จิตเกษม พรประพันธ์ ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
โลกทุกวันนี้เผชิญกับปัจจัย megatrend ที่ส่งผลกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจและสังคมต้องปรับตัวตามให้ทัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารายได้ครัวเรือน และธุรกิจ sme ของไทยเดือดร้อนจากปัจจัยลบหลายประการ โดยเฉพาะรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรที่ผันผวนจากปัญหาคุณภาพ/ปริมาณผลผลิตและราคาตกต่ำซ้ำเติมด้วยวิกฤตฟ้าฝนจนรายได้ไม่พอรายจ่าย sme รายได้ลดลงจากความสามารถในการแข่งขันที่รุมเร้า
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยของเรามีการผลิตภาคเกษตรกรรมที่เป็นจุดแข็งที่เป็นความมั่นคงทางอาหารและยังสามารถพลิกฟื้นโอกาสให้เป็นแหล่งอาหารโลกได้
ผู้เขียนได้รับโอกาสให้เข้าชมกิจการอุตสาหกรรมการผลิตแปรรูปสินค้าเกษตรที่จังหวัดเชียงใหม่สองแห่งระหว่างการลงพื้นที่สำรวจติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ โดยโรงงานทั้งสองแห่งแม้จะเป็นตัวอย่างของจุดเล็กๆแต่อาจเป็นการจุดประกายที่จะช่วยให้ sme เห็นโอกาสในการพัฒนากิจการของตนให้แกร่งขึ้นมีประสิทธิภาพแข่งได้ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมใหม่ รวมทั้งช่วยสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ภาคเกษตรในภูมิภาคของไทยเพิ่มให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมกดดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวรองรับโลกใหม่ที่ตระหนักถึงความยั่งยืน กิจการแห่งแรกที่ได้เข้าเยี่ยมชมน่าจะเป็นแบบอย่างของธุรกิจ SME ที่พัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร โดยสนับสนุนเกษตรกรพื้นที่สูงผู้ปลูกกาแฟในภาคเหนือ 400-500 หลังคาเรือน ประมาณ 3,000-4,000 ไร่ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ (Hillkoff) วางนโยบายธุรกิจชัดเจนในด้าน sustainability development สนับสนุนความรู้ให้กับเกษตรกรช่วยพัฒนาเมล็ดพันธุ์กาแฟอราบิกาปลอดภัย/อินทรีย์ (organic) และควบคุมคุณภาพการปลูก ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การวิเคราะห์การสังเคราะห์แสงของต้นกาแฟ การควบคุมความชื้นและธาตุอาหารในดิน ตลอดจนในกระบวนการผลิตตั้งแต่การ แยกเนื้อผลกาแฟ สีเมล็ดกะลา และคั่วเมล็ดกาแฟ
มีความโดดเด่นด้าน research & development ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แม่โจ้ พะเยา และนเรศวร ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ และรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้นวัตกรรมคลื่นรังสี FIR Far Infrared ในกระบวนการแปรรูปเนื้อผลกาแฟพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ/อาหารเสริมที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ใช้ระบบไฟฟ้าสถิตย์ (electro-static compulsory) ดักจับฝุ่นผงและควันจากการสีเมล็ดกาแฟ และนำกากที่ได้จากการสีเมล็ดมาหมักกับปุ๋ยคอกทำเป็นดินสำหรับเพาะปลูกผัก หรือนำกากกาแฟมาอัดแท่งเป็นถ่านชีวภาพ (biochar) ทำให้สามารถลดของเสียเหลือศูนย์ (zero waste) ด้านการใช้ซ้ำและหมุนเวียน ทรัพยากรและพลังงาน อาทิ การบำบัดน้ำ recycle จนสะอาดขนาดไข่ผำลอยฟ่อง ถือเป็นการใส่ใจสิ่งแวดล้อม
แม้กาแฟเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งเดียวแค่ช่วง 3 เดือนต่อปี แต่บริษัทฯสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น กล้วย และมะขามป้อม เพื่อเสริมสภาพคล่องการเงินระหว่างปีด้วย SME แห่งนี้มีช่องทางขายทั้งที่เป็นร้านขายเมล็ดและอุปกรณ์กาแฟ และร้านกาแฟหลายสาขาในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน
อีกธุกิจหนึ่งที่ยึดแนวทาง Bio Circular Green (BCG) ธุรกิจหลักเป็นการแปรรูปข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องส่งออก บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นจากกิจการ SME ล้มลุกคลุกคลานจากช่วงวิกฤติปี 2540 จนเติบใหญ่เป็นผู้นำตลาดข้าวโพดหวาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ โดยได้นำ enterprise resource planning เข้ามาใช้สำหรับควบคุมการผลิต การเงิน และบัญชี/ภาษี อย่างเป็นระบบ ส่วนของการผลิตแปรรูปในโรงงานผสมผสานระหว่างการใช้แรงงานคนและใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่เป็น automation ในสายพานการผลิต รวมถึงการใช้ Robot ในบางขั้นตอน
