่านำมาชวนคุยกันในฐานะคนที่สนใจเรื่องงานพัฒนาเยาวชน จึงขอหยิบยกบทความรีวิวของทีมนักเขียน fuse. มาชวนคุย ต่อยอดบทสนทนากัน กับ 5 ผลงานแนะนำจากฝีมือคนรุ่นใหม่

1. Crayon / กลับบ้าน (อัครวิทย์ มีนาค)
รีวิวโดย สะบั้นอัมพร

(Best Film Award, Best Director Award, Best Performance Award ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า fuse. KIDS Film Festival 2024)

เชื่อว่าทุกคนล้วนมีประสบการณ์ร่วมเมื่อเกิดอาการแอบรักใครสักคนโดยไม่รู้ตัว ยิ่งความแอบรักนั้นห่างไกลจากความสุขสมหวังก็ยิ่งเป็นประสบการณ์ universal ที่คนนับล้านเคยมีร่วมกัน เช่นเดียวกัน ในโลกภาพยนตร์เองก็ไม่พ้นกับคำว่า art imitates life หรืองานศิลปะที่ลอกเลียนมาจากชีวิตจริง ทำให้มีหนังจำนวนไม่น้อยที่เล่าถึงประสบการณ์แอบรัก โดยที่อีกฝ่ายแทบจะไม่รับรู้

ทว่า หากใส่ tag ให้กับหนังว่า เป็นการแอบรักเพศเดียวกัน การจำกัดวงก็จะแคบลงมา และ Crayon/กลับบ้าน ก็เล่นกับประเด็นนี้ โดยหนังสั้นความยาวครึ่งชั่วโมง เล่าถึง “ท้องฟ้า” กับ “เพลิน” ที่ได้มาทำความรู้จักกัน หลังท้องฟ้าขอเข้าทีมเต้นคัฟเวอร์กับเพลิน ทั้งสองคนเดินทางไปห้องซ้อมเต้นด้วยกัน ได้ทำความรู้จักและใช้เวลาอยู่ด้วยกัน มิตรภาพระหว่างสองสาวจึงค่อยๆ ผลิบาน ฉากเปิดเรื่องเป็นการแข่งแชร์บอลของนักเรียนหญิง ไม่มีใครส่งบอลให้ท้องฟ้า มีแต่เพลินที่ส่งให้ เป็นการทำให้คนดูได้ทำรู้จักตัวละครทั้งคู่ ซึ่งหนังพยายามใส่จุดเด่นให้เพลินเพื่อให้คนดูจำเธอได้ แต่ฉากท้องฟ้ามีเลือดกำเดา หนังนั้นได้ทิ้งปมให้คนดูตั้งคำถามและคงความสงสัยต่อไปในฉากถัดๆ มา

อย่างไรก็ตาม ชอบตรงที่หนังทำให้เห็นความแตกต่างตอนท้องฟ้าไม่ยอมรับแก้วน้ำหวานจากเด็กหนุ่มที่เข้ามาขอไอจีเธอ แต่ยอมรับแก้วน้ำหวานจากเพลิน กับฉากยืนรอรถกลับบ้านในตอนจบ ที่หนังสื่อให้เห็นความอึดอัดและโหยหาของทั้งสองคน ผ่านท่าทาง สายตา และคำพูด ท้องฟ้าเหมือนมีอะไรอยากจะบอกกับเพลิน ทั้งสองยืนมองกันและกันอยู่พักใหญ่ ซึ่งสุดท้ายท้องฟ้าก็ไม่พูดและหันไปอีกทาง แต่หนังทำให้คนดูเดาได้ว่าเรื่องที่ท้องฟ้าอยากจะพูดกับเพลินคืออะไร

หนังยังพาคนดูไปสัมผัสบรรยากาศในชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียนมัธยม ทั้งการถักเปียให้เพื่อน ได้เห็นเด็กๆ รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทั้งเตะบอล เต้นคัฟเวอร์ เสียดายอยู่หน่อยตรงหนังอุตส่าห์ปูเรื่องกิจกรรมเต้นคัฟเวอร์บนเวที และให้เห็นบรรยากาศการฝึกซ้อมในห้องซ้อม แต่กลับไม่มีฉากขึ้นแสดงเต้นคัฟเวอร์บนเวทีในวันจริงของเพื่อนกลุ่มนี้

สำหรับคำว่า “กลับบ้าน” โยงให้นึกถึงฉากสำคัญที่เกิดขึ้น ขณะทั้งคู่กำลังจะกลับบ้านจริงๆ แม้คำว่า Crayon จะไม่ได้ช่วยอธิบายว่าหนังเสนออะไร ทั้งนี้ Crayon มีความหมายแสลงเป็นคำด่าทอคนที่มีพัฒนาการเรียนรู้ช้า เช่น การพูดว่า กินดินสอสี อีกความเป็นไปได้ที่ใช้คำว่า Crayon อาจจะสื่อถึงความมีหลายสี แบบสัญลักษณ์ของชาว LGBTQ+

สำหรับการแสดงของท้องฟ้า ตัวละครเองมีปมที่ขัดแย้งกันหลายจุด ทำให้ดูเหมือนคนที่ยังหาตัวตนไม่เจอ เลยมีบุคลิกเก็บตัว ขณะเดียวกันก็มีไอจี และชอบเต้นคัฟเวอร์ลงช่องตัวเอง ในช่วงท้าย หนังได้ปรับบุคคลิกท้องฟ้าจากในตอนเปิดเรื่องให้สดใสขึ้นบ้าง

