ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้จักวัยรุ่นผ่าน Hyperpop

รู้จักวัยรุ่นผ่าน Hyperpop

28 กุมภาพันธ์ 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

หลังการจากไปด้วยวัย 34 ปีของ SOPIE หรือ Sophie Xeon ศิลปิน โปรดิวเซอร์ นักร้อง และดีเจชาวสก็อตแลนด์ ผู้มีผลงานเพลงแนวทดลอง จุดประกายแนวเพลงแบบไฮเปอร์ปอป (Hyperpop) และฝากผลงานไว้กับค่ายเพลง PC Music พร้อมกับศิลปินมาแรงอย่าง A.G. Cook, GFOTY และ Charli XCX แวดวงเพลงก็เริ่มพูดถึงศิลปะดนตรีแบบไฮเปอร์ปอปกันอีกครั้ง

บทความนี้จะชวนมารู้จักวัยรุ่นผ่านสิ่งที่เรียกว่าไฮเปอร์ปอป ว่ากำลังสะท้อนชีวิตและตัวตนของคนรุ่นใหม่อย่างไร

ไฮเปอร์ปอปเป็นแนวเพลงที่ผสมผสาน EDM และป๊อปแบบดั้งเดิม เน้นความน่ารัก ความเป็นผู้หญิง ปนเปไปกับความมึนเมาอย่างหนัก อารมณ์เพลงถูกขับเน้นผ่านเสียงและจังหวะที่ให้ความรู้สึกบิดเบี้ยว ผสมโรงด้วยการสังเคราะห์เสียงผ่านจังหวะเร่งและเร็ว สร้างความสับสน มึนงง เสมือนหลุดออกจากโลกความเป็นจริง

นอกจากนี้ ไฮเปอร์ปอปยังถูกนิยามในฐานะกระแสความเคลื่อนไหวทางดนตรี ที่มีลักษณะเกินจริง เน้นความเป็นแม็กซิมมัลลิสต์ กระแสไฮเปอร์ปอปได้รับอิทธิพลจากแหล่งที่มาหลากหลาย โดยจุดกำเนิดของมันถูกโยงไปยังผลงานเพลงช่วงกลางปี 2010 ของกลุ่มดนตรี PC Music โดย A. G. Cook และศิลปินที่เกี่ยวข้อง เช่น SOPHIE และ Charli XCX รวมทั้งแนวเพลงดังกล่าวยังเป็นที่สนใจอย่างมากในช่วงกลางปี 2019 เมื่อ Spotify ใช้คำว่า “Hyperpop” ตั้งชื่อเพลย์ลิสต์ที่มีศิลปิน เช่น A. G. Cook และ 100 Gecs แนวเพลงนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วภายในกลุ่มผู้ฟังอายุน้อยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok

การเคลื่อนไหวทางดนตรีแนวที่กล่าวถึงยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชุมชนออนไลน์ กลุ่ม LGBTQ+ ไอเดียทางเพศที่หลากหลาย ศิลปินหลายคนในแนวเพลงนี้นิยามตนเองเป็นนอนไบนารี หรือไม่แบ่งแยกเพศ

วัฒนธรรมดนตรีไฮเปอร์ปอปไม่ได้ส่งผ่านเสียงเพลงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังกินความหมายครอบคลุมศิลปะด้านภาพด้วย ชิ้นงานส่วนใหญ่ เน้นเลย์เอาต์อันแออัด เป็นการผสมผสานระหว่างรูปแบบศิลปะที่หลากหลาย ภาพส่วนใหญ่ที่ปรากฏบนหน้าปกมักมีสีสันฉูดฉาด เหนือจริง หรือให้ถูกต้องกว่านั้นคือ หลุดจากความเป็นจริง

นอกจากนี้ เฉกเช่นเดียวกับวัฒนธรรมดนตรีที่ส่งผลต่อยุคสมัยในแนวเพลงอื่นๆ คือ สิ่งเหล่านี้ได้ส่งอิทธิพลไปสู่โลกแฟชั่น แฟชั่นไฮเปอร์ปอปนั้นเน้นการแต่งหน้าด้วยสีสันสดใส ประดับประดาด้วยประกายไฟ และขนตาที่ยาวเป็นพิเศษ พร้อมกับเสื้อผ้าแวววาว สะท้อนแสง ผมที่ย้อมสีจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม รวมไปถึงเล็บอะคริลิก

องค์ประกอบทั้งงานด้านเสียง ภาพ และสไตล์การแต่งตัว ให้ความรู้สึกราวกับอารมณ์ที่ถูกบีบอัดอย่างรุนแรง การแหกขนบกฎเกณฑ์ การทลายกำแพงทางเพศ และการพุ่งทะยานสู่โลกอนาคต

ทั้งหมดนี้ทำให้ไฮเปอร์ปอปเป็นมากกว่ากระแสความเคลื่อนไหวทางเสียงเพลง แต่การแพร่ขยายอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นไปอย่างลงตัวกับวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตนั้น ทำให้แนวเพลงไฮเปอร์ปอปกลายเป็นส่วนผสมหนึ่งของเจเนเรชัน Z ในปัจจุบันที่เติบโตมาพร้อมชีวิตบนโลกเทคโนโลยีดิจิทัล

“อัลบั้มของ Charli XCX ‘How i’m feeling now’ ที่ปล่อยออกมาในช่วงกักตัว (จากภาวะระบาดหนักของโควิด-19) นำฉันเข้าสู่โลกไฮเปอร์ปอป เพลงโปรดของฉันคือ ‘Claws’ และฉันรู้เรื่องนี้ใน Tik Tok” Fiona Stevens หนึ่งในผู้ติดตามแนวเพลงนี้ผ่านอัลกอริทึมบนโลกออนไลน์