ซังข้าวโพดที่เหลือเป็นกากจากกระบวนการผลิตถูกนำมาหมักเป็นก๊าซชีวมวล (biogas) ส่งเข้าไปหมุน generator แปลงเป็นไฟฟ้าหมุนเวียนกลับมาได้ 20% และยังติดตั้ง solar roof ได้กระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ประกอบการซื้อไฟจากการไฟฟ้า ทั้งนี้ บริษัทฯส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวโพดหวานไปยัง 54 ประเทศทั่วโลก
ในด้านการผลิตต้นน้ำที่เป็นการเพาะปลูกข้าวโพดหวานที่เป็นวัตถุดิบหลัก บริษัทได้ทำเป็นลักษณะเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน ซึ่งเป็นการต่างตอบแทนกันโดยเกษตรกรได้รับการประกันราคาและรายได้ขายให้กับโรงงาน ขณะเดียวกันโรงงานก็ได้รับประกันคุณภาพและปริมาณผลผลิตตอบแทน ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีพันธสัญญากับเกษตรกรประมาณ 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 100,000 ไร่ ทั้งในภาคเหนือและอีสาน ทำให้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานกลุ่มนี้มีรายได้และสภาพคล่องสำหรับครอบครัวต่อเนื่องเพราะสามารถเพาะปลูกได้ 3-4 ครั้งต่อปี จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีและนาปรังด้วย
โดยเกษตรกรในเครือข่ายได้เข้าโรงเรียนสอนปลูกข้าวโพดหวานรับถ่ายทอดความรู้/เทคโนโลยีการเพาะปลูก อาทิ การพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ และการใช้ internet of things พร้อมเซนเซอร์วัดค่าความชื้นดินประกอบการให้น้ำหยดตามโปรแกรมควบคุมอัตโนมัติผ่าน app ทำให้ไม่ต้องใช้แรงงานรดน้ำ เป็นการประหยัดน้ำให้เหมาะสมกับดิน ใช้โดรนบินโปรยปุ๋ยทำให้เกิดความทั่วถึงในแปลงข้าวโพด และเครื่องจักรการเกษตรตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกและเก็บเกี่ยว
การเยี่ยมชมกิจการแปรรูปกาแฟ และข้าวโพดหวาน ทำให้ผู้เขียนได้นึกย้อนกลับไปเมื่อสามสี่ปีก่อน ที่ได้รู้จักกิจการทำนองเดียวกันนี้ที่สารภี บริษัทลานนาเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด เติบโตจาก SME เช่นกัน เห็นโอกาสของตลาดถั่วแระญี่ปุ่น มีการลงทุนโรงงานผลิตและแปรรูปถั่วแระญี่ปุ่น ส่งเสริมเกษตรกรลักษณะพันธสัญญาประมาณ 2,000 ครัวเรือน ในจังหวัดภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ โดยการหมุนเวียนรอบปลูกไม่นานเพียงเวลาไม่เกินระยะหนึ่งเดือนครึ่ง เป็นผลดีต่อสภาพคล่องการเงินของเกษตรกรเช่นกัน
โดยถั่วแระญี่ปุ่นที่ส่งมาจากแต่ละแปลงปลูกของเกษตรกรมาเข้ากระบวนการผลิตสามารถตรวจสอบย้อนกลับหรือทำความรู้จักกับเกษตรกรรายนั้นๆด้วย QR Code ที่บริษัทพิมพ์ติดไว้ข้างบรรจุภัณฑ์สวยทันสมัย โดยกิจการนี้ส่งออกไปต่างประเทศและหาซื้อได้ในประเทศเช่นกัน
ในบทความนี้กล่าวถึงธุรกิจที่เริ่มจาก SME แห่งที่เป็นตัวอย่างหัวขบวน และเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ข้าวโพดหวาน และถั่วแระในภาคเหนือ เป็นการนำเสนอถึง ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Society, Governance: ESG) รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเกษตรกรตั้งการปลูกต้นน้ำ การผลิตกลางน้ำ และดูแลกระบวนการขายที่ปลายน้ำ จะช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้นได้ เป็นการยกระดับผลิตภาพการผลิต (productivity) ทั้งภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมไปพร้อมๆกัน หากขยายผล (scale up) ได้กว้างออกไปในพืชอื่นๆและพื้นที่ในภูมิภาคทั่วประเทศ จะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจตามศักยภาพ (potential growth) ให้สูงขึ้น
ดังนั้น การกำหนดนโยบายไปสู่การปรับโครงสร้างการเกษตรไปเป็น smart farming ก็เป็นช่องทางที่ช่วยได้ นอกจากนั้น ในเรื่องเกษตรพันธสัญญาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในการเพาะปลูกพืชต่างๆ เกษตรกรก็ยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทั้งจากความแปรปรวนของผลผลิตตามความผันผวนของภัยธรรมชาติฝนแล้งและน้ำท่วม เป็นต้น หรือจะเป็นเรื่องความซับซ้อนของสัญญา
หากผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ร่วมกันช่วยมองหากลไกดูแลบรรเทาความเสี่ยงต่างๆ และการบังคับใช้กฎหมายฯให้คุ้มครองเกษตรกรด้านสัญญา ก็จะช่วยให้การยกระดับทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน
ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณธนพร ดวงเด่น และผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ที่สนับสนุนข้อมูล