หนังโดยรวมดูเพลิน เล่าเนื้อหาดูแล้วเข้าใจได้ดี การแสดงของเพลินดูสดใสเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้ ตัวละครทั้งเพลินและท้องฟ้ามีเคมีความเข้ากันระหว่างเข้าบท เหมือนด้านตรงข้าม เพราะขณะที่คนหนึ่งยิ้มแย้มคุยเก่ง และมีบุคลิกเปิดเผย อีกคนจะขรึมๆ พูดน้อยกว่า และเก็บตัว จึงเป็นความต่างที่ลงตัว เพิ่มความหลากหลายของตัวละครให้กับหนัง

หากสามารถที่จะใส่ประเด็นให้เข้มข้นขึ้นอีกสักหน่อย จะช่วยสร้างสถานการณ์ขัดแย้งและปมขัดแย้งเพิ่มขึ้น นอกจากปมปัญหาที่เพลินมีแฟนผู้ชาย กับเรื่องบ้านอยู่ไกล กลับบ้านลำบาก ก็จะยิ่งช่วยให้หนังไปไม่ถึงจุดที่ย้อนกลับไม่ได้

ความจริงแล้ว การแอบรักเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ยิ่งการแอบรักเพศเดียวกัน ยิ่งละเอียดอ่อนแบบตะโกน Crayon ทำให้เราได้สัมผัสความละเอียดอ่อนในสถานการณ์ของตัวละครทั้งสอง จุดนี้นับว่าทำได้ดี ตัวอย่างของงานที่สื่อถึงความละเอียดอ่อน และทำออกมาดีจนกลายเป็นงานขึ้นหิ้ง คือซีรีส์สัตว์ประหลาดไซไฟยุค 80 Stranger Things ซีซัน 4 ในฉากที่ตัวละคร “วิล” ซึ่งเป็นเกย์และแอบรัก “ไมค์” เพื่อนสนิทของตัวเอง ได้สารภาพรักแบบอ้อมๆ กับไมค์ในรถแวนขณะทั้งคู่กำลังเดินทางไกลข้ามรัฐ วิลบอกว่าไมค์คือหัวใจ หากไม่มีหัวใจ ทุกคนย่อมแตกสลาย แล้ววิลก็หันหน้าออกนอกหน้าต่างเพื่อร้องไห้เงียบๆ โดยมีแค่คนดูกับพี่ชายเขาเท่านั้นที่ได้เห็นความแตกสลายนี้

ฉากดังกล่าวใช้เวลาเพียงแค่สองนาทีเศษ แต่กลับสร้างแรงสะเทือนมหาศาลให้กับความรู้สึกคนดู นั่นเป็นเพราะตัวซีรีส์ปูความขัดแย้งให้วิลมาตลอดซีซัน จนเชื่อว่าหลายคนที่ได้ดูฉากนี้ ต่อให้มีความคิดอย่างไร ขอเพียงยังมีหัวใจอยู่ ก็ย่อมต้องเศร้าและเผลอร้องไห้ตามตัวละครวิลอย่างแน่นอน

รับชมภาพยนตร์ได้ที่ https://fuse-film.com/movies/crayon/
…………

2. A Man and the Child (เปรม ผลิตผลการพิมพ์)
รีวิวโดย พิมผกาพร พรเพ็ง

(Best Cinematography Award ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า fuse. KIDS Film Festival 2024)

ในวันที่ต้องกลับไปหยิบโฉนดที่ดินของที่บ้านขึ้นมาเพื่ออนาคตของตัวเอง เบิร์ดกลับได้นั่งย้อนเวลากลับไปสำรวจความทรงจำของเขาในวัยเด็ก ที่ยังคงผูกพันกับแม่ผู้ดูแลดินแดนผืนนี้พร้อมกันกับเขา ภาพยนตร์สั้น A Man and the Child พาผู้ชมย้อนเวลากลับไปเพื่อฟังเสียงความต้องการของใครคนหนึ่ง ที่ส่งผลต่อความรู้สึกและการกระทำของใครอีกคนในชีวิตของพวกเขา เบิร์ดเป็นเด็กชายที่อาศัยอยู่กับแม่สองคนในบ้านที่อยู่ติดกับพื้นที่ทำกินทางการเกษตร เด็กชายเติบโตมากับคำพูดของแม่ที่พร่ำบอกให้เขาเติบโตเป็นคนดี และอย่าประพฤติตัวแบบที่พ่อได้ทำเอาไว้ พ่อในความทรงจำของเบิร์ดนั้นไม่แจ่มชัด และถูกสร้างขึ้นจากเรื่องเล่าของผู้เป็นแม่เท่านั้น แม่ของเบิร์ดหวังให้ลูกชายเก็บสะสมสมบัติและสินทรัพย์ของตระกูลไว้ให้ดี ไม่ขายออกไปเพื่อแลกกับเงินที่มีมูลค่าในระยะสั้น

ในขณะที่เบิร์ดในวัยผู้ใหญ่อาจมีเรื่องให้ต้องตัดสินใจมากมาย เขาจึงตั้งใจขายโฉนดชิ้นสำคัญของครอบครัวให้กับนายทุนที่สามารถจะมาช่วยเขาทำงานได้ เรื่องเล่าและความหวังที่เขาได้ยินจากแม่ก็ย้อนกลับมาสร้างความสับสนให้เขาซ้ำๆ เด็กชายเบิร์ดนอนนิ่งสนิทเพื่อดูแลโฉนดที่ดินชิ้นสำคัญของเขาและแม่เอาไว้ ในขณะที่เบิร์ดผู้เติบโตกลับเอาวัยเด็กของเขาใส่ถุงดำและนำไปทิ้งโดยไม่หันกลับมามอง เสียงของแม่ค่อยๆ เบาลง ภาพทิวทัศน์แสงสีแดงชมพูจากพระอาทิตย์ตกดินฉายชัดในความทรงจำของเขา