“ศิลปินไฮเปอร์ปอปที่ฉันชอบคือ A.G. Cook ฉันคิดว่าการได้รู้ว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นไฮเปอร์ปอปจนกลายมาเป็นอย่างทุกวันนี้นั้นยอดเยี่ยมจริงๆ ทุกเพลงที่เขาเคยทำนั้นแตกต่างจากเพลงอื่นๆ เขาเปลี่ยนเพลงที่ดีที่สุดและคอรัสที่ธรรมดาที่สุดไปจนถึงเพลงไฮเปอร์ที่สลับซับซ้อนที่สุดเท่าที่คุณจะเคยได้ยิน” Schisler วัยรุ่นอีกคนกล่าวถึงแนวเพลงที่โปรดปราน การเน้นเสียงสังเคราะห์และจังหวะที่รุนแรงของไฮเปอร์ป๊อปจึงกลายเป็นการรื้อสร้างทางวัฒนธรรมซึ่งสอดรับการค่านิยมที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันกำลังเผชิญ ไม่มีเจเนอเรชันใดอีกแล้วที่ประสบกับช่วงเวลาแห่งการรื้อถอนมายาคติเดิมๆ เท่ากับผู้คนในยุคนี้

แนวเพลงไฮเปอร์ปอปในปัจจุบันถูกนำเสนอผ่านศิลปินหลากหลายชีวิต เช่น Charli XCX, 100 gecs, Rebecca Black, Food House, SOPHIE, Dorian Electra, dltzk, Slayyyter นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดแนวเพลงข้างเคียงที่ได้รับประโยชน์จากวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตอีก เช่น แนวเพลงแบบดิจิคอร์ (Digicore) ในช่วงปลายทศวรรษ 2010 คำว่า “ดิจิคอร์” ถูกนำมาใช้โดยชุมชนออนไลน์ของนักดนตรีวัยรุ่น เน้นการสื่อสารผ่านช่องทาง Discord เพื่อแยกความแตกต่างจากไฮเปอร์ปอปที่มีอยู่ก่อน โดยส่วนใหญ่ดิจิคอร์นั้นต่างจากไฮเปอร์ปอปที่ผลงานเพลงถูกนำเสนอผ่านอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติของศิลปินที่หลากหลายมากขึ้น จุดเริ่มต้นของดิจิคอร์มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต และผู้ผลิตดิจิคอร์ยอดนิยมจำนวนมากมีอายุระหว่าง 15 ถึง 18 ปีซึ่งใช้แพลตฟอร์ม เช่น Discord เพื่อนำเสนอผลงาน นอกจากนี้ ใน Discord เองยังมีเซิร์ฟรวมศิลปินยอดนิยมในแวดวงอีกหลายคน ในชื่อ Loser’s Club ชุมชนทางอินเทอร์เน็ตนี้มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาและแพร่กระจายผลงานเพลง

รวมถึงแนวเพลงอย่างกลิตช์คอร์ (Glitchcore) ซึ่งมักมีลักษณะเฉพาะด้วยเสียงร้องสูงและเสียงแหลม จนมีคำกล่าวว่า “Glitchcore is Hyperpop on steroids” ซึ่งหมายถึงเสียงร้องที่เกินจริง การบิดเบือน และการใช้เสียงที่จงใจให้ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม Stef หนึ่งในโปรดิวเซอร์เพลงสไตล์ไฮเปอร์ปอปและกลิตช์คอร์ที่ได้รับความนิยมกล่าวว่า มีความแตกต่างระหว่างเพลงสองประเภทนี้อย่างชัดเจน “ไฮเปอร์ปอปมีความไพเราะและป๊อปปี้มากกว่า” ในขณะที่ “กลิตช์คอร์นั้นอธิบายไม่ได้” กลิตช์คอร์ยังคล้ายกับดิจิคอร์ คือโดยทั่วไปชุมชนเพลงแนวนี้ยังคงประกอบด้วยกลุ่มศิลปินที่อายุน้อย

นอกจากแอปพลิเคชันอย่าง Discord แล้ว TikTok ก็มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่กฃิตช์คอร์ผ่านการตัดต่อวิดีโอของเพลงที่มีชื่อเสียง เช่น “NEVER MET!” โดย CMTEN และ “Pressure” โดย David Shawty และ Yungster Jack Glitchcore และให้คุณค่ากับความสวยงามของงานด้านภาพโดยเฉพาะ ซึ่งวิดีโอในเพลงแนวนี้มักจะมาพร้อมกับการตกแต่งที่สีสันฉูดฉาด การตัดต่อจังหวะที่ฉับไว ให้ความรู้สึกรก ศิลปินดิจิคอร์ เช่น d0llywood1 ถึงกับเรียกกลิตช์คอร์ว่าเป็น “สุนทรียภาพของการตัดต่อ” มากกว่าที่จะเป็นแนวเพลงจริงๆ

วัฒนธรรมดิจิทัลในปัจจุบันซึ่งคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาได้สร้างแนวเพลงที่อาศัยวัฒนธรรมนี้ให้แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ผ่านเครื่องมือทางออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชันต่างๆ ในการขยายตัว ความสั้น กระชับ ฉับไว และเต็มไปด้วยสีสัน ยังกลายเป็นสิ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ร่วมบางประการของผู้คนแห่งยุคสมัย