ภาพยนตร์สั้น 14.46 นาทีเรื่องนี้ไม่เพียงแค่พูดถึงความทรงจำของครอบครัว ความทรงจำในวัยเด็กที่ถ่ายทอดผ่านชีวิตของเด็กชายคนหนึ่งผู้เป็นความหวัง จนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องพยายามใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ได้อย่างดีที่สุด สารจากแม่ถึงเบิร์ดพาผู้ชมไปไกลยิ่งกว่านั้น มันเปิดเผยทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในฐานะครอบครัว มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมรายรอบ และสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติด้วยเช่นกัน

เบิร์ดในฐานะเด็กผู้ชายสองช่วงวัยนั้นเปรียบเสมือนมนุษย์ที่มีความคิด และมีความเชื่อว่าตนเองสามารถกำหนดทุกสิ่งอย่างได้ตามที่ใจเขาหวัง ในวัยเด็ก เขามักจะถามแม่เสมอว่าพ่อเป็นคนอย่างไร ทำไมแม่ถึงต้องมีปัญหากับสิ่งที่พ่อได้ทำอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน เขารับรู้ นึกคิด แต่ผลลัพธ์สุดท้ายเบิร์ดก็เลือกที่จะเชื่อในตัวเอง และตัดสินใจทิ้งตัวตนในวัยเด็กที่ผูกพันอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวลงไปในถุงขยะ แล้วหันหน้าไปหานายทุนหรือตัวแทนของยุคทุนนิยมปัจจุบัน ที่สามารถสร้างความสะดวกสบายให้กับเขาได้มากกว่าการดูแลท้องนาของแม่ จากมุมมองของเบิร์ดและการตัดสินใจของเขา เบิร์ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกบรรจุด้วยอารมณ์อย่างหลากหลาย แต่ท้ายที่สุดกลับเลือกที่จะทำตามความต้องการของตัวเอง ขัดขืนคำสั่งของแม่

ในขณะที่ตัวละครแม่นั้นทำหน้าที่เป็นพื้นหลังของเบิร์ด เธอเป็นเหมือนเสียงกระซิบที่ไม่มีตัวตน ในขณะที่ภาพของแม่นั้นทำหน้าที่แบบเดียวกันกับภูมิทัศน์พื้นหลังอื่นๆ ทั้งแสงพระอาทิตย์ตก ความเงียบสงบและสวยงามของผืนดิน หรือความสดใสของท้องฟ้าที่เบิร์ดจำได้อยู่ในความทรงจำ ตัวตนของแม่นั้นฝังอยู่ที่เดียวกันกับผืนดินที่เธออยากให้เขาปกป้องดูแล แม่ของเบิร์ดทำหน้าที่เป็นอุปมาของความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ที่มักจะแทนด้วยสัญลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงมาเสมอ ตัวอย่างเช่นตำนานเกี่ยวกับพระแม่ธรณี ที่แทนผืนดินอันยิ่งใหญ่เป็นเหมือนผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง ความเป็นหญิงนั้นควบรวมกับฟุตเทจจากทิวทัศน์ในช่วงเวลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระอาทิตย์ยามพลบค่ำ หรือลมย่ามบ่ายที่ปลิวกระทบดอกไม้และใบหญ้า ย้ำเตือนถึงการมีอยู่ของเพศหญิงและความเป็นแม่ในพื้นที่ทางกายภาพและความทรงจำของตัวละคร

ในขณะเดียวกัน แม่ของเบิร์ดก็ไม่ทำอะไรมากไปกว่าการย้ำเตือนเขาถึงทางเดินในวันข้างหน้า เธอทำได้เพียงฝากความหวังและภาวนาให้ลูกชายของเธอหวงแหนดินแดนของครอบครัวเอาไว้ แต่แม่ก็ยังคงโอบรับเด็กชายเบิร์ดในวัยเด็กที่วิ่งออกจากถุงดำกลับไปยังท้องนาในวันที่ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีชมพูสว่าง รอรับเขากลับสู่ผืนดินและผืนผ้าอีกครั้งด้วยความโอบอ้อมอารี ในขณะที่เสียงสุดท้ายของแม่ดังขึ้นเมื่อเบิร์ดในวัยหนุ่มกำลังเดินจากไปพร้อมกับนายทุนผู้มอบเงินให้กับเขา เบิร์ดไม่ได้หันหลังกลับมาตามคำเรียกของแม่เสียด้วยซ้ำ

ความสัมพันธ์ตรงนั้นขาดลงเมื่อเบิร์ดเดินออกไปยังที่ไกลแสนไกล ทิ้งธรรมชาติเอาไว้ข้างหลังอย่างไม่เสียดาย ถึงแม้ว่าตัวเขาในวัยเด็กจะพยายามปกป้องสมบัติเรานี้ไว้อย่างเข้มแข็งที่สุด ร่างของเด็กชายที่นอนหลับสนิทในห้องที่เป็นมุมอับของบ้านยังคงเด่นชัดอยู่ในความทรงจำของเขา ในวันที่ยังคงไม่มีอำนาจใดๆ ในการช่วยดูแลผืนดินของแม่ เขาเลือกที่จะเอนกายขนานไปกับพื้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอย่างไร้แรงขัดขืน ดวงตาที่หลับลงไร้แรงต่อต้านตัวของเขาในวัยผู้ใหญ่ที่กำลังโยนความทรงจำเหล่านั้นทิ้ง แต่โฉนดที่ดินที่เปรียบเสมือนแม่ของเขาก็ถูกปกป้องในพื้นที่ที่ลึกลับที่สุดในร่างกายและความทรงจำของเด็กชายเบิร์ดผู้เป็นส่วนหนึ่งกับผืนดินที่เขารัก

รับชมภาพยนตร์ได้ที่ https://fuse-film.com/movies/a-man-and-the-child/
…………

3. The Curtain (เปรม ผลิตผลการพิมพ์)
รีวิวโดย สะบั้นอัมพร

(Special Jury Prize ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า fuse. KIDS Film Festival 2024)

หนังเปิดเรื่องด้วยการเล่นของเหนือ เด็กชายวัยกำลังซน มีฉากหลังเป็นบ้านครอบครัวคนจีน ที่อาศัยอยู่กันหลายคนภายในบ้านหลังเดียวเป็นครอบครัวใหญ่ เด็กชายเหนือกำลังเล่นกลสมมติกับนัท พี่ชาย ให้ตัวเองล่องหนหายตัวภายใต้ผ้าคลุมมหัศจรรย์ ซึ่งหลังร่ายคาถาใส่ผ้าคลุม สมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านก็ร่วมเล่นด้วย โดยพากันแกล้งว่าไม่มีใครมองเห็นตัวเหนือ หลังเล่นจบตาของตัวเอง เหนือก็มองหาใครคนใหม่ให้เข้ามาอยู่ในผ้าคลุมมหัศจรรย์ของเขาต่อ เพื่อร่ายมนต์ให้คนคนนั้นหายไป

และผู้โชคดีคนนั้นก็คือแนน พี่สาววัยรุ่นของเหนือ ทว่าหลังเหนือร่ายคาถาใส่ผ้าคลุมมหัศจรรย์ แนนกลับหายตัวล่องหนไปจริงๆ

หนังไม่ได้ให้ข้อมูลต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับแนนกันแน่ หรือบอกคนดูว่าแนนหายตัวไปได้อย่างไร หรือสร้างเงื่อนไขในการหายตัว หรือแม้แต่วิธีทำให้แนนกลับมา หนังเล่าแค่เพียงแนนหายไป ไม่มีใครมองเห็นอีก ในช่วงแรกที่แนนหายไปภายใต้ผ้าคลุมมหัศจรรย์ ทุกคนในบ้านต่างพากันออกเดินหาตัวเธอตามห้องหับของบ้าน กระทั่งค้นพบว่า แนนได้หายไปแบบที่กลายเป็นมนุษย์ล่องหนจริงๆ ไม่ใช่ล่องหนสมมติแบบที่เหนือเป็น

ความพิเศษของ The Curtain ที่สร้างความแตกต่างกับหนังเรื่องอื่นในทำนองเดียวกันอยู่ตรงที่ หนังไม่ได้พาคนดูไปหาคำตอบ ว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับแนน หรือให้พยายามหาตรรกะหรือเงื่อนไขใดมาไขความกระจ่างให้กับปรากฏการณ์ในเรื่องที่หาคำอธิบายไม่ได้ แต่หนังหันไปเล่าถึงสมาชิกคนอื่นๆ ของบ้าน พร้อมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในบ้าน ที่กำลังนั่งคุยกันด้วยประเด็นความเชื่อด้านสุขภาพของคนสูงวัย ที่มีแต่เชื่อกันต่อๆ มา ด้วยวิธีการรักษาสุขภาพแบบแปลกๆ โดยปราศจากหลักการทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์รองรับ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคน้ำหมักป้าเช็งที่เชื่อว่ารักษาได้ทุกโรคแบบครอบจักรวาล หรือวิธีการล้างลำไส้ด้วยการสวนทวาร เป็นต้น เหมือนเป็นการยั่วล้อกับปรากฏการณ์ของแนนที่หาทั้งเหตุผลและคำอธิบายไม่ได้

การที่หนังหักมาเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวแต่ละคนทำให้เราเพิ่มได้รู้ว่า แนนมีสถานะอะไรของบ้านหลังนี้ในช่วงเวลาที่เธอยังไม่ได้หายตัวไป การที่แม่นึกถึงเธอตอนทำจานแตก หรือตอนที่ย่านึกถึงตอนเธอทำกับข้าว บอกคนดูว่าสถานะของแนนในบ้านหลังนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่มาตั้งแต่แรก

ตัวละครอื่นๆ หลังรู้ว่าแนนกลายเป็นมนุษย์ล่องหน นอกจากท่าทีตกใจในตอนค้นพบครั้งแรก ก็ไม่ได้มีปฏิกริยาเป็นเดือดเป็นร้อนอะไรอีกกับความไม่ปกตินี้ ทั้งยังไม่ได้พยายามคิดหาวิธีให้แนนกลับมาแบบจริงๆ จังๆ มีเพียงถามกันในวงโต๊ะกินข้าวว่า “พาไปโรงพยาบาลไม่ดีหรอ” เท่านั้น ทำเหมือนแนนแค่เป็นหวัด เดี๋ยวก็หายเอง ยกเว้นตัวละครย่าเท่านั้นที่นั่งเศร้าเพราะคิดถึงหลานสาว

ในโลกภาพยนตร์มีหนังหลายเรื่องที่เล่นกับประเด็นและเล่นกับจินตนาการของเด็ก ที่กลายเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา หนึ่งในหนังที่จะมองข้ามไม่ได้คือภาพยนตร์ฟอร์มเล็กปี 2014 หนังสยองขวัญจิตวิทยาสัญชาติออสเตรเลียขวัญใจนักวิจารณ์ เรื่อง The Babadook ของผู้กำกับ Jennifer Kent เล่าถึงสองแม่ลูกที่ได้อ่านหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กที่ชื่อ Mister Babadook กระทั่งรู้สึกได้ว่า ทั้งสองคนกำลังถูก Babadook ปีศาจจากหนังสือเล่มนั้นออกมาหลอกหลอนในบ้านพวกเขาเอง

เช่นเดียวกับ The Curtain หนัง The Babadook เองก็ไม่ได้อธิบายไขข้อสงสัย หรือให้คำตอบที่ชัดเจนแก่คนดูว่าสิ่งที่สองแม่ลูกกำลังเผชิญอยู่คืออะไรแน่ เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงอุปทานหมู่ร่วมของทั้งคู่ หรือเป็นผลพวงมาจากอาการโรคซึมเศร้า ที่ดำดิ่งลงเรื่อยๆ ของผู้เป็นแม่ หรือปีศาจ Babadook ออกมาจากหนังสือได้จริงๆ ตัวหนังทำให้คนดูได้แต่สงสัยในเส้นคาบเกี่ยวระหว่างโลกจริงกับโลกในจินตนาการอยู่เกือบทั้งเรื่อง โดยไม่ได้มีข้อสรุปหรือขยายความเพิ่ม

The Babadook มีฉากส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน งานภาพของหนังจึงเล่นกับแสงและเงา ให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจ ประกอบเสียงที่เพิ่มความอันตรายให้กับทุกๆ พื้นที่ในตัวบ้าน และไม่ได้โชว์ให้เราได้เห็นตัวปีศาจ Babadook ชัดๆ แต่ซ่อนมันเอาไว้ในเงามืด หรือให้เห็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น

ในขณะที่ The Curtain ใช้งานด้านภาพแบบโฮมวิดีโอ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนคนในบ้านถ่ายเล่นกันเอง การเคลื่อนไหวของกล้องจึงเหมือนกับถ่ายทำด้วยกล้อง handheld อยู่เกือบตลอดเรื่อง มีช่วงที่ตั้งกล้องนิ่งๆ เพื่อถ่ายหน้าห้องนอน โดยใช้มุมกล้องถ่ายจากล่างขึ้นบน ให้ได้เห็นภาพมุมกว้างของพื้นพรมสีแดง ตัดกับผนังสีขาวและประตูสีน้ำตาลไหม้ ทำให้นึกถึงทางเดินภายใน Overlook Hotel จากเรื่อง The Shinning นอกจากนี้ก็มีการเล่นกับแสงและเงา โดยใช้โทนสีส้มตามแสงหลอดไฟของบ้าน มีบางช่วงมืดสนิท มีเพียงเสียงบทสนทนาของตัวละครบอกให้เรารู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

บรรยากาศภายในบ้านหลังแนนหายตัว ถูกถ่ายทอดออกมาให้ความรู้สึกลึกลับ เป็นปริศนา และไม่น่าไว้วางใจ ปูไปสู่ช่วง 10 นาทีท้ายของเรื่อง ที่ The Curtain ให้คำตอบว่าทำไมหนังถึงใช้ชื่อว่า The Curtain เมื่อเหนือเดินเข้าห้องน้ำกลางดึก แต่พบว่าหลังม่านห้องน้ำมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ เหนือจึงไปปลุกย่ามาเข้าห้องน้ำเป็นเพื่อน ตอนนั้นเอง ย่าได้เดินไปที่ม่านห้องน้ำ และคว้าเอาร่างล่องหนของแนนหลังผ้าม่านเข้ามาไว้ในอ้อมกอด

ในฉากสุดท้าย ย่าจึงได้กอดหลานสาวที่หายไปอีกครั้งผ่านผ้าม่านห้องน้ำ เพราะทั้งสองคนไม่สามารถสัมผัสตัวกันได้ในแบบเดิมอีกแล้ว ตรงนี้เองที่หนังหักจากความลึกลับเกือบๆ จะสยองขวัญ มาเป็นความเศร้าซึ้งของการจากกันระหว่างย่าหลาน ที่มีระยะห่างเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้

หนังไม่ได้คลี่คลายหรือพยายามคลี่คลายปริศนา หรือแม้แต่เฉลยที่มาที่ไปของการหายตัวไปแบบมนุษย์ล่องหนของแนน มีเพียงการแสดงความรักระหว่างเธอกับย่าทิ้งไว้ให้คนดู

รับชมภาพยนตร์ได้ที่ https://fuse-film.com/movies/the-curtain/
…………..

4. Love Me Love Me / เดทอีกทีเดี๋ยวก็รักเอง (พิชชานันท์ โอภาส)
รีวิวโดย พิมผกาพร พรเพ็ง

(Special Jury Prize, Best Screenplay Award ระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า fuse. KIDS Film Festival 2024)

จุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์เล็กๆ ที่พาสองหนุ่มสาว มายาและซัน ให้บังเอิญมาเจอกันและเข้าใจถึงตัวตนของกันและกันในวันที่อ่อนล้าที่สุด ภาพยนตร์สั้น Love Me Love Me / เดทอีกทีเดี๋ยวก็รักเอง นำเสนอเรื่องราวความรักของทั้งสองที่เต็มไปด้วยความสดใส การตามหาตัวตนในช่วงหนึ่งของวัยที่ทำให้พวกเขาได้เติบโตอย่างงดงามมากยิ่งขึ้น ในยุคที่การมาของการทำคอนเทนต์และตลาดอินฟลูเอนเซอร์กำลังเติบโต เด็กสาวหลายคนก็ฝันอยากที่จะยืนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ได้รับการยอมรับ และได้กำลังใจจากเหล่าผู้ติดตามในแต่ละคอนเทนต์ของพวกเขา มายาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เด็กสาวที่กำลังเดินตามความฝันในการเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่นที่รับงานรีวิวสินค้าและนำเสนอการจับคู่เสื้อผ้าตามสไตล์ของเธอเอง เธอผู้ใฝ่ฝันว่าจะได้เป็นคนดังและมีชื่อเสียงเพื่อลบบาดแผลในจิตใจ ได้มาพบกับซัน พนักงานหนุ่มที่มีปากเสียงกันขณะที่เธอกำลังไลฟ์สดเพื่อติชมการบริการและสินค้าของร้านที่เขากำลังทำงานอยู่ แต่กระแสจากผู้ชมก็เกิดขึ้นโดยที่มายาเองก็ไม่คาดคิด ดูเหมือนว่าเคมีของทั้งคู่นั้นจะไปด้วยกันได้ดีจนผู้ติดตามหลายคนเรียกร้องคอนเทนต์จากพวกเขาอีกหลายครั้ง มายาจึงเกิดไอเดียที่จะทำให้เธอประสบความสำเร็จในสายงานมากขึ้น โดยจ้างซันมาทำงานร่วมกันในฐานะคู่เดท มีหลายคอนเทนต์ที่ผลิตออกมาเพื่อตอบความต้องการของผู้ติดตาม จนทำให้เธอกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากขึ้น

การ์ดเชิญในการไปปาร์ตี้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ใบแรกถูกส่งเข้ามาในอีเมล มายาลงทุนทั้งแรงกายและใจลงไปในงานทั้งหมด เธอตั้งใจไปทำความรู้จักกับผู้คนในสายงานเดียวกัน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดฝัน ความตื่นเต้นและประสบการณ์ที่ยังมีไม่พอทำให้มายาถูกมองข้าม และหนำซ้ำยังโดนอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ ดูถูก ไม่ว่าจะเป็นชุดที่ผิดธีม หรือชื่อของเธอที่ไม่มีใครคุ้นหู ซันเป็นคนพามายาออกมาจากงานปาร์ตี้ที่เธอเคยฝันเอาไว้ ดื่มเบียร์กันข้างทางง่ายๆ โดยไม่ต้องมีกล้องมาจับหรือทำคอนเทนต์

มายาจึงต้องกลับมานั่งคิดและทบทวนสิ่งที่เธอต้องการ และสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ เธอพยายามอย่างหนักเพื่อผลิตผลงานให้กับผู้ติดตามของเธอ อย่างการแกะกล่องรีวิวสินค้า แต่จิตใจที่บอบช้ำประกอบกับความคิดเห็นจากผู้ชมในเชิงลบเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในจิตใจยิ่งกว่าเดิม ความทะเยอทะยานพุ่งขึ้นสูงจนยากเกินจะรับไหว ในที่สุดมายาก็เข้าสู่สภาวะหมดความมั่นใจและเบิร์นเอาต์จนทำให้เธอทะเลาะกับซัน ชายหนุ่มที่เห็นความพยายามของเธอและพร้อมสนับสนุนเธอมาโดยตลอด

ช่วงเวลาสั้นๆ ในการไปพักผ่อนทั้งกายและใจ ทำให้มายาได้กลับมามองตัวเองโดยปราศจากความคิดเห็นรอบข้างมากขึ้น เธอได้รักษาบาดแผลที่อยู่ในใจ บาดแผลที่เคยเข้าใจว่าตนเองไม่สำคัญกับใครคนไหน บาดแผลที่กลัวว่าจะไม่มีใครเห็นคุณค่าของเธอได้มากเท่าที่ควรจะเป็น ซันผู้รักษาบาดแผลกลับปลอบประโลมและยืนยันถึงความพิเศษของมายา สิ่งเล็กๆ ที่เธอทำอย่างเป็นธรรมชาตินั้นทำให้เธอเป็นคนพิเศษในสายตาเขา ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอ สิ่งเหล่านั้นสำหรับซันเป็นเรื่องพิเศษในตัวมายาเสมอมา

ในท้ายที่สุด มายาตัดสินใจบอกความจริงกับเหล่าผู้ติดตามในโลกออนไลน์ซึ่งเธอมีอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์อยู่ในนั้น ความจริงใจและการสำนึกผิดจากการโกหกทำให้มายารู้สึกเหมือนได้ตัวเองกลับคืนมา แน่นอนว่าในไลฟ์ครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีซันอยู่หน้ากล้องเพื่อเรียกยอดวิวหรือยอดไลก์ แต่ซันเป็นกำลังใจสำคัญให้กับมายาอยู่หลังกล้องในฐานะคนที่เห็นคุณค่าของเธอมากที่สุด เหรียญสองด้านของชีวิตมายาเป็นทั้งจุดเริ่มต้นทั้งสำหรับตัวเธอเองและความสัมพันธ์ของเธอกับซัน โลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์ถักทอเรื่องราวเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก มายาบนแพลตฟอร์มของเธอและมายาในชีวิตจริงอาจนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นชีวิตของเธอ เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับซันที่ถูกพัฒนาอย่างย้อนกลับ บนโลกออนไลน์นั้นเริ่มจากการเป็นคนรักไปสู่การแยกทาง ในขณะที่โลกกายภาพนั้นความสัมพันธ์ค่อยๆ พัฒนาขึ้นจากคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนหลังกล้องที่คอยให้กำลังใจ

บนเส้นทางของการเติบโตในสายอาชีพที่ต้องผลิตเรื่องราวชีวิตขึ้นไปบนโลกออนไลน์ มีน้อยคนนักที่จะได้เห็นเรื่องราวหลังกล้อง ชุดสวยๆ ที่มายาใส่เข้ากล้องหรือไปปาร์ตี้แลกมาด้วยเวลาทั้งคืนและความตั้งใจทั้งหมดของเธอ คอนเทนต์ที่ถูกจัดเรียงมาอย่างดีมาจากการอดหลับอดนอนเพื่อขบคิดและตัดต่อรายละเอียด ให้ถูกใจผู้ติดตามผู้ที่พร้อมจะเข้ามารับชม แสดงความเห็น และผลักให้มายามีชื่อเสียงมากขึ้น หรือได้รับคำติเตียนที่เธอเองก็ต้องนำไปพัฒนาเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าภาพยนตร์จะดำเนินเรื่องด้วยเรื่องราวความรักของทั้งสองตัวละคร ที่จับพลัดจับผลูมาเจอกันด้วยแรงผลักจากโลกออนไลน์ แต่เรื่องราวหลังกล้องที่ไม่เคยเปิดเผยนั้นเต็มไปด้วยเรื่องที่ไม่สวยงามและไม่น่าสนใจสำหรับผู้ติดตาม แต่กลับมีหลายเหตุการณ์ที่ไม่เพียงทำให้มายาและซันได้พัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกันขึ้นมา ทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยให้มายาได้พบกับตัวเองชัดเจนขึ้น ถึงแม้จะปราศจากเสียงให้กำลังใจหรือข้อความชื่นชมจากผู้ติดตาม เสียงของซันดังกว่าใครๆ เมื่อมันออกมาจากความจริงใจและการได้เห็นตัวตนแสนพิเศษของเธอ

รับชมภาพยนตร์ได้ที่ https://fuse-film.com/movies/love-me-love-me/
…………..

5. Sharenting (ธนภัทร พ่วงสุวรรณ, องค์อร จงประสิทธิ์)
รีวิวโดย ชมพูนุท นพคุณขจร

สุดท้ายเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ BEST FILM AWARD จาก fuse. Film Festival ปี 2023

ในยุคที่โลกออนไลน์ส่งผลกระทบกับโลกแห่งความเป็นจริงของผู้คน จนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ ทำให้เกิดอาชีพหนึ่งขึ้นมา พวกเขาเข้ามาผสานช่องว่างที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนของโซเซียลมีเดีย อาชีพนั้นเรียกว่าอินฟลูเอนเซอร์ หรือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียต่างๆ โดยทั้งการกระทำและคอนเทนต์ที่เขานำเสนอล้วนส่งอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมาย หรือที่รู้จักกันในชื่อฟอลโลเวอร์ทั้งสิ้น

การมีตัวตนบนสื่อโซเซียลของอินฟลูเอนเซอร์ก็คือ การผลิตหรือนำเสนอคอนเทนต์ที่ตลาดของพวกเขาต้องการจะเสพ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ประเภทใด เพราะยิ่งมียอดผู้คนติดตามคอนเทนต์ใดๆ มากเท่าไหร่ ย่อมหมายถึงรายได้มหาศาลและชื่อเสียงให้กับ Influencer มากเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้เกิดประเด็นตามมาอีกมาก เช่น แบรนด์สินค้าล้วนว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์โดยดูจากยอดฟอลโลเวอร์มาโปรโมตสินค้าให้กับตน หรืออินฟลูเอนเซอร์สร้างคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมเพียงเพราะต้องการเรียกยอดเอนเกจจากฟอลโลเวอร์ ไม่ว่าเอนเกจนั้นจะเป็นด้านลบหรือบวกก็ตาม

หากย้อนไปเมื่อครั้งที่โทรทัศน์ยังเป็นเพียงโลกทั้งใบของบ้านทุกบ้าน ก็มีหนังที่เคยนำเสนอด้านมืดของอิทธิพลอย่างสื่อโทรทัศน์มาแล้วหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ The Network ปี 1976 ที่เล่าถึงผู้ประกาศข่าวคนหนึ่งซึ่งกำลังจะถูกไล่ออก แต่เขากลับสร้างอิทธิพลต่อผู้ชม จนเรียกเรตติ้งมหาศาลให้กับสถานี แต่อิทธิพลของเขาเลยขอบเขตจนควบคุมไม่ได้อีก

และในยุคที่เรียลิตี้ทีวีกลายเป็นรายการยอดนิยม ก็มีหนังเรื่อง The Truman Show (1998) ที่หยิบเอาชีวิตของชายผู้หนึ่งชื่อทรูแมนตั้งแต่วินาทีที่เขาลืมตาดูโลก ให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือน และถ่ายทอดสดชีวิตของเขาผ่านรายการเรียลิตี้ตลอด 24 ชั่วโมง กระทั่งเจ้าตัวค้นพบว่าโลกที่เขาอยู่ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง

เมื่อการนำเสนอสื่อเปลี่ยนทิศทาง พร้อมกับการกำเนิดของโซเซียลมีเดีย อำนาจที่มีผลต่อผู้เสพสื่อจึงย้ายจากสื่อโทรทัศน์ไปสู่มือของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์แทน

ใน Sharenting ที่เล่าถึงอินฟลูเอนเซอร์ท่านหนึ่ง ซึ่งได้กลายมาเป็นคุณแม่ ก่อนจะค้นพบว่าผู้ติดตามของเธอชื่นชอบคอนเทนต์ลูกชายมาก คุณแม่จึงคอยสร้างคอนเทนต์ป้อนตลาดที่หิวกระหายของเธอตลอดช่วงชีวิตของเด็กชาย เพื่อเรียกยอดไลก์และยอดฟอลโลเวอร์

ไม่ต่างจากผู้บริหารสถานีใน The Network ที่ทำหนทางเพื่อให้รายการได้เรตติ้งสูง กระทั่งสังหารผู้ประกาศคนดังกลางรายการสด และเจ้าของรายการ The Truman Show ที่ใช้ประโยชน์จากชีวิตของชายคนหนึ่งมาเป็นคอนเทนต์ในรายการเรียลิตี้ของเขา คุณแม่ใน Sharenting เองก็เช่นกัน เธอใช้ประโยชน์จากลูกชายมาทำคอนเทนต์เพื่อสร้างชื่อเสียงเงินทองให้กับตัวเอง

ชื่อเรื่อง Sharenting มาจากคำว่า share ที่มาจากปุ่มแชร์ หรือการแบ่งปันคอนเทนต์ออกสู่โซเซียล ผสมกับ parenting เป็นการนำ parenting หรือบทบาทพ่อแม่เลี้ยงดูลูกมาแชร์ให้โลกรู้ เนื้อเรื่องสะท้อนการไขว่คว้าความโด่งดังแบบสุดโต่งของผู้เป็นแม่ โดยไม่สนใจว่าต้องแลกมากับความเป็นส่วนตัวและชีวิตส่วนบุคคลของลูก และไม่สนใจว่าเบื้องหลังจะมีเหตุการณ์เลวร้าย ความเจ็บปวด เรื่องน่าอาย หรือความไม่ปกติใดๆ เกิดขึ้นกับลูก ตราบเท่าที่คอนเทนต์เหล่านั้นนำมาซึ่งรายได้และชื่อเสียง น่าเศร้าที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ กับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในยุคนี้

Sharenting นำเสนอในรูปแบบของแอนิเมชันสองมิติ ใช้ลายเส้นง่ายๆ แบบลายเส้นดินสอ ลงสีไล่ระดับตามแสงและเงาที่เกิดขึ้นในแต่ละเฟรม เน้นการเล่นแสงเงา การลงสี ที่ไม่สมจริง ไม่เน้นความสวยงาม รายละเอียดของภาพที่เป็นฉากหลังเป็นเพียงภาพวาดเป็นง่ายๆ ลงสีกลืนๆ กัน โดยเน้นให้รายละเอียดของภาพอยู่ที่ตัวละครผู้เป็นแม่ ที่ให้สีแตกต่างกับฉากหลังชัดเจน ขณะที่ตัวละครลูกชาย ในหลายฉากก็ถูกกลืนให้มีสีเดียวกับฉากหลัง ถึงอย่างนั้นงานภาพก็จัดว่าเป็นงานที่ลงตัว โดดเด่นมีสไตล์ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

หนังเปิดเรื่องอยู่ในปัจจุบัน ที่ทั้งแม่และลูกอยู่ในงานรับรางวัลของอินฟลูเอนเซอร์ ก่อนภาพเหตุการณ์จะตัดจากเวทีรางวัลไปสู่ภาพความทรงจำในอดีตของแม่และลูกชาย ตั้งแต่วัยทารกแบเบาะ

ฉากเด็กชายบนพื้นหลังมืดสนิท แต่กลับปรากฏดวงตาเฝ้าจับจ้องนับร้อยๆ ดวง สะท้อนความ “อยากรู้อยากเห็นเรื่องชาวบ้าน” ของบรรดาผู้ติดตาม โดยมีฝั่งอินฟลูเอนเซอร์ผู้เป็นแม่คอยสนองด้วยคอนเทนต์ที่เป็นชีวิตส่วนตัวของลูกชาย ขณะที่เด็กชายทำได้เพียงเดินก้มหน้าอย่างฝืนทนท่ามกลางดวงตาที่คอยจ้องมอง โดยฉากนี้เป็นการส่งเมสเสจที่แข็งแรงมากของหนัง ให้เห็นภาพความเป็นส่วนบุคคลของคนๆ นึงที่ถูกทำลาย

ฉากที่เด็กชายกลายร่างเป็นลูกโป่ง พาคุณแม่ล่องลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปในอากาศ คุณแม่ที่เกาะลูกโป่งนั้นก็ได้ปลาบปลื้มใจกับความสำเร็จของอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ นับเป็นการจิกกัดเสียดสีสังคมปัจจุบันได้อย่างแสบสัน และเปรียบเปรยให้เห็นภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

สังเกตได้ว่าในฉากนี้ ขณะคุณแม่กำลังรื่นรมย์กับเสียงพลุและดวงดาวอันงดงามกับท้องฟ้าที่เธอกำลังทะยานขึ้นไป สีหน้าของลูกโป่งที่กลายร่างมาจากลูกชายของเธอกำลังร่ำไห้หม่นหมอง พอตัดมาที่คุณแม่ขึ้นไปรับรางวัลอินฟลูเอนเซอร์ ลูกชายจึงได้แต่เดินจากไปอย่างเงียบงัน ไร้เสียงปรบมือ ไร้แสงสว่างเจิดจ้าตามเขาเหมือนผู้เป็นแม่

หนังไม่มีบทสนทนาแบบจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นเป็นอัน มีเสียงจากตัวละครออกมาเท่านั้น เช่น ในฉากลูกชายถูกสุนัขไล่กัด ก็มีเพียงเสียงร้องของลูกและเสียงเห่าของสุนัข หรือตอนแม่ออกจากงานรับรางวัลมาตามให้ลูกกลับไป ก็มีแค่เสียงแว่วๆ แต่ไร้คำพูด ถึงอย่างนั้นก็สามารถเข้าใจได้

หนังจบด้วยภาพโทรศัพท์ในมุมมืด และเสียงปิดโทรศัพท์ดังพร้อมกับภาพแสงหน้าจอที่ดับลง เป็นการปิดเรื่องที่ทำให้คนดูเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร ทั้งยังรู้สึกเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของลูกชาย

รับชมภาพยนตร์ได้ที่ https://fuse-film.com/movies/sharenting/

ขอให้ท่านผู้อ่านมีความสุขกับการรับชมภาพยนตร์